ประกันสังคม เอาเงินชราภาพมาใช้ก่อนได้ 3 ขอ ช่วยเลือกอันไหนดี จ่อใช้ปี 66


          คืบหน้า ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม กรณีชราภาพ ผู้ประกันตนมีสิทธิ์เลือกเอง 3 ขอ คือ ขอเลือก ขอคืน ขอกู้ สิทธิประโยชน์จัดเต็ม รับเงินชราภาพแน่นอน 60 เดือน หากยังไม่เสียชีวิตรับต่อได้อีก เจอวิกฤตขอคืนได้ กู้เงินธนาคารได้อีก ดูรายละเอียดเลย

ประกันสังคม, เงินชราภาพ

          จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยมีสาระสำคัญส่วนหนึ่งที่จะแก้ไขและเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ อันเกิดจากข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตน หรือเรียกว่า "3 ขอ"

          วันที่ 10 มิถุนายน 2565 น.ส.ลัดดา แซ่ลี้ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เผยความคืบหน้าเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ประกันสังคม กรณีชราภาพ ได้แก่ ขอเลือก ขอคืน ขอกู้ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้…

ขอเลือก


          ผู้ประกันตนสามารถที่จะเลือกรับบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพได้ เปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนมีทางเลือกเพิ่มขึ้น เปรียบเทียบกฎหมายเก่าและกฎหมายใหม่ ดังนี้...

กฎหมายฉบับเดิม

          - ผู้ที่มีอายุ 55 ปี ส่งเงินครบ 180 เดือน เมื่อลาออกจากงานจะได้รับเงินบำนาญชราภาพ

          - ผู้ที่มีอายุ 55 ปี ส่งเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน และลาออกจากงาน จะได้รับเงินก้อน หรือเงินบำเหน็จชราภาพ

ประกันสังคม, เงินชราภาพ

กฎหมายฉบับใหม่

          - ผู้ประกันตนที่มีอายุ 55 ปี ที่ส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน สามารถเลือกได้ว่าจะรับบำเหน็จชราภาพ หรือบำนาญชราภาพ

          - สำนักงานประกันสังคม มีการรับประกันการรับเงินบำนาญชราภาพ 60 เดือน

          - หากผู้ประกันตนรับบำนาญชราภาพแล้ว เกิดเหตุไม่คาดฝัน เสียชีวิตในเดือนที่ 1 หรือเดือนที่ 2 ทายาทจะได้รับอีก 58 เดือน

          - ขอเลือกรับบำเหน็จชราภาพ คือ รับเงินจำนวน 60 เดือนไปก่อน เมื่อถึงเดือนที่ 61 ก็มาเลือกรับบำนาญ หรือเรียกว่ารับเงินก้อนก่อน 60 เดือน

          เช่น ถ้าคิดเป็นเงินบำนาญชราภาพ ท่านจะได้รับ เดือนละ 5,000 บาท x 60 เดือน เท่ากับ 300,000 บาท พอเดือนที่ 61 หากท่านยังมีชีวิตอยู่ ยังไม่เสียชีวิต ก็ยังสามารถมารับเงินเป็นรายเดือนต่อไปได้

ประกันสังคม, เงินชราภาพ

ขอคืน


          การขอคืน สามารถทำได้ต่อเมื่อเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ทำให้การดำรงชีวิตของผู้ประกันตนไม่ปกติ หรือ เกิดอุทกภัย วาตภัย เกิดโรคระบาด สำนักงานประกันสังคม จะให้คืนบางส่วน

          ขณะนี้ กฎหมายหลักระบุเพียงว่าขอคืน แต่รายละเอียดของการคืนนั้น กฎหมายรองจะมีรายละเอียดสนับสนุนกฎหมายหลักว่า ให้คืนอย่างไร คืนสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ และต้องส่งเงินสมทบมาแล้วกี่เดือน กฎหมายรองจะออกรายละเอียดตามมาเป็นลำดับต่อไป

ประกันสังคม, เงินชราภาพ

ขอกู้


          สำนักงานประกันสังคม ไม่มีภารกิจให้การกู้เงินกับผู้ประกันตน แต่จะทำ MOU กับธนาคาร โดยธนาคารที่จะทำ MOU กับประกันสังคม จะเลือกธนาคารที่คิดดอกเบี้ยน้อยที่สุด เพื่อให้ผู้ประกันตนไปยื่นกู้ที่ธนาคารแห่งนั้น

