x close

วิธีลงทะเบียนรับคืนเงินประกันไฟฟ้า มีสิทธิ์ได้ทุกบ้าน 300-6,000 บาท


          คืนเงินประกันไฟฟ้า เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 (โควิด 19) มีเงื่อนไขอย่างไร บ้านไหนจะได้เท่าไร มาอ่านรายละเอียดกันเลย

          นอกจากรัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรค COVID-19 (โควิด 19) แล้ว ประชาชนทั่วไปก็ได้เช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าที่จะมีผู้ได้รับผลประโยชน์กว่า 23 ล้านคน ตรงนี้หลายคนคงสงสัยว่า เงินประกันการใช้ไฟฟ้า คืออะไร แล้วเราจะได้รับเงินคืนด้วยไหม หรือต้องทำอย่างไรบ้าง วันนี้เรารวบรวมข้อมูลมาบอกต่อแล้ว

ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า

เงินประกันการใช้ไฟฟ้า คืออะไร ?

          เงินประกันการใช้ไฟฟ้า หรือบางคนอาจเรียกว่า ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า เป็นเงินที่เราต้องจ่ายในครั้งแรกที่ไปยื่นเรื่องขอใช้ไฟฟ้ากับการไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งแต่ละบ้านจ่ายในอัตราไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้งาน และโดยปกติแล้วจะได้รับเงินประกันคืนก็ต่อเมื่อเราไปขอยกเลิกการใช้ไฟฟ้าเท่านั้น แต่จากนโยบายช่วยลดภาระให้ประชาชนช่วงโคโรนาไวรัสระบาด เราจึงจะได้รับเงินประกันส่วนนี้คืนมา โดยไม่ต้องไปขอยกเลิกการใช้ไฟฟ้า

          ทั้งนี้ การวางหลักประกัน มีทั้งเงินสด พันธบัตร หรือหนังสือค้ำประกันของธนาคารก็ได้

ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า

ทำไมถึงต้องเก็บเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ?

          สาเหตุที่ต้องเก็บเงินส่วนนี้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ไปยื่นเรื่องขอใช้ไฟฟ้า ก็เพื่อเป็นเงินประกันล่วงหน้า หากบ้านไหนไม่ยอมจ่ายค่าไฟฟ้า การไฟฟ้าฯ ก็จะยึดเงินประกันที่เราเคยจ่ายไว้กลับเข้ารัฐ

ใครมีสิทธิ์ขอคืนเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้า ?

          - ต้องเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย และประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก 

          - ผู้ที่สามารถลงทะเบียนติดต่อขอรับเงินคืนได้ ต้องเป็นเจ้าของมิเตอร์ผู้วางเงินประกัน ณ เวลาที่มาแจ้งขอใช้มิเตอร์ไฟฟ้าเท่านั้น

          - สำหรับผู้ที่จะขอใช้ไฟฟ้ารายใหม่ หลังจากนี้จะไม่ต้องวางเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้า

จะได้เงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้าคืนเท่าไร ?

          แต่ละบ้านจะได้รับเงินไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับขนาดมิเตอร์ที่ใช้อยู่ โดยมิเตอร์แต่ละขนาดจะมีอัตราเงินประกัน ดังนี้

ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า

          หมายเหตุ : ตัวเลข 5 (15) หมายถึง มิเตอร์ 5 แอมป์ ใช้ไฟฟ้าได้มากถึง 15 แอมป์

          และทราบไหมว่าเงินประกันการใช้ไฟฟ้าที่เราจ่ายไป จะได้รับดอกเบี้ยด้วย โดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ

          1. ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดกลาง กิจการขนาดใหญ่ และกิจการเฉพาะอย่าง ที่นำเงินสดมาเป็นหลักประกันการใช้ไฟฟ้า จ่ายคืนในรูปของดอกเบี้ยปีละ 1 ครั้ง ตามอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์เฉลี่ยทั้งปีของธนาคารกรุงไทย ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา

          2. ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก จะได้รับดอกเบี้ยออมทรัพย์เฉลี่ยทั้งปีของธนาคารกรุงไทย คืนทุก 5 ปี เนื่องจากดอกผลเงินประกันเป็นจำนวนเงินน้อย โดยจะเริ่มจ่ายในปี 2563

ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า
 
ต้องทำอย่างไรถึงได้รับเงินประกันคืน ?

