สรุป กฎหมายอีเพย์เมนต์ คืออะไร ใช้กับใครบ้าง

          เปิดรายละเอียด กฎหมายอีเพย์เมนต์ รับโอนเงินเกินกำหนด เจอตรวจสอบ แบบนี้ใครบ้าง จะได้รับผลกระทบ 
ภาษีขายของออนไลน์

          ได้รับความสนใจและถูกพูดถึงกันอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ เมื่อล่าสุด (วันที่ 20 มีนาคม 2562) ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 (อ่านข่าว - ฝาก-รับเงินถี่มีหนาว ! กฎหมายอีเพย์เมนต์ รายงานธุรกรรมเฉพาะ) โดยมีประเด็นสำคัญ คือ ให้สถาบันการเงินเปิดเผยข้อมูลบัญชีที่มีความเคลื่อนไหวเข้าข่ายต้องเสียภาษี หรือที่หลายคนเรียกกันแบบเข้าใจว่า "พ.ร.บ.เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์" หรือ "กฎหมายอีเพย์เมนต์" นั่นเอง

          นั่นแปลว่า ใครที่รับโอนเงินถึงเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ก็จะถูกส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรตรวจสอบการเสียภาษี และไม่ใช่แค่คนขายของออนไลน์เท่านั้น แต่ทุกคนมีสิทธิ์โดนเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้น เรามาดูรายละเอียดของกฎหมายนี้กันให้ชัด ๆ ดีกว่า    

กฎหมายอีเพย์เมนต์ เริ่มเมื่อไหร่ 

          ขณะนี้ได้มีการประกาศให้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ประเด็นที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) เป็นกฎหมายแล้ว โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2562 และให้สถาบันการเงินส่งรายงานธุรกรรมครั้งแรกต่อกรมสรรพากร ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 

บังคับใช้กับใครบ้าง 

ภาษีขายของออนไลน์

          ประเด็นสำคัญของกฎหมายนี้ เพื่อต้องการตรวจสอบข้อมูลของผู้ที่มีรายได้ มียอดฝาก หรือรับโอนเงินทุกคน เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมผู้เสียภาษี ไม่ว่าจะเป็น 

          - ร้านค้าออนไลน์

          - พ่อค้า-แม่ค้า

          - มนุษย์เงินเดือน

          - อาชีพรับจ้าง

          - บริษัท-ห้างร้านต่าง ๆ

          รวมถึงผู้ที่มีรายได้อื่น ๆ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ไม่ได้มีการยื่นเสียภาษีอย่างถูกต้อง อย่างไรก็ดี กฎหมายจะไม่มีการตรวจสอบเพื่อเก็บภาษีย้อนหลัง 

ยอดรับโอนเท่าไหร่ ธนาคารถึงส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร

          สถาบันการเงินจะส่งข้อมูลการใช้บริการให้กรมสรรพากรก็ต่อเมื่อ จะต้องมียอดฝากหรือรับโอนเงิน รวมกันทุกช่องทางทั้งเคาน์เตอร์ธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม และ Internet Banking (ไม่รวมการโอนเงินให้บัญชีตนเองและคนอื่น) ในแต่ละธนาคาร ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

          1. ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีตั้งแต่ 3,000 ครั้ง/ปี
          นับเฉพาะจำนวนครั้งที่รับโอนเงิน คือถ้าปีนั้นรับโอนถึง 3,000 ครั้ง โดนตรวจสอบหมด ไม่ว่ามูลค่าเงินจะมากน้อยแค่ไหนก็ตาม 

          2. ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดเงินรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาท/ปีขึ้นไป
          ต้องเข้า 2 เงื่อนไข ทั้งจำนวนครั้งและมูลค่าเงิน เช่น ยอดโอน 400 ครั้ง มูลค่ารวม 2.5 ล้านบาท แบบนี้คือโดนตรวจสอบ 
          แต่ถ้าเป็น ยอดโอน 400 ครั้ง มูลค่ารวม 1 ล้านบาท แบบนี้จะไม่โดนตรวจสอบ หรือยอดโอน 300 ครั้ง มูลค่า 3 ล้านบาท ก็ไม่โดนตรวจสอบเช่นกัน 

