9 โครงการพลังงานทดแทน พลังแห่งสายพระเนตรของพระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย

พระราชดำริด้านพลังงาน

          โครงการพระราชดำริด้านการพัฒนาพลังงาน ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงเล็งเห็นความสำคัญของพลังงานในทุกด้าน ทั้งน้ำ แสงอาทิตย์ ลม และเชื้อเพลิงชีวภาพ
 
          ปัจจุบันจะเห็นว่าการใช้พลังงานทดแทนในประเทศไทย มีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับในอดีตที่พลังงานทดแทนยังคงเป็นเรื่องไกลตัว เราจึงต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศมากกว่าครึ่ง แต่ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเล็งเห็นว่า ในวันข้างหน้าเรื่องนี้จะเป็นปัญหาสำคัญต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ พระองค์จึงทรงริเริ่มโครงการด้านพลังงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมในทุกด้าน ทั้งพลังงานน้ำ แสงอาทิตย์ ลม หรือแม้กระทั่งเชื้อเพลิงชีวภาพ
 
          ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่พระองค์ตรัสถึงเรื่องการใช้พลังงานว่า "...ถ้าน้ำมันเชื้อเพลิงหมดแล้ว ก็ใช้เชื้อเพลิงอย่างอื่นได้ มีแต่ต้องขยัน หาวิธีที่ทำให้เชื้อเพลิงเกิดใหม่เชื้อเพลิงที่เรียกว่าน้ำมันนั้นมันจะหมดภายในไม่กี่ปีหรือไม่กี่สิบปีก็หมด ถ้าไม่ได้ทำเชื้อเพลิงทดแทนเราก็เดือดร้อน...” พระราชดำรัสเมื่อปี พ.ศ. 2548

พระราชดำริด้านพลังงาน

          กระปุกดอทคอมจึงขอรวบรวมแนวพระราชดำริด้านพลังงานที่โดดเด่นของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาให้ชาวไทยทุกคนได้ศึกษาและเห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ซึ่งทั้งหมดล้วนก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาพลังงานของประเทศอย่างแท้จริง
 


1. พลังงานน้ำ

          ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงสนพระราชหฤทัยในด้านวิศวกรรมศาสตร์มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการจัดการน้ำ ทำให้พระองค์ทรงมีความรู้ ความเชี่ยวชาญเรื่องเขื่อนเป็นอย่างดีว่าจะนำมาน้ำในเขื่อนมาผลิตไฟฟ้าได้อย่างไร ต้องสร้างขนาดใหญ่แค่ไหน เพื่อจะได้กระแสไฟฟ้าที่เหมาะสม รวมถึงต้องไม่เป็นปัญหาต่อการใช้น้ำของเกษตรกร
 
          ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ จึงทำให้การพัฒนาด้านพลังงานน้ำในไทยเติบอย่างมั่นคง สร้างประโยชน์ให้ประชาชนทั่วไปอย่างแท้จริง โดยพระองค์จะทรงเน้นการก่อสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าขนาดเล็กสำหรับเก็บกักน้ำ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ใช้ในชุมชนใกล้เคียง เสริมการทำงานของเขื่อนขนาดใหญ่ที่จัดทำโดยภาครัฐ ซึ่งจะทำให้แต่ละชุมชนใช้ทรัพยากรได้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถพึ่งพาตนเองได้
 
พระราชดำริด้านพลังงาน

          ดังที่จะได้เห็นว่า มีโครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านสันติ ยะลา, โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านยาง เชียงใหม่, โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านขุนกลาง เชียงใหม่, โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เชียงใหม่, เขื่อนพรมธารา ชัยภูมิ, โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนห้วยกุ่ม ชัยภูมิ, โรงฟ้าพลังน้ำคลองช่องกล่ำ สระแก้ว, โรงไฟฟ้าพลังน้ำไอกะเปาะ นราธิวาส และโรงไฟฟ้าพลังน้ำทุ่งเพล จันทบุรี

          หรือแม้กระทั่ง “เขื่อนภูมิพล” ที่พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยและให้ความห่วงใยเรื่องการบริหารจัดการภายในโครงการอยู่เสมอ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำครั้งแรกของประเทศ ในปี พ.ศ. 2500 เนื่องจากในขณะนั้นประเทศไทยมีโรงผลิตไฟฟ้าเพียง 2 แห่งเท่านั้น คือ โรงไฟฟ้าวัดเลียบและโรงไฟฟ้าสามเสน

