x close

แบงก์ปลอมสังเกตอย่างไร เผลอรับแล้ว ต้องทำยังไง จะถูกจับติดคุกไหม

          แบงก์ปลอมระบาดอยู่เรื่อย ๆ อย่าลืมเช็กให้ดีว่าเงินที่ได้รับมาเป็นธนบัตรจริงหรือปลอม พร้อมกับวิธีแก้ปัญหาหากเผลอรับแบงก์ปลอม
แบงก์ปลอม


         มีคนจำนวนไม่น้อยที่รับธนบัตรมาโดยไม่ได้ตรวจสอบให้ดีว่าเป็นของจริงหรือของปลอม และเมื่อแจ๊กพอตเจอธนบัตรปลอมเข้าให้ นอกจากเจ็บใจแล้ว ยังหวั่นใจด้วยว่าการครอบครองแบงก์ปลอมจะมีความผิดหรือไม่ สามารถไปแจ้งความได้หรือเปล่า หรือควรทำยังไงดีถึงจะปลอดภัย ไม่มีความผิดทางกฎหมาย กระปุกดอทคอม มีข้อมูลมาฝาก

มีแบงก์ปลอม จะถูกจับไหม ?


          ใครที่มีธนบัตรปลอมไว้ในครอบครองจะมีความผิดจริง ทั้งโทษปรับและจำคุก อย่างไรก็ดี หากได้มาจากเงินทอน การซื้อ-ขายสินค้า ก็สามารถนำธนบัตรที่ได้มาแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ลงบันทึกประจำวันได้ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจของตัวเอง

          โดยพนักงานสอบสวน จะทำหน้าที่พิสูจน์ว่าเป็นของปลอมหรือไม่ พร้อมหาที่มาของธนบัตรใบนั้นว่าได้มาจากไหน ยังไง ดังนั้นหากมั่นใจว่าตัวเองไม่ได้มีความผิด และไม่ได้นำธนบัตรปลอมไปใช้ต่อ ก็ให้สบายใจได้   

วิธีสังเกตธนบัตรปลอม


          ธนาคารแห่งประเทศไทย แนะนำวิธีสังเกตธนบัตรปลอมที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองง่าย ๆ กับวิธี "สัมผัส ยกส่อง พลิกเอียง" ดังนี้

1. สัมผัส

          • กระดาษธนบัตร
          ธนบัตรจริงเมื่อจับสัมผัสจะให้ความรู้สึกแตกต่างจากกระดาษทั่วไป เพราะทำจากกระดาษที่มีใยฝ้ายเป็นส่วนประกอบหลัก จึงมีความแกร่ง ทนทาน และไม่ยุ่ยง่าย

          • ลายพิมพ์เส้นนูน
          หมึกพิมพ์นูนขึ้นมาจากเนื้อกระดาษ ภาพและลายเส้นมีรายละเอียดคมชัด ซึ่งใช้ในการพิมพ์พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ คำว่า "รัฐบาลไทย" ตัวอักษรและตัวเลขแจ้งชนิดราคา เมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือ จะรู้สึกสะดุด

2. ยกส่อง

          • ลายน้ำ
          เป็นพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อยกส่องกับแสงสว่างจะเห็นได้ชัดเจนทั้งด้านหน้าและด้านหลังของธนบัตร  นอกจากนี้ ลายน้ำยังมีตัวเลขชนิดราคารูปลายไทยที่โปร่งแสงเป็นพิเศษ

          • ภาพซ้อนทับ
          เกิดจากเครื่องพิมพ์ที่สามารถพิมพ์ภาพทั้งสองด้านได้ในเวลาเดียวกัน ทำให้ลวดลายที่ออกแบบไว้ในตำแหน่งตรงกันทั้งด้านหน้าและด้านหลังซ้อนทับกันสนิท หรือประกอบกันขึ้นเป็นลวดลายหรือภาพที่สมบูรณ์ สามารถสังเกตได้ด้วยการยกธนบัตรขึ้นส่องดูกับแสงสว่าง

3. พลิกเอียง

          • ตัวเลขแฝง
          ตัวเลขแจ้งชนิดราคาซ่อนอยู่ในลายประดิษฐ์ มองเห็นได้เมื่อเอียงธนบัตรเข้าหาแสงสว่าง

          • หมึกพิมพ์พิเศษ
          ลายดอกประดิษฐ์ ภายในมีตัวเลขแจ้งชนิดราคา เมื่อพลิกธนบัตรขึ้นลงหรือพลิกซ้ายขวา ธนบัตรชนิดราคา 500 บาท และ 1000 บาท จะเห็นการเคลื่อนไหวเปลี่ยนสลับสี ส่วนชนิดราคา 100 บาท จะเห็นเป็นประกาย

          • แถบสี
          จะเปลี่ยนสีเมื่อเปลี่ยนมุมมอง ภายในแถบมีตัวเลขและตัวอักษรแจ้งชนิดราคาขนาดเล็ก เมื่อยกธนบัตรส่องดูกับแสงสว่างจะมองเห็นอ่านได้ชัดเจน

          • แถบฟอยล์ภาพ 3 มิติ
          ภายในมีภาพที่เป็นมิติ เมื่อพลิกเอียงธนบัตรไปมาจะเห็นองค์ประกอบต่าง ๆ ในแถบฟอยล์เคลื่อนไหวและเปลี่ยนสีสะท้อนแสงวาววับสวยงาม