          ผู้วางหลักประกันต้องแจ้งความประสงค์กับการไฟฟ้าฯ ว่า จะขอรับเงินคืน แต่หากไม่ต้องการรับเงินคืน เงินส่วนนั้นก็จะเก็บไว้ได้ดอกผลต่อไป

ลงทะเบียนรับเงินประกันไฟฟ้าได้เมื่อไร ?

          เริ่มลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป และจะไม่มีกำหนดสิ้นสุด ดังนั้นหากเปิดให้ลงทะเบียนแล้ว ก็ไม่ต้องรีบไปลงทะเบียน เพราะสามารถลงทะเบียนได้ตลอดเวลา

ลงทะเบียนอย่างไรได้บ้าง ?

วิธีลงทะเบียนของการไฟฟ้านครหลวง สำหรับผู้อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี

          ให้เตรียมข้อมูลเหล่านี้ก่อนลงทะเบียน

            - ชื่อ-นามสกุล ผู้วางหลักประกันการใช้ไฟฟ้า
            - หมายเลขบัตรประชาชนของผู้วางหลักประกันการใช้ไฟฟ้า
            - หมายเลขบัญชีแสดงสัญญา 9 หลัก (หมายเลข CA) ซึ่งจะระบุอยู่ในใบแจ้งค่าไฟฟ้า หรือใบเสร็จรับเงิน หรือหากไม่มีใบแจ้งค่าไฟฟ้า สามารถค้นหาจากในแอปฯ MEA Smart Life ได้

คืนเงินประกันไฟฟ้า


คืนเงินประกันไฟฟ้า

        สามารถเลือกลงทะเบียนได้ 3 วิธี คือ

           1. ลงทะเบียนผ่านออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม เป็นต้นไป

            เลือกช่องทางออนไลน์ที่จะลงทะเบียนได้ 6 ช่องทาง ดังนี้

            - แอปพลิเคชัน MEA Smart Life
            - เว็บไซต์ การไฟฟ้านครหลวง
            - เฟซบุ๊ก การไฟฟ้านครหลวง MEA 
            - ทวิตเตอร์ @mea_news
            - Line @meathailand
            - สแกน QR Code ในใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือนมีนาคม

             หากลงทะเบียนผ่านออนไลน์จะต้องกรอกรายละเอียด คือ
            - ชื่อ-นามสกุล ผู้วางหลักประกันการใช้ไฟฟ้า
            - หมายเลขบัตรประชาชนของผู้วางหลักประกันการใช้ไฟฟ้า
            - หมายเลขบัญชีแสดงสัญญา 9 หลัก (หมายเลข CA) ซึ่งจะระบุอยู่ในใบแจ้งค่าไฟฟ้า หรือใบเสร็จรับเงิน หรือหากไม่มีใบแจ้งค่าไฟฟ้า สามารถค้นหาจากในแอปฯ MEA Smart Life ได้

             สำหรับผู้ลงทะเบียนช่องทางออนไลน์ เมื่อ MEA ตรวจสอบสิทธิ์แล้วพบว่าเจ้าของหลักประกันมีชื่อตรงกับฐานข้อมูลของผู้วางหลักประกันประเภทเงินสด เจ้าของหลักประกันจะได้รับเงินประกันคืนผ่านช่องทางที่ได้ระบุไว้ในการลงทะเบียนออนไลน์ โดยไม่ต้องแสดงเอกสารเพิ่มเติม ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป

แนะนำขั้นตอนการลงทะเบียนรับเงินประกันคืนผ่านออนไลน์ สำหรับ MEA

          สามารถลงทะเบียนผ่านออนไลน์ได้ทั้ง
          - บุคคลธรรมดา ที่ระบุเลขบัตรประชาชนตรง
          - บุคคลธรรมดา ที่ไม่พบเลขบัตรประชาชนในระบบ ให้ระบุเลขบัญชีแสดงสัญญา
          - บุคคลธรรมดา ที่ไม่พบเลขบัตรประชาชนในระบบ และไม่ทราบเลขบัญชีแสดงสัญญา
          - นิติบุคคล




           2. ลงทะเบียนทางโทรศัพท์ (วันที่ 25 มีนาคม - 29 พฤษภาคม 2563)

             สำหรับคนที่ไม่สะดวกลงทะเบียนออนไลน์ สามารถโทรศัพท์ไปที่หมายเลข 02 256 3333 จำนวน 50 คู่สาย เพื่อให้เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฯ ช่วยลงทะเบียนให้ โดยติดต่อได้เฉพาะวัน-เวลาราชการ 08.00-15.30 น. และต้องเตรียมข้อมูลเหล่านี้เพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่

