x close

เจาะลึก "วิกฤตค่าเงินตุรกี" หรือจะซ้ำรอย "ต้มยำกุ้ง" ปี 40

          วิกฤตตุรกี คืออะไร ใครยังสงสัยว่าตุรกีเกิดวิกฤตทางการเงินได้อย่างไร ทำไมค่าเงินถึงอ่อนค่าได้ขนาดนี้ มาไขข้อสงสัยกัน 
วิกฤตตุรกี
ภาพจาก isa_ozdere / Shutterstock.com

          กลายเป็นเรื่องใหญ่ของโลกตอนนี้ไปแล้วกับประเทศตุรกีที่กำลังเจอกับวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ จนอาจลุกลามไปทั่วโลก ซึ่งคงทำให้หลายคนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับตุรกี จากประเทศที่เคยมีเศรษฐกิจมั่นคงและเติบโตสูงที่สุดในโลก ถึงกับต้องมาเผชิญกับปัญหาเลวร้ายแบบนี้ได้ 

วิกฤตเศรษฐกิจตุรกี มีที่มาจากไหน ?

          ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าเศรษฐกิจของตุรกีนั้น เติบโตมาจาก 2 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ การส่งออกสินค้า เช่น เหล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรม เสื้อผ้า-สิ่งทอ และชิ้นส่วนยานยนต์ ส่วนอีกอย่างจะมาจากรายได้ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเมื่อปี 2557 ตุรกีเคยเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวสูงเป็นอันดับ 6 ของโลกทีเดียว 

          นับตั้งแต่มีการปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 2546 ตุรกีก็โตวันโตคืน แต่แล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนไป หลังจากเกิดเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อช่วงกลางปี 2559 ซึ่งแม้การรัฐประหารครั้งนี้จะไม่สำเร็จ แต่ก็กลายเป็นชนวนเหตุสำคัญของหลาย ๆ เรื่องในวันนี้ และเริ่มส่งผลให้เศรษฐกิจตุรกีซบเซาลงเรื่อย ๆ จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่ทยอยถอนเงินลงทุนออกไป รวมถึงตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ลดลงแบบไม่เคยมีมาก่อน จนทำให้ค่าเงินลีราของตุรกีอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง 

วิกฤตตุรกี
ภาพจาก @realDonaldTrump

          จนเมื่อวันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม 2561 ก็ได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น เมื่อ "โดนัลด์ ทรัมป์" ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศขึ้นภาษีเหล็กจากตุรกีเพิ่มเป็น 2 เท่า ซึ่งเหล็กถือเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกหลักของตุรกี จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมภายในวันเดียวที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษี ค่าเงินลีราตุรกี ถึงได้ร่วงไปถึง 20% และลดลงมากกว่า 40% นับตั้งแต่ต้นปี 2561 จากเดิมที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แลกได้ประมาณ 3.78 ลีราตุรกี กลับอ่อนค่ามาเป็น 6.92 ลีราตุรกีต่อดอลลาร์ ในช่วงเดือนสิงหาคม

          นั่นจึงทำให้ปัญหาต่าง ๆ ของตุรกีที่เคยปิดเอาไว้ค่อย ๆ เผยออกมา เพราะเบื้องหลังของเศรษฐกิจที่โตสูงมาก ส่วนหนึ่งมาจากการก่อหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า 50% ของ GDP ประเทศ เพื่อนำมาใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ค่าเงินลีราอ่อนค่าลง เลยทำให้หนี้ที่มีเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ในเวลาอันรวดเร็ว นอกจากนี้ ตุรกียังมีปัญหาขาดดุลการค้าติดต่อกันมานานถึง 33 ปี นับตั้งแต่ปี 2528 เลยทีเดียว 

