x close

แจงชัด ๆ กรณีขอคืนค่าเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้า ถ้ามิเตอร์พังมา ใครเป็นคนจ่าย ?

        การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และ การไฟฟ้านครหลวง ชี้แจงประเด็นดราม่า ปมให้คืนเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้า ยันมิเตอร์ไฟฟ้าพังมา ถ้าไม่ได้เกิดเหตุจากผู้ใช้ การไฟฟ้าเปลี่ยนมิเตอร์ให้เอง


เงินประกันค่าไฟ

        จากกรณีรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือ สืบเนื่องจากสถานการณ์โรคติดต่อ ไวรัสโคโรน่า ในเรื่องการคืนเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีการเปิดรับลงทะเบียนแล้ววันนี้ (25 มีนาคม 2563) ตามที่มีรายงานไปแล้วนั้น

        อ่านข่าว : วิธีลงทะเบียนขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า มีสิทธิ์ได้ทุกบ้าน 300-6,000 บาท

        ทว่า เกิดเป็นประเด็นดราม่าในโลกออนไลน์ เมื่อมีการเผยว่า หากขอคืนเงินแล้ว มิเตอร์เสีย คนใช้งานต้องจ่ายค่ามิเตอร์เอง แต่หากไม่ขอคืนเงิน หากมิเตอร์เสียก็ไม่ต้องจ่าย ซึ่งเป็นข่าวลือที่ผิด



        ล่าสุด 25 มีนาคม 2563 นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง ได้ออกมาเผยว่า กรณีที่การไฟฟ้าคืนเงินประกันไปแล้ว แล้วมิเตอร์เสียหายจะทำอย่างไร ? ซึ่งข้อเท็จจริงคือ มิเตอร์นั้นเป็นทรัพย์สินของการไฟฟ้านครหลวง หากมิเตอร์เสียหายจากฟ้าผ่า ไฟไหม้ ชำรุด สูญหาย การไฟฟ้าฯ เป็นผู้รับผิดชอบ แต่หากการไฟฟ้าฯ พิสูจน์ว่า มิเตอร์ชำรุดเพราะใช้ไฟเกินขนาด หรือเสียหายจากผู้ใช้ไฟ ผู้ใช้ไฟจะต้องเป็นคนรับผิดชอบเอง

        ส่วนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า คือ เงินประกันที่เอาไว้ใช้สำหรับคนที่ใช้ไฟ แต่ไม่ได้จ่ายเงิน การไฟฟ้าฯ จะนำเงินก้อนนี้มาชดเชย แต่สำหรับมิเตอร์นั้น ไม่เกี่ยวกับเงินประกันการใช้ไฟ

        ส่วนคำถามที่ว่า หากขอคืนเงินประกันมิเตอร์แล้ว ลูกค้าไม่ชำระค่าไฟ จะมีการตัดไฟทันทีเลยหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ต้องรอให้ กกพ. (คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน) เป็นผู้คุมนโยบายในเรื่องนี้ แต่ตอนนี้ยังไม่มีนโยบายใด ๆ ออกมา ซึ่งในระหว่างที่ยังไม่มีนโยบายออกมา ทางการไฟฟ้าฯ ก็จะทำตามขั้นตอนเดิม คือ เตือนก่อน ไม่ใช่ว่าขอคืนเงินประกันแล้ว วันนี้ไม่จ่ายค่าไฟ พรุ่งนี้ไปตัดไฟ เป็นไปไม่ได้

        ด้าน เฟซบุ๊ก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค PEA เมืองพัทยา ได้มีการโพสต์ข้อความชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าว ระบุยืนยันว่า มิเตอร์เป็นทรัพย์สินของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หากมีการชำรุดเสียหายโดยระบบตัวเครื่องมิเตอร์ หรือจากภัยธรรมชาติ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะดำเนินการสับเปลี่ยนให้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

        ยกเว้น มิเตอร์ที่ชำรุดจากการกระทำ เช่น ชน เฉี่ยว แตก หรือเกิดจากมีการโหลดใช้ไฟฟ้าเกินขนาดมิเตอร์ (มิเตอร์ไหม้) กรณีนี้ลูกค้าต้องเป็นผู้ชำระค่ามิเตอร์เอง มาตรการนี้ใช้มานานแล้ว ไม่เกี่ยวข้องกับมาตรการการคืนเงินประกันการใช้ไฟแต่อย่างใด

        สำหรับเงินที่ลูกค้าจะได้รับเป็นการคืนเงินประกันการใช้ไฟ จะนำมาหักล้างกรณีที่ลูกค้ามีการผิดนัดชำระค่าไฟฟ้าเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับมาตรการอื่น ๆ






>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID-19 << ได้ที่นี่

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แจงชัด ๆ กรณีขอคืนค่าเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้า ถ้ามิเตอร์พังมา ใครเป็นคนจ่าย ? อัปเดตล่าสุด 1 เมษายน 2563 เวลา 22:25:00 181,127 อ่าน
TOP