            - ชื่อ-นามสกุล ผู้วางหลักประกันการใช้ไฟฟ้า
            - หมายเลขบัตรประชาชนของผู้วางหลักประกันการใช้ไฟฟ้า
            - หมายเลขบัญชีแสดงสัญญา 9 หลัก (หมายเลข CA) ซึ่งจะระบุอยู่ในใบแจ้งค่าไฟฟ้า หรือใบเสร็จรับเงิน หรือหากไม่มีใบแจ้งค่าไฟฟ้า สามารถค้นหาจากในแอปฯ MEA Smart Life ได้
            - หมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้

           3. ติดต่อที่ทำการไฟฟ้านครหลวง 18 เขต ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป

           แนะนำให้ไปติดต่อที่ทำการ ในวัน-เวลาราชการ (07.30-15.30 น.) เฉพาะกรณีต่อไปนี้
           - วางหลักประกันการใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เงินสด
           - ผู้ขอคืนเงินหลักประกันการใช้ไฟฟ้าประเภทเงินสดที่ติดปัญหา เช่น การโอนสิทธิ์ เปลี่ยนชื่อ-นามสกุล เสียชีวิต ฯลฯ

           สามารถใช้ช่องทางนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป เพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบการแพร่เชื้อ COVID-19

กรณีลงทะเบียนกับ กฟน. จะได้รับเงินประกันคืนอย่างไร ?

          กฟน. จะคืนเงินประกันให้ผ่าน 3 ช่องทาง ขึ้นอยู่กับเราลงทะเบียนเลือกช่องทางไหน

         1. คืนเงินผ่านพร้อมเพย์
         ต้องเป็นบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับหมายเลขบัตรประชาชนของผู้วางหลักประกันเท่านั้น

         2. คืนเงินผ่านบัญชีธนาคาร
         - ปัจจุบันมีธนาคารเข้าร่วม 3 แห่ง คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย
         - ต้องระบุบัญชีธนาคารของผู้วางหลักประกันเท่านั้น ไม่สามารถใช้บัญชีเงินฝากของผู้อื่นได้ เช่น หากพ่อเป็นผู้วางเงินประกัน จะต้องใช้บัญชีธนาคารของพ่อ ไม่สามารถใช้บัญชีธนาคารของลูกในการรับเงินโอนจากการไฟฟ้าฯ ได้

         3. คืนเงินผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส
          - หากเลือกช่องทางนี้ เราสามารถถือบัตรประชาชนไปรับเงินสดจากเคาน์เตอร์เซอร์วิสตามจุดต่าง ๆ เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น ได้เลย แต่จำนวนเงินที่จะได้รับคืนนั้นต้องไม่เกิน 50,000 บาท
          - ไม่มีค่าธรรมเนียม




*****************************************


วิธีลงทะเบียนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำหรับผู้อยู่อาศัยในต่างจังหวัด

          ให้เตรียมข้อมูลเหล่านี้ก่อนลงทะเบียน

            - ชื่อ-นามสกุล ผู้วางหลักประกันการใช้ไฟฟ้า
            - หมายเลขบัตรประชาชนของผู้วางหลักประกันการใช้ไฟฟ้า
            - หมายเลขผู้ใช้ไฟฟ้า 12 หลัก ซึ่งจะระบุอยู่ในใบแจ้งค่าไฟฟ้า หรือใบเสร็จรับเงิน

คืนเงินประกันไฟฟ้า
        สามารถเลือกลงทะเบียน ได้ดังนี้

          1. สแกน QR Code ในใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือนมีนาคม

           เมื่อสแกนแล้วให้กรอกชื่อ-นามสกุล หมายเลขบัตรประชาชนของผู้วางหลักประกันการใช้ไฟฟ้า จากนั้นระบบจะตรวจสอบให้ว่าตรงกับฐานข้อมูลของ กฟภ. หรือไม่ พร้อมบอกวงเงินที่จะได้รับคืน หากข้อมูลตรงกันจะได้รับเงินคืนภายในเวลารวดเร็ว 

           กรณีผู้วางเงินประกันเป็นคนอื่น แต่ผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นอีกคนหนึ่ง สามารถอ่านคำแนะนำในแอปฯ เพื่อดำเนินการต่อไป ซึ่งก็จะมีกระบวนการตรวจสอบสิทธิ์ในแต่ละราย

          2. ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์

          สามารถคลิกลงทะเบียนที่เว็บไซต์ https://dmsxupload.pea.co.th/cdp/ ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป และกรอกรายละเอียดชื่อ-นามสกุล ผู้วางหลักประกันการใช้ไฟฟ้า, หมายเลขบัตรประชาชน, หมายเลขผู้ใช้ไฟฟ้า 12 หลัก