          • ลักษณะพิเศษภายใต้รังสีเหนือม่วง

          พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษเรืองแสง เป็นหมึกพิมพ์ซึ่งสามารถมองเห็นการเรืองแสงเมื่ออยู่ภายใต้รังสีเหนือม่วง ซึ่งนำมาใช้บริเวณลวดลายสีพื้น หมวดอักษรและเลขหมายของธนบัตร

แบงก์ปลอม

แบงก์ปลอม


ได้แบงก์ปลอมมา ต้องทำอย่างไร


          ทุกคนรู้กันดีอยู่แล้วว่าธนบัตรปลอมเป็นสิ่งผิดกฎหมาย นำไปแลกเป็นธนบัตรจริงกับธนาคารไม่ได้ เผลอนำไปใช้ซื้อของก็มีความผิดอีก เพราะฉะนั้น หากใครพลาดรับมาแล้ว มาดูวิธีจัดการกับปัญหานี้กัน

1. ไม่นำออกใช้อีก

          ห้ามนำธนบัตรปลอมที่ได้ออกมาใช้อีกเด็ดขาด เพราะมีความผิดตามกฎหมาย โดยแนะนำให้เขียนคำว่า "ปลอม" ลงบนธนบัตรเลย เพื่อแยกออกจากธนบัตรจริง หรือนำไปส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ธนาคารพาณิชย์นำส่งเข้าระบบก็ได้

2. จำรูปพรรณผู้นำธนบัตรปลอมมาใช้

          หากมีใครนำธนบัตรปลอมมาใช้กับเรา ควรสอบถามรายละเอียดให้ชัด เช่น ได้มายังไง จากใคร ที่ไหน เป็นต้น รวมถึงจดจำลักษณะรูปพรรณและสิ่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับผู้นำมาใช้ให้มากที่สุด เพื่อเป็นข้อมูลในการสืบสวน

3. แจ้งความ

          ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ หรือโทรศัพท์แจ้งสถานีตำรวจท้องที่ หรือธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 0-2282-7409 และ 0-2356-7987

แบงก์ปลอม


ใช้แบงก์ปลอม มีโทษอะไรบ้าง


          สำหรับความผิดต่าง ๆ เกี่ยวกับการผลิต ครอบครอง นำธนบัตรปลอมไปใช้ แบ่งเป็นดังนี้

          - ปลอมธนบัตร : โทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 10-20 ปี และปรับตั้งแต่ 2-4 แสนบาท

          - แปลงธนบัตรผิดไปจากเดิม เพื่อให้มีมูลค่าสูงกว่าจริง : โทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 1-4 แสนบาท

          - มีไว้ครอบครองเพื่อนำออกมาใช้ และรู้ว่าเป็นธนบัตรปลอม : โทษจำคุกตั้งแต่ 1-15 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท - 3 แสนบาท

          - ได้มาโดยไม่รู้ว่าเป็นธนบัตรปลอม แล้วมาตรวจสอบทราบภายหลัง แต่ยังยืนยันนำออกมาใช้ : โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

          - ทำเครื่องมือสำหรับปลอมแปลงธนบัตร : โทษจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี และปรับตั้งแต่ 1-3 แสนบาท

          - ผลิตบัตรที่มีลักษณะและขนาดคล้ายคลึงกับธนบัตร : โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          - ผลิตบัตรที่มีลักษณะและขนาดคล้ายคลึงกับธนบัตร และมีการนำออกมาใช้ : โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รางวัลนำจับผู้แจ้งเบาะแสแบงก์ปลอม


          การแจ้งเบาะแสแหล่งผลิตหรือแหล่งจำหน่ายธนบัตรปลอมจนนำไปสู่การสืบสวนจับกุมนั้น มีเงินรางวัลให้ผู้แจ้งด้วย ดังนี้

          - กรณีจับได้ตัวผู้ต้องหาและของกลางเป็นอุปกรณ์ : จ่ายเงินสินบนในอัตราไม่เกิน 30% ของราคาอุปกรณ์ตามที่กรมธนารักษ์ หรือธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วแต่กรณีประเมินราคา แต่ต้องไม่เกิน 1 แสนบาท

          - กรณีจับได้ตัวผู้ต้องหาและของกลางเป็นธนบัตรปลอม : จ่ายเงินสินบนในอัตราไม่เกิน 30% ของราคาในหน้าธนบัตรปลอม แต่ต้องไม่เกิน 1 แสนบาท

          สำหรับเงินสินบนจะจ่ายให้ทันทีครึ่งหนึ่ง เมื่ออัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหา และเมื่อศาลพิพากษาลงโทษว่ามีความผิด จะจ่ายให้อีกครึ่งหนึ่ง โดยการขอรับเงินสินบน ให้ผู้แจ้งความนำจับยื่นคำขอภายใน 90 วันนับแต่วันสั่งฟ้องผู้ต้องหา หรือวันที่คดีถึงที่สุดตามนี้
          - พื้นที่กรุงเทพฯ ให้ยื่นต่ออธิบดีกรมธนารักษ์
          - พื้นที่ส่วนภูมิภาค ให้ยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัด

          คงต้องระมัดระวังตัวกันเป็นพิเศษแล้วกับปัญหาธนบัตรปลอมที่ปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง อย่างไรก็ดี หากใครมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถสอบถามข้อมูลธนบัตรได้ที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 02 356 8687-90



* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 10 มิถุนายน 2565


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แบงก์ปลอมสังเกตอย่างไร เผลอรับแล้ว ต้องทำยังไง จะถูกจับติดคุกไหม อัปเดตล่าสุด 10 มิถุนายน 2565 เวลา 16:35:31 45,835 อ่าน
TOP