พระราชดำริด้านพลังงาน


2. แก๊สโซฮอล์ จากผลิตภัณฑ์เอทานอล

          อีกสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถ และพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลด้านพลังงานของในหลวง รัชกาลที่ 9 คือ พระราชดำริเกี่ยวกับเชื้อเพลิงชีวภาพ ที่พระองค์ทรงรับสั่งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 แล้วว่า ในอนาคตน้ำมันจะขาดแคลนและมีราคาแพง จึงให้ทดลองผลิตแอลกอฮอล์เป็นเชื้อเพลิง ทำเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ในสวนจิตรลดา โดยเริ่มตั้งแต่การทดลองปลูกอ้อยหลายพันธุ์ เพื่อคัดเลือกพันธุ์ที่ดีที่สุดนำมาทำแอลกอฮอล์  เพื่อใช้ในการผลิต "เอทานอล" ผสมกับน้ำมันเบนซิน จนกลายเป็นน้ำเชื้อเพลิง "แก๊สโซฮอล์" ได้สำเร็จ ซึ่งในช่วงเริ่มต้นมีการนำแก๊สโซฮอล์เติมให้กับรถยนต์ทุกคันของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
 
          จนกระทั้งในปี พ.ศ. 2544 จึงเริ่มนำแก๊สโซฮอล์ ออกมาจำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ณ สถานีบริการน้ำมัน ปตท. บริเวณสำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต และในปีเดียวกัน บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ก็เริ่มทดลองจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์เป็นครั้งแรกเช่นกัน ทำให้ภายในเวลาไม่กี่ปี น้ำมันแก๊สโซฮอล์ก็ได้รับความนิยมเป็นวงกว้าง ซึ่งนอกจากช่วยลดการนำเข้าน้ำมันลงได้ส่วนหนึ่งแล้ว ยังช่วยลดมลภาวะเป็นพิษในอากาศได้อีกด้วย

พระราชดำริด้านพลังงาน

3. ไบโอดีเซล

          นอกจากพระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับเครื่องยนต์เบนซินแล้ว ในส่วนของเครื่องยนต์ดีเซล พระองค์ก็ทรงมีพระราชดำริให้มีการพัฒนาเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากโครงการพัฒนาไบโอดีเซล เมื่อปี พ.ศ. 2526 ที่ทรงมีพระราชดำริให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็กที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จ.กระบี่ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ขนาดเล็ก กำลังผลิต 110 ลิตร ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส เพื่อทำการทดลองผลิตน้ำมันไบโอดีเซล

          จนกระทั่งประสบความสำเร็จในปี พ.ศ. 2543 โดยโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ได้เริ่มนำไบโอดีเซล มาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ดีเซล และพบว่าสามารถใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล โดยไม่ต้องผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงอื่น ๆ ซึ่งจากความสำเร็จดังกล่าว ทำให้ในปี พ.ศ. 2544 พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดกล้าฯ ฯ ให้นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ยื่นจดสิทธิบัตร "การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ดีเซล"

พระราชดำริด้านพลังงาน

          อีกทั้งในปีเดียวกันนั้น สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ก็ได้อัญเชิญผลงานของโครงการน้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม ไปร่วมแสดงในงานนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ "Brussels Eureka 2001" ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม และได้รับเหรียญทองประกาศนียบัตรสดุดีเทิดพระเกียรติคุณพร้อมถ้วยรางวัล แสดงถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในเวทีนานาชาติอีกด้วย
 
          ทำให้ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการนำไบโอดีเซล มาใช้ในเชิงพาณิชย์กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศแล้ว ยังช่วยให้เกษตรกรชาวไทยมีรายได้ที่มั่นคงจากการปลูกพืชพลังงานอีกทางหนึ่ง
 

