บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565 คิดรายได้เฉลี่ยครอบครัวอย่างไร เช็กเงื่อนไขแบบไหนลงทะเบียนได้

         ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565 มีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะเรื่องรายได้เฉลี่ยต่อครอบครัว ต้องคำนวณอย่างไร แล้วคนที่มีบัตรคนจนใบเดิมอยู่แล้วจะใช้สิทธิได้ถึงเมื่อไร มาหาคำตอบกัน

           ในที่สุด ครม. ก็ไฟเขียวให้เปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน รอบใหม่ ประจำปี 2565 เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้ผู้มีรายได้น้อย โดยคาดว่าจะมีผู้ผ่านเกณฑ์ได้รับสิทธิบัตรคนจนรอบนี้ประมาณ 13-15 ล้านคน 

           อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขของผู้มีสิทธิลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565 แตกต่างไปจากปี 2558 มากพอสมควร เพราะเพิ่มเกณฑ์รายได้ครัวเรือน การถือครองทรัพย์สินต่าง ๆ เข้ามาเป็นตัวคัดกรองด้วย ส่วนจะต้องคำนวณรายได้ครัวเรือนอย่างไร แล้วใครจะได้สิทธิบ้าง มาทำความเข้าใจกัน

ลงทะเบียนบัตรคนจน 2565 มีเงื่อนไขอะไรบ้าง
ลงทะเบียนบัตรคนจน

    สำหรับเกณฑ์ของผู้มีสิทธิลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565 จะต้องมีคุณสมบัติตรงตาม 8 ข้อ ดังนี้

   1. สัญชาติไทย 
 

   2. อายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
 

   3. ไม่เป็นบุคคลดังต่อไปนี้ 

  • ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช 
  • ผู้ต้องขัง ผู้ถูกกักกัน ผู้ต้องกักขัง 
  • บุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของหน่วยงานรัฐ
  • ข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ ผู้รับบำเหน็จรายเดือน ผู้รับบำนาญปกติ หรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา
     

   4. ต้องเข้าเกณฑ์รายได้เฉลี่ยต่อคน และต่อครอบครัว คือ

  • ผู้ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ต้องมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง (เดือนมกราคม-ธันวาคม 2564)
  • กรณีผู้ลงทะเบียนมีครอบครัว จะต้องมีรายได้เฉลี่ยของครอบครัวไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง (เดือนมกราคม-ธันวาคม 2564)

   5. ต้องเข้าเกณฑ์ทรัพย์สินทางการเงินต่อคน และต่อครอบครัว ดังนี้

  • ผู้ลงทะเบียน ถ้ามีเงินฝาก สลาก พันธบัตร และตราสารหนี้ภาครัฐ ต้องมีมูลค่าไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง
  • กรณีผู้ลงทะเบียนมีครอบครัว ให้นำทรัพย์สินทางการเงินของทุกคนมารวมกัน แล้วหารเฉลี่ยต้องมีมูลค่าไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง
     

   6. ผู้ลงทะเบียนจะต้องไม่มีบัตรเครดิต ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง
 

   7. ผู้ลงทะเบียนจะต้องไม่มีวงเงินกู้ หรือมีวงเงินกู้ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ไม่เกินหลักเกณฑ์ ดังนี้

  • วงเงินกู้สำหรับที่อยู่อาศัยรวมไม่เกิน 1.5 ล้านบาท
  • วงเงินกู้สำหรับยานพาหนะรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท
     

   8. ต้องไม่มี หรือมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ (บ้าน ที่ดิน ที่นา) ไม่เกินตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดดังต่อไปนี้

เงื่อนไขกรณีมีบ้าน ที่ดิน ที่นา
ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

กรณีผู้ลงทะเบียนไม่มีครอบครัว

1. ที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (บ้านพร้อมที่ดิน)

กรณีอยู่อาศัยอย่างเดียว

  • บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ห้องแถว และตึกแถว ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา
  • ห้องชุด ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร

กรณีเป็นที่อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตร

  • ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่ 
  • หรือในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตร ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่
2. ที่ดินแยกจากที่อยู่อาศัย
  • ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตร ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่
  • ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตร ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่

