16 วิธีช้อปปิ้งอย่างฉลาด จ่ายยังไงกระเป๋าก็ไม่ฉีก

16 วิธีช้อปปิ้งอย่างฉลาด จ่ายยังไงกระเป๋าก็ไม่ฉีก

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

            สมัยนี้แค่ก้าวขาออกจากบ้านก็ต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินแล้วนะคะ ยิ่งในยุคที่ข้าวก็ยาก หมากก็แพงแบบนี้ แม้หลายคนจะได้รับการประกันรายได้ขั้นต่ำ แต่ค่าครองชีพก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน อย่างนี้เห็นทีจะมัวมาจับจ่ายใช้สอยแบบไม่คิดหน้าคิดหลังให้รอบคอบก็คงไม่ดีแน่ วันนี้กระปุกดอทคอมก็เลยหยิบยกวิธีช้อปปิ้งอย่างชาญฉลาดจากเว็บไซต์ About.com มาฝากกัน เพื่อให้การช้อปปิ้งของคุณในครั้งต่อไป เป็นการจับจ่ายที่แสนคุ้มค่า และไม่เกินงบที่ตั้งไว้กันค่ะ


1. จดรายการของที่ต้องซื้อ

            วิธีจดรายการของที่ต้องซื้อเอาไว้ แล้วจับจ่ายตามรายการที่เขียนไว้บนกระดาษจะช่วยให้คุณสามารถตีเส้นขีดจำกัดในการซื้อได้อย่างดี อีกทั้งยังช่วยประหยัดเวลาในการเดินช้อปปิ้งไปได้อีกมากโข แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องมีวินัยในการจับจ่ายเป็นพื้นฐานด้วย ไม่ใช่จดรายการของที่ซื้อยาวเป็นหางว่าว เพราะรวมทั้งของที่จำเป็นต้องซื้อและไม่จำเป็นต้องซื้อเอาไว้ด้วยกันหมด แถมพอไปช้อปปิ้งเข้าจริง ๆ ก็ดันอดใจไม่ไหว ซื้อของนอกรายการที่จดเอาไว้อีกต่างหากล่ะ


2. ใช้แต่เงินสดเท่าที่พกไว้

            ทุกครั้งที่จะออกไปซื้อของ แนะนำให้เลือกถือแต่เงินสดเท่าที่คิดว่าน่าจะเพียงพอกับของที่ต้องซื้อไปเท่านั้น ไม่จำเป็นอย่าพกบัตรกดเงินสด หรือบัตรเครดิตติดไปด้วย เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ตัวเองเผลอจับจ่ายเกินตัวจนต้องมากลุ้มใจภายหลัง เพราะถ้าใช้เงินสดที่พกติดตัวไปหมดแล้ว คุณก็จะไม่มีเงินซื้อของที่ไม่จำเป็นต้องใช้อีกต่อไป


3. เปรียบเทียบราคาสินค้า

            หากอยากได้สินค้าในราคาที่คุ้มค่าน่าจับจ่บจ่ายมากที่สุด ก็จำเป็นต้องสำรวจตลาดเสียก่อน เปรียบเทียบราคาจากหลาย ๆ ร้าน ยิ่งถ้าเป็นห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ก็ยิ่งง่าย เพราะคุณไม่จำเป็นต้องเดินเร่สำรวจราคาสินค้าเพื่อเอามาเปรียบเทียบกันให้เมื่อย เพียงแค่คลิกเข้าไปดูในเว็บไซต์ หรือสมัครสมาชิกห้างสรรพสินค้านั้น ๆ ก็จะได้โบร์ชัวร์มาดูที่บ้านแบบสบาย ๆ ที่สำคัญจะได้ดูสินค้าที่ทางห้างเขาจัดโปรโมชั่นลดราคาอีกด้วยนะ

