x close

บัตร ATM ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย สังเกตตรงไหนว่าไร้สกิมเมอร์ !

สกิมมิ่ง

          วิธีใช้บัตร ATM ให้ปลอดภัย จากการโจรกรรมข้อมูลของกลุ่มมิจฉาชีพ ควรทำอย่างไร มีวิธีสังเกตเบื้องต้นบ้างไหม แล้วถ้าตกเป็นเหยื่อจะทำยังไงดี วันนี้เรามีคำตอบมาบอก
   
          จากกรณีที่มีกระแสข่าว กลุ่มมิจฉาชีพดูดข้อมูลบัตร ATM (สกิมมิ่ง) ระบาดหนัก โดยการแอบดูดข้อมูลตามตู้ ATM ผ่านเครื่องสกิมเมอร์ (Skimmer) ซึ่งหากเจ้าของบัตรกดเงินออกมา ทางกลุ่มมิจฉาชีพก็จะได้ข้อมูลบนบัตรทันที และจะดูดข้อมูล-ดูดเงิน ของเราออกไปได้ง่าย ๆ ทำให้การใช้บัตร ATM ในทุกวันนี้ ต้องระวังตัวมากขึ้น เพราะทุกวันนี้มิจฉาชีพมากขึ้นจนน่าตกใจ
   
          ทั้งนี้ เพื่อให้เราสามารถใช้บัตร ATM ได้อย่างสบายใจและปลอดภัยจากกลโกงต่าง ๆ วันนี้กระปุกดอทคอมจึงมีคำแนะนำมาฝากกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพได้
สกิมเมอร์ (Skimmer) คืออะไร ? มารู้จักกันก่อน

          สกิมเมอร์เป็นอุปกรณ์ที่ใช้อ่านข้อมูลจากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทการ์ด บัตรเครดิต หรือบัตร ATM โดยมีผู้ไม่หวังดีนำอุปกรณ์ที่มีความสามารถดังกล่าว มาใช้ในการขโมยข้อมูลจากผู้ใช้บริการตู้ ATM หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า การทำ ATM สกิมมิ่ง (Skimming) ซึ่งมีกระบวนการหลัก ๆ 2 อย่าง คือ ดักข้อมูลบัตร ATM และดักรหัสบัตร โดยการทำปุ่มกดปลอม และเครื่องอ่านบัตรปลอมขึ้นมา แล้วนำไปประกบทับกับอุปกรณ์ของจริงบนตู้  ATM

          โดยเครื่องอ่านบัตรปลอมจะอ่านข้อมูลจากแถบแม่เหล็กบนตัวบัตร แล้วคัดลอกข้อมูลลงในหน่วยความจำ และเมื่อผู้ถือบัตร ATM ใช้เครื่องกดเงินที่มีการติดตั้งสกิมเมอร์ เพื่อทำรายการถอนเงิน ข้อมูลของบัตรนั้นจะถูกบันทึกไว้ และถูกส่งต่อไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ของมิจฉาชีพทันที ทำให้มิจฉาชีพสามารถนำข้อมูลที่ขโมยได้ไปใช้ทำ ATM ปลอม เพื่อทำรายการถอนเงินที่เครื่อง ATM นั่นเอง

สกิมมิ่ง
 
          มิจฉาชีพมักติดตั้งเครื่องสกิมเมอร์ที่ช่องเสียบบัตรของตู้กดเงิน เพื่อคัดลอกข้อมูลจากบัตร พร้อมติดตั้งแป้นครอบกดตัวเลขเพื่อบันทึกรหัสผ่านที่เหยื่อกด หรืออาจติดตั้งกล้องจิ๋วเพื่อแอบดูรหัสผ่าน
   
          นอกจากการแอบติดตั้งเครื่องสกิมเมอร์แล้ว ยังมีวิธีโกงอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการปลอมแปลงเอกสารสมัครบัตร การขโมยข้อมูลจากใบบันทึกรายการ (ATM Slip) สร้างตู้ ATM ปลอมมาวางไว้ข้าง ๆ ตู้ ATM ของจริง หรือแม้แต่ชะเง้อมองตอนเรากดรหัสบัตร ATM


สังเกตอย่างไรว่าตู้ ATM ไร้สกิมเมอร์

          การดูว่าตู้ ATM ที่เรากำลังใช้บริการมีมิจฉาชีพมาแอบติดตั้งอุปกรณ์สกิมเมอร์หรือเปล่า สามารถสังเกตได้ตามนี้

