x close

เทคนิคสร้างนิสัยการเงินแบบ My Style สุขได้ไม่ต้องเดินตามใคร

          หาแนวทางการเก็บเงินที่ใช่และเหมาะกับตัวเอง ไม่ว่าจะใช้ Passion เป็นแรงผลักดันในการเก็บเงิน ทำซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่อง ขยายวิธีการเก็บเงิน หรือเริ่มจากการทำเป้าหมายเล็ก ๆ ให้สำเร็จ เพื่อผลลัพธ์การเงินที่ดี
วิธีเก็บเงิน

          เป็นที่สงสัยกันไม่น้อยว่า ทำไมเราถึงยังเก็บเงินไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่พยายามทำตามวิธีที่คนอื่นเค้าทำก็แล้ว ก็มีข้ออ้างให้อยากเลิกทำสารพัดอย่าง ทั้งไม่สนุก ไม่อยากบังคับฝืนใจตัวเอง สุดท้ายทำได้ไม่เท่าไรก็เลิกทำเสียทุกที เพราะปัญหาของคนที่ต้องการมีนิสัยการเงินที่ดีขึ้น ส่วนใหญ่คือการยังไม่เจอวิธีการที่ใช่และอยากจะทำในแบบของตัวเองเสียที

          วันนี้ กระปุกดอทคอม เลยนำข้อมูลจาก K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ที่จะมาชวนให้คุณคิดหาแนวทางการเงินที่ใช่ จากการนำหลักการค้นหาไอเดียบางส่วนมาจากหนังสือสุดติสท์อย่าง "Hegarty On Creativity กฎไม่มีอยู่จริง" แต่งโดย จอห์น เฮการ์ตี เพื่อช่วยให้คุณคิดหาวิธีเปลี่ยนนิสัยการเงิน สร้างความมั่งคั่งได้ด้วยตัวเองกัน

วิธีเก็บเงิน

ภาพจาก pexels

วิธีที่ 1 ให้เสียงของหัวใจ สร้าง Passion การเงิน

          สำหรับคนที่มีเรื่องที่รักหรือชอบจนเข้าขั้น "หลงใหล" (Passion) … อย่างไรถึงเรียกว่าหลงใหล ? นั่นคือ เรื่องอะไรที่คุณจะตื่นเต้นและกระตือรือร้นที่จะทำอย่างเต็มใจ ตัวอย่างเช่น ถ้าวันนี้คุณหลงใหลการทำขนม ไม่ว่าตอนนี้ฝีมือการทำขนมของคุณจะแย่สักแค่ไหน คุณก็พยายามฝึกปรือ หาที่เรียน ทดลองทำ เพื่อให้ได้ขนมที่ต้องการ การล้มเลิกความตั้งใจในเรื่องที่ฟังเสียงจากหัวใจแบบนี้ ยากที่จะเกิดขึ้นใช่ไหม

          ปรับเป็นไอเดียเก็บเงิน : ให้ Passion ที่คุณมีเป็นแรงผลักดันให้อยากเก็บเงิน เช่น เรียนและฝึกทำขนม ต้องใช้งบประมาณเท่าใด และถ้า Passion ในเรื่องนี้คือการอยากเปิดร้านขายขนม จะต้องมีเงินทุนเท่าใด ? การเก็บเงินไปกับสิ่งที่เรารักแบบนี้ เก็บเงินได้อย่าง Happy แน่นอน

วิธีเก็บเงิน

วิธีที่ 2 ใส่ระเบียบในความไร้ระเบียบ
   
          ตามหลักการแล้วเราสามารถสร้างพฤติกรรมที่เป็นรูปแบบที่ชัดเจนได้จากการ "ทำซ้ำ" เช่น สมัยเด็ก ถ้าเราต้องการฝึกขี่จักรยานให้เป็น เราจะพยายามฝึกขี่จักรยานทุกวัน พอขี่ได้แล้ว เราก็สามารถขี่จักรยานไปได้ตลอดชีวิต จริงอยู่ว่า ในช่วงแรก ๆ สมองของเราอาจต่อต้านให้เราทำไม่ได้ แต่เมื่อเราทำเรื่องนั้นต่อเนื่องซ้ำ ๆ และให้รางวัลตอบแทนตัวเองในทุกครั้งที่เริ่มทำได้มากขึ้น สมองส่วนจิตใต้สำนึกจะเรียนรู้และทำกระบวนการนั้นเป็นอัตโนมัติ