กรณีผู้ลงทะเบียนมีครอบครัว

1. ที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (บ้านพร้อมที่ดิน)
กรณีอยู่อาศัยอย่างเดียว
  • หากผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของที่ดิน ที่มีลักษณะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ห้องแถว และตึกแถว แยกจากกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดินของลงทะเบียนและคู่สมรสแต่ละคน ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา
  • หากผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของที่ดิน ที่มีลักษณะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ห้องแถว และตึกแถว ร่วมกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสรวมกัน ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา
  • หากผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของห้องชุดแยกจากกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสแต่ละคน ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร
  • หากผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของห้องชุดร่วมกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสรวมกัน ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร
กรณีเป็นที่อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตร
  • ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 20 ไร่ 
  • ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตร ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 2 ไร่
2. ที่ดินแยกจากที่อยู่อาศัย
  • กรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 20 ไร่
  • กรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตร ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 2 ไร่
วิธีคิดรายได้เฉลี่ยครอบครัว คำนวณอย่างไร 

          เงื่อนไขสำคัญของการได้สิทธิบัตรคนจนรอบนี้ก็คือ "ต้องมีรายได้เฉลี่ยของครอบครัวไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง" และ "ต้องมีทรัพย์สินทางการเงินเฉลี่ยต่อครอบครัวไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง" (เดือนมกราคม-ธันวาคม 2564)

          หมายความว่า หากครอบครัวไหนมีรายได้เฉลี่ยต่อคนเกิน 100,000 บาทต่อปี ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง ในปี 2564 ก็จะไม่สามารถลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565 ได้ 

          เช่นเดียวกับประเด็นทรัพย์สินทางการเงิน ถ้าบ้านไหนมีรายได้น้อย เฉลี่ยทั้งบ้านไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี ก็จริง แต่หากเคยมีเงินฝาก สลาก หรือพันธบัตร เฉลี่ยต่อคนเกิน 100,000 บาท จะไม่ได้รับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเหมือนกัน (กรณีเปิดบัญชีร่วมกับผู้อื่นจะต้องนำเงินในบัญชีมาหารตามจำนวนบุคคลที่เปิดบัญชีร่วมกัน)

          ทั้งนี้ "สมาชิกในครอบครัว" หมายถึง สามีหรือภรรยาที่จดทะเบียนสมรส และบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายที่มีอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ (นับถึงวันที่ปิดรับลงทะเบียน) แต่ไม่รวมบุตรบุญธรรม โดยนับเฉพาะที่ยังมีชีวิตอยู่

วิธีคำนวณรายได้เฉลี่ยต่อครอบครัว และทรัพย์สินทางการเงินเฉลี่ยต่อครอบครัว 
นำรายได้หรือทรัพย์สินของสมาชิกทุกคนในครอบครัวมารวมกัน
แล้วหารด้วยจำนวนสมาชิกทั้งหมด 
  • ถ้าได้ผลลัพธ์มากกว่า 100,000 บาท : ทุกคนในครอบครัวจะไม่ได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
  • ถ้าได้ผลลัพธ์ไม่เกิน 100,000 บาท : สมาชิกในครอบครัวที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จะได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่วนคนที่มีรายได้เกิน 100,000 บาทต่อปี จะไม่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ตัวอย่างการคำนวณรายได้เฉลี่ยครอบครัว
          ลองมาดูตัวอย่างกันว่า กรณีไหนสามารถลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้หรือไม่ได้สิทธิบ้าง
กรณีสามี-ภรรยาจดทะเบียนสมรส

ตัวอย่างที่ 1

          ในบ้านมีสมาชิก 3 คน ดังนี้
          - คนที่ 1 สามีจดทะเบียนสมรส : มีรายได้ในปี 2564 จำนวน 90,000 บาท
          - คนที่ 2 ภรรยาจดทะเบียนสมรส : มีรายได้ในปี 2564 จำนวน 60,000 บาท
          - คนที่ 3 บุตร อายุ 15 ปี : ไม่มีรายได้
          รวมรายได้ครัวเรือนคือ 150,000 บาท หาร 3 คน เท่ากับ 50,000 บาท 

          ถ้าคนในบ้านนี้มีทรัพย์สินทางการเงินไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด มีอสังหาริมทรัพย์ไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด ไม่มีวงเงินกู้เกินเกณฑ์ ไม่มีบัตรเครดิต ผู้ที่สามารถลงทะเบียนได้มี 2 คน คือ สามีและภรรยา เนื่องจากบุตรยังมีอายุไม่ถึง 18 ปี จะไม่สามารถลงทะเบียนได้

ตัวอย่างที่ 2

         ในบ้านมีสมาชิก 3 คน 
          - คนที่ 1 สามีจดทะเบียนสมรส : มีรายได้ในปี 2564 จำนวน 260,000 บาท
          - คนที่ 2 ภรรยาจดทะเบียนสมรส : เป็นแม่บ้าน ไม่มีรายได้
          - คนที่ 3 บุตร อายุ 17 ปี : มีรายได้ในปี 2564 จำนวน 70,000 บาท
          รวมรายได้ครัวเรือนคือ 330,000 บาท หาร 3 คน เท่ากับ 110,000 บาท 

          
ดังนั้น บ้านนี้จะไม่มีใครได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แม้ภรรยาจะไม่มีรายได้ เพราะรายได้เฉลี่ยของครอบครัวเกิน 100,000 บาทต่อคน

ตัวอย่างที่ 3

          ในบ้านมีสมาชิก 4 คน ดังนี้
          - คนที่ 1 สามีจดทะเบียนสมรส : มีรายได้ในปี 2564 จำนวน 350,000 บาท
          - คนที่ 2 ภรรยาจดทะเบียนสมรส : มีรายได้ในปี 2564 จำนวน 50,000 บาท
          - คนที่ 3 บุตร อายุ 15 ปี : ไม่มีรายได้  
          - คนที่ 3 บุตร อายุ 8 ขวบ : ไม่มีรายได้  
          รวมรายได้ครัวเรือนคือ 400,000 บาท หาร 4 คน เท่ากับ 100,000 บาท 

          ถ้าคนในบ้านนี้มีทรัพย์สินทางการเงินไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด มีอสังหาริมทรัพย์ไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด ไม่มีวงเงินกู้เกินเกณฑ์ ไม่มีบัตรเครดิต ผู้ที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติลงทะเบียนได้ คือ ภรรยาเพียงคนเดียว เนื่องจากสามีมีรายได้เกิน 100,000 บาท ส่วนบุตรทั้ง 2 คน มีอายุไม่ถึง 18 ปี ยังไม่สามารถลงทะเบียนได้

ตัวอย่างที่ 4

           ในบ้านมี 5 คน ประกอบด้วยสามี-ภรรยาที่จดทะเบียนสมรสกัน และมีบุตร 3 คน  
          - คนที่ 1 สามี : มีรายได้ในปี 2564 จำนวน 60,000 บาท
          - คนที่ 2 ภรรยา : ไม่มีรายได้ ไม่มีทรัพย์สินทางการเงินเกินเกณฑ์ที่กำหนด
          - คนที่ 3 บุตร อายุ 25 ปี : มีรายได้ในปี 2564 จำนวน 500,000 บาท
          - คนที่ 4 บุตร อายุ 17 ปี : ไม่มีรายได้ ไม่มีทรัพย์สินทางการเงินเกินเกณฑ์ที่กำหนด
          - คนที่ 5 บุตร (เสียชีวิต) 

          กรณีนี้จะถือว่าครอบครัวนี้มีสมาชิก 3 คน คือ สามี ภรรยา และบุตรที่อายุ 17 ปี เนื่องจากการลงทะเบียนบัตรคนจนจะไม่นับบุตรที่มีอายุเกิน 18 ปี หรือบุตรที่เสียชีวิตแล้ว 

          ดังนั้น รายได้รวมของบ้านนี้คือ 60,000 บาท หาร 3 คิดเป็นรายได้เฉลี่ย 20,000 บาท ดังนั้น สามีและภรรยาจะได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่วนบุตรที่อายุ 17 ปี ไม่ได้รับบัตรเพราะอายุยังไม่ถึงเกณฑ์

