เปิดรายละเอียดปรับโครงสร้างหนี้ กยศ. ใหม่ เพื่อลดภาระผู้กู้ยืมทั่วประเทศ พร้อมคืนเงินส่วนเกินและปลดผู้ค้ำประกัน สมัครออนไลน์พร้อมเช็กสิทธิ์ได้แล้ว

ความคืบหน้าสำคัญจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ที่ได้ประกาศใช้มาตรการใหม่ภายใต้พระราชบัญญัติฉบับที่ 2 เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมให้มีภาระหนี้ที่เหมาะสมกับความสามารถในการชำระ พร้อมทั้งคืนเงินให้กับผู้ที่ชำระเกินตามสิทธิที่พึงมีนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.นันทวัน วงศ์ขจรกิตติ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้เปิดเผยแผนปรับโครงสร้างหนี้ กยศ. ครั้งใหญ่ เพื่อมุ่งช่วยเหลือลูกหนี้หลายล้านบัญชีให้จัดการภาระหนี้ได้อย่างเป็นธรรม พร้อมเปิดทางออกใหม่สำหรับผู้ที่ประสบปัญหาการชำระหนี้ โดยเปลี่ยนลำดับการตัดหนี้เป็นระบบ "เงินต้น-ดอกเบี้ย-เบี้ยปรับ" แทนวิธีเดิม พร้อมทั้งปรับลดภาระทางการเงิน โดย
- ลดอัตราดอกเบี้ย เหลือเพียง 1% ต่อปี
- ลดเบี้ยปรับ จากเดิม 18% ต่อปี เหลือเพียง 0.5% ต่อปี
- ปลดผู้ค้ำประกัน ได้ทันทีหลังทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้
กลุ่มเป้าหมายของการปรับโครงสร้างหนี้ กยศ.
- กลุ่มก่อนฟ้องคดี
- กลุ่มที่บอกเลิกสัญญาแล้วแต่ยังไม่ฟ้องคดี
- กลุ่มที่ฟ้องคดีแล้วแต่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา
- กลุ่มที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วแต่ยังไม่บังคับคดีและได้บังคับคดีไปแล้ว
- กลุ่มอื่น ๆ ทั้งหมด
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ กยศ.
สำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ กยศ. ในครั้งนี้มาพร้อมกับการปฏิรูประบบการคิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับอย่างสิ้นเชิง โดยมีรายละเอียดดังนี้

- เปลี่ยนลำดับการตัดหนี้เป็นระบบ "เงินต้น-ดอกเบี้ย-เบี้ยปรับ" แทนวิธีเดิม
- คำนวณภาระหนี้ใหม่ เปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้
- ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้
- ผู้ค้ำประกันหลุดพ้น
เงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ กยศ.
สำหรับเงื่อนไขในการปรับโครงสร้างหนี้ กยศ. มีรายละเอียดดังนี้
- ผู้กู้ยืมจะต้องผ่อนชำระเงินคืนกองทุนเป็นรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือน
- ผู้กู้ยืมต้องชำระภายในวันที่ 5 ของทุกเดือนให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี
- ในการชำระเงินงวดสุดท้าย ผู้กู้ยืมต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์
- การคำนวณยอดหนี้ที่จะนำมาปรับโครงสร้างหนี้
- กองทุนฯ จะนำรายการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมนับแต่วันที่ครบกำหนดชำระหนี้ครั้งแรกมาคำนวณใหม่ตามที่กฎหมายกำหนด
- ในกรณีคำนวณยอดหนี้ใหม่แล้วไม่มียอดหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยคงเหลือ กองทุนฯจะปรับโครงสร้างหนี้ให้ผู้กู้ยืมและให้ส่วนลดเบี้ยปรับ 100% โดยถือว่าผู้กู้ยืมได้ชำระหนี้ปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว
- สำหรับผู้กู้ยืมที่มียอดหนี้คงเหลือและอยู่ระหว่างการผ่อนชำระ กองทุนฯจะนำรายการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมเงินแต่ละรายนับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้ครั้งแรกมาคำนวณตัดชำระหนี้ใหม่ จากเดิมตัดเบี้ยปรับ ดอกเบี้ย และเงินต้น แต่เมื่อปรับโครงสร้างหนี้ใหม่จะตัดเงินต้น (เฉพาะส่วนที่ครบกำหนด) ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับตามลำดับ
- อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี และอัตราเบี้ยปรับ 0.5% ต่อปี
- ในส่วนของเบี้ยปรับทั้งหมด กองทุนฯจะพักแขวนไว้ เมื่อผู้กู้ได้ทำการชำระหนี้ปิดบัญชีจะได้รับส่วนลดเบี้ยปรับ 100%
- เมื่อทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้วผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากสัญญาค้ำประกันเงินกู้ทันที
- ในกรณีที่ผู้กู้ยืมผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้สะสมถึง 6 งวด หรือเมื่อผู้กู้ยืมมีงวดผ่อนชำระเหลือไม่ถึง 6 งวด หากผิดนัดชำระงวดใดงวดหนึ่งถือว่าผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมด ให้ถือว่าสัญญาปรับโครงสร้างหนี้สิ้นสุดลง กองทุนฯจะนำเบี้ยปรับที่ตั้งพักแขวนไว้กลับคืนมาเป็นทุนทรัพย์เพื่อดำเนินการฟ้องร้องหรือบังคับคดีกับผู้กู้ยืมต่อไป
วิธีสมัครปรับโครงสร้างหนี้ กยศ. และตรวจสอบสิทธิ
ผู้สนใจสามารถดำเนินการสมัครทางออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) พร้อมยืนยันตัวตนผ่านระบบ ThaiD
ขั้นตอนการตรวจสอบสิทธิสถานะผู้กู้ยืม กยศ.