4. ดีโซฮอล์

          ดีโซฮอล์ เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้จากการผสมน้ำมันดีเซลกับแอลกอฮอล์ เพื่อนำไปใช้แทนน้ำมันของเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพของในหลวง รัชกาลที่ 9 โดยโครงการส่วนพระองค์ส่วนจิตลดา ได้เริ่มวิจัยน้ำมันดีโซฮอล์ขึ้นในปี พ.ศ. 2541 และพบว่า สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ดีเซลได้ดีพอสมควร พร้อมทั้งยังช่วยลดปัญหาควันดำได้กว่า 50% อีกด้วย 

พระราชดำริด้านพลังงาน


5. โครงการผลิตไฟฟ้าจากแก๊สขยะ

          ในหลวง รัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับโครงการผลิตไฟฟ้าจากแก๊สขยะเป็นอย่างมาก โดยได้พระราชทานงบประมาณจากมูลนิธิชัยพัฒนา จำนวน 1 ล้านบาท ให้แก่คณะทำงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทำการศึกษาทดลองเกี่ยวกับพลังงานขยะ จนในปี พ.ศ. 2552 จึงสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้สำเร็จ จำนวน 480,080 หน่วย ด้วยการนำขยะมาทับถมกัน แล้วใช้ท่อฝังเข้าไปในกองขยะ ดึงแก๊สมีเทนออกมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า นับเป็นต้นแบบของการผลิตไฟฟ้าจากขยะ จนสามารถต่อยอดพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นอย่างในปัจจุบัน
 

6. เชื้อเพลิงอัดแท่งและระบบผลิตน้ำเย็นโดยใช้พลังงานความร้อนจากแกลบ

          พระองค์ได้แสดงให้ประชาชนชาวไทยเห็นว่า "แกลบ" นั้นมีประโยชน์มากกว่าที่คิด โดยเมื่อปี พ.ศ. 2518 ทรงมีพระราชดำรัสให้นำแกลบที่ได้จากโรงสีข้าวของสวนจิตรลดา  ที่เหลือเป็นจำนวนมากมาทำเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่ง สะท้อนให้เห็นพระอัจฉริยภาพของพระองค์ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังได้ทดลองนำผักตบชวาที่เป็นวัชพืชตามแหล่งน้ำมาผสมแกลบทำเป็นเชื้อเพลิงแท่ง และทำการทดลองพัฒนาการผลิตอย่างต่อเนื่อง จนสามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงได้เหมือนถ่านไม้ และทดแทนเชื้อเพลิงชนิดอื่น ๆ ได้

พระราชดำริด้านพลังงาน

          อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการนำแกลบที่ได้จากโรงสีข้าวในสวนจิตรลดา มาทำเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งแล้วก็ตาม แต่ก็พบว่ายังมีแกลบเหลือเป็นจำนวนมาก พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ศึกษาและพัฒนานำแกลบที่มีคุณสมบัติเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลมาทำประโยชน์ในด้านพลังงานความร้อน
 
          โดยนำไปใช้เป็นแหล่งพลังงานให้กับเครื่องทำความเย็นแบบดูดซึมชนิดใช้น้ำร้อน เพื่อผลิตน้ำเย็นสำหรับอาคารควบคุมสภาวะแวดล้อมเพื่อการเพาะเห็ดเขตหนาว และใช้กับเครื่องปรับอากาศให้กับอาคารวิจัยเห็ด อาคารวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมทั้งศาลามหามงคลภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ซึ่งโครงการดังกล่าว ก็ได้เป็นตัวอย่างให้ผู้ที่สนใจนำไปประยุกต์ในอนาคต


7. แก๊สชีวภาพมูลสัตว์


          เมื่อปี พ.ศ. 2522 ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริทดลองผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลโคนม ภายในโครงการสวนจิตรลดา โดยนำเศษวัสดุเหลือทิ้งจากการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและมูลสัตว์มาหมักในบ่อที่มีสภาพไร้อากาศ จนเกิดเป็นแก๊สชีวภาพ ที่มีคุณสมบัติจุดติดไฟและให้ความร้อนได้ มีน้ำหนักเบากว่าอากาศ อีกทั้งยังไม่มีกลิ่น  โดยแก๊สชีวิภาพที่ผลิตได้นั้น สามารถนำกลับมาเป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อนแก่ระบบการผลิตโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ภายในโครงการส่วนสวนจิตรลดา นับว่าอีกหนึ่งโครงการที่ประสบความสำเร็จในการสร้างประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้มาแปรรูปเป็นพลังงานทดแทนได้อย่างยั่งยืน 

