รวมคำถามลงทะเบียนคืนเงินประกันไฟฟ้า ชื่อไม่ตรง-ซื้อบ้านมือสอง จะได้รับเงินหรือไม่ ?

          ลงทะเบียนรับเงินค่าไฟต้องทำอย่างไรบ้าง หากซื้อบ้านต่อมาจากคนอื่น แล้วชื่อมิเตอร์ไม่ตรงกับเรา หรือเจ้าของมิเตอร์เสียชีวิตไปแล้ว ยังมีสิทธิ์ได้รับคืนเงินประกันไฟฟ้าอยู่ไหม 
          หลังจากการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป ก็ทำให้คนจำนวนมากพากันไปลงทะเบียนเพื่อรับเงินช่วยเหลือ แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าต้องลงทะเบียนรับเงินคืนอย่างไร ขณะที่หลายคนก็มีคำถามว่า หากชื่อผู้วางเงินประกันไฟฟ้าไม่ตรงกับชื่อเจ้าของบ้านในปัจจุบัน จะได้รับเงินคืนไหม พร้อมข้อสงสัยอีกมากมาย เราจึงรวบรวมคำถามต่าง ๆ มาคลายความข้องใจตรงนี้
ลงทะเบียนรับเงินค่าไฟ

1. ใครลงทะเบียนรับเงินประกันไฟฟ้าได้บ้าง ?

  • ต้องเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย และประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก 
  • ต้องเป็นเจ้าของมิเตอร์ผู้วางเงินประกัน ณ เวลาที่มาแจ้งขอใช้ไฟฟ้าเท่านั้น

2. ได้รับเงินประกันไฟฟ้าคืนเท่าไร ?

          แต่ละบ้านจะได้รับเงินไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับขนาดมิเตอร์ที่ใช้อยู่ โดยมิเตอร์แต่ละขนาดจะมีอัตราเงินประกัน ดังนี้
คืนเงินประกันไฟฟ้า

3. ลงทะเบียนคืนเงินประกันไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวงได้อย่างไร ?

สำหรับผู้อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี ให้ลงทะเบียนผ่านช่องทางของการไฟฟ้านครหลวง (MEA) อาทิ
  1. ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ การไฟฟ้านครหลวง  
  2. ลงทะเบียนทางโทรศัพท์ หมายเลข 02 256 3333 (วันที่ 25 มีนาคม - 29 พฤษภาคม 2563)
  3. ลงทะเบียนที่ทำการไฟฟ้านครหลวง 18 เขต ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป

    ทั้งนี้ แนะนำให้ลงทะเบียนทางออนไลน์จะได้รับความสะดวกที่สุด โดยมีขั้นตอนการลงทะเบียน ดังนี้

4. ลงทะเบียนคืนเงินประกันไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้อย่างไร ?

สำหรับผู้อยู่อาศัยในต่างจังหวัด ให้ลงทะเบียนผ่านช่องทางของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) อาทิ
  1. ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค  
  2. สแกน QR Code ในใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือนมีนาคม
  3. ติดต่อที่ทำการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

    ทั้งนี้ แนะนำให้ลงทะเบียนผ่านออนไลน์จะได้รับความสะดวกที่สุด

5. ลงทะเบียนได้ถึงวันไหน ?

          เริ่มลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป และจะไม่มีกำหนดสิ้นสุด ดังนั้น หากเปิดให้ลงทะเบียนแล้ว ก็ไม่ต้องรีบไปลงทะเบียน เพราะสามารถลงทะเบียนได้ตลอดเวลา ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ 24 ชั่วโมง

6. ชื่อเจ้าของบ้านไม่ตรงกับชื่อเจ้าของมิเตอร์ ขอรับเงินประกันคืนได้ไหม ?

          กรณีนี้ จะรับเงินคืนได้ก็ต่อเมื่อเจ้าของมิเตอร์ (ผู้วางเงินประกันการใช้ไฟฟ้า) ต้องทำหนังสือโอนสิทธิ์เงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับเจ้าของบ้านแล้วเท่านั้น ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถขอรับเงินประกันได้ เนื่องจากเจ้าของบ้านไม่ได้เป็นผู้วางเงินประกันตั้งแต่ต้น ดังนั้นต้องโอนสิทธิ์ก่อน แล้วนำเอกสารต่อไปนี้ มาแจ้งต่อการไฟฟ้าฯ 
 