          ปรับเป็นไอเดียเก็บเงิน : เพราะคนส่วนใหญ่มีพฤติกรรมใช้จ่ายเต็มที่วันนี้…สุขวันนี้ เรียกว่า สุขก่อน ขอเก็บทีหลัง เมื่อเคยเก็บเงินแบบไร้ระเบียบ แล้วต้องการเก็บเงินได้อย่างสม่ำเสมอจึงเกิดขึ้นได้ยาก ดังนั้น คนที่มีพฤติกรรมการเงินแบบนี้และยังออมไม่ได้สักที จึงควรสร้างพฤติกรรมความมีระเบียบเข้าไปในความไร้ระเบียบ

          ตัวอย่างเช่น เก็บเหรียญสิบบาท จะมีกี่เหรียญ ณ สิ้นวัน ก็ให้เก็บเสมอ หรือใช้แต่เงินสด (งดใช้บัตรเครดิต) ในวันอาทิตย์ เพื่อลดโอกาสใช้เงินเกิน และมีเงินเหลือเก็บมากขึ้น เช่นนี้ก็ถือเป็นการสร้างนิสัยแบบอัตโนมัติที่ยังมีอิสระและตามใจตัวเองได้ระดับหนึ่ง และทุกครั้งที่ทำได้ต้องไม่ลืมให้รางวัลกับตัวเองด้วยเสมอ
 
วิธีเก็บเงิน

วิธีที่ 3 ขยายเขต Comfort Zone
   
          เป็นที่รู้กันดีว่า การจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้นได้ต้องเริ่มจากการ "เปลี่ยนพฤติกรรม" หรือวิธีการที่เคยทำในอดีตก่อน แต่การปรับพฤติกรรมใหม่ ๆ แบบทันทีทันใด ก็ใช่ว่าจะทำได้ง่าย ๆ เพราะสมองส่วนจิตใต้สำนึกจะรู้สึกไม่สบายใจ และจะบีบให้เรากลับไปมีพฤติกรรมที่สบายใจแบบเดิม

          ตัวอย่างเช่น ถ้าวันนี้คุณไม่เคยขึ้นเวที แต่คุณกลับต้องกระโดดขึ้นเวทีพูดต่อหน้าคนดูจำนวนมากเป็นเวลา 1 ชั่วโมง แค่คิดคุณก็จะรู้สึกกระอักกระอ่วน กังวลใจ ไม่กล้าทำแล้วจริงไหม ดังนั้น การขยายเขตพฤติกรรมให้หลุดออกจากพฤติกรรมที่อยู่ใน Comfort Zone เดิม ๆ จึงต้องเปลี่ยนเป็นค่อย ๆ ทำ ฝึกจากการขึ้นเวทีในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อน แล้วค่อยเพิ่มเวลาให้มากขึ้นในครั้งต่อไป ทำเช่นนี้ สมองส่วนจิตใต้สำนึกจะสบายใจ และยอมขยายพฤติกรรมใหม่ ๆ ให้เราลดความกังวลและทำได้มากขึ้น

          ปรับเป็นไอเดียเก็บเงิน : การขยับวิธีการเก็บเงิน จากเดิมที่เราสบายใจกับการฝากเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร ให้เป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น อย่างลงทุนผ่านกองทุนรวม เพื่อเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้นนั้น ก็ยาก ไม่ต่างกับการกระโดดขึ้นเวทีครั้งแรก เป็นไปได้ว่าคุณจะกังวลจนกินไม่ได้นอนไม่หลับเพราะกลัวขาดทุน แนวทางที่ทำได้อย่างแรกคือ การเข้าใจว่าการลงทุนเก็บเงินเพื่ออนาคตในหลากหลายสินทรัพย์เป็นรูปแบบที่เป็นสากล และช่วยเพิ่มทางเลือกให้เราสามารถเก็บเงินในระยะยาวที่เข้าถึงเป้าหมายให้เร็วขึ้นได้ สิ่งสำคัญคือ การศึกษาให้เข้าใจชัดเจนก่อน และจำกัดเงินที่จะลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่คุ้นเคย

          ตัวอย่างเช่น การเริ่มลงทุนในรูปแบบพอร์ตการลงทุนที่มีระดับความเสี่ยงต่ำ จัดสัดส่วนเงินลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงเพียง 10% ของเงินลงทุนทั้งหมด ที่เหลือเน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ ค่อย ๆ ทยอยลงทุนแบบนี้ไปทุก ๆ เดือน เราก็จะรู้สึกกล้าขยาย Comfort Zone ของการเก็บเงินให้มีสินทรัพย์ที่หลากหลายขึ้นได้