 
4. เลือกซื้อเสื้อผ้าที่ใส่ได้หลายโอกาส

            หากต้องการซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ แนะนำให้คุณสำรวจเสื้อผ้าที่มีอยู่ในตู้ก่อน และเวลาไปหาซื้อเสื้อผ้าใหม่ก็อย่าลืมนึกถึงเสื้อผ้าเดิมที่พอจะใส่แมทช์กันเป็นชุดใหม่ได้ด้วย เช่น คุณอาจจะมีกระโปรงพื้นแดงจุดขาวอยู่หนึ่งตัว ก็อาจจะเลือกซื้อเสื้อเชิ้ตสีขาวมาเพิ่มอีกตัว เพื่อจะได้จับมาใส่คู่กันให้กลายเป็นชุดใหม่อีกหนึ่งชุด หรือก่อนจะเลือกซื้อเสื้อผ้า ก็ควรต้องคิดถึงโอกาสที่จะได้ใส่ชุดนั้น ๆ ด้วย ถ้าคิดแล้วว่าจะใส่ได้คุ้มไปอีกหลายงาน ก็น่าควักกระเป๋าตังค์ซื้ออยู่ไม่เบานะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ควรจำกัดโควตาในการซื้อเสื้อผ้าให้ตัวเองเอาไว้ด้วย เพื่อป้องกันวิญญาณสาวนักช้อปเข้าสิงจนหยิบเพลินเกินลิมิตไปหลายตัวนะจ๊ะ

 
5. เปรียบเทียบคุณภาพสินค้าและปริมาณ

            ดูจากป้ายราคาอย่างเดียวคงจะไม่พอ เพราะอาจจะพลาดได้สินค้าที่ไม่คุ้มค่าเอาได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหาร และของอุปโภค ดังนั้นก่อนจะเลือกซื้อสินค้าอะไร ก็ควรอ่านฉลากบนผลิตภัณฑ์ กวาดสายตาหาขนาดบรรจุ และราคาขายของสินค้าชิ้นนั้น ๆ ด้วย บางผลิตภัณฑ์อาจจะมีราคาสูงกว่านิดนึง แต่มีปริมาณมากกว่าหลายเปอร์เซ็นต์ หรือถ้าเป็นเสื้อผ้า บางตัวอาจจะราคาถูกก็จริง แต่เนื้อผ้าดูท่าทางไม่มีคุณภาพ ใส่ไม่ได้นาน ๆ เป็นต้น


6. อย่าไปช้อปเพราะเบื่อ

            หลายครั้งที่เราต้องเสียเงินโดยไม่จำเป็น แถมไม่รู้ตัวอีกต่างหาก ก็เวลาอยู่กับเพื่อนและไม่มีอะไรทำ ก็มักจะชวนกันไปช้อปจริงไหมคะ แล้วอารมณ์แบบนี้ล่ะค่ะ ที่จะพาให้คุณลืมตัวเผลอจับจ่ายไปแบบเบลอ ๆ มารู้ตัวอีกทีก็กระเป๋าแฟบไปซะแล้ว เอาเป็นว่าคราวหน้าถ้าเบื่อ ๆ ไม่รู้จะทำอะไร ก็พากันไปหาอะไรอย่างอื่นทำดีกว่า แต่ขอเน้นเป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องเสียตังค์ หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ก็อนุโลมให้จ่ายแบบเบา ๆ ได้ค่ะ

 
7. ถ้าลังเลก็เลี่ยงดีกว่า

            เชื่อได้ว่าหลายคนเคยเกิดอาการลังเลที่จะซื้อของกันบ้างไม่มากก็น้อย แบบอารมณ์กึ่งอยากได้ แต่อีกใจนึงก็คิดว่ายังไม่จำเป็นต้องซื้อ ซึ่งถ้าเกิดความลังเลแบบนี้ขึ้นมา ก็แนะนำให้รีบเดินเลี่ยงออกมาจากจุดนั้นทันทีเลยค่ะ อย่าไปเสียดาย เพราะถ้ากลับบ้านมาแล้วคุณเพิ่งคิดได้ว่าอยากได้ของชิ้นนั้นแบบจริงจัง ก็สามารถกลับไปซื้อในวันรุ่งขึ้นได้ หรือเผลอ ๆ พอมานั่งคิดทบทวนดูดี ๆ อีกที คุณอาจจะดีใจที่ไม่ได้ซื้อของชิ้นนั้นมาก็ได้นะ