  • หนังสือการโอนสิทธิ์ให้รับคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าจากเจ้าของเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้แก่ผู้ร้องขอ (ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม กฟน. หรือ กฟภ.) หรือหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในสถานที่ใช้ไฟฟ้า เช่น สัญญาซื้อ-ขาย โฉนดที่ดิน น.ส.3 ก. 
  • หลักฐานผู้ขอรับเงิน
    • กรณีเป็นบุคคลธรรมดา บัตรประจำตัวประชาชน
    • กรณีเป็นนิติบุคคล สำเนาหนังสือจดทะเบียนนิติบุคคลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า อายุไม่เกิน 1 เดือน ประทับตรานิติบุคคลฯ ทุกฉบับ พร้อมลงลายมือชื่อผู้มีอำนาจลงนามรับรอง และบัตรประชาชนของผู้ลงนามมอบอำนาจ 
  • ใบเสร็จรับเงินประกันการใช้ไฟฟ้า (ถ้ามี)
  • หน้าสมุดเงินฝากธนาคารที่มีเลขที่บัญชีและชื่อของเจ้าของบัญชี กรณีเลือกขอรับเงินโดยการโอนเงิน (ชื่อบัญชีเดียวกับชื่อผู้ขอรับเงินเท่านั้น)

7. ซื้อบ้านมานานแล้ว แต่ยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อ จะได้เงินประกันคืนหรือไม่ ?

          ไม่ได้รับเงินประกันคืน เพราะผู้ซื้อบ้านไม่ได้เป็นผู้วางเงินประกัน หากต้องการรับเงินประกัน จะต้องให้ผู้วางเงินประกันโอนสิทธิ์ให้เราก่อน จากนั้นยื่นเอกสารเหล่านี้ต่อการไฟฟ้าฯ 

  • หนังสือการโอนสิทธิ์ให้รับคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าจากเจ้าของเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้แก่ผู้ร้องขอ (ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม กฟน. หรือ กฟภ.) หรือหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในสถานที่ใช้ไฟฟ้า เช่น สัญญาซื้อ-ขาย โฉนดที่ดิน น.ส.3 ก.  
  • หลักฐานผู้ขอรับเงิน
    • กรณีเป็นบุคคลธรรมดา บัตรประจำตัวประชาชน
    • กรณีเป็นนิติบุคคล สำเนาหนังสือจดทะเบียนนิติบุคคลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า อายุไม่เกิน 1 เดือน ประทับตรานิติบุคคลฯ ทุกฉบับ พร้อมลงลายมือชื่อผู้มีอำนาจลงนามรับรอง และบัตรประชาชนของผู้ลงนามมอบอำนาจ 
  • ใบเสร็จรับเงินประกันการใช้ไฟฟ้า (ถ้ามี)
  • หน้าสมุดเงินฝากธนาคารที่มีเลขที่บัญชีและชื่อของเจ้าของบัญชี กรณีเลือกขอรับเงินโดยการโอนเงิน (ชื่อบัญชีเดียวกับชื่อผู้ขอรับเงินเท่านั้น)

8. เจ้าของมิเตอร์/ผู้วางเงินประกันเสียชีวิตแล้ว ต้องทำอย่างไร ?

          สามารถรับเงินประกันการใช้ไฟฟ้าได้ 2 กรณี คือ

1. มีคำสั่งศาลแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดก ให้นำเอกสารเหล่านี้มายื่นเรื่อง

  • บัตรประจำตัวประชาชนของผู้จัดการมรดก
  • ใบเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)
  • ใบเสร็จรับเงินประกันการใช้ไฟฟ้า (ถ้ามี)
  • สำเนาหน้าสมุดเงินฝากธนาคารที่มีเลขที่บัญชีและชื่อเจ้าของบัญชี กรณีต้องการให้โอนเงิน (ชื่อบัญชีเดียวกับผู้จัดการมรดกเท่านั้น)
2. กรณีไม่ได้แต่งตั้งผู้จัดการมรดก ให้ทายาทหรือบุคคลในครอบครัวมารับคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าได้ โดยนำเอกสารเหล่านี้มาประกอบ
  • บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขอรับคืนเงิน
  • ใบมรณบัตรหรือทะเบียนบ้านที่ประทับตราเสียชีวิตของเจ้าของเงินประกันการใช้ไฟฟ้า
  • หลักฐานแสดงความสัมพันธ์กับเจ้าของเงินประกันการใช้ไฟฟ้า เช่น ทะเบียนบ้าน ทะเบียนสมรส เป็นต้น
  • หนังสือแสดงความยินยอมของทายาทพร้อมบัตรประจำตัวประชาชน (ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม กฟน. หรือ กฟภ.)
  • ใบเสร็จรับเงินประกันการใช้ไฟฟ้า (ถ้ามี)
  • หน้าสมุดเงินฝากธนาคารที่มีเลขที่บัญชีและชื่อเจ้าของบัญชี กรณีต้องการ ให้โอนเงิน (ชื่อบัญชีเดียวกับทายาทผู้ขอรับคืนเงินเท่านั้น)

9. ซื้อบ้านต่อจากคนอื่น แต่ชื่อมิเตอร์ยังเป็นเจ้าของเดิม จะได้รับเงินประกันไหม ?