          โดย สำนักงานประกันสังคม จะออกหนังสือรับรองให้ว่าผู้ประกันตนรายนั้น ๆ ซึ่งมีสิทธิ์รับเงินบำนาญชราภาพ สามารถไปกู้เงินกับธนาคารได้ เป็นลักษณะการค้ำประกันให้เท่านั้น ไม่ใช่การกู้เงินกับสำนักงานประกันสังคม

          อย่างไรก็ตาม ผู้ประกันตนยังไม่สามารถดำเนินการ 3 ขอ ได้ในขณะนี้ เนื่องจากกฎหมายยังไม่มีผลบังคับใช้ โดยขณะนี้ยังอยู่ที่กฤษฎีกา สำนักงานประกันสังคม คาดว่า หากเป็นไปตามกรอบหรือขั้นตอนที่วางไว้ จะสามารถใช้ได้จริงช่วงกลางปี 2566

ประกันสังคม, เงินชราภาพ

เพิ่มเงินบำนาญชราภาพ กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย


          นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงนามประกาศกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว เพื่อเป็นหลักประกันและช่วยเหลือทายาทของผู้รับบำนาญชราภาพ ภายหลังผู้รับบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน โดยมีสาระสำคัญ 3 ประเด็น ดังนี้...

          1. จากกฎหมายเดิม กำหนดให้ผู้รับบำนาญชราภาพที่ถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ จากเดิม 10 เท่า ของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับคราวสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย

          กฎหมายใหม่เปลี่ยนเป็นจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ จำนวนเท่ากับจำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย คูณด้วยจำนวนเดือนที่เหลือจาก 60 เดือน

          เช่น ผู้ประกันตนได้รับบำนาญชราภาพเดือนละ 5,250 บาท และได้รับเงินบำนาญชราภาพมาแล้ว 20 เดือน ก่อนถึงแก่ความตาย เมื่อกฎกระทรวงนี้ประกาศใช้ ทายาทจะได้รับเงินบำนาญชราภาพที่เหลืออีก 40 เดือนที่เหลือจาก 60 เดือน คือ 5,250 x 40 = 210,000 บาท เป็นต้น

ประกันสังคม, เงินชราภาพ

          2. จากกฎหมายเดิม กำหนดให้ผู้ที่เคยได้รับเงินบำนาญชราภาพแล้วถูกงดจ่าย เนื่องจากกลับเข้าเป็นผู้ประกันตนและต่อมาถึงแก่ความตาย หากบุคคลนั้นได้รับเงินบำนาญชราภาพมาแล้วไม่เกิน 60 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ จากเดิม 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือน คราวสุดท้ายก่อนกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน

          กฎหมายใหม่เปลี่ยนเป็นให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ เป็นจำนวนเท่ากับจำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้าย ก่อนกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน คูณด้วยจำนวนเดือนที่เหลือหลังจากผู้รับบำนาญชราภาพกลับเข้าเป็นผู้ประกันตนจนครบ 60 เดือน

          3. กำหนดบทเฉพาะกาลให้ผู้รับบำนาญชราภาพอยู่ก่อนกฎกระทรวงฉบับนี้ใช้บังคับและรับบำนาญชราภาพมาแล้วยังไม่ครบ 60 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพจนครบ 60 เดือน และในกรณีรับเงินบำนาญชราภาพมาแล้วและจำนวนเดือนเหลือน้อยกว่า 10 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเป็นจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย

          ขณะที่ นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ยืนยันว่า สำนักงานประกันสังคม ให้ความสำคัญในการสร้างหลักประกันทางสังคมอย่างเท่าเทียม เสมอภาค และพร้อมดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตนให้ได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นส่วนของ ประกันสังคม มาตรา 33, ประกันสังคม มาตรา 39 และ ประกันสังคม มาตรา 40

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน, สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประกันสังคม เอาเงินชราภาพมาใช้ก่อนได้ 3 ขอ ช่วยเลือกอันไหนดี จ่อใช้ปี 66 อัปเดตล่าสุด 28 มิถุนายน 2566 เวลา 13:50:46 131,782 อ่าน
TOP
x close