พระราชดำริด้านพลังงาน


8. โครงการพลังงานแสงอาทิตย์

          ภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา มีการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้หลากหลายรูปแบบ พร้อมทั้งยังเป็นตัวอย่างและแหล่งความรู้แก่ประชาชนที่สนใจนำพลังงานแสงอาทิตย์ไปใช้ประโยชน์ภายในครัวเรือนหรือประกอบธุรกิจของตนเองอีกด้วย

          ดังเช่น "โครงการบ้านพลังงานแสงอาทิตย์" ที่มีเป้าหมายเพื่อปูพื้นฐานการอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานทดแทน โดยการใช้พลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ซึ่งมีอยู่ทั่วไป มาใช้ประโยชน์ ด้วยการติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลแล้ว ยังเป็นการลดมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงได้อีกทางหนึ่ง
 
          หรืออย่าง "โครงการเครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์" ที่มีลักษณะเป็นเครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบอุโมงค์ลมร้อน โดยมีแผงรับความร้อนจากแสงอาทิตย์และพัดลมเป็นตัวเป่าลมร้อนที่เกิดขึ้น สามารถนำไปใช้อบผลิตผลทางการเกษตรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เมล็ดธัญพืช เมล็ดถั่ว ผัก ผลไม้ พืชสมุนไพร ตลอดจนเป็นการประหยัดพลังงานไฟฟ้าในการอบแห้งผลิตภัณฑ์อบแห้งของโครงการส่วนพระองค์ฯ ทั้งการทำกล้วยตาก และผลไม้อบแห้งอื่น ๆ


พระราชดำริด้านพลังงาน
 

9. พลังงานลม

          ในหลวง รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริให้พัฒนาการใช้พลังงานลมในโครงการสวนจิตรลดา มานานกว่า 20 ปีแล้ว โดยเริ่มต้นเป็นการใช้เพื่อวิดน้ำสำหรับถ่ายเทน้ำของบ่อเลี้ยงปลานิล รวมถึงการใช้พลังงานลมในการสูบน้ำขึ้นไปบนภูเขา เพื่อให้ดินมีความชุ่มชื้น สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของต้นไม้ และได้มีโครงการตามแนวพระราชดำริ เกี่ยวกับพลังงานลม ออกมาอีกหลายโครงการ ได้แก่
 
          - กังหันลมบริเวณโครงการสระเก็บน้ำพระราม 9

          เป็นหนึ่งในโครงการแก้มลิงตามแนวพระราชดำริ เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยที่มีความรุนแรงมากขึ้น โดยภายในโครงการได้นำเทคโนโลยีกังหันลมมาผลิตไฟฟ้าร่วมกับพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นกังหันลมที่มีความเร็วลมต่ำ และปราศจากเสียงรบกวน
 
          - กังหันลมผลิตไฟฟ้า ณ โครงการชั่งหัวมัน

          พระองค์พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ศูนย์วิจัยพลังงานลมน้ำและแสงอาทิตย์ มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี ออกแบบและติดตั้งกังหันลม ขนาดกำลังผลิต 50 กิโลวัตต์ ทั้งหมด 20 ตัว บริเวณพื้นที่โครงการชั่งหัวมัน จ.เพชรบุรี ด้วยทรงเล็งเห็นว่าบริเวณพื้นที่ในโครงการมีกระแสลมพัดแรง ซึ่งนับเป็นทุ่งกังหันลมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
 
พระราชดำริด้านพลังงาน

          ด้วยพระอัจฉริยภาพของในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้เป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกรชาวไทยมาตลอด แม้แต่ด้านพลังงานที่ดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่พระองค์ได้ทรงศึกษาค้นคว้าความรู้อย่างต่อเนื่อง จนสามารถนำมาพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยให้ดีขึ้นได้อย่างทุกวันนี้ สมดังพระราชสมัญญา "พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย" อย่างแท้จริง 


ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจาก
กระทรวงพลังงาน
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
9 โครงการพลังงานทดแทน พลังแห่งสายพระเนตรของพระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย อัปเดตล่าสุด 27 ตุลาคม 2560 เวลา 17:07:44 110,995 อ่าน
TOP