          ในขณะที่บุตร อายุ 25 ปี จะถือเป็นอีกครอบครัวหนึ่ง และไม่มีสิทธิรับบัตรคนจน เพราะมีรายได้เกิน 100,000 บาท

กรณีสามี-ภรรยาไม่ได้จดทะเบียนสมรส

ตัวอย่างที่ 1

          สามี-ภรรยาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน และไม่มีบุตร ดังนั้น
          - สามี ถือว่ามีสมาชิกในครอบครัว 1 คน ไม่ต้องคำนวณรายได้เฉลี่ยกับภรรยา หากมีรายได้และทรัพย์สินไม่เกิน 100,000 บาท ก็มีสิทธิในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
          - ภรรยา ถือว่ามีสมาชิกในครอบครัว 1 คน ไม่ต้องคำนวณรายได้เฉลี่ยกับสามี หากมีรายได้และทรัพย์สินไม่เกิน 100,000 บาท ก็มีสิทธิในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ตัวอย่างที่ 2

          สามี-ภรรยาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน และมีบุตร 1 คน อายุ 17 ปี โดยไม่มีชื่อบิดาในใบแจ้งเกิดของบุตร ดังนั้น
          - สามี ถือว่ามีสมาชิกในครอบครัว 1 คน ไม่ต้องคำนวณรายได้เฉลี่ยกับภรรยาและบุตร
          - ภรรยาและบุตร ถือว่ามีสมาชิกในครอบครัวรวม 2 คน ต้องนำรายได้ของภรรยาและบุตรมาคำนวณเฉลี่ยกัน แต่ไม่ต้องนำรายได้ของสามีมาคิด เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับสามี

          ตัวอย่างการคำนวณ
          - สามี มีรายได้ในปี 2564 จำนวน 90,000 บาท
          - ภรรยา มีรายได้ในปี 2564 จำนวน 190,000 บาท
          - บุตร อายุ 17 ปี มีรายได้ในปี 2564 จำนวน 50,000 บาท

          ดังนั้น สามีที่มีรายได้ 90,000 บาท ถือว่าผ่านเกณฑ์สิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ไม่ต้องนำเงินไปรวมกับภรรยาและบุตร)
          ในขณะที่ภรรยาและบุตรจะมีรายได้รวมกัน 240,000 บาท หาร 2 คน เท่ากับมีรายได้เฉลี่ย 120,000 บาท จึงไม่ได้สิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ตัวอย่างที่ 3

          สามี-ภรรยาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน และมีบุตร 1 คน อายุ 15 ปี โดยมีชื่อบิดาในใบแจ้งเกิดของบุตร ดังนั้น
          - สามีและบุตร ถือว่ามีสมาชิกในครอบครัวรวม 2 คน ต้องนำรายได้มารวมกัน แต่ไม่ต้องนำรายได้ของภรรยามารวม
          - ภรรยาและบุตร ถือว่ามีสมาชิกในครอบครัวรวม 2 คน ต้องนำรายได้มารวมกัน แต่ไม่ต้องนำรายได้ของสามีมารวม

           ตัวอย่างการคำนวณ
          - สามี มีรายได้ในปี 2564 จำนวน 90,000 บาท
          - ภรรยา มีรายได้ในปี 2564 จำนวน 210,000 บาท
          - บุตร อายุ 15 ปี มีรายได้ในปี 2564 จำนวน 30,000 บาท

          เท่ากับว่า
          - สามีและบุตรมีรายได้รวม 90,000 + 30,000 = 120,000 บาท หาร 2 จะมีรายได้เฉลี่ย 60,000 บาท สามีจึงผ่านเกณฑ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่วนบุตรยังลงทะเบียนไม่ได้ เพราะอายุยังไม่ถึง
          - ภรรยาและบุตรมีรายได้รวม 210,000 + 30,000 = 240,000 บาท หาร 2 จะมีรายได้เฉลี่ย 120,000 บาท ภรรยาจึงไม่ผ่านเกณฑ์ เพราะมีรายได้เกินที่กำหนด