- เข้าเว็บไซต์ ตรวจสอบสิทธิ กยศ.
- กรอกเลขบัตรประชาชน 13 หลักของผู้กู้ยืม
- คลิก “ลงทะเบียน”
หรือ หากมีสิทธิขอรับเงินคืน
- เข้าระบบด้วย ThaID
- ลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินคืน
รายละเอียดการทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ กยศ.
ผู้กู้ยืมที่ลงทะเบียนนัดหมายเข้าทำสัญญาที่สำนักงาน กยศ. หรือต่างจังหวัด หรือ กรมบังคับคดี สามารถทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ออนไลน์ได้ด้วยตนเอง โดยสามารถสมัครหรือตรวจสอบปรับโครงสร้างหนี้ออนไลน์ที่นี่

เมื่อคลิกเข้ามาจะมีรายละเอียด ระบบการทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ แบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Contract) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งข้างล่างจะมีรายละเอียดให้ผู้กู้สามารถทำสัญญา และตรวจสอบสถานะได้
การโอนเงินคืนให้ผู้กู้ยืม
- กยศ. โอนเงินคืนผ่านระบบ พร้อมเพย์ ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชนเท่านั้น
- การคืนเงินแบ่งเป็น 2 รอบ
- รอบแรก : คืน 70% ของยอดเงินส่วนเกิน
- รอบสอง : คืนส่วนที่เหลือเมื่อระบบคำนวณเสร็จสมบูรณ์
- หากมีการคืนเงินเกินสิทธิ กยศ. มีสิทธิเก็บเงินคืนกลับ
กรณีผู้กู้ กยศ. โดนหักเงินเดือน 3,000 บาท
สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการหักเงินเดือนเพิ่ม 3,000 บาท/บัญชี กยศ. มีแนวทางดูแลดังนี้
กลุ่มที่1 : ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว
- ชำระงวดแรกเองและแจ้งให้นายจ้างทราบ
- เริ่มหักเงินเดือนตามสัญญาใหม่ในงวดที่ 2
กลุ่มที่ 2 : ยังไม่ทำสัญญา
- สามารถยื่นขอลดจำนวนเงินหักได้
- ยื่นคำขอผ่านเว็บไซต์ กยศ. ภายในวันที่ 24 พฤษภาคม 2568 (สำหรับงวดเดือนพฤษภาคม) หรือ 14 มิถุนายน 2568 (สำหรับงวดเดือนมิถุนายน)
- กยศ. แจ้งผลผ่าน SMS และส่งข้อมูลให้นายจ้างผ่านระบบ e-PaySLF
นอกจากนี้ กยศ. มอบส่วนลดพิเศษสำหรับผู้ปิดบัญชี ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2568 โดยส่วนลดต้นเงิน 5-10% และยกเว้นเบี้ยปรับ 100% ซึ่ง ผู้กู้สามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิได้ผ่านเว็บไซต์ กยศ.
สำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ กยศ. ครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้การศึกษา โดยผู้กู้สามารถตรวจสอบสิทธิและรับเงินคืนผ่านระบบออนไลน์ พร้อมผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขบัตรประชาชนเพื่อความสะดวก นอกจากนี้ ยังสามารถทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ได้ทันที และสำหรับผู้ปิดบัญชีภายในเวลาที่กำหนด จะได้รับส่วนลดต้นเงินและยกเว้นเบี้ยปรับทั้งหมด มาตรการนี้ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้กู้หลายล้านคนมีทางออกที่เป็นธรรมและยั่งยืนในการบริหารจัดการหนี้การศึกษา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กยศ. ชวนผู้กู้ยืมร่วมงาน ปรับโครงสร้างหนี้ 14 จังหวัด เช็กพื้นที่-ขั้นตอนลงทะเบียน ได้ที่นี่
- กยศ. จ่อคืนเงินให้ผู้กู้ยืม หลังคำนวณยอดหนี้ใหม่ บางคนได้เงินคืน รีบลงทะเบียนด่วน
- กยศ. เปิด 2 วิธีแก้ หลังลูกหนี้ถูกหักเงินเดือนเพิ่ม 3,000 บาท แบบไม่รู้ตัว เป็นเพราะอะไร
- กยศ. หักเงินเดือน 3,000 บาทต่อในเดือน พ.ค. - มิ.ย. 68 หากไม่อยากโดนทำยังไง
- เตรียมคืนเงินลูกหนี้ กยศ. 3 ล้านคน ใครได้บ้าง เช็กสิทธิ์การลดหนี้ยังไง - ผู้ค้ำประกันยิ้ม