วิธีเก็บเงิน

วิธีที่ 4 มองการณ์ใกล้
   
          ทำไม…การเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ ๆ จึงทำได้ยาก เพราะสมองเรามักจะคำนวณความยากง่ายก่อนทำสิ่งใหม่ ๆ เสมอ ซึ่งถ้าเรื่องนั้นง่ายมาก ๆ สมองจะเห็นว่าไม่เห็นจะเลวร้ายอะไร และไม่มีข้ออ้างที่จะไม่ทำ เราจึงทำเรื่องนั้นได้ง่ายขึ้น หลักคือ การตั้งเป้าหมายที่ "ใกล้และง่ายจนน่าขำ" เช่น ถ้าตั้งใจว่า "จะออกกำลังกายให้ได้ 6 Pack ภายใน 2 ปีนี้" เปลี่ยนให้ใกล้และง่ายขึ้นเป็น "จะ Sit Up วันละ 1 ครั้ง" เพียงลดเป้าหมายให้เป็นวิธีการที่ทำได้ง่ายสุด ๆ วัดผลได้ทุก ๆ วัน แบบนี้   แค่คิดเราก็ทำแล้ว หลังจากเริ่มชินกับพฤติกรรมใหม่นั้นแล้ว ก็ค่อยปรับระดับความยากให้เพิ่มขึ้น เพื่อโอกาสที่เป้าหมายจะเป็นจริงได้ยิ่งขึ้น 

          ปรับเป็นไอเดียเก็บเงิน : ขอยกตัวอย่างว่า เป้าหมายการเงินระยะยาวของคุณคือ การเก็บเงินให้ได้ 1 ล้าน ในอีก 10 ปีข้างหน้า เราอาจคิดว่าไว้ก่อนแล้วกัน เพราะดูยากเกินไปนั่นเอง แต่ถ้าเราซอยเป้าหมายเป็นการเก็บเงินวันละ 193 บาท พอครบเดือนก็นำเงินไปลงทุนกองทุนรวมหุ้น สมมติให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 7% ต่อปี เก็บเรื่อย ๆ 10 ปี ก็บรรลุเป้าหมายเงินล้านได้แล้ว

          หรือหาวิธีเก็บเงินที่ง่ายจนน่าขำ เช่น แทนที่จะเก็บวันละ 193 บาท ก็เก็บธนบัตร 100 บาท วันละ 2 ใบ รวมถึงใช้วิธีปรับลดค่าใช้จ่ายให้เหลือเงินมาเก็บได้มากขึ้น เช่น ชงกาแฟกินเองแทนการซื้อกาแฟวันละ 1 แก้ว หรือเปลี่ยนวิธีเดินทางกลับบ้าน จากนั่งรถแท็กซี่เป็นนั่งรถไฟฟ้าแทน 2 วันต่อสัปดาห์ ก็สนุกได้ Style คุณ
       
          สรุปแล้ว ไม่ว่าเราจะเป็นคนแบบไหน ก็ค้นหา My Style ด้านการเงินได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่มี Passion แล้วเอามาเป็นหลักสร้างความจริงจังในการจัดการเงิน คนที่รู้ว่าขาดระเบียบเลยเก็บเงินไม่ได้ ก็สร้างพฤติกรรมทำซ้ำ ๆ ต่อเนื่อง พฤติกรรมการเงินอัตโนมัติแบบไม่ต้องคิดเยอะก็เกิดขึ้นได้ คนที่ต้องการผลลัพธ์ทางการเงินที่ดีกว่าเดิม จากการขยายวิธีการเก็บเงินที่หลากหลาย สร้างความเข้าใจและค่อย ๆ ลงมือทำ หรือคนที่ต้องการเริ่มต้นมีการเงินที่ทำได้จริง ลดการเกิดข้ออ้างให้ต้องหยุดทำกลางคัน เริ่มด้วยเป้าหมายเล็ก ๆ เพื่อเป้าหมายการเงินที่ใหญ่กว่า

          ทั้ง 4 วิธีนี้ คุณอาจใช้วิธีเดียวหรือหลายวิธีในการค้นหา Style การเงินของคุณได้ และไม่ว่าคุณจะเลือกวิธีไหน สิ่งสำคัญคือ การกลับมาตรวจเช็กไอเดียเหล่านั้นด้วย ว่าไอเดียไหนที่เอาเข้าจริงก็ยังทำไม่ได้ หรือยังไม่สบายใจ ไม่สนุกที่จะทำ ก็คอยปรับหาไอเดียใหม่ ๆ ให้เราได้มีพฤติกรรมการเงินที่ดีได้จริง
   
K-Expert Action

          • ศึกษารายละเอียดเงื่อนไขของสินทรัพย์ที่สนใจ ก่อนตัดสินใจลงทุน
          • ตั้งเป้าหมายในการเก็บเงินที่ชัดเจน และสามารถวัดผลได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เทคนิคสร้างนิสัยการเงินแบบ My Style สุขได้ไม่ต้องเดินตามใคร อัปเดตล่าสุด 14 มิถุนายน 2561 เวลา 10:16:20 6,906 อ่าน
TOP