x close

QR Code ทางเลือกใหม่ในการชำระเงิน ไม่ต้องง้อเงินสด

QR code

          QR Code (คิวอาร์โค้ด) ระบบชำระเงินรูปแบบใหม่ ไม่ต้องง้อเงินสด ตอนนี้ประเทศไทยใช้ที่ไหนได้แล้วบ้าง อีกนานไหมถึงจะได้ใช้อย่างเต็มรูปแบบ   
 
          “การชำระเงินด้วย QR Code” เป็นเรื่องที่หลายคนพูดถึงกันมากในช่วงที่ผ่านมาทั้งในวงการธุรกิจ ธนาคาร หรือแม้แต่พ่อค้า-แม่ค้าประชาชนทั่วไปเองก็ตาม หลังจากที่แบงก์ชาติได้ทำการเปิดตัวระบบการชำระเงินแบบใหม่ผ่านระบบคิวอาร์โค้ด (QR Code) เพื่อเป็นการอำนวยสะดวกในการชำระเงินซื้อ-ขายสินค้า และยังเป็นการปูทางเพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าเข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้จริง ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล 
 
          วันนี้เราจึงอยากจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกันว่า ระบบชำระเงินที่เรียกว่า "QR Code" นั้นคืออะไรกันแน่ ใช้งานยากหรือเปล่า แล้วจะเปลี่ยนวิธีการชำระเงินของเราให้สะดวก รวดเร็ว นำไปสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดได้จริงหรือไม่ มาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน 
 
QR code
 QR Code คืออะไร
 
          QR Code มาจากคำว่า "Quick Response Code" ซึ่งเป็นรหัสที่พัฒนาต่อยอดมาจาก Barcode ให้สามารถใช้งานง่ายขึ้น แถมยังเก็บข้อมูลได้มากกว่า เพียงแค่เรามีสมาร์ทโฟนก็สามารถสแกนข้อมูลผ่าน QR Code ได้แล้ว ทำให้จะเห็นว่าปัจจุบันนิยมนำ QR Code มาเป็นช่องทางเข้าถึงข้อมูลในเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ อย่างเช่นการเพิ่มเพื่อนใน Line ที่เราทุกคนต่างคุ้นเคยกันอย่างดี ก็เป็นหนึ่งในความสามารถของ QR Code เช่นกัน
 
          ด้วยความสามารถของ QR Code ที่กล่าวมานั่นเอง ทำให้ในหลายประเทศมีการพัฒนา QR Code มาเป็นสื่อกลางเพื่อชำระสินค้า โดยใส่ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการจ่ายเงินซื้อสินค้า และนำมาใช้ควบคู่กับแอปพลิเคชันในมือถือที่เชื่อมต่อกับบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัญชีธนาคารของเรา ซึ่งเป็นการชำระเงินที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ที่มีการใช้ QR Code อย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวัน ซึ่งนอกจากการซื้อ-ขาย-เช่าสินค้าแล้ว ยังมีการสแกน QR Code แจกแต๊ะเอียลูก ๆ หลาน ๆ ในวันตรุษจีน, ให้เงินเป็นของขวัญแต่งงาน หรือแม้แต่ให้ทิปพนักงาน ให้เงินขอทาน ก็ยังใช้ QR Code เพราะใช้งานได้ง่าย รวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องพกเงินสดเลย

QR Code ใช้จ่ายเงินซื้อสินค้ายังไง
 
          วิธีจ่ายผ่าน QR Code ทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่มีสมาร์ทโฟนและดาวน์โหลดแอปพลิเคชันสำหรับการจ่ายเงินด้วยระบบ QR Code แค่นี้ก็สามารถทำได้แล้วผ่าน 4 ขั้นตอนง่าย ๆ ตามนี้

          1. เข้าไปในแอปพลิเคชันสำหรับชำระเงินผ่าน QR Code แล้วเลือกประเภทว่าจะชำระเงินด้วยอะไร เช่น บัตรเครดิต โอนเงินจากบัญชี หรือ e-Wallet

          2. สแกน QR Code ของร้านค้าผ่านแอปพลิเคชันที่อยู่บนสมาร์ทโฟน

          3. ใส่จำนวนเงินที่ต้องการจ่าย และกดยืนยันการชำระเงิน

          4. ระบบแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการจะส่งข้อมูลยืนยันการชำระเงินกลับมาให้เรา โดยอาจจะเป็น SMS หรือ E-Mail เพื่อเป็นหลักฐานการชำระเงิน


QR code

          ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมในการให้บริการและวงเงินในการซื้อสินค้านั้น จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับผู้บริการแต่ละรายเป็นผู้กำหนด
 

จ่ายเงินผ่าน QR Code ได้ที่ไหนบ้าง
 
          พูดตามตรงคือเราแทบจะสามารถชำระเงินผ่าน QR Code ได้ในการซื้อสินค้าและบริการทุก ๆ แห่งที่มีป้ายชำระเงินด้วยระบบ QR Code ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าปลีก แผงขายของในตลลาดสด ร้านค้าริมทาง จนไปถึงร้านขายของออนไลน์ก็ได้เช่นกัน หากร้านนั้นมีป้าย QR Code
 