ตัวอย่างการคำนวณเงินฝากเฉลี่ยของครอบครัว
          หากผู้ลงทะเบียน คู่สมรส และบุตรที่อายุต่ำกว่า 18 ปี มีทรัพย์สินทางการเงิน เช่น เงินฝาก สลาก พันธบัตร ฯลฯ จะต้องนำมาคำนวณค่าเฉลี่ยของครอบครัวด้วย ยกตัวอย่างการคำนวณเงินฝาก ดังนี้

ตัวอย่างที่ 1

สามีมีเงินฝาก 150,000 บาท ภรรยามีเงินฝาก 50,000 บาท ไม่มีบุตร
  • กรณีนี้รายได้เฉลี่ยครอบครัวเท่ากับ 100,000 บาท ดังนั้น ภรรยามีสิทธิบัตรคนจน แต่สามีไม่ได้สิทธิ เพราะมีเงินฝากเกิน 100,000 บาท

ตัวอย่างที่ 2

สามีมีเงินฝาก 250,000 บาท ภรรยามีเงินฝาก 50,000 บาท ไม่มีบุตร 
  • กรณีนี้เงินฝากเฉลี่ยครอบครัวเท่ากับ 150,000 บาท ดังนั้นไม่ผ่านคุณสมบัติทั้งคู่

ตัวอย่างที่ 3

สามีมีเงินฝาก 150,000 บาท ภรรยามีเงินฝาก 50,000 บาท มีบุตร 1 คน อายุ 15 ปี ไม่มีเงินฝาก 
  • กรณีนี้เงินฝากเฉลี่ยครอบครัวเท่ากับ 66,666.67 บาท ภรรยาจึงผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ

ตัวอย่างที่ 4

สามีมีเงินฝาก 170,000 บาท ภรรยามีเงินฝาก 90,000 บาท มีบุตร 1 คน อายุ 13 ปี มีเงินฝาก 70,000 บาท 
  • กรณีนี้เงินฝากเฉลี่ยครอบครัวเท่ากับ 110,000 บาท จึงไม่ผ่านคุณสมบัติทั้ง 3 คน

ตัวอย่างที่ 5

สามีมีเงินฝาก 50,000 บาท ภรรยามีเงินฝาก 50,000 บาท มีบุตร 1 คน อายุ 17 ปี มีเงินฝาก 300,000 บาท 
  • กรณีนี้เงินฝากเฉลี่ยครอบครัวเท่ากับ 133,333.33 บาท จึงไม่ผ่านคุณสมบัติทั้ง 3 คน

ตัวอย่างที่ 6

สามีมีเงินฝาก 200,000 บาท ที่เปิดเป็นบัญชีร่วมกับเพื่อนอีก 1 คน ส่วนภรรยามีเงินฝาก 50,000 บาท ไม่มีบุตร 
  • กรณีนี้ถือว่าสามีมีเงินฝาก 100,000 บาท (บัญชีร่วมจะนำเงินมาหารกับจำนวนบุคคลที่เปิดบัญชีร่วมกัน) เมื่อรวมกับเงินฝากของภรรยา 50,000 บาท เท่ากับมีเงินฝากเฉลี่ยคนละ 75,000 บาท จึงผ่านคุณสมบัติทั้งสามี-ภรรยา

ตัวอย่างที่ 7

พ่อมีบัญชีเงินฝากเพื่อผู้เยาว์ 200,000 บาท มีบุตร 1 คน ไม่มีเงินฝาก
  • กรณีนี้พ่อไม่ผ่านคุณสมบัติ เพราะบัญชีเพื่อผู้เยาว์ถือว่าเป็นบัญชีในชื่อของตัวเอง เท่ากับมีเงินฝากเกิน 100,000 บาท
คนเก่าต้องลงทะเบียนใหม่ไหม
บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

          คนที่เคยลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2558 และเป็นผู้ถือบัตรคนจนในปัจจุบันอยู่แล้ว จะต้องลงทะเบียนใหม่ในปี 2565 เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์คัดกรองผู้มีสิทธิได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จึงต้องทบทวนคุณสมบัติใหม่
บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565 ลงทะเบียนเมื่อไร
          สำหรับขั้นตอนการลงทะเบียนและการพิจารณาคุณสมบัติ มีดังนี้

1. เปิดลงทะเบียนบัตรคนจน ในวันที่ 5 กันยายน - 19 ตุลาคม 2565

โดยลงทะเบียนได้ตามช่องทางต่อไปนี้

     1. ลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ http://welfare.mof.go.th ตั้งแต่เวลา 06.00-23.00 น.