          ทั้งนี้ การนับยอดทำธุรกรรมจะเป็นแบบปีต่อปี คือ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม ของปีนั้น ๆ โดยข้อมูลที่่ส่งจะแยกเป็นรายสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ได้รวมข้อมูลหรือเชื่อมโยงกัน
  

ขายของออนไลน์เท่าไหร่ ถึงต้องเสียภาษี

ภาษีขายของออนไลน์

          ย้ำก่อนว่ากฎหมายฉบับนี้ เป็นคนละส่วนกับการเรียกเก็บภาษีขายของออนไลน์ เพราะเป็นเพียงการให้ธนาคารเปิดเผยข้อมูลบัญชี เพื่อให้กรมสรรพากรตรวจสอบเท่านั้น ซึ่งอาจจะโดนเก็บภาษีหรือไม่โดนก็ได้ เพราะต้องไปดูรายได้รวมอีกที  

          ส่วนเรื่องการเสียภาษีออนไลน์ ปัจจุบันร้านค้าออนไลน์ก็ต้องยื่นเสียภาษีกันอยู่แล้ว หากมีรายได้ตามเกณฑ์ ดังนี้ ่ 

          - ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากมีเงินได้สุทธิตั้งแต่ 150,000 บาท/ปีขึ้นไป 

          - ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หากมีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาท/ปี 

          อ่านเพิ่มเติม : ขายของออนไลน์เสียภาษีอย่างไร ? วิธีคำนวณง่าย ๆ ก่อนยื่นภาษี


กฎหมายบังคับใช้แล้ว เตรียมตัวยังไงดี

        ใครที่กลัวว่าการบังคับใช้กฎหมายนี้ จะมีปัญหาอะไรหรือเปล่า บอกเลยว่าไม่มีอะไรต้องกังวล เพราะกฎหมายไม่บังคับใช้ย้อนหลัง โดยเฉพาะใครที่ยื่นภาษีอย่างถูกต้อง ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายชัดเจน และเก็บเอกสารต่าง ๆ หลักฐานครบถ้วน รับรองว่าไม่มีปัญหาตามมาแน่นอน เพราะเกณฑ์การเสียภาษีต่าง ๆ ยังคงเท่าเดิม เคยเสียยังไง ก็ยังเป็นแบบนั้น   

        หรือถ้าเป็นกรณีมีการรับโอนเงินเกินกำหนด แต่การโอนนั้นไม่ใช่การซื้อ-ขาย เราไม่ได้มีรายได้จากตรงนั้น เช่น ลูกได้รับโอนเงินจากพ่อ-แม่ ยังไงกรณีนี้ก็ไม่เข้าข่ายต้องเสียภาษีอยู่แล้ว หากกรมสรรพากรเรียกตรวจสอบ เราก็เพียงแจ้งไปตามข้อเท็จจริงเท่านั้น


          สรุปแล้วกฎหมายฉบับนี้ เพื่อต้องการตรวจสอบให้ผู้ที่อยู่นอกระบบภาษี เข้ามาเสียภาษีแบบถูกต้องมากขึ้น ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของผู้ที่มีรายได้ทุกคนอยู่แล้ว ดังนั้น ใครที่ยื่นเสียภาษีแบบถูกต้อง รับรองว่าไม่มีผลกระทบแน่นอน


*** อัปเดตข้อมูลล่าสุด เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562

 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สรุป กฎหมายอีเพย์เมนต์ คืออะไร ใช้กับใครบ้าง อัปเดตล่าสุด 22 มีนาคม 2562 เวลา 09:18:09 85,830 อ่าน
TOP
x close