หุ้นกู้ดอกเบี้ยสูงออกใหม่ เดือนธันวาคม 2566 ชุดไหนดี คนทั่วไปจองซื้อได้

           รวมลิสต์หุ้นกู้ออกใหม่ ตราสารหนี้เอกชนออกใหม่ในเดือนธันวาคม 2566 มีชุดไหนที่ให้ดอกเบี้ยสูงบ้าง และประชาชนทั่วไป (PO) มีสิทธิ์ซื้อ
หุ้นกู้

        หุ้นกู้ ภาษาอังกฤษคือ Corporate Bond หรือ Debenture เป็นตราสารหนี้ที่บริษัทเอกชนเปิดขายให้ประชาชนทั่วไป หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ หรือผู้ลงทุนสถาบัน ได้ร่วมลงทุนเพื่อที่บริษัทจะได้นำเงินไปใช้ในกิจการต่าง ๆ แม้จะมีความเสี่ยงตามเรตติ้งของหุ้นกู้ แต่เนื่องจากให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากประจำ หลายคนจึงสนใจลงทุนดูบ้าง ลองมาศึกษารายละเอียดของหุ้นกู้ พร้อมเช็กว่าในเดือนธันวาคม 2566 มีหุ้นกู้ชุดไหนให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อได้บ้าง

หุ้นกู้ออกใหม่ เดือนธันวาคม 2566

        สำหรับหุ้นกู้ดอกเบี้ยสูงที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนทั่วไป (PO) สามารถจองซื้อได้ในเดือนธันวาคม 2566 ได้แก่

1. บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) (TPIPL)

หุ้นกู้ ทีพีไอ โพลีน

ภาพจาก : Thaibma สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

          บริษัทประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ ปูนสำเร็จรูป พอลิเมอร์ชนิดพิเศษ กระเบื้องคอนกรีต ไฟเบอร์ซีเมนต์ อิฐมวลเบา และสี ธุรกิจรับกำจัดกากอุตสาหกรรม และธุรกิจน้ำดื่ม เปิดขายหุ้นกู้ในเดือนธันวาคม 2566 จำนวน 2 ชุด ได้แก่

  • ประเภทหุ้นกู้ : หุ้นกู้ระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนถือหุ้นกู้

  • อายุและอัตราดอกเบี้ย : 

    • อายุ 3 ปี 4 เดือน อัตราดอกเบี้ย 4.10% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2570

    • อายุ 4 ปี 6 เดือน อัตราดอกเบี้ย 4.40% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2571

  • จ่ายดอกเบี้ย : ทุก 3 เดือน

  • อันดับความน่าเชื่อถือ : A- แนวโน้มคงที่ 

  • ระดับความเสี่ยง : 3 (จากทั้งหมด 8 ระดับ)

  • การไถ่ถอนก่อนกำหนด : ไม่มี  

  • ผู้มีสิทธิ์จองซื้อ : ประชาชนทั่วไป

  • ยอดขั้นต่ำในการจองซื้อ : 100,000 บาท ทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท

  • วันที่เปิดจอง : 12-14 ธันวาคม 2566

  • ช่องทางการขาย : ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส, บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง, บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า, บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์, บริษัทหลักทรัพย์ พาย, บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน, บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ, บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส, บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ, บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน, บริษัทหลักทรัพย์ เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์, บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก, บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป, บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี, บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์, บริษัทหลักทรัพย์ บลูเบลล์

  • ข้อมูลเพิ่มเติม : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

2. บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) (SGP)

หุ้นกู้สยามแก๊ส

ภาพจาก : Thaibma : สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

         บริษัทธุรกิจพลังงาน ค้าและขนส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลว แอมโมเนีย และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอื่น ธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า และธุรกิจให้บริการเช่าคลังเก็บสินค้าเหลวและท่าเทียบเรือน้ำลึก เปิดจองหุ้นกู้ 2 ชุด คือ

  • ประเภทหุ้นกู้ : หุ้นกู้ระยะยาว ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนถือหุ้นกู้

  • อายุและอัตราดอกเบี้ย : 

    • อายุ 2 ปี 9 เดือน อัตราดอกเบี้ย 4.95% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2569

    • อายุ 4 ปี 2 เดือน อัตราดอกเบี้ย 5.15% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2571

  • จ่ายดอกเบี้ย : ทุก 3 เดือน

  • อันดับความน่าเชื่อถือ : BBB+ แนวโน้มลบ

  • ระดับความเสี่ยง : 5 (จากทั้งหมด 8 ระดับ)

  • การไถ่ถอนก่อนกำหนด : ไม่มี

  • ผู้มีสิทธิ์จองซื้อ : ประชาชนทั่วไป 

  • ยอดขั้นต่ำในการจองซื้อ : 100,000 บาท ทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท

  • วันที่เปิดจอง : 14-18 ธันวาคม 2566

  • ช่องทางการขาย : ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส, บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า