     2. ลงทะเบียน ณ หน่วยงานรับลงทะเบียนในพื้นที่ทั่วประเทศ ได้แก่

  • สำนักงานคลังจังหวัด
  • ที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอ
  • สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร
  • สำนักงานเมืองพัทยา
  • สาขาธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
  • สาขาธนาคารออมสิน
  • สาขาธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) 

          ทั้งนี้ ช่วงเวลาในการเปิดรับลงทะเบียน หากตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดราชการ จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหน่วยงานรับลงทะเบียนแต่ละแห่ง

2. ประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติ

          กระทรวงการคลังจะประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ลงทะเบียนว่าผ่านเกณฑ์หรือไม่ ภายในเดือนมกราคม 2566 ผ่านทางเว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ http://welfare.mof.go.th ซึ่งการประกาศผลจะแบ่งเป็น 2 กรณี

  • กรณีลงทะเบียนผ่าน : ผู้ลงทะเบียนจะต้องยืนยันตัวตนเพื่อเข้าร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยนำบัตรประจำตัวประชาชนไปติดต่อที่ ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน หรือธนาคารกรุงไทย 
     
  • กรณีลงทะเบียนไม่ผ่าน : สามารถยื่นเรื่องอุทธรณ์ผ่านทางเว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือช่องทางที่กระทรวงการคลังกำหนดได้ตั้งแต่วันที่ประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติช่วงเดือนมกราคม 2566

3. ใช้สิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

          ผู้ลงทะเบียนที่ผ่านคุณสมบัติและยืนยันตัวตนเรียบร้อยแล้ว จะสามารถเริ่มใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ได้ ในปี 2566 ซึ่งกระทรวงการคลังจะประกาศให้ทราบอีกครั้ง 

          อย่างไรก็ตาม รอบนี้จะไม่มีการแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ใช้บัตรประจำตัวประชาชนแทน ดังนั้น ใครที่บัตรประจำตัวประชาชนหมดอายุแล้ว หรือมีบัตรประจำตัวประชาชนที่ไม่ใช่แบบอเนกประสงค์ (Smart Card) แนะนำให้เปลี่ยนเป็นบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ (Smart Card) เพื่อรับสิทธิ

บัตรคนจนใบเดิมยังใช้ได้ไหม
         คนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอยู่ ณ ขณะนี้ ยังสามารถใช้สิทธิในบัตรดังกล่าวได้ จนกว่าจะมีการคัดกรองคุณสมบัติผู้ผ่านเกณฑ์การลงทะเบียนรอบใหม่แล้วเสร็จ และจะสามารถใช้บัตรใบเดิมได้จนถึงวันสุดท้ายก่อนที่จะมีการเริ่มใช้สิทธิใหม่ผ่านบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งกระทรวงการคลังจะออกประกาศยกเลิกการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐใบเดิมออกมาอีกครั้ง
บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565 ได้สิทธิอะไรบ้าง
          กระทรวงการคลังยังไม่ได้พิจารณาว่าผู้ถือบัตรคนจนรอบใหม่จะได้สวัสดิการพื้นฐาน หรือสวัสดิการเพิ่มเติมอะไรบ้าง เพราะต้องเปิดลงทะเบียนก่อนเพื่อทราบจำนวนผู้มีสิทธิที่แน่นอน จึงจัดสรรมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ให้แก่ผู้ถือบัตรอีกครั้ง 
ลงทะเบียนบัตรคนจน

ภาพจาก : สถานีข่าวกระทรวงการคลัง : Ministry of Finance News Station

บทความที่เกี่ยวข้องกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565 คิดรายได้เฉลี่ยครอบครัวอย่างไร เช็กเงื่อนไขแบบไหนลงทะเบียนได้ อัปเดตล่าสุด 31 สิงหาคม 2565 เวลา 16:50:56 85,163 อ่าน
TOP
x close