          หากลงทะเบียนสำเร็จจะมี SMS ยืนยันผลการลงทะเบียนและแจ้งผลการคืนเงินให้ทราบ

แนะนำขั้นตอนการลงทะเบียนรับเงินประกันคืนผ่านออนไลน์ สำหรับ PEA



          3. ติดต่อที่ทำการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
 
           แนะนำให้ไปติดต่อที่ทำการ เฉพาะกรณีต่อไปนี้ เพื่อลดความเสี่ยงโรค COVID-19
           - วางหลักประกันการใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เงินสด
           - ผู้ขอคืนเงินหลักประกันการใช้ไฟฟ้าประเภทเงินสดที่ติดปัญหา เช่น การโอนสิทธิ์ เปลี่ยนชื่อ-นามสกุล เสียชีวิต ฯลฯ

กรณีลงทะเบียนกับ กฟภ. จะได้รับเงินประกันคืนอย่างไร ?

          ในการลงทะเบียนผ่านออนไลน์ จะให้เราเลือกได้ว่าต้องการรับเงินคืนผ่านช่องทางใด ประกอบด้วย

         1. คืนเงินผ่านพร้อมเพย์
         ต้องเป็นบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับหมายเลขบัตรประชาชนของผู้วางหลักประกันเท่านั้น

         2. คืนเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

         3. คืนเงินผ่านบัญชีธนาคาร

         4. รับเงินสดที่สำนักงานการไฟฟ้า

คืนเงินประกันไฟฟ้า

ได้รับเงินคืนเมื่อไร ?

          เริ่มจ่ายเงินคืนให้ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป โดยผู้ที่มีชื่อวางหลักประกันตรงกับชื่อผู้ใช้ไฟฟ้า จะได้รับเงินคืนก่อน ส่วนกรณีที่ชื่อไม่ตรงกันจะต้องมีการตรวจสอบสิทธิ์ตามขั้นตอนต่อไป

หากผู้วางเงินประกันเสียชีวิตแล้ว จะต้องทำอย่างไร ?

          - กรณีผู้เสียชีวิตจัดตั้งผู้จัดการมรดกไว้ ให้ผู้จัดการมรดกนำคำสั่งศาลมายื่นเป็นหลักฐาน
          - กรณีไม่มีผู้จัดการมรดก ทายาทต้องนำใบมรณบัตรมายื่นเป็นหลักฐาน

ซื้อบ้านต่อจากผู้วางเงินประกันมาแล้ว จะลงทะเบียนคืนเงินประกันได้ไหม ?

         
          - ผู้ที่ซื้อบ้านมือต่อ ๆ มา หากไม่ได้เป็นผู้วางเงินประกันการใช้ไฟฟ้า จะไม่สามารถลงทะเบียนขอคืนเงินได้ เพราะไม่ได้เป็นผู้จ่ายเงินประกันตั้งแต่ต้น จึงไม่มีสิทธิ์ในเงินส่วนนี้

          - ผู้วางหลักประกัน แม้จะขายบ้านไปแล้วแต่ยังสามารถขอรับเงินประกันคืนได้ หากยังไม่ได้โอนมิเตอร์ให้ผู้ซื้อบ้าน

          - ยกเว้นว่า ถ้าผู้วางหลักประกันได้โอนสิทธิ์/เปลี่ยนชื่อเจ้าของมิเตอร์ให้ผู้ซื้อบ้านแล้ว ผู้ซื้อบ้านจึงสามารถลงทะเบียนขอคืนเงินได้ ดังนั้น หากใครซื้อบ้านต่อ แล้วยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อมิเตอร์ไฟฟ้า ต้องขอความยินยอมจากเจ้าของบ้านคนแรกที่ขอมิเตอร์ก่อน

          อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวมีหลายกรณีด้วยกัน เจ้าหน้าที่จะต้องตรวจสอบสิทธิ์เป็นกรณี ๆ ไป ดังนั้นหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ การไฟฟ้านครหลวง โทร. 1130 หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โทร. 1129



* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 25 มีนาคม 2563

ข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีลงทะเบียนรับคืนเงินประกันไฟฟ้า มีสิทธิ์ได้ทุกบ้าน 300-6,000 บาท อัปเดตล่าสุด 27 มีนาคม 2563 เวลา 15:28:09 1,211,152 อ่าน
TOP