เงินทดแทนประกันสังคม ป่วยโควิดก็เบิกได้ ต้องทำอย่างไร ใครมีสิทธิ์ เช็กเลย !

          ประกันสังคมจ่ายเงินทดแทนขาดรายได้ เมื่อป่วยโควิดและต้องพักรักษาตัว แล้วใครมีสิทธิ์ หรือต้องลงทะเบียนอย่างไร มาตรวจสอบกัน
          เมื่อลูกจ้างในระบบประกันสังคมเจ็บป่วยด้วยโรคโควิด 19 นอกจากจะได้รับการรักษาฟรีในสถานพยาบาลตามสิทธิแล้ว รู้ไหมว่าเรายังสามารถยื่นขอเบิกเงินทดแทนการขาดรายได้จากประกันสังคมได้อีกทาง เนื่องจากโควิด 19 ถือเป็นหนึ่งในอาการเจ็บป่วยที่เข้าข่ายได้รับสิทธิประโยชน์กรณีเงินทดแทนการขาดรายได้ งั้นลองไปเช็กสิทธิประกันสังคมกันว่า ใครจะได้รับเงินทดแทนฯ บ้าง
เงินทดแทนประกันสังคม ใครมีสิทธิ์ได้
เงินทดแทนประกันสังคม

          คนที่มีสิทธิ์รับเงินทดแทนการขาดรายได้จากประกันสังคมเมื่อป่วยโควิดจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

ผู้ประกันตนมาตรา 33 (ทำงานกับนายจ้าง)

          ต้องส่งเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายใน 15 เดือน (ส่งติดต่อกันหรือไม่ก็ได้) ก่อนเดือนที่เจ็บป่วย และแพทย์มีคำสั่งให้หยุดพักรักษาตัว

ผู้ประกันตน มาตรา 39 (ประกันตนเอง)

           ต้องส่งเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายใน 15 เดือน (ส่งติดต่อกันหรือไม่ก็ได้) ก่อนเดือนที่เจ็บป่วย และแพทย์มีคำสั่งให้หยุดพักรักษาตัว

           เช่น หากป่วยโควิดและเข้ารักษาพยาบาลในเดือนมกราคม 2565 จะมีสิทธิ์กรณีเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเคยจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 3 เดือน (เดือนไหนก็ได้) ในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม 2563 - ธันวาคม 2564

ผู้ประกันตน มาตรา 40 (อาชีพอิสระ แรงงานนอกระบบ)

          ต้องส่งเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายใน 4 เดือน (ส่งติดต่อกันหรือไม่ก็ได้) ก่อนเดือนที่เจ็บป่วย เช่น หากป่วยโควิดและรักษาพยาบาลในเดือนมกราคม 2565 จะมีสิทธิ์กรณีเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 3 เดือน (เดือนไหนก็ได้) ในช่วงระหว่างเดือนกันยายน - ธันวาคม 2564 
เงินทดแทนประกันสังคม ได้เท่าไร มีเงื่อนไขอะไรบ้าง
          ผู้ประกันตนแต่ละมาตราจะได้รับสิทธิ์แตกต่างกัน ดังนี้

ผู้ประกันตน มาตรา 33

  • กรณีลาป่วย 30 วันแรกจะได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง ส่วนที่ลาป่วยเกิน 30 วัน คือตั้งแต่วันที่ 31 เป็นต้นไป จึงสามารถยื่นขอรับเงินทดแทนฯ จากประกันสังคมได้

  • มีหนังสือรับรองจากนายจ้างว่าได้รับค่าจ้างในวันลาป่วยครบ 30 วันทำงาน ใน 1 ปีปฏิทิน ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 

  • จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างจริง โดยคิดจากฐานไม่เกิน 15,000 บาท ตามกฎหมายประกันสังคม เท่ากับว่าจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้สูงสุดวันละ 250 บาท (จ่ายครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน)

ผู้ประกันตน มาตรา 39

  • ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในอัตรา 50% ของค่าจ้าง คิดจากฐานเงินเดือน 4,800 บาท เท่ากับจะได้วันละ 80 บาท (จ่ายครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน)
  • แต่ถ้าผู้ประกันตน มาตรา 39 ไม่ได้ทำงานกับนายจ้าง หรือไม่มีรายได้จากการประกอบอาชีพ จะไม่สามารถเบิกสิทธิ์เงินทดแทนการขาดรายได้จากประกันสังคมได้

