เก็บเงินทุกวันที่ เก็บเงินทุกวันเงินเดือนออก เก็บเศษของเงินเดือน ใช้เท่าไร เก็บเท่านั้น เก็บแบงก์ 50 เป็นเทคนิคเก็บเงินง่าย ๆ ที่ช่วยให้เราเก็บเงินได้อย่างที่ตั้งใจ
*เก็บเงินทุกวัน (ที่)
วิธีนี้ให้เอาวันที่เป็นตัวตั้ง หมายความว่า วันที่ 1 ให้เก็บเงิน 1 บาท วันที่ 2 เก็บ 2 บาท หยอดกระปุกไปเรื่อย ๆ จนถึงวันที่ 31 เก็บ 31 บาท พอขึ้นเดือนใหม่ ก็เริ่มเก็บ 1 บาทใหม่ตามวันที่นั้น ๆ ทำแบบนี้ไปทุกเดือน ๆ รวมทั้งปี เราจะมีเงินเก็บทั้งหมด 5,738 บาท หรือถ้าใครจะเก็บเงินวันที่ 1 เป็น 10 บาท วันที่ 31 เป็น 310 บาท ก็ได้ รวมทั้งปีเราจะมีเงินเก็บถึง 57,380 บาท เอาไปซื้อทองได้เลยทันทีถึง 2 บาท
*เก็บเงินทุกวันเงินเดือนออก
วิธีนี้ให้เอาวันที่เราได้รับเงินเดือนเป็นตัวตั้ง พอเงินเดือนออกปุ๊บ ก็ให้เก็บก่อนเลย 20% ของเงินเดือน ถือเป็นการเก็บเงินก่อนใช้ สมมติได้เงินเดือน 15,000 บาท ก็เก็บ 3,000 บาท ทำแบบนี้ทุกเดือน ๆ ถึงสิ้นปี เราจะมีเงินเก็บ 36,000 บาท
*เก็บเศษของเงินเดือน
วิธีนี้ให้เอาเศษของเงินเดือนเป็นตัวตั้ง สำหรับคนที่เงินเดือนมีเศษ เช่น 20,580 บาท ก็ให้เก็บเศษ 580 บาท หากใครมีเศษน้อยหน่อย เช่น 21,100 บาท ก็อาจจะเก็บ 1,100 บาทเลยก็ได้ ลองปรับดูตามความเหมาะสม แล้วเก็บแบบนี้ไปทุกเดือน ๆ เศษเงินเดือนที่ว่าเล็กก็สามารถกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ได้ไม่ยาก
*ใช้เท่าไร เก็บเท่านั้น
วิธีนี้ให้เอารายจ่ายฟุ่มเฟือยในแต่ละวันเป็นตัวตั้ง เช่น วันนี้ซื้อเสื้อไป 250 บาท ก็ให้เก็บ 250 บาท เท่ากับจำนวนเงินที่ใช้ไป ยิ่งเราใช้เงินฟุ่มเฟือยมาก ก็ยิ่งต้องเก็บมาก ถือเป็นการเก็บเงินหลังใช้ และเป็นวิธีที่เหมาะกับคนที่ค่อนข้างใช้เงินเก่ง เพราะยิ่งเราใช้เยอะ เราก็ต้องมีวินัยในการเก็บเงินให้เยอะขึ้นด้วยนั่นเอง
*เก็บแบงก์ 50
วิธีนี้ให้เรามุ่งความสนใจไปที่แบงก์ 50 เพราะเป็นแบงก์ที่เรามักไม่ค่อยจะได้เจอสักเท่าไรในชีวิตประจำวัน เวลาใช้จ่ายแล้วได้รับเงินทอนมาเป็นแบงก์ 50 เมื่อไร ไม่ว่าจะเป็นแบงก์เก่าหรือใหม่ก็ตาม ให้เก็บไว้เลยทันที ทำแบบนี้ทุกครั้งที่ได้รับเงินทอน สมมติใน 1 สัปดาห์เก็บแบงก์ 50 ได้เฉลี่ย 2 ใบ โดย 1 ปีมี 52 สัปดาห์ เท่ากับว่าปีนี้เราเก็บแบงก์ 50 ได้ทั้งหมด 104 ใบ ก็จะมีเงินเก็บ 5,200 บาท
ใครสนใจวิธีไหนก็ลองนำไปปรับใช้กันดู เลือกอย่างน้อย 1 วิธี หรือจะใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกันก็ได้ นอกจากนี้ หากใครมีไอเดียในการเก็บเงินแปลก ๆ ไม่เหมือนใคร ไม่ว่าจะเป็นวิธีไหนก็ตาม เช่น เก็บเงินตามวันที่เกิด สมมติเกิดวันที่ 5 ก็ให้เก็บเงินทุกวันที่ 5 ของเดือน หรือหากเกิดวันจันทร์ จะเก็บเงินทุกวันจันทร์ก็ได้ หากช่วยให้เราจำง่ายและเก็บเงินได้ก็ลงมือทำได้เลย
แนะนำให้แชร์วิธีเก็บเงินที่เราทำผ่าน Social Media ในวันแรกที่ทำทันที เพื่อเป็นการบอกให้เพื่อน ๆ ได้รับรู้ และยังเป็นการใช้สังคมบังคับตัวเราเองให้ทำอย่างต่อเนื่อง ทำจนเกิดเป็นความเคยชิน กลายเป็นนิสัย แล้วเราจะรู้สึกว่าการเก็บเงินไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิดอีกต่อไป
ส่วนใครที่มีวินัยในการเก็บเงินอย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว ก็แนะนำให้เก็บเท่า ๆ กันทุกเดือน ที่สำคัญคือ เมื่อเก็บเงินได้แล้ว อย่าลืมนำไปลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนด้วย อาจเริ่มจากการลงทุนในกองทุนรวมก่อนก็ได้ โดยเลือกกองทุนให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่เรารับได้ และให้ธนาคารหักบัญชีอัตโนมัติเพื่อนำไปลงทุนทุกเดือน (Saving Plan) เริ่มต้นเพียง 500 บาท เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้เงินของเรางอกเงยมากขึ้น
การเก็บเงินจะไม่ใช่เรื่องยากและน่าเบื่ออีกต่อไป แถมยังช่วยให้เราเก็บเงินได้อย่างที่ตั้งใจสักที แนะนำให้ลงมือทำตั้งแต่วันนี้ เริ่มเก็บเงินตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะการเริ่มก่อนจะช่วยให้เรามีเงินเก็บในจำนวนที่มากกว่า และไม่เหนื่อยกับการเก็บเงินก้อนใหญ่ หรือต้องเร่งเก็บเงินเมื่ออายุมากแล้ว เมื่อถึงตอนนั้นอาจเก็บเงินไม่ทันแล้วก็เป็นได้
K-Expert Action
• เก็บออมก่อนใช้ โดยควรมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินอย่างน้อย 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน
• เลือกสินทรัพย์ลงทุนให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และระยะเวลาในการลงทุน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก