x close

ธนาคารโลก เผยคนไทยยากจนเพิ่มขึ้น ยอดพุ่ง 6.7 ล้านคน พบเหลื่อมล้ำสูง

          ธนาคารโลก เผยตัวเลขรายงานความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย พบยากจนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.85 หรือ มากกว่า 6,700,000 คน เหลื่อมล้ำสูง ร้อยละ 40

ความเหลื่อมล้ำทางสังคม
ภาพจาก Cat Box / Shutterstock.com

          วันที่ 5 มีนาคม 2563 นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยรายงานความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยจากสถิติอย่างเป็นทางการของภาครัฐ พบว่า ระหว่างปี 2558-2561 อัตราความยากจนของประเทศไทยเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 7.21 เป็น ร้อยละ 9.85 หรือ เพิ่มจาก 4,850,000 คน เป็นมากกว่า 6,700,000 คน โดยในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวนประชากรที่ยากจนเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 แสนคนในช่วงปี 2558-2561 ซึ่งจังหวัดที่มีอัตราความยากจนสูงที่สุด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ปัตตานี กาฬสินธุ์ นราธิวาส และตาก โดยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใกล้พรมแดน หรืออยู่ในพื้นที่ขัดแย้งในภาคใต้

          ปัจจัยที่ทำให้ตัวเลขความยากจนเพิ่มขึ้น เกิดจากภาวะเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่แย่ลง ซึ่งไทยมีอัตราการเติบโตของจีดีพีต่ำกว่าประเทศกำลังพัฒนา โดยปี 2562 จีดีพีไทยอยู่ที่ร้อยละ 2.7 ซึ่งต่ำสุดในภูมิภาค โดยผลกระทบเกิดจาก การค้าโลกที่อ่อนตัวลง ภาวะภัยแล้ง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอยู่ในภาวะหดตัว นอกจากนี้รายได้ที่แท้จริงจากภาคเกษตรและภาคธุรกิจลดลงทั้งในกลุ่มที่อาศัยอยู่เขตชนบทและเขตเมือง

          ขณะเดียวกันพบว่า ไทยมีความเหลื่อมล้ำ ความมั่งคั่งยังไม่ได้กระจายอย่างทั่วถึงไปสู่ประชาชนที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 40 โดยในปี 2558-2560 พบว่า ประชากรกลุ่มนี้มีการบริโภคและรายได้ที่ติดลบ จากรายได้แรงงานทุกประเภทที่ลดลง การหยุดนิ่งของการขึ้นค่าแรง และรายได้จากการเกษตรและธุรกิจลดลง

        รายการฉบับนี้ยังได้เรียกร้องให้ไทยมีมาตรการและการลงทุนเพื่อช่วยเปลี่ยนผ่านประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะการลงทุนในคนรุ่นใหม่อย่างเท่าเทียม เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของแต่ละคนได้

ข้อมูลจาก สำนักข่าว INN


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ธนาคารโลก เผยคนไทยยากจนเพิ่มขึ้น ยอดพุ่ง 6.7 ล้านคน พบเหลื่อมล้ำสูง อัปเดตล่าสุด 6 มีนาคม 2563 เวลา 09:29:59 32,705 อ่าน
TOP