ธุรกิจขายตรง
ขายตรง คืออะไร
ธุรกิจขายตรง (Direct Selling) เป็นการขายสินค้าหรือบริการโดยตรงถึงผู้บริโภค ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง หรือร้านค้าปลีกทั่วไป แต่จะใช้ตัวแทนจำหน่ายอิสระเข้าถึงลูกค้าแบบตัวต่อตัว เช่น ไปนำเสนอสินค้าถึงที่บ้าน ที่ทำงาน หรือไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อพูดคุยแนะนำสินค้า ซึ่งตัวแทนก็จะมีรายได้จากค่าคอมมิชชั่นของสินค้าที่ขายได้ หรืออาจได้รับโบนัสเพิ่มเติมเมื่อขายได้ถึงยอดที่กำหนด ทั้งนี้ ธุรกิจขายตรงจะมีอยู่ 2 รูปแบบหลัก ๆ คือ
1. ขายตรงแบบชั้นเดียว (Single Level Marketing) คือ ตัวแทนจำหน่ายจะเน้นการขายสินค้าให้กับผู้บริโภคโดยตรง เพื่อสร้างผลงานตามยอดขายที่บริษัทกำหนด ซึ่งตัวแทนจะมีรายได้จากค่าคอมมิชชั่นที่ขายสินค้าได้
2. ขายตรงแบบหลายชั้น (Multi-level Marketing) หรือที่เรียกว่า ธุรกิจเครือข่าย MLM คือ การขายตรงที่นอกจากจะขายสินค้าให้ผู้บริโภคแล้ว ยังมีการสร้างเครือข่ายหรือชักชวนคนมาเป็นสมาชิก เพื่อให้มาร่วมเป็นตัวแทนจำหน่ายในทีมของตัวเอง ซึ่งตัวแทนจำหน่ายในระดับบน ๆ เช่น แม่ข่าย หัวหน้าทีมก็จะได้ค่าคอมมิชชั่นเพิ่มจากยอดขายของตัวแทนจำหน่ายในทีม หรือดาวน์ไลน์
สำหรับผู้ต้องการประกอบธุรกิจขายตรงต้องยื่นคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง ต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และเข้าร่วมเป็นสมาชิกกับสมาคมการขายตรงไทย แต่หากประกอบธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละ 20,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน
สินค้าที่นำมาขายตรง มีอะไรบ้าง
สินค้าส่วนใหญ่ที่นิยมนำมาขายตรง เช่น เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว อาหารเสริมและผลิตภัณฑ์สุขภาพ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ สินค้าอุปโภค-บริโภคประจำวัน เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน ผลิตภัณฑ์ซักผ้า และเครื่องใช้ในครัวเรือน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าบางประเภทที่กฎหมายไม่อนุญาตให้นำมาจำหน่ายในธุรกิจขายตรง เช่น สินค้าประเภทยา เครื่องมือแพทย์ สุรา ปุ๋ย สินค้าที่ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี เป็นต้น
จุดสังเกตของธุรกิจขายตรง
-
เป็นการขายสินค้าโดยตรงถึงผู้บริโภค โดยไม่ผ่านร้านค้าปลีกหรือตัวแทนจำหน่าย
-
ตัวแทนจำหน่ายอิสระเน้นการขายสินค้าจริง สร้างยอดขายและรายได้จากการขายสินค้าเป็นหลัก ไม่ได้มาจากการชักชวนผู้อื่นเข้าร่วมระบบ
-
ตัวแทนจำหน่ายอิสระให้ความสำคัญกับการบริการลูกค้า
-
สินค้าที่ขายมีให้เลือกหลากหลาย โดยบริษัทมักจะคัดเลือกสินค้าที่มีคุณภาพดี ได้มาตรฐาน ราคาจับต้องได้ มาจำหน่าย และสามารถคืนสินค้าได้ตามเงื่อนไข
-
มีโครงสร้างแบบเครือข่ายที่ตัวแทนขายตรงสามารถสร้างทีมงานของตัวเองได้ โดยชักชวนคนอื่นมาร่วมจำหน่ายสินค้าและบริการ ซึ่งสมาชิกในทีมจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
-
บริษัทมักจัดฝึกอบรมให้กับตัวแทนขายตรง เพื่อพัฒนาทักษะในการขายและการนำเสนอสินค้า
-
ค่าธรรมเนียมในการสมัครมีความเหมาะสม และอาจมีเอกสารฝึกอบรมหรือสินค้าตัวอย่างให้
-
มีการรับประกันสินค้าและรับซื้อคืนเมื่อตัวแทนขายตรงต้องการลาออก
-
ไม่มีนโยบายให้ตัวแทนกักตุนสินค้าจำนวนมาก
-
มีการทำสัญญาชัดเจน
-
แผนการจ่ายผลตอบแทนเป็นไปได้จริง
-
รายได้หลักของบริษัทต้องมาจากการขายสินค้า ไม่ใช่การระดมทุน
-
บริษัทมีโครงสร้างองค์กรที่ชัดเจน มีกฎระเบียบ และมีการควบคุมคุณภาพสินค้า จดทะเบียนประกอบธุรกิจอย่างถูกต้อง ตรวจสอบได้
แชร์ลูกโซ่
คราวนี้มาทำความเข้าใจธุรกิจแชร์ลูกโซ่ว่าคืออะไร
แชร์ลูกโซ่ คืออะไร
แชร์ลูกโซ่ มีอะไรบ้าง
รูปแบบของแชร์ลูกโซ่ในปัจจุบันมีอยู่หลากหลาย อาทิ
-
การขายตรง ที่อ้างว่าให้ขายสินค้าบังหน้า แต่จริง ๆ แล้วต้องการขยายฐานสมาชิก โดยเก็บค่าสมัครสมาชิกแพง และบังคับให้ซื้อสินค้าที่มีคุณภาพต่ำในราคาสูง
-
หลอกระดมทุนตั้งบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์
-
หลอกลงทุนเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนต่างประเทศ หุ้น คริปโทเคอร์เรนซี ทองคำ น้ำมัน อสังหาริมทรัพย์
-
ขายทริปเที่ยวในฝัน
-
เปิดบ้านออมเงินให้ผลตอบแทนสูง
-
ชวนลงทุนในสินค้าเกษตร
-
ให้คำปรึกษาแบบหลอกลวง เช่น อ้างว่ามีวิธีหาเงินง่าย ๆ หรือสอนเทคนิคการลงทุนที่ได้ผล เพื่อหลอกขายคอร์สเรียนราคาแพง
-
แชร์ลูกโซ่ออนไลน์ เช่น การสร้างเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีปลอมขึ้นมาหลอกลวงนักลงทุน หรือชักชวนคนมาเล่นเกมแล้วอ้างว่าจะได้รับเงินรางวัล (Play-to-Earn)
จุดสังเกตของธุรกิจแชร์ลูกโซ่
-
ไม่เน้นขายสินค้า เพราะเป้าหมายหลักคือการหาสมาชิกใหม่เข้ามาร่วมระบบ เพื่อสร้างเครือข่ายที่ใหญ่ขึ้น
-
รายได้หลักมาจากการระดมทุน มาจากค่าธรรมเนียมการสมัครสมาชิกและหักค่าหัวคิว รวมถึงการบังคับสมาชิกใหม่ให้ซื้อสินค้า
-
เก็บค่าสมัครสมาชิกแพง บังคับให้ซื้อสินค้าในปริมาณมากเพื่อกักตุนสินค้า และไม่รับซื้อคืน
-
สามารถใช้เงินซื้อตำแหน่งในระบบเครือข่ายได้
-
สินค้าที่ขายมักไม่มีคุณภาพ ไม่มีมาตรฐาน แต่มีราคาสูง หรือไม่มีความจำเป็นต่อการใช้จริง เพราะใช้สินค้าเป็นเพียงเครื่องบังหน้า จึงไม่มีการรับประกัน ไม่มีบริการหลังการขาย และไม่รับคืนสินค้า
-
มีโครงสร้างองค์กรคล้ายพีระมิด โดยผู้ที่เข้าร่วมเครือข่ายก่อนจะได้รับผลประโยชน์มากกว่าผู้ที่เข้าร่วมทีหลัง บางกรณีมีการหมุนเงินจากสมาชิกใหม่ที่ร่วมลงทุนไปให้สมาชิกเก่า และเมื่อพีระมิดล้ม ผู้ที่อยู่ส่วนฐานของพีระมิด (สมาชิกใหม่ ๆ) มักจะไม่ได้อะไรเลย
