x close

ซื้อของออนไลน์แล้วโดนโกง ทำอย่างไรถึงจะได้เงินคืน ?


         โอนเงินให้แล้วแต่ไม่ส่งของ...สงสัยโดนโกงจากการซื้อของทางเน็ตแล้วแน่ ๆ ถ้าจ่ายเงินแล้วไม่ได้ของแบบนี้ เราจะทำอะไรได้บ้าง ?


          เดี๋ยวนี้ใครก็ช้อปปิ้งออนไลน์กัน เพราะแค่เปิดมือถือกด ๆ จิ้ม ๆ โอนเงินก็จบ ไม่ต้องเสียเวลาไปเดินตามหาของที่เราอยากได้ที่ไหน แต่นั่นก็ทำให้มิจฉาชีพหาช่องโกงได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเคสที่โพสต์ขายสินค้า หลอกให้โอนเงินแต่ไม่ส่งของให้ ปล่อยให้เราทวงแล้วทวงอีก สุดท้ายก็บล็อกไลน์ บล็อกเฟซหนี มารู้ตัวอีกทีก็เสียเงินไปฟรี ๆ ซะแล้ว แถมยังทิ้งความเจ็บใจให้เราที่ถูกโกงเอาดื้อ ๆ อีกต่างหาก

          แล้วถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นกับเราล่ะ เราจะดำเนินการอะไรได้บ้าง ? 

ช้อปปิ้งออนไลน์

ซื้อของออนไลน์แล้วถูกโกงต้องทำอย่างไร


          1. รวบรวมหลักฐานที่เราติดต่อกับพ่อค้าแม่ค้าไว้ทั้งหมดแล้วพรินต์เอกสารออกมา เช่น

          - หน้าเว็บไซต์ที่ขายของ รูปโปรไฟล์ของร้านค้า
          - ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ เลขที่บัญชีของร้านค้า
          - ข้อความในแชตที่เราพูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้า ไม่ว่าจะเป็นการสอบถาม สั่งซื้อ ยืนยันการชำระเงิน ฯลฯ ผ่านทางไลน์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม
          - หลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชี เช่น สลิป, ใบนำฝาก
          - สมุดบัญชีธนาคาร
          - สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเรา 
 
ช้อปปิ้งออนไลน์

          2. แจ้งความ

          ให้นำหลักฐานทั้งหมดเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ (สน. ที่ได้โอนเงิน) ภายใน 3 เดือนตั้งแต่วันที่รู้ว่าถูกโกง โดยระบุว่าต้องการแจ้งความเพื่อดำเนินคดีจนกว่าจะถึงที่สุด ไม่ใช่แค่ลงบันทึกประจำวัน

          หรือจะเข้าแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ ก็ได้ ซึ่งจะมีความสามารถทางด้านเทคโนโลยีในการติดตามหาตัวคนร้ายได้รวดเร็ว

          อย่างไรก็ตาม หากเราไปแจ้งความที่ ปอท. เราอาจจะต้องเดินทางมาขึ้นศาลที่กรุงเทพฯ ซึ่งถ้าบ้านเราอยู่ต่างจังหวัดอาจไม่สะดวกเท่าไรนัก ดังนั้น สำหรับคนที่อยู่ต่างจังหวัด การแจ้งความกับตำรวจท้องที่จะสะดวกกว่า หรือบางเคส ปอท. ก็อาจโอนคดีไปให้ตำรวจท้องที่ดำเนินการเพื่อความสะดวกเช่นกัน
 
          นอกจากนี้ ยังสามารถแจ้งความออนไลน์ ได้ที่ www.thaipoliceonline.com

          ทั้งนี้ หลังจากแจ้งความแล้ว พนักงานสอบสวนจะส่งหมายเลขบัญชีให้ธนาคารตรวจสอบว่าเจ้าของบัญชีเป็นใคร ใช่ตัวจริงไหม หรือแอบอ้างนำบัตรประจำตัวประชาชนคนอื่นมาสวมรอย รวมทั้งตรวจสอบหลักฐานการกดเงิน ความเคลื่อนไหวทางบัญชีต่าง ๆ และอีกทางหนึ่งก็คือการตรวจสอบทะเบียนราษฎรเพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน พร้อมกับตรวจสอบเลข IP Address จากนั้นจะออกหมายเรียกเจ้าของบัญชีมาสอบปากคำ ก่อนจะดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป 

กฎหมายการเงิน

หลอกโอนเงินแบบนี้ ผิดกฎหมายอะไรบ้าง


          กรณีที่เราโอนเงินให้ไปแล้ว แต่ผู้ขายไม่ส่งสินค้ามาให้แบบนี้ถือว่ามีความผิดตามข้อหา...

          - "ฉ้อโกง" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริง ซึ่งควรบอกหรือแจ้งให้ทราบ มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มีอายุความ 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด ดังนั้น หากรู้ตัวว่าถูกโกงให้รีบแจ้งความภายใน 3 เดือน)

          - พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 นำเข้าซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ หลอกลวง ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท (มีอายุความ 10 ปี)

มีโอกาสได้เงินคืนมาก-น้อยแค่ไหน


          โดยส่วนมากแล้วเมื่อโอนเงินให้ปุ๊บ คนร้ายก็มักจะถอนเงินออกไปทันที จึงยากที่จะติดตามเงินคืนมาได้ ดังนั้นเราจึงควรไปแจ้งความไว้ก่อน ซึ่งหากเราสามารถตามตัวมิจฉาชีพได้ คนร้ายอาจเจรจาไกล่เกลี่ยคืนเงินหรือชดใช้เงินให้เพื่อแลกกับการถอนแจ้งความและยุติคดี ซึ่งกรณีนี้สามารถทำได้ เพราะคดีฉ้อโกงเป็นความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา (ยกเว้นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน) แต่หากคนร้ายไม่ยอมคืนเงินให้ หรือไม่มีเงินคืนให้ กรณีนี้ต้องรอจนศาลพิพากษาคดีจึงจะมีโอกาสได้เงินคืน
 