  • ข้อมูลเพิ่มเติม : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

3. บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (NOBLE)

หุ้นกู้โนเบิล

ภาพจาก : Thaibma : สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

          ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เสนอขายหุ้นกู้ 2 ชุด ในเดือนธันวาคม 2566 ดังนี้

  • ประเภทหุ้นกู้ : หุ้นกู้ระยะยาว ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนถือหุ้นกู้

  • อายุและอัตราดอกเบี้ย : 

    • อายุ 1 ปี 5 เดือน 26 วัน อัตราดอกเบี้ย 4.80% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2568

    • อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 5.25% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2569

  • จ่ายดอกเบี้ย : ทุก 3 เดือน

  • อันดับความน่าเชื่อถือ : BBB แนวโน้มคงที่

  • ระดับความเสี่ยง : 5 (จากทั้งหมด 8 ระดับ) 

  • การไถ่ถอนก่อนกำหนด : ไม่มี

  • ผู้มีสิทธิ์จองซื้อ : ประชาชนทั่วไป และผู้ลงทุนสถาบัน

  • ยอดขั้นต่ำในการจองซื้อ : 100,000 บาท ทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท

  • วันที่เปิดจอง : 18-20 ธันวาคม 2566

  • ช่องทางการขาย : ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส, บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์, บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง

  • ข้อมูลเพิ่มเติม : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

4. บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (MTC)

          บริษัทที่ดำเนินธุรกิจประเภทสินเชื่อ โดยเน้นการปล่อยสินเชื่อรถจักรยานยนต์ ครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในประเทศไทย เสนอขายหุ้นกู้ 2 ชุด ในเดือนธันวาคม 2566

  • ประเภทหุ้นกู้ : หุ้นกู้ระยะยาว ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนถือหุ้นกู้

  • อายุและอัตราดอกเบี้ย : 

    • อายุ 1 ปี 5 เดือน 15 วัน อัตราดอกเบี้ย 4.25% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2568

    • อายุ 2 ปี 5 เดือน 14 วัน อัตราดอกเบี้ย 4.40% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2569

  • จ่ายดอกเบี้ย : ทุก 3 เดือน

  • อันดับความน่าเชื่อถือ : BBB+ แนวโน้มคงที่

  • ระดับความเสี่ยง : 5 (จากทั้งหมด 8 ระดับ) 

  • การไถ่ถอนก่อนกำหนด : ไม่มี

  • ผู้มีสิทธิ์จองซื้อ : ประชาชนทั่วไป และผู้ลงทุนสถาบัน

  • ยอดขั้นต่ำในการจองซื้อ : 100,000 บาท ทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท

  • วันที่เปิดจอง : 21-22 และ 25 ธันวาคม 2566

  • ช่องทางการขาย : ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส, บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง, บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ, บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์, บริษัทหลักทรัพย์ บลูเบลล์, บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน, บริษัทหลักทรัพย์ พาย, บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี, บริษัทหลักทรัพย์ เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์

  • ข้อมูลเพิ่มเติม : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

วิธีเลือกลงทุนหุ้นกู้

หุ้นกู้ออกใหม่

พิจารณาความน่าเชื่อถือของบริษัท

           ดูว่าบริษัทที่เราจะลงทุนนั้นมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ มีข่าวลบอะไรที่ทำให้เสียหายหรือเปล่า รวมทั้งผลประกอบการธุรกิจและความสามารถในการชำระหนี้ เพราะหากเลือกผิดพลาดอาจเจอปัญหาบริษัทผิดนัดชำระหนี้ ทำให้เราไม่ได้รับเงินลงทุนคืน

           ทั้งนี้ เราอาจสามารถพิจารณาได้จากอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ (Credit Rating) ที่จัดทำโดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Agency) ซึ่งอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ BBB- ขึ้นไปจนถึง AAA จัดเป็นหุ้นกู้ที่อยู่ในระดับน่าลงทุน (Investment Grade) แต่หากเป็นหุ้นกู้ที่มีเรตติ้งตั้งแต่ BB+ ลงมา จนถึง D จะเป็นหุ้นกู้ในกลุ่มต่ำกว่าระดับลงทุน (Non-Investment Grade)

พิจารณาอายุของหุ้นกู้

           หุ้นกู้มีทั้งระยะสั้น ระยะยาว ดังนั้น ควรพิจารณาเลือกลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอายุสอดคล้องกับระยะเวลาที่ต้องการลงทุน อย่างไรก็ตาม หุ้นกู้ระยะยาวบางรุ่นอาจมีเงื่อนไขสามารถไถ่ถอนก่อนกำหนดได้

พิจารณาอัตราดอกเบี้ย

          หุ้นกู้ระยะยาวมักจะให้ดอกเบี้ยสูงกว่าหุ้นกู้ระยะสั้น แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะปัจจัยที่ทำให้หุ้นกู้ของแต่ละบริษัทมีอัตราดอกเบี้ยต่างกันก็คือ เรตติ้งของหุ้นกู้ ความน่าเชื่อถือและความมั่นคงของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ ความเสี่ยงของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ ซึ่งต้องนำมาประกอบการพิจารณาด้วย

