ไขข้อสงสัย ขึ้นภาษี VAT 9% จะเกิดขึ้นจริงไหม ทำไมมีข่าวทุกปี !?

          เปิดประเด็นการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ทำไมถึงมีข่าวเรื่อง VAT 9% ทุกปี แล้วเราต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มกี่เปอร์เซ็นต์กันแน่ มาเคลียร์ข้อสงสัยให้ชัด ๆ 
ภาษี vat

          คงได้เห็นข่าวกันทุกปีเรื่องที่จะมีการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT จาก 7% เป็น 9% หรือ 10% ซึ่งพอมีข่าวนี้ออกมาทีไร ก็มักจะเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอยู่เสมอ เป็นแบบนี้ซ้ำไปซ้ำมา จนเกิดเป็นคำถามว่า สรุปแล้วการปรับขึ้น VAT หรือคงอัตรา VAT ที่ราชกิจจานุเบกษาประกาศนั้น หมายความว่าอะไร คือเราต้องจ่ายภาษี 9% จริง ๆ ไหม มาคลายข้อสงสัยกัน   

ภาษีมูลค่าเพิ่มของไทยไม่ใช่ 7% 

          ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่าอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของไทย จริง ๆ แล้ว ตามประมวลรัษฎากร คือ 10% ไม่ใช่ 7% อย่างที่เราจ่ายกันอยู่ทุกวันนี้ โดย VAT 10% แบ่งเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจริง 9% และภาษีท้องถิ่นอีก 1% แต่อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่มีการบังคับใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มมาตั้งแต่ปี 2535 ก็ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษีให้เหลือเพียง 7% (ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจริง 6.3% บวกภาษีท้องถิ่น 0.7%) ควบคู่กันมาตลอด โดยพิจารณาปีต่อปีว่า ควรจะใช้อัตราปกติหรือไม่ ตามแต่ภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น

ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เป็นอัตราชั่วคราว ที่มีการต่ออายุทุก ๆ ปี 

ภาษี vat
 
          ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปี ที่มีการบังคับใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม เราจะเห็นว่ามีประกาศขยายเวลาลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 7% ตามเดิมไปทุกปี ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่องในรัฐบาลทุกสมัย เพื่อเป็นการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนไม่ให้สูงจนเกินไป 

          มีเพียงช่วงปี 2540 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเท่านั้น ที่รัฐบาลประกาศใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% ตามกฎหมายจริง ๆ เพราะเป็นเงื่อนไขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แต่ก็เป็นแค่ช่วงสั้น ๆ จนถึงต้นปี 2542 รัฐบาลก็ประกาศปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 7% เหมือนเดิม และทำแบบนี้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ภาษี vat
 
         ส่วนคำถามที่ว่าทำไมถึงต้องออกประกาศต่ออายุลดภาษีมูลค่าเพิ่มกันทุก ๆ ปี จนทำให้ประชาชนไม่เข้าใจและเกิดความสับสน ที่เป็นแบบนี้เนื่องจากเป็นเรื่องของการเขียนกฎหมาย เพราะภาษีที่เรียกเก็บ 7% เป็นแค่อัตราชั่วคราวเท่านั้น จึงต้องมีการเขียนกฎหมายเพื่อต่ออายุเป็นปี ๆ ไปนั่นเอง  

          ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2561 ที่ราชกิจจานุเบกษาประกาศเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2560 ให้คงภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ถึงเดือนกันยายน 2561 ก่อนจะให้ปรับขึ้นในเดือนตุลาคม 2561 (อ่านข่าว ราชกิจจานุเบกษา ประกาศคงภาษี VAT อัตราเดิม ถึง ก.ย.61 ก่อนปรับเป็น 9% ต.ค.61) คนที่ไม่ทราบที่มาที่ไปของเรื่องนี้อาจรู้สึกตกใจและแตกตื่นด้วยเกรงว่าได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษี

          แต่สุดท้ายแล้วในเดือนกรกฎาคม 2561 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็มีประกาศขยายเวลาคงภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 7% ต่อไปจนถึงเดือนกันยายน 2562 ตามมาเป็นที่เรียบร้อย เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปีก่อน ๆ (อ่านข่าว ประกาศ ! คง VAT 7% ต่ออีก 1 ปี คาดรัฐสูญรายได้กว่า 2.5 แสน)

          ขณะที่เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2562 คณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบให้คงภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 7% ต่อไปจนถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2563 ดังนั้นจะเห็นว่า เมื่อพระราชกฤษฎีกาที่ให้คงภาษีใกล้หมดอายุ ก็จะมีประกาศต่ออายุต่อไปอีกทุกปี


ภาษีมูลค่าเพิ่ม 9% มีโอกาสเกิดขึ้นในไทยไหม 

ภาษี vat

          แน่นอนว่าถ้าปีไหนรัฐบาลไม่มีการต่ออายุลดภาษีมูลค่าเพิ่ม เราก็จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่อัตรา 9% บวกภาษีท้องถิ่นอีก 1% รวมแล้วเป็น 10% อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในความเป็นจริง ต้องยอมรับว่า ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างทางด้านเศรษฐกิจ จึงเป็นไปได้ยากมากที่รัฐบาลจะปล่อยให้ขึ้นภาษีตามกฎหมาย เพราะจะส่งผลกระทบในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่ต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่พุ่งขึ้น รวมถึงผู้ผลิต ผู้ประกอบการที่ต้องปรับตัวกันอย่างหนัก ซึ่งอาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยสะดุดก็เป็นได้ 

          สรุปแล้วภาษีมูลค่าเพิ่ม 9% เป็นอัตราจริงตามกฎหมายที่คนไทยต้องเสีย แต่ทุกรัฐบาลจะมีประกาศลดภาษีเป็น 7% ออกตามทีหลัง เพื่อต่ออายุในทุก ๆ ปี จึงไม่แปลกที่หลายคนจะเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนเมื่อได้รับข่าวสารเรื่องนี้ จนเป็นกระแสส่งต่อในโลกออนไลน์วนกลับมาให้เห็นทุกปี
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไขข้อสงสัย ขึ้นภาษี VAT 9% จะเกิดขึ้นจริงไหม ทำไมมีข่าวทุกปี !? อัปเดตล่าสุด 11 กันยายน 2562 เวลา 10:12:53 28,140 อ่าน
TOP
x close