8. พาเพื่อนที่ใช้เงินเป็นไปด้วย

            เพื่อนเป็นตัวช่วยที่ดีในการยับยั้งอาการบ้าคลั่งช้อปปิ้งของเราได้อยู่หมัด เพราะถ้าของชิ้นไหนไม่ควรค่าแก่การซื้อจริง ๆ จะได้เตือนกันได้ทัน แต่มีข้อแม้ว่าเพื่อนคนที่พาไปด้วยต้องเป็นคนที่รู้จักใช้เงินพอสมควรด้วยนะคะ ไม่เช่นนั้นถ้าเป็นเพื่อนขาช้อปเหมือน ๆ กัน มีหวังจะได้เสียเงินจับจ่ายคูณสองแน่ ๆ เลยเชียว

ช้อปออนไลน์
9. ช้อปออนไลน์บางทีก็ถูกกว่า

            เดี๋ยวนี้ร้านค้าออนไลน์มีให้เห็นเต็มโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งบางครั้งก็อาจจะเสนอขายสินค้าในราคาที่ถูกกว่าห้าง หรือตลาดทั่วไปเสียด้วยซ้ำ เพียงแค่เราต้องขยันเสิร์ชหาร้านค้าออนไลน์ที่เชื่อถือได้หลาย ๆ ร้านหน่อย เพื่อเอาไว้เปรียบเทียบราคา และที่สำคัญควรต้องตรวจสอบสินค้าที่เขาจำหน่ายให้ดี รวมไปถึงเครดิตของแม่ค้าพ่อค้าออนไลน์เหล่านี้ด้วย

 
10. ดัดแปลงทำมือบ้างก็ดี

            ของบางอย่างเราก็ไม่จำเป็นต้องซื้อ เพราะสามารถนำมาดัดแปลงหรือประดิษฐ์เอาเองได้ง่าย ๆ ที่บ้าน เช่น กางเกงหรือกระโปรงยีนส์ที่มีอยู่ ก็อาจจะนำมาตัดขา ให้กลายเป็นกางเกงขาสั้น หรือจะหาของประดับมาตกแต่งให้ดูเป็นเสื้อผ้าชิ้นใหม่ก็ได้ รวมไปถึงของขวัญวันเกิดด้วย ถ้าเป็นไปได้ก็หากระดาษแข็งมาทำเป็นการ์ดอวยพรสวย ๆ สักใบคนรับก็ปลื้มปริ่มยิ้มไม่หุบแล้วจ้า


11. อย่าเห็นแก่ของแถมหรือของถูก

            ห้างสรรพสินค้ามักจะจัดรายการลดแหลกแจกแถมทุก ๆ เดือน ซึ่งถ้าคุณไปเดินช้อปแล้วเจอ ก็ควรเลือกซื้อเฉพาะรายการสินค้าที่คุณใช้จริงเท่านั้น อย่าหลงเพลินไปกับรายการสินค้าโปรโมชั่นที่ปกติไม่เคยได้ซื้อ หรือได้ใช้เด็ดขาด ไม่เช่นนั้นคุณอาจต้องจ่ายเงินเกินกว่าที่ตั้งงบเอาไว้ได้อย่างคาดไม่ถึงเลยล่ะ

 
12. ช้อปนอกกระแส

            ข้าวของที่กำลังมาแรง เป็นเทรนด์สุดฮิต หรือของที่จำเป็นต้องใช้ในฤดูนั้น ๆ มักจะมีราคาที่สูงอย่างไม่สมเหตุสมผล ถ้าเป็นอย่างนี้เราก็ควรสวนกระแสเอาไว้บ้าง เช่น เสื้อผ้าหน้าหนาว ก็ไปหาซื้อเก็บไว้ในช่วงหน้าร้อน ซึ่งทางห้างสรรพสินค้าจะจัดโปรโมชั่นลดราคาลงมากว่าครึ่ง หรืออย่างช่วงเซลล์ของช้อปแบรนด์เนมต่าง ๆ ก็เช่นกัน ที่จะโหมลดราคาสินค้าคอลเลคชั่นเก่า ๆ เพื่อเตรียมออกสินค้าคอลเลคชั่นใหม่มาแทน