QR Code ปลอดภัยหรือไม่ มีข้อดี-ข้อเสียอะไรบ้าง

 
          แน่นอนการสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนหันมาจ่ายเงินผ่าน QR Code มากขึ้น ล้วนมีข้อดีมากมายทั้งต่อคนทั่วไปและร้านค้า ผู้ประกอบการต่าง ๆ อย่างแรกที่เห็นชัด ๆ เลยก็คือ ความสะดวกสบายในการใช้งาน เพราะไม่ต้องพกเงินสดหรือบัตรหลายใบให้ยุ่งยาก แถมยังปลอดภัยกว่าการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตหรือเดบิต เพราะไม่ต้องยื่นบัตรให้ร้านค้า จึงไม่เสี่ยงต่อการโดนขโมยข้อมูลทางการเงิน ส่วนร้านค้าเองก็ได้ประโยชน์จากการใช้ QR Code เช่นกันคือ ไม่ต้องมีเครื่องรูดบัตรใด ๆ มารองรับการชำระเงิน ทำให้ประหยัดต้นทุนไปได้อย่างมาก

QR code

          แต่ถึงอย่างนั้น QR Code ก็ใช่ว่าจะมีแต่ข้อดีไปทั้งหมด เพราะด้วยความที่เราสามารถจ่ายเงินซื้อของได้อย่างสะดวกรวดเร็วเกินไป ก็กลายเป็นดาบสองคมได้เหมือนกัน ซึ่งอาจส่งผลต่อวินัยทางการเงินของหลาย ๆ คนได้ ทำให้ใช้เงินซื้อสินค้าจนเพลิน รู้ตัวอีกทีเงินก็อาจจะหมดตัวไปแบบไม่รู้เรื่อง และการที่ต้องมีการผูกระบบเข้ากับบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัญชีธนาคารของเรา ก็ยังเป็นเรื่องที่หลายคนกังวล เพราะมีความเสี่ยงเหมือนกันที่เงินในบัญชีของเราจะสูญหายได้
 
          อย่างไรก็ตาม ทางแบงก์ชาติก็ได้ยืนยันเพื่อเพิ่มความมั่นใจว่า QR Code มีความปลอดภัย เป็นที่ยอมรับทั่วโลก ซึ่ง EMVCo องค์กรต่างประเทศที่ดูแลและสนับสนุนการเชื่อมต่อเครือข่ายการชำระเงินระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่ายบัตรระดับโลก 5 แห่ง คือ  American Express, JCB, Mastercard, UnionPay และ VISA ก็ได้ประกาศใช้มาตรฐานสากล QR Code สำหรับการจ่ายเงินที่ผูกกับบัตรเครดิตและบัตรเดบิตแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 และแน่นอนว่าระบบ QR Code ของไทยก็ใช้มาตรฐานเดียวกับ EMVCo เช่นกัน
 
          อีกทั้งเรายังสามารถเพิ่มความปลอดภัยให้ตัวเองได้ โดยเพิ่มความรอบคอบขณะจ่ายเงินผ่าน QR Code มากขึ้น ด้วยการตรวจสอบข้อมูลร้านค้าให้ถูกต้อง ก่อนทำการจ่ายเงินทุกครั้ง รวมถึงการตั้งรหัส username/password ให้คาดเดายากและระมัดระวังไม่บอกรหัสกับผู้อื่น

QR code


QR Code ในประเทศไทย ไปถึงไหนแล้ว
 
          แบงก์ชาติประกาศอย่างชัดเจนว่าระบบชำระเงินผ่าน QR Code จะสามารถใช้งานได้จริงอย่างเต็มรูปแบบภายในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งปัจจุบันก็มีธนาคารต่าง ๆ เริ่มนำร่องให้บริการชำระเงินผ่าน QR Code ไปบ้างแล้ว อย่างล่าสุดที่ธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกสิกรไทย ได้เริ่มทดลองเปิดให้ใช้ระบบ QR Code ในพื้นที่ตลาดนัดจตุจักร ซึ่งมีร้านค้ามากกว่า 1 หมื่นแห่ง

QR code

          หรืออย่างโรงอาหารของกระทรวงการคลัง และศูนย์อาหารทำเนียบรัฐบาล ที่นำเทคโนโลยี QR Code มาใช้แล้วเช่นกัน เพื่อให้ข้าราชการ พนักงาน และสื่อมวลชน ชำระค่าอาหารผ่านระบบ KRUNGTHAI QR Code ของธนาคารกรุงไทย แทนการใช้เงินสด ส่วนร้านค้าก็สามารถโหลดแอพพลิเคชัน “เป๋าตุง” สมัครพร้อมเพย์และติด QR Code ไว้ที่หน้าร้าน เมื่อลูกค้าทำการชำระเงิน ก็จะได้รับเงินเข้าบัญชีทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลาทอนเงินให้ยุ่งยาก
 


          แม้ว่าตอนนี้การชำระเงินผ่าน QR Code ในประเทศไทยจะอยู่ในช่วงเริ่มต้น และยังไม่ค่อยได้รับความนิยมแพร่หลายนัก แต่ด้วยการผลักดันร่วมกันของทั้งภาครัฐและเอกชน ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเดินหน้าเข้าสู่สังคมไร้เงินสดของประเทศไทยอย่างแท้จริง
 

ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจาก
, ธนาคารแห่งประเทศไทย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
QR Code ทางเลือกใหม่ในการชำระเงิน ไม่ต้องง้อเงินสด อัปเดตล่าสุด 8 พฤศจิกายน 2560 เวลา 11:30:27 96,929 อ่าน
TOP