วิกฤตตุรกี
ภาพจาก XE Money Transfer

          ขณะเดียวกันตุรกียังเจอกับปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง สินค้าในประเทศต่างแพงขึ้น โดยพุ่งเกิน 15% สูงสุดในรอบ 14 ปี นับตั้งแต่ปี 2547 จากการที่รัฐบาลอัดงบจำนวนมากกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการออกพันธบัตร 10 ปี ที่ให้ดอกเบี้ยสูงถึง 20% แถมช่วงก่อนหน้านี้ยังมีเงินทุนไหลเข้าตุรกีเยอะมาก ทำให้ประเทศโตก้าวกระโดด หุ้นพุ่งไม่หยุด จนปรับตัวไม่ทัน ส่งผลถึงภาวะเงินเฟ้ออย่างที่เห็น หนำซ้ำรัฐบาลตุรกียังไม่ยอมขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินเฟ้อ เลยยิ่งทำให้ตลาดขาดความเชื่อมั่น แห่ถอนเงินออกจากตุรกี กดดันค่าเงินลีราร่วงลงไปอีก
 
อเมริกา-ตุรกี มีปัญหาอะไรกัน

วิกฤตตุรกี
ภาพจาก GEOFFROY VAN DER HASSELT / AFP
 
          แม้ปัญหาเศรษฐกิจที่ตุรกีเจอส่วนหนึ่งจะมาจากปัญหาการเมืองและนโยบายเศรษฐกิจในประเทศ แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ทำให้ตุรกีแย่หนักลงไปอีก มาจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งทรัมป์ให้เหตุผลที่ต้องขึ้นภาษีนำเข้าเหล็ก จาก 25% เป็น 50% และภาษีนำเข้าอะลูมิเนียม จาก 10% เป็น 20% ว่า เพราะค่าเงินของตุรกีอ่อนค่ามากเกินไป แถมยังต่อท้ายด้วยว่า อีกอย่าง คือ ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศที่ยังไม่ค่อยดีนั่นเอง 

          โดยสาเหตุของความไม่ลงรอยกันของสองประเทศนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2559 ที่ทางรัฐบาลตุรกีได้ควบคุมตัว นายแอนดริว บรุนสัน บาทหลวงชาวอเมริกัน เพราะมองว่าเขามีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มรัฐประหาร อีกทั้ง ทางตุรกีเองก็ไม่พอใจที่สหรัฐฯ ไม่ออกมาประณามการก่อรัฐประหารครั้งนั้น 

          นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสงครามซีเรีย ที่ทั้งสองประเทศเหมือนจะยืนอยู่คนละข้างกัน รวมถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของตุรกีและรัสเซีย ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างตุรกีกับสหรัฐฯ ทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก 

วิกฤตตุรกี ส่งผลอะไรต่อเศรษฐกิจโลก

           วิกฤตค่าเงินตุรกีได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกมากกว่าที่หลายคนคิด เห็นได้จากตลาดหุ้นทั่วโลกที่กอดคอกันร่วงแทบทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารในยุโรป เพราะล้วนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของรัฐบาลตุรกีทั้งนั้น ซึ่งมีมูลค่ารวมกันสูงถึง 224,000 ล้านดอลลาร์ อาทิ ธนาคารในสเปน จำนวน 83,300 ล้านดอลลาร์, ฝรั่งเศส 38,400 ล้านดอลลาร์ และอิตาลี 17,000 ล้านดอลลาร์ เป็นต้น

          ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อปีที่ผ่านมา ประเทศในกลุ่มยุโรป มีกำไรจากการส่งออกสินค้าไปยังตุรกีถึง 63,000 ล้านยูโร หรือราว 2.4 ล้านล้านบาท เพราะฉะนั้น หากเศรษฐกิจตุรกีมีปัญหาย่อมส่งผลต่อยุโรปแน่นอน และหากยุโรปไม่สามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ก็มีโอกาสสูงที่วิกฤตนี้จะลุกลามไปทั่วโลก