 
13. ต่อรองสินค้าให้เป็น

            หลายคนอาจจะเคยซื้อของแบบลืมต่อรองราคา เพราะถูกใจของชิ้นนั้นมากจนลืมตัวควักกระเป๋าจ่ายราคาเต็มให้แม่ค้าไปแบบไม่ทันได้คิดอะไร พอมานึกได้อีกทีก็มานั่งเสียดายว่าน่าจะซื้อของได้ในราคาที่ต่ำกว่านี้อีกสักหน่อย แต่ไม่เป็นไรค่ะ ไปช้อปคราวหน้าก็อย่าลืมต่อรองราคากับแม่ค้าสักนิดละกัน แล้วก็อย่าเผลอไปใจอ่อนยอมแม่ค้าด้วยนะคะ เพราะตามปกติแล้วแม่ค้าพ่อค้าเขาจะตั้งราคาสินค้าเอาไว้เผื่อลูกค้าอย่างเรา ๆ ต่อรองราคาอยู่แล้วล่ะ

16 วิธีช้อปปิ้งอย่างฉลาด จ่ายยังไงกระเป๋าก็ไม่ฉีก


14. หาคนช่วยแชร์

            ถ้าสินค้าที่เราต้องการจะซื้อนั้นขายแบบแพ็กใหญ่ ที่ใช้ไปอีกนานก็คงไม่หมด อย่างนี้คงดีกว่าหากเราจะหาคนมาช่วยหาร แล้วแบ่งสินค้าไปใช้กันคนละครึ่ง หรือถ้าเป็นน้อง ๆ นักเรียนนักศึกษา ก็อาจจะลองเจรจากับพ่อแม่ให้ท่านช่วยออกเงินสักครึ่งราคาก็ได้ แต่ก็คงต้องใช้เหตุผลดี ๆ สักข้อ หรือต้องยอมมีข้อแลกเปลี่ยนบางอย่างกับท่านสักหน่อยล่ะเนอะ

 
15. มองหาร้านขายของมือสอง

            ร้านขายของเก่า หรือของมือสองก็อาจจะมีสินค้าที่เราต้องการวางจำหน่ายอยู่ด้วย แถมบางทีสภาพสินค้าก็ยังดีใกล้เคียงของใหม่มาก ๆ อีกต่างหาก ดังนั้นก็ลองไปเลือกช้อปปิ้งที่ร้านค้าแบบนี้ดูบ้างก็ได้ ทั้งประหยัด และยังได้ช่วยลดพลังงานให้โลก ด้วยการไม่ปล่อยให้ของเก่าพวกนี้กลายสภาพเป็นขยะอีกด้วยนะ

 
16. เก็บใบเสร็จไว้เปลี่ยนสินค้า

            เราไม่ควรไว้ใจสินค้าใหม่แกะกล่อง เพราะบางครั้งสินค้าเหล่านี้ก็มีจุดชำรุด หรือตำหนิตั้งแต่ผลิตออกมาเลยด้วยซ้ำ ซึ่งถ้าเราเก็บใบเสร็จเอาไว้ และไม่ใจร้อนรีบแกะป้ายออกจากตัวสินค้าจนกว่าจะหยิบมาใช้ เราก็สามารถนำสินค้าไปแลกเปลี่ยนชิ้นใหม่มาได้ หรือถ้าไม่มีจุดชำรุดให้ต้องเปลี่ยน ก็อาจจะมีโอกาสนำไปขายต่อได้ในภายหลังนะจ๊ะ


            ในยุคที่เศรษฐกิจบ้านเรายังเอาแน่เอานอนไม่ได้แบบนี้ ถ้าเรามีวิธีที่จะประหยัดเงินในกระเป๋าไปบ้างแม้เพียงเล็กน้อย ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีจริงไหมคะ อย่างเช่น 16 วิธีช้อปปิ้งอย่างฉลาดนี้ก็เช่นกัน ถ้าใครทำตามนี้ได้รับรองว่าจะมีเงินเหลือเก็บอีกเยอะเลยล่ะ








เรื่องที่คุณอาจสนใจ
16 วิธีช้อปปิ้งอย่างฉลาด จ่ายยังไงกระเป๋าก็ไม่ฉีก อัปเดตล่าสุด 12 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 15:48:27 8,610 อ่าน
TOP
x close