พิจารณากลุ่มบุคคลที่สามารถจองซื้อได้

          บริษัทผู้ออกหุ้นกู้จะเสนอขายหุ้นกู้ตามกลุ่มนักลงทุน ดังนั้น ก่อนซื้อต้องศึกษาให้ดีว่าเรามีสิทธิ์ซื้อหรือไม่ โดยแบ่งกลุ่มผู้ลงทุนออกเป็น 4 ประเภท คือ

          1. ผู้ลงทุนเฉพาะเจาะจง (Private Placement : PP10) คือ การขายตราสารหนี้ให้กับผู้ลงทุนไม่เกิน 10 ฉบับ หรือ 10 ราย ซึ่งผู้ลงทุนจะต้องเป็นผู้ลงทุนสถาบัน กรรมการ ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ถือหุ้นเกิน 10% และบริษัทในเครือเท่านั้น

          2. ผู้ลงทุนสถาบัน (Institutional Investor : II) เช่น ธนาคาร บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ กองทุน บริษัทประกัน

          3. ผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth : HNW) คือ บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่มีสินทรัพย์ รายได้ต่อปี หรือลงทุนในหลักทรัพย์ตามที่กำหนด โดยกรณีเป็นบุคคลธรรมดา (รวมคู่สมรสตามกฎหมาย) จะใช้เกณฑ์ดังนี้ (เข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง)

  • มีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป หรือ

  • มีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ตั้งแต่ 8 ล้านบาทขึ้นไป ถ้ารวมเงินฝากจะเป็น 15 ล้านบาทขึ้นไป หรือ

  • มีสินทรัพย์สุทธิตั้งแต่ 30 ล้านบาทขึ้นไป ไม่รวมที่อยู่พักอาศัยประจำ 

          แต่ในกรณีที่มีฐานะทางการเงินไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด จะพิจารณาคุณสมบัติด้านความรู้และประสบการณ์ในการลงทุนเพิ่มเติม โดยหากเข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ก็สามารถเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ได้ 

  • มีประสบการณ์การลงทุนย้อนหลังในสินทรัพย์เสี่ยงที่ต้องมีการลงทุนเป็นประจำและต่อเนื่อง หรือ

  • มีประสบการณ์การทำงานด้านการบริหารการเงินและการลงทุน หรือ

  • เป็นผู้แนะนำการลงทุนหรือผู้วางแผนการลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. หรือ

  • ได้รับวุฒิบัตรที่เกี่ยวกับการลงทุน

          4. ผู้ลงทุนทั่วไป (Public Offering : PO) คือ ประชาชนทั่วไปสามารถซื้อหุ้นกู้ได้

วิธีดูความเสี่ยงของหุ้นกู้

ความเสี่ยงหุ้นกู้

          ความเสี่ยงของหุ้นกู้หลัก ๆ นั้นจะมีอยู่ 3 ด้าน คือ

  • ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย : เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับเพิ่มขึ้น ผู้ลงทุนอาจเสียโอกาสที่จะนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นกู้ เช่น เงินฝาก 

  • ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง : การลงทุนหุ้นกู้จะได้รับเงินคืนเมื่อครบกำหนดเวลาไถ่ถอน แต่ถ้าจำเป็นต้องขายเพื่อนำเงินออกมา ต้องขายในหุ้นกู้ตลาดรอง ซึ่งอัตราดอกเบี้ยมักลดลง 

  • ความเสี่ยงด้านเครดิต : บริษัทผู้ออกหุ้นกู้บางแห่งอาจประสบปัญหาหมุนเงินไม่ทัน หรือเลิกกิจการ ทำให้ไม่สามารถหาเงินต้นมาคืนให้เราได้ เท่ากับผิดนัดชำระหนี้ (Default) ซึ่งต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องต่อไป
            สำหรับใครที่ต้องการทราบรายละเอียดของหุ้นกู้ชุดต่าง ๆ ที่เปิดขายในเดือนธันวาคม 2566 เพิ่มเติม สามารถศึกษาข้อมูลได้ที่ เว็บไซต์ ก.ล.ต. หรือที่ เฟซบุ๊ก ThaiBMA

บทความที่เกี่ยวข้องกับหุ้นกู้

ขอบคุณภาพจาก : เฟซบุ๊ก Thaibma : สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (1), (2), (3)
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (1), (2), (3), (4)Youtube ThaiBMAChannel

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หุ้นกู้ดอกเบี้ยสูงออกใหม่ เดือนธันวาคม 2566 ชุดไหนดี คนทั่วไปจองซื้อได้ อัปเดตล่าสุด 1 ธันวาคม 2566 เวลา 15:34:07 81,528 อ่าน
TOP
x close