ช้อปปิ้งออนไลน์

ตรวจสอบอย่างไรว่าร้านค้าออนไลน์ไม่โกง


          - นำชื่อร้านค้า ชื่อของผู้ขาย หรือเลขที่บัญชี ไปเสิร์ชในกูเกิลดูก่อนว่ามีประวัติไม่ดี หรือเคยถูกร้องเรียนอะไรมาหรือไม่ หรือตรวจสอบจากเว็บไซต์ Blacklistseller.com

          - ถ้าไม่แน่ใจก็ขอสำเนาบัตรประชาชนของผู้ขายมาดูเลย

          - ควรซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ มีข้อมูลต่าง ๆ แสดงให้เห็นชัดเจน เช่น ได้จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือไม่

          - ระวังการประกาศขายสินค้าที่ราคาถูกเกินไป เพราะอาจเป็นการหลอกลวงได้ อย่างที่เขาบอกกันว่า ของถูกไม่มีดี ของฟรีไม่มีในโลก

          ทั้งนี้ ร้านค้าออนไลน์จะต้องแสดงราคาสินค้าให้ชัดเจน ไม่ต้องให้ลูกค้า inbox ไปถาม เพราะเข้าข่ายผิดกฎหมายด้วยเช่นกัน

ร้านค้าออนไลน์

เจอปัญหา ร้องเรียนได้ที่ไหน


          - กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ที่เว็บไซต์ tcsd.go.th หรือโทร. 0-2143-8447, 0-2143-8763

          - สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) โทร. 1212 (ตลอด 24 ชั่วโมง)


          - สายด่วนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) โทร. 1135 หรือเว็บไซต์ cppd.go.th

ยื่นฟ้องผ่านออนไลน์เองเลยก็ได้ ไม่ต้องไปศาล


          สำหรับคนที่ไม่อยากติดต่อหลายหน่วยงาน ล่าสุดสำนักงานศาลยุติธรรมเปิดช่องทางให้ผู้เสียหายยื่นฟ้องคดีซื้อ-ขายออนไลน์ผ่านออนไลน์ได้แล้วตลอด 24 ชั่วโมง และเราสามารถติดตามความคืบหน้าได้ใน 12 ชั่วโมง นับแต่ยื่นเรื่องเข้ามา โดยทำตามขั้นตอนนี้

          1. เข้าไปที่เว็บไซต์ของศาลแพ่ง หรือ efiling3.coj.go.th

          2. สร้างบัญชีผู้ใช้งาน โดยเลือกประเภทผู้ใช้งานสำหรับประชาชน หากเป็นผู้ใช้งานใหม่ ให้ลงทะเบียนผู้ใช้งานในระบบ

          3. ล็อกอินเข้าสู่ระบบด้วยเลขบัตรประชาชนและรหัสผ่าน ยืนยันเงื่อนไขการใช้งาน

          4. เลือกเมนูยื่นฟ้องคดีผู้บริโภค

          5. กรอกรายละเอียดคำฟ้อง โดยระบุข้อมูลโจทก์ จำเลย ข้อมูลคำฟ้อง และแนบเอกสารหรือหลักฐานการซื้อ-ขายสินค้า มูลเหตุที่เรียกร้อง ข้อมูลความเสียหาย ราคา พยาน เป็นต้น

          6. ระบบจะส่งคำฟ้องไปถึงเจ้าพนักงานคดีในศาลแพ่ง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง

          7. หากคำฟ้องตรงตามเงื่อนไข เจ้าพนักงานคดีจะเสนอคำฟ้องเพื่อให้ศาลรับคำฟ้อง และส่งหมายเรียกให้จำเลยทางอีเมล และส่งไปยังทาง SMS หรือช่องทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ เมื่อได้รับจะถือว่าจำเลยได้รับหมายเรียก

          8. เข้าสู่กระบวนการของศาล โดยศาลจะดำเนินการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ ทั้งวันพิจารณาคดี การสืบพยาน และการไกล่เกลี่ย จะดำเนินการผ่านระบบออนไลน์

          9. หากไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ จำเลยมีสิทธิยื่นคำให้การผ่านระบบออนไลน์และดำเนินการต่อสู้คดีในลำดับต่อไป

ซื้อของแล้วถูกโกง
ภาพจาก : ศาลยุติธรรม

          หมายเหตุ : กรณีฟ้องหลังเวลา 16.30 น. หรือในวันเสาร์-อาทิตย์ ก็จะนับวันทำการถัดไปให้ถือเป็นวันฟ้อง


          นักช้อปออนไลน์คนไหนที่กำลังเจอปัญหาถูกโกง ไม่ว่าจะซื้อของแล้วไม่ได้ของ ได้รับของไม่ตรงปก สั่งแบรนด์เนมแล้วได้ของปลอม หรือปัญหาจากการช้อปออนไลน์อื่น ๆ ก็ลองทำตามขั้นตอนที่เราแนะนำดู


บทความที่เกี่ยวข้องกับการซื้อของออนไลน์



* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565

ขอบคุณข้อมูลจาก
เฟซบุ๊ก กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี - บก.ปอท.  
ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
ไทยพีบีเอส 
รายการหมอเงิน หมอความ 
เฟซบุ๊ก กองปราบปราม

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ซื้อของออนไลน์แล้วโดนโกง ทำอย่างไรถึงจะได้เงินคืน ? อัปเดตล่าสุด 21 กรกฎาคม 2566 เวลา 13:29:47 685,812 อ่าน
TOP