ภาษี e-Service คืออะไร ซื้อสินค้า-ใช้บริการแบบไหน ต้องจ่ายภาษีบ้าง ?

          ภาษี e-Service ดีเดย์ 1 กันยายน 2564 ธุรกิจไหนต้องจ่ายภาษี e-Service ให้กรมสรรพากรบ้าง แล้วเราจะได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ 
          ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป การจัดเก็บภาษี e-Service จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการออนไลน์จากแพลตฟอร์มต่างประเทศต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้กรมสรรพากร แน่นอนว่าคำถามที่คนอยากรู้มากที่สุดก็คือ ภาษี e-Service คืออะไร แล้วการซื้อของ ขายของออนไลน์ ยิงโฆษณา Google, Facebook ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันต่าง ๆ จะได้รับผลกระทบด้วยหรือไม่ วันนี้ลองมาทำความเข้าใจกับภาษี e-Service ให้ชัดเจนกันสักครั้ง
ภาษี e-Service คืออะไร
ภาษี e-Service

          ภาษี e-Service คือ การเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กับผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service) และอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยถ้ามียอดขายเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องนำส่ง VAT ให้กรมสรรพากร ซึ่งปัจจุบันคิดอัตรา 7% ของราคาค่าบริการ

          พูดง่าย ๆ ก็คือ แพลตฟอร์มออนไลน์จากต่างประเทศที่ให้บริการในไทย เช่น Facebook, Google, Line, Microsoft, Apple, TikTok ฯลฯ หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านต่อปี จะต้องไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมชำระภาษีเป็นรายเดือน ภายในวันที่ 23 ของเดือนถัดไป 

ทำไมถึงต้องจัดเก็บภาษี e-Service 

          เหตุผลหลัก ๆ คือเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการไทย กับผู้ประกอบการจากต่างประเทศนั่นเอง เพราะโดยปกติแล้วเมื่อทำธุรกิจ ผู้ประกอบการไทยต้องยื่นภาษี ชำระ VAT 7% ให้กรมสรรพากรมาโดยตลอด แต่ผู้ประกอบการจากต่างประเทศที่มีรายได้ในประเทศไทยกลับไม่ต้องเสียภาษี VAT เลย เนื่องจากกฎหมายเดิมไม่ได้ครอบคลุมถึง 

          ดังนั้น กฎหมาย e-Service จึงออกมาช่วยปิดช่องโหว่ตรงนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการต่างชาติต้องจดทะเบียนและเสียภาษีเช่นเดียวกับผู้ประกอบการไทย ซึ่งกรมสรรพากรก็คาดว่าจะสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้เพิ่มขึ้นปีละ 5,000 ล้านบาท

     และไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่มีการจัดเก็บภาษี e-Service แต่กว่า 60 ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน ฯลฯ ก็ได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มต่างประเทศจดทะเบียนและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่หน่วยงานจัดเก็บภาษีของประเทศนั้น ๆ 

ภาษี e-Service ในไทยเริ่มใช้เมื่อไร
          ประเทศไทยได้ประกาศ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564 หรือ พ.ร.บ. e-Service เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป
ธุรกิจไหนต้องจดภาษี e-Service ในไทยบ้าง
ภาษี e-Service

ภาพจาก Vasin Lee / Shutterstock.com

         ธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือแพลตฟอร์มของบริษัทต่างประเทศที่ให้บริการทางออนไลน์ในประเทศไทย แบ่งเป็น 5 กลุ่มหลัก คือ

         1. ธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับขายของออนไลน์ เช่น Amazon, Alibaba
         2. ธุรกิจให้บริการพื้นที่โฆษณาบนเว็บไซต์ หรือสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Google
         3. ธุรกิจให้บริการจองโรงแรมที่พักและการเดินทาง เช่น Agoda, Booking, Airbnb
         4. ธุรกิจให้บริการเป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขาย เช่น บริการเรียกรถรับ-ส่ง, ขนส่ง
         5. ธุรกิจให้บริการสมาชิกดูหนัง-ฟังเพลงออนไลน์ เล่นเกม และแอปพลิเคชันต่าง ๆ เช่น Netflix, Disney, Youtube, IQIYI, Spotify, App Store, Play Store, Zoom, Slack