-
เป็นธุรกิจระยะสั้น บริษัทไม่มีความมั่นคง อาจไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นบริษัทจริงหรือไม่
-
ชักชวนลงทุนโดยอ้างว่าได้เงินเร็ว การันตีผลตอบแทนสูงอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะนำเงินไปลงทุนได้กำไรสูง และมักพูดจาหว่านล้อมกดดันให้รีบตัดสินใจเข้าร่วมเครือข่าย
-
จัดให้มีการอบรมสัมมนาอย่างยิ่งใหญ่ ใช้คำสวยหรูในการโฆษณาชวนเชื่อ เน้นขายฝัน อ้างว่ามีวิธีที่ทำให้รวยเร็ว เป็นงานสบาย สร้างรายได้ง่าย ๆ หากเข้าร่วมเครือข่ายแล้วจะมีชีวิตที่ดีขึ้น หรืออ้างคนมีชื่อเสียง คนดัง ดารา
-
พยายามสร้างภาพลักษณ์ผู้บริหารให้ดูดี มีสตอรี่ชีวิตต้องสู้ ต้องลำบาก กว่าจะร่ำรวยเป็นเศรษฐี ใช้ชีวิตได้อย่างหรูหรา มีเงินเป็นฟ่อน เที่ยวต่างประเทศ ประสบความสำเร็จอย่างก้าวกระโดดได้ทุกวันนี้ เพื่อกระตุ้นให้คนอยากเข้าร่วม
-
ไม่จดทะเบียนประกอบธุรกิจ หรืออ้างว่าจดทะเบียนในต่างประเทศ
-
บางแห่งอาจจดทะเบียนขายตรงถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่ดำเนินการตามกฎหมาย
แชร์ลูกโซ่ ผิดกฎหมายไหม
สรุปความแตกต่าง
ขายตรง VS แชร์ลูกโซ่
-
ลักษณะธุรกิจ : ขายตรงจะเน้นการขายสินค้าเป็นหลัก แต่แชร์ลูกโซ่เน้นหาสมาชิกเข้าร่วมทีม เพื่อขยายเครือข่ายมากกว่าขายสินค้า
-
รายได้ของสมาชิก : ตัวแทนขายตรงมีรายได้จากค่าคอมมิชชั่นในการขายสินค้า และอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นจากการสร้างทีมงานของตัวเองด้วย ในขณะที่แชร์ลูกโซ่มีรายได้หลักมาจากการระดมทุน ชักชวนคนมาเป็นสมาชิกแล้วเสียค่าสมัครหรือซื้อสินค้า
-
ค่าสมัครสมาชิก : ค่าสมาชิกของธุรกิจขายตรงอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม แต่แชร์ลูกโซ่มักเรียกเก็บค่าสมาชิกที่แพง และบังคับสมาชิกซื้อสินค้า
-
สินค้าที่ขาย : ขายตรงให้ความสำคัญกับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ มีการรับประกันหลังการขาย สามารถคืนสินค้าได้ ตรงข้ามกับแชร์ลูกโซ่ที่มักใช้สินค้าเป็นเครื่องบังหน้า สินค้าที่ขายจึงมีราคาสูงเมื่อเทียบกับคุณภาพที่ได้รับ
-
ผลตอบแทน : ธุรกิจขายตรงมักให้ผลตอบแทนที่เป็นไปได้จริง ในขณะที่ธุรกิจแชร์ลูกโซ่มักอ้างผลตอบแทนที่เว่อร์เกินจริง เพื่อล่อลวงให้คนมาร่วมลงทุน และมักสัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนเมื่อชักชวนคนอื่น ๆ เข้ามาในเครือข่าย
- กฎหมาย : ธุรกิจขายตรงไม่ผิดกฎหมายหากจดทะเบียนถูกต้อง ส่วนธุรกิจแชร์ลูกโซ่นั้นผิดกฎหมาย
บทความที่เกี่ยวข้องกับแชร์ลูกโซ่
ขอบคุณข้อมูลจาก : สมาคมการขายตรงไทย, ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.), สำนักงานกิจการยุติธรรม, ราชกิจจานุเบกษา