ภาษีขายหุ้น เก็บเท่าไร ไขข้อสงสัย ปี 2566 จะได้ใช้จริงหรือไม่ ?

           ภาษีขายหุ้นปี 2566 จะได้เก็บจริงหรือไม่ หลังกระทรวงการคลังเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด จากเดิมที่จะประกาศบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคม 2566

          ใครที่เป็นนักลงทุนหรือเทรดซื้อ-ขายหุ้นบ่อย ๆ คงเห็นข่าวเกี่ยวกับการเก็บภาษีขายหุ้นที่จะเริ่มในปี 2566 ซึ่งก็มีคนพูดถึงและแสดงความคิดเห็นค่อนข้างมาก โดยนักลงทุนส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีขายหุ้น เช่นเดียวกับสภาธุรกิจตลาดทุนไทยและหลาย ๆ หน่วยงานก็ออกมาคัดค้าน เพราะมองว่าจะทำให้ต้นทุนการซื้อ-ขายหุ้นสูงขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติย้ายไปลงทุนในตลาดอื่นแทน และกระทบต่อสภาพคล่องของตลาดหุ้นไทย อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงการคลังได้ยืนยันว่า ตลาดหุ้นไทยมีความเข้มแข็ง ดังนั้นการเก็บภาษีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อนักลงทุนรายย่อยไม่มากนัก   

          ทว่าล่าสุดในเดือนมีนาคม 2566 แผนการเก็บภาษีขายหุ้นในปี 2566 คงต้องเลื่อนออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด หลังจากสภาธุรกิจตลาดทุนไทยทำหนังสือคัดค้านการจัดเก็บภาษีขายหุ้นมายังรัฐบาล ทำให้กระทรวงการคลังต้องเริ่มขั้นตอนพิจารณาใหม่อีกครั้ง อีกทั้งเป็นช่วงใกล้เลือกตั้ง รัฐบาลจึงไม่กล้าตัดสินใจที่จะเสนอร่างกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีขายหุ้นในเวลานี้

          ทั้งนี้ แม้จะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการจัดเก็บภาษีขายหุ้นจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่ลองย้อนไปศึกษารายละเอียดแผนการภาษีขายหุ้นของเดิมกันดูสักหน่อย 

ภาษีขายหุ้น

ภาษีขายหุ้น คืออะไร

          ภาษีขายหุ้น (Financial Transaction tax) หรือภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ การจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การจัดเก็บภาษีการค้าจากการขายหุ้นมีมาตั้งแต่ปี 2521 และได้ปรับปรุงมาเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เพื่อส่งเสริมตลาดหลักทรัพย์ให้มีการพัฒนา

          กระทั่งในปี 2565 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กลับมาเก็บภาษีขายหุ้นอีกครั้งตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป โดยกระทรวงการคลังให้เหตุผลว่า เพื่อเพิ่มความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีและลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ของไทยมีความแข็งแกร่งแล้ว

ภาษีขายหุ้น คิดยังไง เก็บเท่าไหร่

ภาษีขายหุ้น

          ตามแผนเดิมคือ ในการเก็บภาษีขายหุ้นนั้นจะเก็บเมื่อมีการขายหุ้นออกมา ซึ่งไม่ว่าผู้ขายจะได้กำไรหรือขาดทุนก็จำเป็นต้องเสียภาษีในอัตรา 0.1% ของมูลค่าที่ขาย แต่ในปี 2566 ซึ่งเป็นปีแรกของการบังคับใช้กฎหมายจะลดอัตราภาษีลงให้ครึ่งหนึ่ง ดังนั้นจึงแบ่งการจัดเก็บภาษีเป็น 2 ช่วง ในอัตราดังต่อไปนี้

  • ช่วงที่ 1 : จัดเก็บในอัตรา 0.055% (ภาษีขายหุ้น 0.05% และภาษีท้องถิ่น 0.005%) ของรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
  • ช่วงที่ 2 : จัดเก็บในอัตรา 0.11% (ภาษีขายหุ้น 0.1% และภาษีท้องถิ่น 0.01%) ของรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

          ยกตัวอย่างเช่น เมื่อขายหุ้นมูลค่า 1 ล้านบาท ในวันที่ 10 มกราคม 2566 ก็จะถูกเก็บภาษีในอัตรา 0.055% ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงิน 550 บาท นั่นเอง

          ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้นที่มีการเก็บภาษีขายหุ้นในลักษณะนี้ แต่ในประเทศอื่น ๆ ก็มีเช่นกัน อย่างประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม และจีน มีการเก็บภาษีที่ 0.1% จากการขาย หรือประเทศฟิลิปปินส์ เก็บที่ 0.6% จากการขาย เป็นต้น

