x close

5 แบงก์ใหญ่ มีความเสี่ยงเชิงระบบ สื่ออะไรถึงเศรษฐกิจไทย

ความเสี่ยงเชิงระบบ

          ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศให้ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย ไทยพาณิชย์ กรุงศรีอยุธยา และกสิกรไทย เป็นธนาคารที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบ ส่งผลอะไรต่อระบบการเงิน มาทำความเข้าใจกัน
 
          เป็นประเด็นที่หลายคนตกใจและสงสัยพอสมควรกับการที่อยู่ ๆ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ออกมาประกาศรายชื่อธนาคารพาณิชย์ที่มี "นัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ" ซึ่งประกอบไปด้วยธนาคารยักษ์ใหญ่ 5 แห่ง อย่าง ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกสิกรไทย และ ธนาคารไทยพาณิชย์ (อ่านข่าว แบงก์ชาติประกาศ 5 ธนาคาร ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ)
 
          ทำให้หลายคนอาจจะงงไปตาม ๆ กันว่า สิ่งที่ ธปท. ประกาศออกมานั้นคืออะไร และหมายความว่าอะไรกันแน่ บางคนคิดถึงขั้นจะไปปิดบัญชีถอนเงินออกมาจากธนาคารเหล่านั้นให้หมด เพราะกลัวว่าจะมีการล้มละลาย แต่อย่าเพิ่งคิดไปไกลขนาดนั้น ขอให้ทุกคนใจเย็น ๆ แล้วมาดูกันก่อนว่า "นัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบ" ที่ว่านั้นคืออะไร แล้วแปลว่าว่าธนาคารที่มีรายชื่อเหล่านั้นมีปัญหาจริง ๆ หรือเปล่า

ความเสี่ยงเชิงระบบ

ความเสี่ยงเชิงระบบคืออะไร

          ก่อนอื่นเรามาเข้าใจกันก่อนว่าคำว่า "นัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบ" ที่เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่ ธปท. ประกาศออกมานั้นหมายความว่าอะไร ซึ่งนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบ หรือ Domestic systemically important banks นั้น หมายถึง ความเสี่ยงที่มีผลกระทบเป็นวงกว้างต่อระบบการเงินหรือเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมักเกิดขึ้นกับสถาบันการเงินขนาดใหญ่ เพราะมีการลงทุนสูง เชื่อมโยงกับระบบการเงินจำนวนมาก

          โดยเรื่องนี้เริ่มมีการให้ความสำคัญกันมากขึ้น หลังจากเกิดเหตุการณ์ “เลห์แมน บราเธอร์ส” สถาบันการเงินขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ที่ล้มละลาย จนลามเป็นวิกฤตทางการเงินทั่วโลก เมื่อปี 2551 จึงทำให้ธนาคารกลางทั่วโลก เริ่มหามาตรการออกมาเพื่อกำกับดูแลสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงเชิงระบบ และมาตรการที่หลายประเทศนิยมใช้กันก็คือ Basel III ซึ่งก็คือ หลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินของ Basel Committee on Banking Supervision (BCBS)
 
          แน่นอนว่าประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้ Basel III ในการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่มีความเสี่ยงเชิงระบบ โดยเป้าหมายหลักของมาตรการนี้ คือ เพื่อลดโอกาสการล้มละลายของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ด้วยการกำหนดให้สถาบันการเงินเหล่านั้น ต้องมีเงินกองทุนที่สูงกว่าสถาบันการเงินทั่ว ๆ ไป เพื่อสร้างความมั่นใจว่าหากวิกฤตอะไรเกิดขึ้น จะสามารถรับมือได้ รวมทั้ง ธปท. จะใช้กลไกต่าง ๆ เข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงในด้านการล้มละลายให้มากที่สุด

ธนาคารไทย
ภาพจาก BOYDTRIPHOTO / Shutterstock.com
ทำไมธนาคารพาณิชย์ 5 แห่ง ถึงมี "ความเสี่ยงเชิงระบบ"

          อย่างที่ได้อธิบายไปข้างต้น คือ ยิ่งสถาบันการเงินมีขนาดใหญ่มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเสี่ยงมากเท่านั้น หรือที่เรียกว่า To big to fail นั่นเอง สำหรับหลักเกณฑ์ที่ ธปท. นำมาพิจารณาว่าสถาบันการเงินแห่งไหนมีความเสี่ยงเชิงระบบ ประกอบด้วย 4 ด้านดังนี้

          1. ด้านขนาดของสินทรัพย์ และหนี้สินของสถาบันการเงิน

          2. ด้านความต้องการเงินทุนที่มีต่อระบบการเงิน

          3. ด้านโครงสร้างพื้นฐานของสถาบันการเงิน

          4. ด้านความซับซ้อนของผลิตภัณฑ์ทางการเงินและการดำเนินธุรกิจ


          โดย ธปท. จะมีการให้คะแนนในทุก ๆ ปี และมีการกำหนดให้ทบทวนว่ามีสถาบันการเงินไหนจะเข้าเกณฑ์ทุก 3 ปี
          

ความเสี่ยงเชิงระบบ

          สรุปง่าย ๆ ก็คือที่ธนาคารพาณิชย์ 5 แห่งนั้น เข้าเกณฑ์มีความเสี่ยงเชิงระบบ ก็เพราะว่า เป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่และมีธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นจำนวนมาก และเป็นไปตามหลักสากลที่ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกทำเหมือนกัน

          ส่วนอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้แบงก์ชาติต้องเข้ามาดูแลธนาคารขนาดใหญ่ เพราะว่าปัจจุบันเราจะพบว่า สินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 18 ล้านล้านบาท และกว่า 70% ของสินทรัพย์ทั้งหมดเป็นของ 5 ธนาคารขนาดใหญ่ ซึ่งนับว่าเป็นมูลค่าที่สูงและสำคัญมากต่อระบบเศรษฐกิจ โดย ณ งวดไตรมาส 2 ปี 2560 ธนาคารทั้ง 5 แห่ง มีมูลค่าสินทรัพย์ ดังนี้

          - ธนาคารกรุงไทย มูลค่าสินทรัพย์ 2.67 ล้านล้านบาท

          - ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มูลค่าสินทรัพย์ 1.88 ล้านล้านบาท

          - ธนาคารกรุงเทพ มูลค่าสินทรัพย์ 3 ล้านล้านบาท

          - ธนาคารไทยพาณิชย์ มูลค่าสินทรัพย์ 3 ล้านล้านบาท

          - ธนาคารกสิกรไทย มูลค่าสินทรัพย์ 2.85 ล้านล้านบาท

ความเสี่ยงเชิงระบบ
 

แบงก์ชาติคุมเข้ม ธนาคารพาณิชย์ 5 แห่ง ส่งผลกระทบอะไร

 
           ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าเกณฑ์ "มีความเสี่ยงเชิงระบบ" จะโดนแบงก์ชาติกำกับดูแลอย่างเข้มงวดกว่าธนาคารอื่น ๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าธนาคารเหล่านั้นจะมีความเสี่ยงทางการเงินมากกว่าธนาคารอื่น ๆ ในทางกลับกัน ยังทำให้ธนาคารที่โดนกำกับดูแลมีโอกาสเกิดปัญหาทางการเงินน้อยว่าธนาคารอื่น ๆ ด้วยซ้ำ เพราะต้องมีการรายงานผลการดำเนินการ เงินกองทุน หรือแผนการดำเนินธุรกิจให้แบงก์ชาติช่วยตรวจสอบตลอดเวลา จึงทำให้ลดความเสี่ยงลงไปได้อีก 
 
           ส่วนการที่แบงก์ชาติไม่ได้ประกาศให้ธนาคารขนาดเล็กและขนาดกลางอื่น ๆ เป็นสถาบันการเงินที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบ ก็เพราะว่าถึงแม้สถาบันการเงินเหล่านั้น จะเกิดวิกฤตการเงิน หรือล้มละลายขึ้นมา ก็จะไม่ส่งผลอะไรต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศเป็นวงกว้าง แตกต่างจากธนาคารขนาดใหญ่ ที่ทุกคนล้วนได้รับผลกระทบ

           และเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ประชาชนมากขึ้น นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. ก็ได้ออกมายืนยันว่า การกำหนดมาตรการในการดูแลสถาบันการเงินทั้ง 5 แห่ง จะไม่กระทบกับเงินฝากของประชาชน แต่จะยิ่งสร้างความมั่นคง เพราะเป็นการยกระดับความเข้มแข็งของสถาบันการเงินโดยรวม และขอให้ประชาชนอย่ากังวลใจ
 
           สำหรับใครที่ยังกังวลใจอยู่ ก็สบายใจได้เลย เพราะสรุปแล้วเราจะพบว่าประกาศราชกิจจาฯ เกณฑ์กำกับดูแลสถาบันการเงินที่มีความเสี่ยงต่อระบบ ฉบับนี้ ไม่ได้หมายความว่า ธนาคารทั้ง 5 แห่งที่มีรายชื่อ เสี่ยงที่จะล้มละลายแต่อย่างใด แต่แปลว่าธนาคารเหล่านั้นห้ามมีปัญหา ซึ่งถ้ามีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหา แบงก์ชาติก็จะเข้าไปดูแลบริหารความเสี่ยงอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง รวมถึงเงินในบัญชีธนาคารของพวกเราทุกคนจะได้ปลอดภัย ไร้กังวลนั่นเอง
 

 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ธนาคารแห่งประเทศไทย 
ราชกิจจานุเบกษา
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
5 แบงก์ใหญ่ มีความเสี่ยงเชิงระบบ สื่ออะไรถึงเศรษฐกิจไทย อัปเดตล่าสุด 29 กันยายน 2560 เวลา 09:57:36 85,910 อ่าน
TOP