ต้องโอนเปลี่ยนชื่อให้ถูกต้องก่อน จึงจะได้รับเงินประกัน จากนั้นให้ส่งเอกสารเหล่านี้ให้การไฟฟ้าฯ
  • คำร้องขอรับคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าประเภท 1-2 (เฉพาะผู้ขอรับเงินที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่ไม่ใช่ผู้ขอใช้ไฟฟ้า)
  • หนังสือการโอนสิทธิ์ให้รับคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าจากเจ้าของเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้แก่ผู้ร้องขอ (ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม กฟน. หรือ กฟภ.) หรือหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในสถานที่ใช้ไฟฟ้า เช่น สัญญาซื้อ-ขาย โฉนดที่ดิน น.ส.3 ก.
  • หลักฐานผู้ขอรับเงิน
    • กรณีเป็นบุคคลธรรมดา บัตรประจำตัวประชาชน
    • กรณีเป็นนิติบุคคล สำเนาหนังสือจดทะเบียนนิติบุคคลจากกรมพัฒนา ธุรกิจการค้า อายุไม่เกิน 1 เดือน ประทับตรานิติบุคคลฯ ทุกฉบับ พร้อมลงลายมือชื่อผู้มีอำนาจลงนามรับรอง และบัตรประชาชนของผู้ลงนามมอบอำนาจ
  • ใบเสร็จรับเงินประกันการใช้ไฟฟ้า (ถ้ามี)
  • หน้าสมุดเงินฝากธนาคารที่มีเลขที่บัญชีและชื่อของเจ้าของบัญชี กรณีเลือกขอรับเงินโดยการโอนเงิน (ชื่อบัญชีเดียวกับชื่อผู้ขอรับเงินเท่านั้น)
ลงทะเบียนรับเงินค่าไฟ

10. ขอใช้ไฟฟ้าในนามชื่อของโครงการหมู่บ้าน แต่ยังไม่ได้โอนเปลี่ยนชื่อตามเจ้าของบ้าน จะทำอย่างไร ?

          เช่นเดียวกับข้อ 9 คือ ทางหมู่บ้านต้องโอนเปลี่ยนชื่อให้กับเจ้าของบ้านก่อนเท่านั้น เจ้าของบ้านจึงจะได้รับเงินประกันการใช้ไฟฟ้า

11. ถ้ามีชื่อเป็นผู้วางหลักประกันหลายบ้าน สามารถขอรับเงินประกันคืนทั้งหมดหรือไม่ ?

          สามารถรับเงินประกันการใช้ไฟฟ้าได้ทั้งหมด โดยจำนวนเงินที่จะได้รับขึ้นอยู่กับขนาดมิเตอร์ที่ใช้

12. สามี-ภรรยาจดทะเบียนสมรส แต่ปัจจุบันแยกกันอยู่ จะขอคืนเงินประกันได้ไหม ?

          การไฟฟ้าฯ จะคืนเงินประกันไฟฟ้าให้ผู้มีชื่อเป็นเจ้าของเงินประกันการใช้ไฟฟ้า หากสามีเป็นผู้วางเงินประกันก็สามารถขอเงินคืนได้ แต่หากภรรยาต้องการขอเงินคืน สามีต้องทำหนังสือโอนสิทธิ์ให้ความยินยอมก่อน

13. บ้านที่ถูกหักค่าไฟฟ้าจากเงินประกันไป ไม่เหลือเงินประกันแล้ว ต้องทำอย่างไร ?

  • หากยังมีการใช้ไฟเป็นปกติ ไม่ต้องดำเนินการขอคืนเงินประกัน
  • หากมีหนี้ค่าไฟฟ้าค้างชำระ ให้ดำเนินการตามกระบวนการงานติดตามเร่งรัดหนี้ งดจ่ายไฟต่อไป

14. ขายบ้านไปแล้วแต่ยังไม่ได้โอนเปลี่ยนชื่อ เจ้าของเดิมสามารถขอรับเงินประกันคืนได้ไหม ?