ใครได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีขายหุ้น

          ถึงแม้จะมีการเริ่มเก็บภาษีขายหุ้น แต่ก็ยังมีกลุ่มผู้ขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ได้รับการยกเว้นภาษีขายหุ้นอยู่ ได้แก่

  1. ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เฉพาะการขายหลักทรัพย์ที่บุคคลนั้นได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องของหลักทรัพย์นั้น
  2. สำนักงานประกันสังคม
  3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  4. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
  5. กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
  6. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
  7. กองทุนการออมแห่งชาติ
  8. กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เพื่อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมแก่สำนักงานประกันสังคมหรือกองทุนตามข้อ 3-7 เท่านั้น

สรุปการขายหุ้น
ต้องเสียค่าธรรมเนียมอะไรบ้าง

ภาษีขายหุ้น

          หลังจากพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลบังคับใช้ เท่ากับว่าผู้ที่ขายหุ้นจะต้องเสียค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1. ค่าธรรมเนียมบริษัทหลักทรัพย์

  • ขึ้นอยู่กับบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) แต่ละแห่ง ที่จะคิดค่าธรรมเนียมไม่เท่ากัน บางแห่งกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ แต่บางแห่งไม่เรียกเก็บ
  • ขึ้นอยู่กับประเภทของบัญชีที่เปิดว่าเป็นบัญชีประเภทไหน โดยปกติการซื้อ-ขายผ่านบัญชีเงินสดจะมีค่าธรรมเนียมสูงกว่าบัญชีแบบ Cash Balance
  • ขึ้นอยู่กับช่องทางซื้อ-ขาย หากเลือกซื้อ-ขายเองผ่านอินเทอร์เน็ตจะมีค่าธรรมเนียมถูกกว่าการซื้อ-ขายผ่านเจ้าหน้าที่การตลาด หรือ Marketing เรียกสั้น ๆ ว่า มาร์

2. ค่าธรรมเนียมตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET Trading Fee) เรียกเก็บอัตรา 0.005% ของมูลค่าการซื้อ-ขายต่อวัน

3. ค่าธรรมเนียมชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ (Clearing Fee) ที่สำนักหักบัญชี เรียกเก็บอัตรา 0.001% ของมูลค่าการซื้อ-ขายต่อวัน

4. ค่าธรรมเนียมการกำกับดูแล (Regulatory Fee) ที่สำนักงาน ก.ล.ต. เรียกเก็บที่อัตรา 0.001%

5. ค่าธรรมเนียมธนาคาร ATS (Bank Fee) ที่ธนาคารเรียกเก็บ อัตรา 14 บาท กรณีเลือกตัดเงินจากบัญชีธนาคารโดยอัตโนมัติ

6. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% โดยคิดจากค่าธรรมเนียมซื้อ-ขายหุ้นที่จ่ายให้กับโบรกเกอร์และจ่ายให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เท่านั้น

7. ภาษีขายหุ้น (Financial Transaction Tax)

  • จัดเก็บในอัตรา 0.055% (รวมภาษีท้องถิ่นแล้ว) ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
  • จัดเก็บในอัตรา 0.11% (รวมภาษีท้องถิ่นแล้ว) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
          แน่นอนว่าการเก็บภาษีขายหุ้นย่อมทำให้ต้นทุนการเล่นหุ้นสูงขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่และคนที่ชอบเล่นหุ้นเก็งกำไรระยะสั้น ที่น่าจะได้รับผลกระทบมากกว่า และอาจเทรดหุ้นน้อยลง นั่นจึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลว่ากฎหมายดังกล่าวจะส่งผลต่อสภาพคล่องและมูลค่าการซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ นำไปสู่การยื่นคัดค้าน และทำให้กระทรวงการคลังต้องเลื่อนเก็บภาษีขายหุ้นออกไปอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งก็ต้องรอดูว่ารัฐบาลใหม่จะตัดสินใจอย่างไรกับเรื่องนี้

บทความที่เกี่ยวข้องกับการเล่นหุ้น

* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 9 มีนาคม 2566

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมสรรพากร, (2), ฐานเศรษฐกิจ, กรุงเทพธุรกิจ 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภาษีขายหุ้น เก็บเท่าไร ไขข้อสงสัย ปี 2566 จะได้ใช้จริงหรือไม่ ? อัปเดตล่าสุด 9 มีนาคม 2566 เวลา 17:50:18 60,653 อ่าน
TOP
x close