ผู้ประกันตน มาตรา 40

เงินทดแทนประกันสังคม

          สิทธิประกันสังคม มาตรา 40 จะไม่ครอบคลุมการรักษาพยาบาล ดังนั้นเมื่อป่วยโควิด 19 ต้องใช้สิทธิบัตรทอง จาก สปสช. แต่กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย มีสิทธิ์รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ดังนี้
มาตรา 40 ทางเลือกที่ 1 (จ่าย 70 บาท/เดือน) และทางเลือกที่ 2 (จ่าย 100 บาท/เดือน)

         - กรณีเป็นผู้ป่วยใน นอนโรงพยาบาล/โรงพยาบาลสนาม/Hospitel ตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป ได้เงินทดแทนวันละ 300 บาท
         - กรณีไม่นอนโรงพยาบาล แต่แพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวหรือพักกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) ตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ได้เงินทดแทนวันละ 200 บาท

          โดยทั้ง 2 กรณีข้างต้นรวมกันจะจ่ายเงินทดแทนให้ไม่เกิน 30 วัน/ปี

          - เงินทดแทนการขาดรายได้ ครั้งละ 50 บาท กรณีที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาประเภทผู้ป่วยในและไม่ได้มีความเห็นแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวหรือพักกักตัว โดยต้องมีใบรับรองแพทย์มาแสดงต่อสำนักงาน

มาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 (จ่าย 150 บาท/เดือน) 

          - กรณีเป็นผู้ป่วยใน นอนโรงพยาบาล/โรงพยาบาลสนาม/Hospitel ตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป ได้เงินทดแทนวันละ 300 บาท
          - กรณีไม่นอนโรงพยาบาล แต่แพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวหรือพักกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) ตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ได้เงินทดแทนวันละ 200 บาท

          โดยทั้ง 2 กรณีข้างต้นรวมกันจะจ่ายเงินทดแทนให้ไม่เกิน 90 วัน/ปี

 ขอรับเงินทดแทนประกันสังคมได้ที่ไหน
ใช้เอกสารอะไรบ้าง

          เมื่อรักษาตัวจนหายป่วยดีแล้วสามารถติดต่อขอรับเงินทดแทนการขาดรายได้ที่สำนักงานประกันสังคมทุกแห่ง ทั่วประเทศ โดยเตรียมเอกสาร ดังนี้

  1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส.2-01 (คลิกดาวน์โหลด
  2. บัตรประจำตัวประชาชน
  3. ใบรับรองแพทย์จากสถานพยาบาลที่รักษา หรือบันทึกภาพหน้าจอจากแอปพลิเคชันไลน์หรือโปรแกรมอื่น ๆ ที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารกับสถานพยาบาล 
  4. สำเนาเวชระเบียนที่ได้จากการบันทึกหน้าจอแอปพลิเคชันไลน์หรือโปรแกรมอื่น ๆ โดยต้องระบุวันที่เริ่มรักษา จนสิ้นสุดการรักษา รวมถึงการให้หยุดพักรักษาตัวต่อเพื่อใช้ประกอบการเบิกเงินค่าทดแทนการขาดรายได้จากสำนักงานประกันสังคม
  5. หนังสือรับรองการใช้สิทธิ์ลาป่วยจากนายจ้าง (สำหรับผู้ประกันตนที่มีนายจ้าง)
  6. หลักฐานการประกอบอาชีพ เช่น ใบเสร็จรับเงินค่าเช่าแผงขายของ, ใบสั่งสินค้า, ใบรับสินค้า ฯลฯ (สำหรับผู้ประกันตน มาตรา 39 เพื่อแสดงว่ามีรายได้จากการประกอบอาชีพ)
  7. สำเนาเอกสารใบเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล (กรณีมีการเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล)
  8. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ประเภทออมทรัพย์ หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของธนาคารใดธนาคารหนึ่งต่อไปนี้ 
    - ธนาคารกรุงไทย
    - ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
    - ธนาคารกรุงเทพ
    - ธนาคารไทยพาณิชย์
    - ธนาคารกสิกรไทย
    - ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต
    - ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย
    - ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
     
          ทั้งนี้เราสามารถยื่นเบิกเงินทดแทนการขาดรายได้ ภายใน 2 ปี ดังนั้นผู้ประกันตนคนไหนที่หายป่วยแล้ว และเข้าเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่ประกันสังคมกำหนด ก็สามารถใช้สิทธิ์ของตัวเองได้เลย หรือหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนสำนักงานประกันสังคม โทร. 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง

บทความที่เกี่ยวกับเงินเยียวยาประกันสังคมช่วงโควิด 19

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เงินทดแทนประกันสังคม ป่วยโควิดก็เบิกได้ ต้องทำอย่างไร ใครมีสิทธิ์ เช็กเลย ! อัปเดตล่าสุด 28 มิถุนายน 2565 เวลา 17:42:19 124,722 อ่าน
TOP
x close