          หากเจ้าของเดิมยังไม่ได้โอนสิทธิ์ให้ใคร ก็สามารถลงทะเบียนรับคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าได้เลย

15. ยื่นเอกสารทั้งหมดได้ที่ไหน ?

          สามารถยื่นเอกสารออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน หรือเว็บไซต์ กฟน. และ กฟภ. ก็ได้
คืนเงินประกันไฟฟ้า

16. จะได้รับเงินคืนอย่างไร ?

          เราสามารถเลือกได้ว่าต้องการรับเงินคืนผ่านช่องทางไหน คือ
สำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ, นนทบุรี และสมุทรปราการ กฟน. จะคืนเงินประกันให้ผ่าน 3 ช่องทาง ขึ้นอยู่กับเราลงทะเบียนเลือกช่องทางไหน

         1. คืนเงินผ่านพร้อมเพย์
         ต้องเป็นบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับหมายเลขบัตรประชาชนของผู้วางหลักประกันเท่านั้น

        2. คืนเงินผ่านบัญชีธนาคาร
         - ปัจจุบันมีธนาคารเข้าร่วม 3 แห่ง คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย
         - ต้องระบุบัญชีธนาคารของผู้วางหลักประกันเท่านั้น ไม่สามารถใช้บัญชีเงินฝากของผู้อื่นได้ เช่น หากพ่อเป็นผู้วางเงินประกัน จะต้องใช้บัญชีธนาคารของพ่อ ไม่สามารถใช้บัญชีธนาคารของลูกในการรับเงินโอนจากการไฟฟ้าฯ ได้

        3. คืนเงินผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส
          - หากเลือกช่องทางนี้ เราสามารถถือบัตรประชาชนไปรับเงินสดจากเคาน์เตอร์เซอร์วิสตามจุดต่าง ๆ เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น ได้เลย แต่จำนวนเงินที่จะได้รับคืนนั้นต้องไม่เกิน 50,000 บาท
          - ไม่มีค่าธรรมเนียม

สำหรับผู้ที่อยู่ในเขตต่างจังหวัด จะเลือกได้ว่าต้องการรับเงินคืนผ่านช่องทางใด ประกอบด้วย

         1. คืนเงินผ่านพร้อมเพย์
         ต้องเป็นบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับหมายเลขบัตรประชาชนของผู้วางหลักประกันเท่านั้น

         2. คืนเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

         3. คืนเงินผ่านบัญชีธนาคาร

         4. รับเงินสดที่สำนักงานการไฟฟ้า

17. ขอเงินประกันคืนไปแล้ว ยังจะใช้มิเตอร์ได้อยู่ไหม ?

          สามารถใช้มิเตอร์ไฟฟ้าต่อไปได้เหมือนเดิม เพราะเงินประกันการใช้ไฟฟ้าคือหลักประกันการชำระหนี้ค่าไฟฟ้า ไม่เกี่ยวกับค่ามิเตอร์ชำรุด หรือความเสียหายที่เกิดจากการใช้งาน

          กรณีมิเตอร์ไฟฟ้าชำรุดหรือเสียหาย หากเกิดจากผู้ใช้ไฟฟ้าเอง ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องชดใช้ค่าเสียหาย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้เป็นการกระทำของผู้ใช้ไฟฟ้า เช่น เกิดจากภัยธรรมชาติ ฟ้าผ่า น้ำท่วม ในกรณีนี้ทางการไฟฟ้าฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งไม่ได้นำเงินประกันการใช้ไฟฟ้ามาหักในส่วนนี้ 

18. หากบ้านที่ได้รับเงินประกันคืนไปแล้ว อนาคตไม่ได้ไปจ่ายค่าไฟที่ค้างชำระ ทางการไฟฟ้าฯ จะดำเนินการอย่างไร ?

          กรณีที่บ้านนั้นค้างชำระค่าไฟ การไฟฟ้าฯ จะใช้วิธียึดเงินประกันการใช้ไฟฟ้าชำระหนี้แทน แต่หากเจ้าของบ้านมาขอรับเงินประกันคืนไปแล้ว ทางการไฟฟ้าฯ จะติดตามทวงถามค่าไฟฟ้าที่ค้างชำระตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป

19. ใส่เลขที่บัญชีธนาคารไม่ตรงกับชื่อผู้วางหลักประกัน ได้ไหม ?

