x close

กฟภ. ลดค่าไฟ มีทั้งใช้ฟรี 3 เดือน และคิดจากฐาน ก.พ. คำนวณค่าไฟยังไง จ่ายเท่าไร ดูเลย !

          กฟภ. ช่วยแบ่งเบาภาระค่าไฟฟ้า ประเภทบ้านอยู่อาศัย ประเภท 1.1.1 เฮดัง ๆ ได้ใช้ไฟฟรี 3 เดือน ส่วนประเภท 1.1.2 คำนวณจากฐานค่าไฟเดือนกุมภาพันธ์ มาดูวิธีคำนวณค่าไฟ ทำอย่างไร สรุปต้องจ่ายกี่หน่วย ดูเลย


ลดค่าไฟ

          จากกรณี การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือ PEA ออกมาตรการปรับปรุงค่าไฟ เดือนเมษายน 2563 เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 รวมถึงการคืนเงินค่าไฟ สำหรับคนที่จ่ายค่าไฟ เดือนเมษายน 2563 ไปก่อนที่จะมีประกาศปรับปรุงจาก กฟภ. ซึ่งหลายคนกำลังรอความชัดเจนอยู่ว่าจะมีการช่วยเหลืออย่างไรบ้าง ประเภทไหนบ้าง สรุปแล้วต้องจ่ายเงินเท่าไร มีวิธีการคำนวณเงินค่าไฟฟ้าอย่างไร กระปุกดอทคอม รวบรวมข้อมูลมาไว้ให้หมดแล้ว

          วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ชี้แจงแนวทางปฏิบัติของมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 ดังนี้

มาตรการช่วยค่าไฟจาก กฟภ.

          1. ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยประเภท 1.1.1 คือ ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ และมีหน่วยการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน : ใช้ไฟฟ้าฟรี

          2. ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยประเภท 1.1.2 คือ ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ติดตั้งมิเตอร์เกิน 5 แอมป์ขึ้นไป และผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย ที่มียอดการใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วย ติดต่อกัน 3 เดือน และประเภท 1.2 (อัตราเลือก) : ให้ชำระค่าไฟฟ้า โดยใช้หน่วยการใช้ไฟฟ้าตาม "ใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2563" เป็นหน่วยเดือนฐานสำหรับคิดค่าไฟฟ้า และขึ้นอยู่กับหน่วยการใช้ไฟฟ้าแต่ละเดือน แบ่งเป็น 4 เงื่อนไข ดังนี้

          - หน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหน่วยเดือนฐาน คิดหน่วยตามที่ใช้จริง

          - หน่วยการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 800 หน่วย คิดหน่วย = หน่วยเดือนฐาน

          - หน่วยการใช้ไฟฟ้าเกิน 800 หน่วย แต่ไม่เกิน 3,000 หน่วย คิดหน่วย = หน่วยเดือนฐาน + (ส่วนที่เกินจากหน่วยเดือนฐาน x 50%)

          - หน่วยการใช้ไฟฟ้าเกิน 3,000 หน่วย คิดหน่วย = หน่วยเดือนฐาน + (ส่วนที่เกินจากหน่วยเดือนฐาน x 70%)

วิธีการคำนวณค่าไฟ

          ยกตัวอย่าง เดือนกุมภาพันธ์ ใช้ไฟฟ้าไปทั้งหมด 500 หน่วย ดังนั้น หน่วยเดือนฐานคือ 500 หน่วย ให้คิดค่าไฟฟ้า ดังนี้...

          - ใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหน่วยเดือนฐาน คิดหน่วยตามที่ใช้จริง คือ สมมติว่าเดือนเมษายน ใช้ไฟฟ้า 400 หน่วย ก็จะคิดค่าไฟ 400 หน่วย เหมือนเดิม ไม่ต้องจ่ายตามเดือนกุมภาพันธ์ ที่ใช้ไป 500 หน่วย

          - ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 800 หน่วย คิดหน่วย = หน่วยเดือนฐาน คือ สมมติว่าเดือนเมษายน ใช้ไฟฟ้า 700 หน่วย คิดค่าไฟฟ้าเท่าเดือนกุมภาพันธ์ คือ 500 หน่วย เท่านั้น

          - ใช้ไฟเกิน 800 หน่วย แต่ไม่เกิน 3,000 หน่วย สมมติว่าเดือนเมษายน ใช้ไฟฟ้า 1,500 หน่วย วิธีคิดคือ 500 + [(1,500-500) x 50%] = 1,000 หน่วย ดังนั้น ในเดือนเมษายน ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่ 1,000 หน่วย

          - ใช้ไฟฟ้า เกิน 3,000 หน่วย สมมติว่าเดือนเมษายน ใช้ไฟฟ้า 3,500 หน่วย วิธีคิดคือ 500 + [(3,500-500) x 70%] = 2,600 หน่วย ดังนั้น ในเดือนเมษายน ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่ 2,600 หน่วย

          อย่างไรก็ตาม สำหรับใครที่จ่ายเงินค่าไฟฟ้าของเดือนเมษายน 2563 ไปแล้วตามใบแจ้งค่าไฟ กฟภ. ท่านไม่ต้อง ลงทะเบียนรับเงินค่าไฟ แต่ท่านจะได้คืนเงินโดยการหักจากค่าไฟประจำเดือน ดังนี้

          - ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1.1.2 และ 1.2 คืนให้ในเดือนมิถุนายน 2563

อ่านข่าว : ไขข้อข้องใจ บิลค่าไฟ 1 ใบ มีอะไรบ้าง เจอค่าไฟแพงผิดปกติแจ้งที่ไหนได้บ้าง




>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID-19 << ได้ที่นี่ 


ขอบคุณข้อมูลจาก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค PEA

หมายเหตุ อัปเดตข้อมูลล่าสุด 28 พฤษภาคม 2563 เวลา 11.20 น.


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กฟภ. ลดค่าไฟ มีทั้งใช้ฟรี 3 เดือน และคิดจากฐาน ก.พ. คำนวณค่าไฟยังไง จ่ายเท่าไร ดูเลย ! อัปเดตล่าสุด 28 พฤษภาคม 2563 เวลา 11:30:05 608,185 อ่าน
TOP