วิกฤตตุรกี
ภาพจาก Yasin AKGUL / AFP

          โดยหลังจากเกิดเรื่องค่าเงินตุรกีร่วง ตลาดหุ้นทั่วโลกก็ทรุดตามอย่างหนัก ทั้งดัชนีดาวโจนส์สหรัฐฯ ที่ปิดตลาดลดลง 0.50%, ดัชนี DAX เยอรมนี ลดลง 0.53%, ดัชนี CAC-40 ฝรั่งเศส ลดลง 0.04%, ดัชนี FTSE 100 อังกฤษ ลดลง 0.32%, ดัชนี Nikkei ญี่ปุ่น ลดลง 1.98%, ดัชนี SSE Composite จีน ลดลง 0.34% และดัชนี KOSPI เกาหลีใต้ ลดลง 1.50%

          ไม่เว้นแม้แต่ประเทศในอาเซียนอย่างดัชนี FTSE STI สิงคโปร์ ที่ลดลง 1.20%, ดัชนี FBMKLCI มาเลเซีย ลดลง 1.24% ดัชนี Jakarta Composite อินโดนีเซีย ลดลง 3.55%, ดัชนี PSE Composite ฟิลิปปินส์ ลดลง 2.17% และตลาดหุ้นไทยที่ร่วงมากกว่า 20 จุด ระหว่างทำการซื้อ-ขาย รวมไปถึงราคาน้ำมันทั้งตลาด WTI และเบรนท์ ที่พากันปรับลดลงทั้งหมด ส่วนราคาทองคำตลาดโลกก็หลุดระดับ 1,200 ดอลลาร์/ออนซ์ เป็นครั้งแรกในรอบ 17 เดือน สวนทางกับค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น
 
วิกฤตตุรกี ส่งผลอะไรต่อไทย

          นักวิเคราะห์หลายฝ่ายยังมีความเห็นตรงกันว่า วิกฤตตุรกีครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะจากข้อมูล ณ ปี 2560 ไทยมีมูลค่าส่งออกไปตุรกีเพียง 42,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.5% ของมูลค่าส่งออกรวม ซึ่งถือว่าน้อยมาก 

          สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของ นางจันทรวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ประเมินว่า ความเชื่อมโยงการค้าของไทยกับตุรกียังไม่สูงมาก ทำให้ผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยจึงอยู่ในวงจำกัด
 
          ในส่วนของการท่องเที่ยว นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) มองว่า ไทยไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวชาวตุรกีในไทยค่อนข้างน้อย ดังนั้น วิกฤตดังกล่าวคงเพียงทำให้เกิดความไม่แน่นอนในตลาดเงินและตลาดทุนไทย รวมทั้งทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า แต่เป็นเพียงระยะสั้น

          ทั้งนี้ หลังจากเกิดวิกฤตค่าเงินในตุรกี ได้ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่เปิดตลาดวันแรก (14 สิงหาคม 2561) ดัชนีหุ้นไทยก็ได้สะท้อนกับปัจจัยลบดังกล่าว โดยเปิดที่ระดับ 1,692.77 จุด ปรับลดลง 13.19 จุด หรือ 0.77% ก่อนปิดที่ระดับ 1,695.35 จุด ลดลง 10.61 จุด ทำนิวโลว์ในรอบสัปดาห์ และยังคงร่วงต่อเนื่องในวันถัดมา

วิกฤตตุรกี กับ วิกฤตต้มยำกุ้ง

วิกฤตตุรกี

          หากเรามองย้อนกลับไปดูวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งของไทย เมื่อปี 2540 คงจะรู้สึกคล้ายคลึงกับวิกฤตการเงินของตุรกีไม่น้อย เพราะมีปัญหาที่เหมือนกันคือ ก่อนที่ค่าเงินจะร่วงระนาวแบบนี้ ทั้งสองประเทศเคยมีเศรษฐกิจที่สดใสมาก ซึ่งไทยเองในช่วงนั้น ถึงกับถูกขนานนามว่าจะเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมากมาย เม็ดเงินจากต่างชาติไหลเข้ามาไม่หยุด ตลาดหุ้นที่เรียกว่าเป็นยุคทอง ดอกเบี้ยเงินฝาก-พันธบัตรก็สูงเกือบ 20% ไม่ต่างจากตุรกีเลย

          จนเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองพฤษภาทมิฬ ที่เป็นจุดเริ่มต้นให้ปัญหาหลาย ๆ อย่างค่อย ๆ ลุกลามขึ้น ทั้งการขาดดุลบัญชี ก่อหนี้ต่างประเทศจนเกินตัว สุดท้ายค่าเงินตก หนี้ที่เคยกู้มาทวีคูณขึ้นเป็นสองเท่า เกิดปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง ส่งผลให้หลาย ๆ ธุรกิจที่มีการกู้เงินมาลงทุนต้องปิดกิจการจำนวนมาก ซึ่งลำดับเหตุการณ์วิกฤตตุรกีในขณะนี้ แทบจะเดินตามรอยวิกฤตต้มยำกุ้งเป๊ะ ๆ ก็ว่าได้  

          แต่สองเหตุการณ์ก็มีจุดที่ต่างกันเล็กน้อย คือ ตุรกีใช้นโยบายปล่อยลอยตัวค่าเงินลีรา ไม่ได้มีการบิดเบือนค่าเงิน ด้วยการควักเงินกองทุนสำรองประเทศไปพยุงค่าเงินไว้เหมือนที่ไทยเคยทำในปี 2540 จนสุดท้ายก็อุ้มไม่ไหวเงินทุนสำรองหมด รัฐบาลไทยถึงตัดสินใจยอมแพ้ ปล่อยลอยตัวเงินบาทในภายหลัง นำมาซึ่งวิกฤตการณ์ทางการเงินที่ขยายวงกว้างไปทั่วทั้งเอเชีย

วิกฤตตุรกี
ภาพจาก AFP

ทางออกของวิกฤตตุรกี 

          ทุกคนต่างรู้ดีว่าสิ่งที่รัฐบาลตุรกีต้องทำในตอนนี้ก็คือการสกัดไม่ให้เงินไหลออกนอกประเทศไปมากกว่านี้ เพื่อพยุงค่าเงินเอาไว้ แต่สิ่งที่เป็นปัญหา คือ แล้วจะใช้วิธีไหนดีล่ะ เพราะหากนำเงินสำรองไปซื้อสกุลเงินลีรากลับมา ก็ต้องถามกลับไปว่าตอนนี้ตุรกีมีเงินเพียงพอไหม ในเมื่อยังขาดดุลการค้าอยู่แบบนี้ และถึงมีเงินเพียงพอ จะเกิดปัญหาซ้ำรอยวิกฤตต้มยำกุ้งหรือเปล่า 

          ส่วนอีกทางเลือกคือการตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ก็ต้องแลกด้วยภาวะเศรษฐกิจที่จะซบเซาแน่นอน หรือไม่อย่างนั้น ตุรกีอาจจะต้องยอมขอความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF  

วิกฤตตุรกี
ภาพจาก Alexandros Michailidis / Shutterstock.com

          คงต้องจับตามองกันต่อไปว่าทางออกของวิกฤตการเงินของตุรกีครั้งนี้จะจบอย่างไร ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าทางตุรกีจะหาทางออกของเรื่องนี้ได้โดยเร็ว เพื่อไม่ให้ปัญหานี้ลุกลามไปทั่วโลก จนกลายเป็นต้มยำกุ้ง ไครซิส ซ้ำสอง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เจาะลึก "วิกฤตค่าเงินตุรกี" หรือจะซ้ำรอย "ต้มยำกุ้ง" ปี 40 อัปเดตล่าสุด 16 สิงหาคม 2561 เวลา 13:59:25 35,984 อ่าน
TOP