          หากเรากรอกเลขที่บัญชีธนาคารไม่ตรงกับผู้วางหลักประกัน การไฟฟ้าฯ จะไม่โอนเงินให้ เนื่องจากจะโอนเงินให้เฉพาะบัญชีที่ตรงกับชื่อของผู้วางหลักประกันเท่านั้น

20. บ้านเช่าที่มีหลายห้อง ผู้เช่าจะขอคืนเงินประกันได้หรือไม่ ?

          หากมีการติดตั้งมิเตอร์แยก และวางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าไว้ของแต่ละห้อง เจ้าของเงินประกันสามารถขอคืนเงินประกันได้ แต่หากผู้เช่าต้องการขอคืนเอง จะต้องมีหนังสือการโอนสิทธิ์จากเจ้าของเงินประกันมาให้ผู้เช่ายื่นเป็นหลักฐานด้วย ผู้เช่าจึงจะได้รับเงินส่วนนี้

21. ชื่อผู้วางเงินประกัน กับ ชื่อเจ้าบ้าน ไม่ตรงกัน ใครจะได้รับเงิน ?

  • ผู้วางเงินประกันสามารถยื่นเรื่องขอคืนเงินประกันได้ 
  • เจ้าบ้านไม่มีสิทธิ์ในเงินประกันนี้ เพราะไม่ได้เป็นผู้วางเงินประกัน 
  • หากเจ้าบ้านต้องการรับเงินส่วนนี้ ต้องให้ผู้วางเงินประกันทำหนังสือโอนสิทธิ์ให้ก่อน

22. เจ้าของคนเดิมเสียชีวิต แต่ในบิลแจ้งค่าไฟเขียนชื่อ-นามสกุลผิดตั้งแต่แรก จะขอรับเงินได้ไหม ?

          หากเจ้าหน้าที่บันทึกชื่อ-นามสกุลผิดตั้งแต่ที่มีการขอใช้ไฟฟ้า เช่น สะกดผิด ให้ผู้จัดการมรดกไปรับแทนได้ โดยนำเอกสารอ้างอิงว่าเป็นบุคคลเดียวกัน (ใบมรณบัตร) มายื่นคำร้อง พร้อมเอกสารอื่น ๆ คือ
  • คำสั่งศาลแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดก
  • บัตรประจำตัวประชาชนของผู้จัดการมรดก
  • ใบเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)
  • ใบเสร็จรับเงินประกันการใช้ไฟฟ้า (ถ้ามี)
  • สำเนาหน้าสมุดเงินฝากธนาคารที่มีเลขที่บัญชีและชื่อเจ้าของบัญชี กรณีต้องการให้โอนเงิน (ชื่อบัญชีเดียวกับผู้จัดการมรดกเท่านั้น)

23. ไม่ขอเงินประกันการใช้ไฟฟ้าคืนได้หรือเปล่า ?

          หากเราไม่ยื่นเรื่องขอเงินประกันคืนก็สามารถทำได้ โดยจะได้รับผลประโยชน์จากเงินประกันสะสมไปทุก ๆ ปี จนครบ 5 ปี จากนั้นทางการไฟฟ้าฯ จะนำเงินผลประโยชน์จำนวนที่สะสมไว้คืนให้ โดยนำไปหักชำระเป็นค่าไฟฟ้า  

24. รับเงินคืนผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส ต้องนำหลักฐานอะไรไปบ้าง ?

          หากเลือกขอรับเงินคืนที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส ผู้ขอรับเงินคืนจะต้องไปรับเงินด้วยตัวเอง โดยใช้บัตรประชาชน และกรอก pin 6 หลักที่ได้รับจาก กฟภ.

25. ลงทะเบียนไว้แล้ว จะตรวจสอบสถานะการคืนเงินได้ไหมว่าอยู่ขั้นตอนไหน ?

          ตรวจสอบได้ในเว็บไซต์ของการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค


          ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถสอบได้ที่การไฟฟ้านครหลวง โทร. 1130 หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โทร. 1129 หรือที่ เฟซบุ๊ก การไฟฟ้านครหลวง และ เฟซบุ๊ก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค PEA


* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 10 เมษายน 2563

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, การไฟฟ้านครหลวง  

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รวมคำถามลงทะเบียนคืนเงินประกันไฟฟ้า ชื่อไม่ตรง-ซื้อบ้านมือสอง จะได้รับเงินหรือไม่ ? อัปเดตล่าสุด 10 เมษายน 2563 เวลา 10:17:42 767,028 อ่าน
TOP
x close