x close

5 เทคนิควางแผนภาษี


5 เทคนิควางแผนภาษี


5 เทคนิควางแผนภาษี (5 Tax Planning Techniques) (ธนาคารกสิกรไทย)

            เมื่อพูดถึงภาษี ที่ผ่านมาบางคนอาจจะไม่ได้สนใจ ยิ่งมนุษย์เงินเดือนเจอบริษัทหักไปทุกเดือน ไม่เคยลองเอามารวมกัน ก็รู้สึกว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่มากเท่าไร แต่พอถึงฤดูกาลยื่นภาษี ภายในเดือนมีนาคม ค่อยมาตกใจว่าทำไมเราเสียภาษีเยอะจัง จริง ๆ แล้ว "ภาษี" คือ ค่าใช้จ่ายที่สามารถประหยัดได้ค่ะ หากมีการวางแผนภาษี และการวางแผนที่ดีนั้นควรเริ่มต้นตั้งแต่ต้นปีด้วย 5 เทคนิควางแผนภาษี ดังนี้ค่ะ
            1. ประมาณการรายได้ทั้งปี เพื่อให้รู้ว่าในปีภาษีปัจจุบันนี้ เรามีรายได้ประมาณเท่าไร เสียภาษีในฐานอะไร (อย่าลืมว่าปีนี้เรามีฐานภาษีแบบใหม่แล้วนะคะ) จะได้วางแผนลงทุนเพื่อลดเงินได้สุทธิลง ทำให้เสียภาษีในฐานที่ต่ำลงค่ะ
            2. แจ้งฝ่ายบุคคล (HR) ถึงสิทธิลดหย่อนภาษีส่วนตัว เช่น ค่าลดหย่อนบุตร ค่าลดหย่อนบิดามารดา ค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือทุพพลภาพ ดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน เป็นต้น เพื่อให้ภาษีที่หักนำส่งสรรพากรใกล้เคียงกับภาษีที่ต้องจ่ายจริง
            3. ใช้สิทธิลดหย่อนให้เต็มที่ และลงทุนเพื่อประหยัดภาษี เริ่มจากการสำรวจสิทธิให้ครบถ้วน นอกจากค่าลดหย่อนส่วนตัวแล้ว ยังมีค่าลดหย่อนที่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม เช่น ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาตนเอง หรือบิดามารดาคู่สมรส ค่าเบี้ยประกันชีวิต เงินลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หรือ เงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ต้องไม่ลืมนำมาหักลดหย่อนด้วย และหากระหว่างปีมีรายได้เพิ่มก็ควรปรับแผนด้วยการลงทุนในกองทุน LTF/RMF ประกันชีวิต หรือประกันชีวิตแบบบำนาญเพิ่มขึ้น
            4. ขอคืนภาษีเงินปันผลที่เสียซ้ำซ้อน กรณีที่มีการลงทุนในหุ้นสามัญจดทะเบียน และได้รับเงินปันผล แนะนำให้ขอคืนภาษีเงินปันผล (เครดิตภาษีเงินปันผล) เนื่องจากเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทที่ลงทุนมีการเสียภาษีนิติบุคคลก่อนจะจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น และเมื่อผู้ถือหุ้นได้รับเงินปันผลจะต้องเสียภาษี ณ ที่จ่ายอีก 10% ถือเป็นการจ่ายภาษีซ้ำซ้อน ดังนั้น หากผู้มีเงินได้เสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าภาษีนิติบุคคล (20-23%) แนะนำให้ใช้สิทธิขอคืนภาษีเงินปันผล
            5. เลือกยื่นแบบให้เหมาะ โดยเฉพาะคู่สามีภรรยา เพราะการเลือกแบบให้เหมาะกับตนเองและคู่สมรสจะช่วยให้สามารถประหยัดภาษีได้ค่ะ

 วิธีการยื่นแบบ เหมาะกับ
แยกยื่น คู่สมรสที่มีเงินได้อยู่ในฐานภาษีเดียวกัน การแยกยื่นจะทำให้คู่สมรสได้รับการยกเว้นภาษี 150,000 บาทแรก จึงทำให้มีโอกาสเสียภาษีน้อยกว่าการรวมยื่นค่ะ
ยื่นรวมเงินได้ทุกประเภท คู่สมรสที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีรายได้ไม่สูงนัก แต่มีรายการค่าลดหย่อนมาก
ยื่นรวมเฉพาะเงินได้ประเภทอื่น คู่สมรสที่ไม่ใช่เงินเดือน คู่สมรสที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีรายได้ประเภทเงินเดือนสูง และมีเงินได้ประเภทอื่น วิธีนี้จะช่วยให้ฐานภาษีของตนเองลดลง

            เมื่อวางแผนภาษีแล้ว ควรลงมือทันทีค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนเพื่อประหยัดภาษี สามารถลงทุนทุก ๆ เดือน เพื่อเป็นการเฉลี่ยต้นทุนได้

            ช่วงนี้เป็นฤดูกาลที่ทุกคนกำลังยื่นภาษีกัน ถ้าสงสัยหรือต้องการปรึกษาเพิ่มเติม สามารถติดต่อ K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่อีเมล K-Expert@kasikornbank.com และ เว็บบอร์ด K-Expert ซึ่งจัดทำขึ้นผ่านทางเว็บไซต์ www.askKBank.com/K-Expert และติดตามข่าวสารการเงินได้ที่ Twitter@KBank_Expert ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
5 เทคนิควางแผนภาษี อัปเดตล่าสุด 16 มิถุนายน 2564 เวลา 17:47:01
TOP