มติ ครม. เยียวยา 9 สาขาอาชีพ โดยแจกเงินลูกจ้างและนายจ้าง ผู้ประกันตน ม.33 ทั้งหมด 1 เดือน-ชดเชย ม.39, ม.40 และอาชีพอิสระ จำนวน 5,000 บาท พร้อมช่วยลดค่าไฟ ค่าเรียน และผ่อนปรนหนี้ในระบบ
วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 เดลินิวส์ออนไลน์ เปิดเผยข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน กลุ่มแรงงาน และผู้ประกอบการอันเนื่องมาจากคำสั่ง ศบค. ฉบับที่ 27 โดยมาตรการเร่งด่วน กรอบวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท จะช่วยเหลือแรงงานและผู้ประกอบการดังนี้
ใครบ้างที่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา
แรงงานและคนทำงานที่อยู่ใน 10 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา โดยการช่วยเหลือจะครอบคลุม 9 สาขา ประกอบด้วย
- กิจการก่อสร้าง
- กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร
- กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ
- กิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ
- สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า
- สาขาขายส่งและการขายปลีก
- สาขาการซ่อมยานยนต์
- สาขากิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุนวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ
- สาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร
ได้รับเงินเท่าไร
ผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 สัญชาติไทย
- ลูกจ้าง ม.33 ในกิจการ 9 หมวด รัฐจะจ่ายเงินเยียวยาให้ 50% ของรายได้ (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) และจ่ายสมทบให้ลูกจ้างสัญชาติไทยอีก 2,500 บาทต่อคน รวมแล้วได้สูงสุด 10,000 บาท
- นายจ้าง จะได้รับการช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน
ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 สัญชาติไทย
- ผู้ที่ยังคงประกอบอาชีพอยู่ในปัจจุบัน จะได้รับช่วยเหลือ 5,000 บาท จำนวน 1 เดือน
ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ไม่ได้อยู่ในมาตรา 33, 39 และ 40 สัญชาติไทย
- ผู้ที่ยังคงประกอบอาชีพอยู่ ให้เตรียมหลักฐานไปลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 กับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อจะได้รับการช่วยเหลือ 5,000 บาท
ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้าง แต่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม
- ให้ขึ้นทะเบียนตาม ม.33 ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อรับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท
ผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้าง และไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม
- ให้ขึ้นทะเบียนตาม ม.40 ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท
- ผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” 5 หมวด ภายใต้โครงการ “คนละครึ่ง” และโครงการ “เราชนะ” ที่ “มีลูกจ้าง” ให้ขึ้นทะเบียนตาม ม.33 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับเงินช่วยเหลือ
- ผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” 5 หมวด ภายใต้โครงการ “คนละครึ่ง” และโครงการ “เราชนะ” ที่ “ไม่มีลูกจ้าง” ให้ขึ้นทะเบียนตาม ม.40 ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท
ระยะเวลาในการให้ความช่วยเหลือ
- 1 เดือน (อาจมีการขยายต่อตามสถานการณ์)
มาตรการบรรเทาค่าใช้จ่าย
- ค่าไฟฟ้า ลดค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ เฉพาะอย่าง องค์กรไม่แสวงหากำไร และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) เป็นเวลา 2 เดือน คือกรกฎาคม - สิงหาคม 2564 - สำหรับบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก
- สำหรับบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้คิดดังนี้
1) หากใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับค่าไฟเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้จริง
2) หากใช้ไฟฟ้ามากกว่าค่าไฟเดือนกุมภาพันธ์ 2564 หากไม่เกิน 500 หน่วย ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยของเดือนกุมภาพันธ์ 2564
3) หากใช้ 501 - 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟเท่ากับหน่วยของเดือนกุมภาพันธ์ 2564 บวกด้วยหน่วยที่มากกว่าหน่วยของเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ในอัตราร้อยละ 50
4) หากใช้มากกว่า 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟเท่ากับหน่วยของเดือนกุมภาพันธ์ 2564 บวกด้วยหน่วยที่มากกว่าหน่วยของเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ในอัตราร้อยละ 70 ทั้งนี้ให้เป็นส่วนลดก่อนการคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม
- สำหรับกิจการขนาดเล็ก ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 100 หน่วยแรก
- สำหรับกิจการขนาดกลาง ขนาดใหญ่ เฉพาะอย่าง องค์กรไม่แสวงหากำไร และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร ให้ยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) ไปจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2564
- ค่าน้ำประปา ลดร้อยละ 10 สำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก ระยะเวลา 2 เดือน (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) เป็นเวลา 2 เดือน คือ กรกฎาคม - สิงหาคม 2564
- การช่วยเหลือด้านการศึกษา โดยลดเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการสอน และค่าธรรมเนียมอื่นในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เป็นกรณีพิเศษ
- มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ผ่อนปรนการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย หรือเลื่อนงวดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ให้แก่ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ กำหนดมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือประชาชนสำหรับผู้ให้บริการนอกระบบการกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย และกำหนดมาตรการจริงจังสำหรับผู้ทวงถามหนี้ที่ดำเนินการอย่างไม่เป็นธรรม
ขอบคุณข้อมูลจาก เดลินิวส์ออนไลน์