         โดยทั้ง 5 กลุ่มธุรกิจนี้ หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี และยังไม่ได้จดทะเบียน VAT จะต้องมาจดทะเบียนและดำเนินการทางภาษีผ่านระบบงานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (VAT for Electronic Service : VES) บนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร
 
         ถ้าต้องการทราบว่าผู้ประกอบการรายไหนจดทะเบียน VAT ในไทยแล้วบ้าง สามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่นี่เลย eservice.rd.go.th   

ซื้อของออนไลน์-ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์ม
ต้องจ่ายภาษีเพิ่มไหม
           เรื่องนี้แบ่งเป็น 2 กรณี คือ

1. ถ้าผู้ใช้บริการจดทะเบียน VAT อยู่แล้ว

          อย่างเช่น เราเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือเป็นบริษัทที่จดทะเบียน VAT เพื่อเสียภาษีทุกเดือนอยู่แล้ว หากใช้บริการแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ เราต้องแจ้งหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี VAT ให้แพลตฟอร์มจากต่างประเทศทราบด้วยว่า เราเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียน VAT อยู่แล้ว เพื่อที่ทางแพลตฟอร์มจะได้ไม่ชาร์จ VAT เพิ่มจากเรา  

          จากนั้นเราค่อยไปยื่นแบบ ภ.พ.36 เพื่อจ่ายภาษี VAT เอง ซึ่งสามารถนำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากรมาหักเป็นภาษีซื้อได้เช่นเดิม แต่ผู้ประกอบการที่เสียภาษี e-Service จะไม่มีสิทธิ์ออกใบกำกับภาษี และไม่สามารถนำภาษีซื้อมาหักออกจากภาษีขายได้ 

2. ถ้าผู้ใช้บริการไม่ได้จดทะเบียน VAT

          นั่นก็คือคนทั่วไปอย่างเรา ๆ ซึ่งจะไม่ได้เสียภาษี e-Service โดยตรง เพราะเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการต่างประเทศ แต่ก็อาจจะได้จ่ายภาษีทางอ้อม เนื่องจากต้นทุนของประกอบการสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการบางรายมาเรียกเก็บ VAT 7% จากเราแทน 

          ดังนั้น หากเราใช้บริการแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ-ขายสินค้า จองห้องพัก จองตั๋วเครื่องบิน ดูหนัง ฟังเพลง ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ดาวน์โหลดเกม ฯลฯ ก็มีโอกาสต้องจ่ายค่าบริการ ค่าสินค้าแพงขึ้นอีก 7% เช่น ปกติเคยซื้อโฆษณา Google Ads 1,000 บาท อาจต้องจ่ายเพิ่มเป็น 1,070 บาท เป็นต้น

         อย่างไรก็ตาม ตรงนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้ประกอบการต่างประเทศด้วยว่าจะบวก VAT 7% เพิ่มจากค่าสินค้าและบริการหรือไม่ หรือจะดำเนินการอย่างไรกับต้นทุนที่เพิ่มมาส่วนนี้ เพราะถ้ามีผู้ให้บริการรายหนึ่งตัดสินใจชาร์จ VAT จากลูกค้า ในขณะที่คู่แข่งยังตรึงราคาเดิม ผู้ให้บริการที่ปรับราคาขึ้นก็อาจเสียลูกค้าไปได้เหมือนกัน 

บทความที่เกี่ยวข้องกับภาษีและการซื้อ-ขายออนไลน์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภาษี e-Service คืออะไร ซื้อสินค้า-ใช้บริการแบบไหน ต้องจ่ายภาษีบ้าง ? อัปเดตล่าสุด 1 กันยายน 2564 เวลา 17:48:34 30,103 อ่าน
TOP
x close