เปิดเงื่อนไข ลงทะเบียนคนจน รอบพิเศษ 2561 ใครบ้างมีสิทธิ์ร่วมโครงการ

         โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ ลงทะเบียนคนจน รอบพิเศษ เปิดโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยรับบัตรคนจนเพิ่มเติม มีรายละเอียด เงื่อนไขอะไรบ้าง รีบมาเช็กกันเลย 
         ได้รับความสนใจอย่างมากกับโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่รู้จักกันในชื่อ "ลงทะเบียนคนจน" ที่แม้จะเปิดให้ร่วมโครงการลงทะเบียนคนจนถึง 2 รอบแล้ว ในปี 2559 และปี 2560 แต่ก็ยังพบผู้มีรายได้น้อยหลายคนที่พลาดโอกาสได้รับบัตรคนจน ด้วยเหตุนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติเห็นชอบให้เปิดลงทะเบียนคนจน รอบพิเศษ ภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติมอีก 1 ล้านราย

         กระปุกดอทคอม จึงรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ของโครงการลงทะเบียนคนจน รอบพิเศษ มาฝากกัน จะได้ไม่พลาดโอกาสเข้าร่วมโครงการนี้อีก ส่วนจะมีรายละเอียดสำคัญอะไรบ้างนั้น มาดูกัน     


ลงทะเบียนคนจน รอบพิเศษ ใครเข้าร่วมได้บ้าง ?

         ผู้ที่มีสิทธิ์ร่วมโครงการลงทะเบียนคนจน รอบพิเศษ จะต้องเป็นผู้มีรายได้น้อย ที่ยังไม่เคยลงทะเบียนร่วมโครงการในครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนคนจนในรอบที่แล้วได้


ลงทะเบียนคนจน รอบพิเศษ ผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง ?

         สำหรับคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการลงทะเบียนคนจน รอบพิเศษ จะยังคงเหมือนกับโครงการบัตรคนจน 2560 ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

         1. มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป

         2. เป็นผู้ว่างงาน หรือมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาท ในปี 2559 (รายได้ หมายถึง รายได้ของบุคคลที่ลงทะเบียนเท่านั้น แต่หากประกอบอาชีพร่วมกันทั้งครัวเรือน เช่น ทำการเกษตรร่วมกัน ทำให้ไม่สามารถแยกรายได้ออกมาเป็นรายบุคคลได้ ให้ถือว่ารายได้ของครัวเรือน เป็นรายได้ของหัวหน้าครอบครัวเพียงคนเดียว)

         3. ไม่มีทรัพย์สินทางการเงิน ได้แก่ เงินฝากธนาคาร, สลากออมสิน, สลาก ธ.ก.ส., พันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ หรือถ้ามีทรัพย์สินทางการเงินดังกล่าว จะต้องมีจำนวนรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 100,000 บาท ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในปี 2559

         4. ไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมาย หรือถ้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ดังกล่าว จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

         4.1) ที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (บ้านพร้อมที่ดิน)
         - กรณีอยู่อาศัยอย่างเดียว บ้านหรือทาวน์เฮ้าส์ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา, ห้องชุดต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร
         - กรณีเป็นที่อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่, เพื่อการอื่นที่ไม่ใช่การเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่
   
         4.2) ที่ดิน
         - กรณีใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่, เพื่อการอื่นที่ไม่ใช่การเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่

ลงทะเบียนคนจน รอบพิเศษ ต้องเปิดเผยข้อมูลอะไรบ้าง ?

         ผู้เข้าร่วมโครงการต้องยินยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้สินที่มีอยู่ เช่น

         - รายได้ (เงินเดือน/เงินฝากธนาคาร/สลากออมทรัพย์/พันธบัตร/หุ้น ฯลฯ)
         - การถือครองทรัพย์สิน (ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง/รถยนต์/จักรยานยนต์ ฯลฯ)
         - หนี้สินคงค้างทั้งหมด (เงินกู้ในระบบ/เงินกู้นอกระบบ/หนี้บัตรเครดิต/หนี้เพื่อการศึกษา/หนี้เพื่อการเกษตรหรือประกอบธุรกิจ/หนี้เพื่อการอุปโภค-บริโภค/หนี้เพื่อซื้อบ้านและที่ดิน ฯลฯ)

         นอกจากนี้ ยังต้องยินยอมให้รัฐนำข้อมูลในบัตรประจำตัวประชาชนพร้อมภาพถ่ายใบหน้าไปใช้ สำหรับการจัดทำสวัสดิการของรัฐต่อไป โดยข้อมูลต่าง ๆ จะต้องนำมากรอกในแบบฟอร์มลงทะเบียน


ลงทะเบียนคนจน รอบพิเศษ ใช้เอกสารหลักฐานอะไรบ้าง ?

         - บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ลงทะเบียน

         - สำเนาทะเบียนบ้าน

         - สำเนาหน้าบัญชีเงินฝากธนาคารผู้ลงทะเบียน

         - สำเนาหน้าบัญชีเงินฝากธนาคารผู้ดูแล (กรณีผู้สูงอายุ, ผู้พิการ, ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้)

         - สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับอุปการะ (ถ้ามี)

         - สำเนาเอกสารการลงทะเบียนว่าเป็นเกษตรกร (ถ้ามี)

         - สำเนาบัตรประจำตัวผู้พิการ (ถ้ามี)

         - ใบรับรองแพทย์ กรณีเป็นผู้ป่วย

เคยลงทะเบียนคนจนไปแล้วแต่ไม่ผ่านคุณสมบัติ จะมาลงทะเบียนคนจน รอบพิเศษ ได้หรือไม่ ?
        
         การเปิดลงทะเบียนคนจนครั้งนี้ เป็นรอบพิเศษที่ให้โอกาสเฉพาะผู้ที่พลาดลงทะเบียนในรอบที่ผ่านมาเท่านั้น ดังนั้น คนที่ไม่ผ่านคุณสมบัติได้รับบัตรคนจนในครั้งก่อน ๆ จะไม่สามารถมาลงทะเบียนเพิ่มเติมในครั้งนี้ได้


ลงทะเบียนคนจน รอบพิเศษ ได้เมื่อไหร่ ที่ไหน อย่างไร

         ผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ ให้ติดตามข่าวสารการลงทะเบียนไว้ดี ๆ เพราะการลงทะเบียนรอบนี้ จะมีเจ้าหน้าที่จากโครงการไทยนิยม ยั่งยืน เข้าไปรับลงทะเบียนกันถึงหมู่บ้าน ชุมชนที่อาศัยอยู่เลย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ที่มีรายชื่อตกหล่นในครั้งที่แล้วอย่างเต็มที่ ส่วนเวลาและสถานที่นั้น ให้ผู้ที่ต้องการลงทะเบียนสอบถามข้อมูลโดยตรงได้จากเทศบาลตำบล สำนักงานอำเภอ หรือสำนักงานเขตกรุงเทพฯ อีกครั้ง

         สำหรับการลงทะเบียนคนจนรอบพิเศษ จะดำเนินการตามขั้นตอนตามนี้

         1. ทีมไทยนิยม ยั่งยืน ลงพื้นที่ จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2561
         โดยเป็นการลงเก็บข้อมูลและตรวจคุณสมบัติเบื้องต้น เพื่อคัดกรองผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการกันถึงชุมชนที่อยู่อาศัย

         2. ทีมไทยนิยม ยั่งยืน บันทึกข้อมูล
         ลงบันทึกข้อมูลจากแบบฟอร์มของผู้ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของกระทรวงการคลัง

         3. ตรวจสอบข้อมูลตามคุณสมบัติผู้มีรายได้น้อย 
         เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อใช้พิจารณาผู้มีรายได้น้อยและจัดสวัสดิการที่เหมาะสม

         4. ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ 
         ผู้ลงทะเบียนสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิ์รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 เป็นต้นไป ผ่านทาง 3 ช่องทาง ดังนี้

              * เว็บไซต์ epayment ด้วยการพิมพ์เลขประจำตัวประชาชน 13 หลักลงไปในระบบ 

ตรวจรายชื่อบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

              * Call Center ของ 3 หน่วยงาน ได้แก่  
               - ทีมไทยนิยม ยั่งยืน กระทรวงมหาดไทย โทร. 02 6298306-14 ต่อ 503 และ 504 
               - กรมบัญชีกลาง โทร. 02 1092345
               - สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง โทร. 02 2739020 ต่อ 3224, 3279, 3244, 3236, 3256 และ 3215  

              * ตรวจสอบรายชื่อจากการติดประกาศในพื้นที่ของทีมไทยนิยม ยั่งยืน 


         5. ทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 
         กระทรวงการคลังจะเริ่มแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2561 และเริ่มใช้งานได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป


บัตรคนจน รอบพิเศษ มีสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง

         การช่วยเหลือจะยังคงเหมือนกับบัตรคนจน 2560 คือ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ และช่วยเหลือในเรื่องค่าใช้จ่ายการเดินทาง

ลงทะเบียนคนจน 2561
         ภาพจาก กรมบัญชีกลาง

         1. ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ
 
         สำหรับซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อการเกษตรจากร้านธงฟ้าประชารัฐ โดยกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จะได้รับเงินจำนวน 300 บาทต่อเดือน ส่วนกลุ่มที่มีรายได้ตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป แต่ไม่เกิน 100,000 บาท จะได้รับเงินจำนวน 200 บาทต่อเดือน และทั้ง 2 กลุ่ม จะได้วงเงินส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าที่กระทรวงพลังงานกำหนดอีกคนละ 45 บาทต่อ 3 เดือน

         อย่างไรก็ดี การลงทะเบียนรอบนี้ เจ้าหน้าที่ไทยนิยม ยั่งยืน จะทำการสอบถามเลยว่า ผู้มีรายได้น้อยต้องการเข้าร่วมการฝึกอาชีพหรือไม่ และหากเข้าร่วมก็จะได้รับวงเงินเพิ่มเติม ดังนี้

