x close

เช็กมาตรการ ธปท. ช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย และ SME - ออมสิน ชะลอฟ้องลูกหนี้ NPLs ถึงสิ้นปี 64

           ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาตรการช่วยลูกหนี้ เพิ่มวงเงินสินเชื่อรายย่อย คงดอกเบี้ยชำระขั้นต่ำ มีผลทันที พร้อมขยายวงเงินสินเชื่อเพิ่มค้ำประกัน SMEs ด้านออมสิน ชะลอฟ้องร้องลูกหนี้ NPL ถึงสิ้นปี 64

มาตรการช่วย SME

           วันที่ 3 กันยายน 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ได้อย่างยั่งยืน และเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับลูกหนี้ได้มากขึ้น มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน โดยมีมาตรการดังนี้

           มาตรการรักษาสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้กับลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เพื่อให้สามารถหล่อเลี้ยงธุรกิจและเพียงพอต่อการดำรงชีวิต ประกอบด้วย

มาตรการช่วย SME

1. การปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟูสำหรับผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อกว่าคาดและยังมีความไม่แน่นอนสูง เพื่อช่วยให้บางกลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟู มีโอกาสได้รับความช่วยเหลือมากขึ้น ได้แก่  

           - ขยายวงเงินสินเชื่อให้แก่ SMEs ที่เดิมมีวงเงินสินเชื่อเดิมต่ำ หรือไม่มีวงเงินกับสถาบันการเงิน เพราะใช้เงินทุนส่วนตัวหรือรายได้ของบริษัทในการประกอบธุรกิจเป็นหลัก

           - เพิ่มการค้ำประกันและปรับลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันให้กับลูกหนี้กลุ่มเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็น micro-SMEs และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวและภาคบริการ เพื่อเอื้อให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อแก่ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางได้มากขึ้น


           ทั้งนี้ สถาบันการเงินสามารถยื่นคำขอสินเชื่อฟื้นฟูมายัง ธปท. ตามหลักเกณฑ์ข้างต้นได้ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2564

2. การผ่อนปรนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสินเชื่อลูกหนี้รายย่อยเป็นการชั่วคราว  มีผลตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2564 จนถึงสิ้นปี 2565 ประกอบด้วย

           - ขยายเพดานวงเงินเป็น 2 เท่าของเงินเดือน (เดิม 1.5 เท่า) สำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล กรณีผู้มีรายได้ ต่ำกว่า 30,000 บาท นอกจากนี้ สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล ผู้กู้สามารถขอสินเชื่อได้โดยไม่จำกัดจำนวนผู้ให้บริการ

           - คงอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตที่ถูกปรับลดลงในช่วงการแพร่ระบาดก่อนหน้าเหลือร้อยละ 5 ต่อไปจนถึงสิ้นปี 2565

           - ขยายเพดานวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลจากรายละไม่เกิน 20,000 บาท เป็น 40,000 บาท และขยายระยะเวลาการชำระคืนจากไม่เกิน 6 เดือน เป็น 12 เดือน

           สำหรับมาตรการแก้ไขหนี้เดิมอย่างยั่งยืน เพื่อให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบด้วยการปรับโครงสร้างหนี้แบบระยะยาวอย่างตรงจุดและเหมาะสมกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละราย โดยกำหนดการจ่ายหนี้ ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลงมากของลูกหนี้ และทยอยจ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อรายได้เริ่มกลับมา รวมทั้งต้องเร่งช่วยลูกหนี้ ให้ได้จำนวนมากและเร็ว

มาตรการช่วย SME

           ขณะที่ ธนาคารออมสิน ออกมาตรการชะลอการดำเนินการทางกฎหมายต่อลูกหนี้ NPLs ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 เพื่อช่วยลดภาระลูกหนี้ที่กลายเป็น NPLs ก่อนวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ประกอบด้วยสินเชื่อ 4 ประเภท

           - สินเชื่อบุคคล-รายย่อย

           - สินเชื่อประชาชนผู้มีรายได้น้อย

           - สินเชื่อครูและบุคลากรทางการศึกษา

           - สินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 20 ล้านบาท

           ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยังขาดรายได้จากผลกระทบโควิดที่ยาวนาน ทั้งการปิดกิจการถูกเลิกจ้างจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ ไม่ให้ต้องกังวลเรื่องคดีความ โดยธนาคารฯ จะไม่ฟ้อง ไม่ยึดทรัพย์ ไม่ขายทอดตลาด และไม่ฟ้องล้มละลาย แล้วแต่กรณีตามสถานะของลูกหนี้แต่ละราย จนถึงสิ้นปี 2564

            อนึ้ง การชะลอดำเนินการทางกฎหมายนี้เพื่อช่วยลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข และจะเป็นมาตรการที่ดำเนินการเพียงครั้งเดียว โดยไม่มีการขยายระยะเวลาดำเนินการอีกในอนาคต ธนาคารขอแนะนำให้ลูกหนี้ที่ประสบปัญหา ติดต่อธนาคารออมสินสาขาเจ้าของบัญชีเงินกู้ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2564

มาตรการช่วย SME

ขอบคุณข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย ,ธนาคารออมสิน


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เช็กมาตรการ ธปท. ช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย และ SME - ออมสิน ชะลอฟ้องลูกหนี้ NPLs ถึงสิ้นปี 64 โพสต์เมื่อ 4 กันยายน 2564 เวลา 15:27:17 13,042 อ่าน
TOP