         - รายได้ไม่ถึง 30,000 บาทต่อปี ได้วงเงินเพิ่มเป็น 500 บาทต่อเดือน
         - รายได้ตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ได้วงเงินเพิ่มเป็น 300 บาทต่อเดือน

         โดยเงินฝึกอาชีพที่ได้รับเพิ่มเติมมา สามารถกดออกมาใช้เป็นเงินสดผ่านตู้ ATM ได้ และหากใช้ไม่หมดยังสามารถสะสมในเดือนถัดไปได้อีกด้วย โดยมาตรการนี้จะดำเนินไปถึงเดือนธันวาคม 2562

         2. ช่วยลดค่าใช้จ่ายการเดินทาง โดยเงินช่วยเหลือที่ได้รับ จะแบ่งออกเป็น

         - ค่าโดยสารรถเมล์ รถไฟฟ้า จำนวน 500 บาทต่อเดือน
         - ค่าโดยสารรถ บขส. วงเงินไม่เกิน 500 บาทต่อเดือน

         3. เงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุ

          สำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะยังได้รับเงินสงเคราะห์เพิ่มเติม โดยสามารถกดเงินสดจากตู้ ATM ออกมาใช้ได้เลย ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

          - ผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ได้รับเงินสงเคราะห์เดือนละ 100 บาท
          - ผู้สูงอายุที่มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาทต่อปี ได้รับเงินสงเคราะห์เดือนละ 50 บาท


เพิ่มเติม 4 มาตรการพิเศษจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

         และเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 รัฐบาลได้อนุมัติอีก 4 มาตรการช่วยเหลือผู้ถือบัตรคนจน ประกอบด้วย

         1. ช่วยเหลือค่าไฟฟ้า-ค่าน้ำประปา
         - ค่าไฟฟ้า วงเงิน 230 บาท/ครัวเรือน/เดือน (ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 - กันยายน 2562)
         - ค่าน้ำประปา วงเงิน 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน (ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 - กันยายน 2562)

         2. ค่าใช้จ่ายช่วงปลายปี
         เติมวงเงินซื้อสินค้าและบริการเพิ่มเติมให้ 500 บาท/คน ในเดือนธันวาคม 2561

         3. ค่าเดินทางไปรักษาพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุ
         ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จะได้รับค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาสุขภาพ จำนวน 1,000 บาท/คน (ได้รับครั้งเดียว)

         4. ค่าเช่าบ้านสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย
         ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะได้รับค่าเช่าที่อยู่อาศัย รวมถึงผู้สูงอายุที่ไม่มีที่อยู่อาศัยด้วย (ตามข้อมูลการลงทะเบียนของผู้มีรายได้น้อย) จำนวน 400 บาท/คน/เดือน ระหว่างเดือนธันวาคม 2561 ถึงเดือนกันยายน 2562

เข้าสวนสัตว์ 6 แห่งฟรี
        
         เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2561 องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ถือบัตรคนจน เข้าสวนสัตว์ 6 แห่งฟรี (ไม่หักเงินในบัตร) ตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2562 ได้แก่ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์สงขลา สวนสัตว์อุบลราชธานี สวนสัตว์ขอนแก่น

มาตรการเพิ่มเงินบัตรคนจน 2562

         1. เพิ่มวงเงินซื้อสินค้าเป็น 500 บาทต่อเดือน
         โดยเป็นการเพิ่มวงเงินสำหรับซื้อสินค้าในร้านธงฟ้าประชารัฐเป็น 500 บาทต่อเดือน ในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2562

         2. เงินช่วยเหลือพ่อแม่ช่วงเปิดเทอม 500 บาท
         ผู้ที่มีบุตรชั้นมัธยมศึกษาลงมาได้รับเงินครั้งเดียว ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 เพื่อนำไปซื้อชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนรับช่วงเปิดเทอม  

         3. เงินช่วยเหลือเกษตรกร 1,000 บาท
        เกษตรกรภายได้รับเงินในวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 สำหรับเป็นต้นทุนนำไปซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และปัจจัยการผลิตไว้ทำการเกษตร   

         4. เพิ่มเบี้ยผู้พิการ 200 บาท 
        เป็นการเพิ่มเงินผู้พิการอีกเดือนละ 200 บาท ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กันยายน 2562 ซึ่งจะมีการโอนเงินเข้าบัตร ภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน สำหรับเป็นค่าใช้จ่าย ดูแลสุขภาพ และค่าเดินทางของผู้พิการ  


          ถือเป็นอีกหนึ่งความช่วยเหลือจากรัฐบาลในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพ ใครที่รู้ตัวว่ามีสิทธิ อย่าลืมไปสมัครเข้าร่วมโครงการกัน


***หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 12 มิถุนายน 2562


 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดเงื่อนไข ลงทะเบียนคนจน รอบพิเศษ 2561 ใครบ้างมีสิทธิ์ร่วมโครงการ อัปเดตล่าสุด 12 มิถุนายน 2562 เวลา 15:25:04 851,168 อ่าน
TOP
x close