สกิมมิ่ง

          1. สังเกตว่ามีกล้องขนาดเล็กถูกซ่อนไว้ตามกล่องใส่โบรชัวร์ เพื่อแอบดูรหัสผ่านหรือเปล่า

          2. หากไม่เห็นกล้องขนาดเล็กในกล่องโบรชัวร์ ลองสังเกตอีกครั้งว่ามีกล้องขนาดเล็กแอบซ่อนไว้บริเวณขอบเครื่อง ATM หรือไม่

          3. สังเกตว่ามีกระจกแปลกปลอมติดไว้บริเวณหน้าเครื่อง ATM หรือไม่

          4. สังเกตดูว่าบริเวณช่องสอดบัตรมีอะไรแปลกปลอมมาครอบทับไว้หรือเปล่า

          5. สังเกตบริเวณแป้นกดตัวเลขว่ามีอะไรแปลกปลอมมาครอบทับหรือเปล่า

          6. ระวังคนรอบ ๆ ข้าง บริเวณตู้ ATM ด้วย เขาอาจจะเป็นมิจฉาชีพก็ได้ โดยอย่าให้ใครเห็นรายละเอียดตอนที่เราทำรายการ อาจจะใช้มือบังแป้นกดตัวเลข พร้อมคอยสังเกตว่ามีใครที่พยายามจะมองเข้ามาที่หน้าจอตู้ ATM หรือเปล่า

สกิมมิ่ง

วิธีใช้บัตร ATM ให้ปลอดภัย ทำอย่างไร ?
   
          สำหรับภัยที่มาจากการใช้บัตร ATM นอกจากการถูกสกิมมิ่งแล้ว ยังมีอีกหลากหลายวิธี เพื่อเป็นการป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ลองมาดูวิธีป้องกันเบื้องต้นง่าย ๆ ในการใช้บัตร ATM อย่างปลอดภัยกัน ไปลองดูกันว่าสามารถทำได้อย่างไรบ้าง

          -  รหัสผ่านของบัตรควรตั้งให้คาดเดายาก แต่เจ้าของบัตรต้องจำได้  ไม่ควรใช้เลขตอง เลขสวย เลขที่เรียงกัน รวมทั้งเลขที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนตัว เช่น เลขวันเกิด ทะเบียนรถ อายุ ฯลฯ และไม่จดรหัสผ่านไว้คู่กับบัตร พร้อมทั้งเปลี่ยนรหัสทุก ๆ 3 เดือนเป็นอย่างน้อย
 
          - ใช้มือบังแป้นกดรหัสส่วนตัวขณะทำรายการ เพื่อไม่ให้ใครที่อยู่ข้าง ๆ หรือกล้องที่มิจฉาชีพแอบติดตั้งไว้มองเห็นรหัสส่วนตัวของเรา

          - ใช้ลำตัวบังหน้าจอ ยืนประชิดกับตัวเครื่อง ขณะทำรายการ เพื่อไม่ให้คนที่ต่อแถวอยู่ข้างหลังมองเห็น

          - ควรจำกัดวงเงินการถอนในแต่ละวันไว้ เพราะหากมิจฉาชีพได้บัตรหรือรหัสไปกด เราจะยังคงรักษาเงินไว้ได้บางส่วน

          -  หลีกเลี่ยงการใช้ตู้ ATM ในสถานที่เปลี่ยว เพราะมีโอกาสที่มิจฉาชีพจะติดตั้งเครื่องคัดลอกข้อมูลไว้ได้โดยง่าย และคอยสังเกตว่ามีสิ่งผิดปกติบริเวณตู้ ATM หรือไม่

          - ควรหลีกเลี่ยงใช้บัตรกับร้านค้าที่มีความเสี่ยงจะเกิดการทุจริต เช่น สถานบริการน้ำมัน สถานบันเทิง โดยเจ้าของบัตรควรอยู่ในบริเวณที่มองเห็นการทำรายการ เพื่อป้องกันพนักงานนำบัตรไปรูดกับเครื่องสกิมเมอร์

          - เก็บใบบันทึกรายการทุกครั้ง เพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจสอบยอดการใช้จ่าย โดยอาจจะตรวจสอบยอดเงินอย่างสม่ำเสมอ หากพบมีรายการผิดปกติ ให้แจ้งธนาคารหรือบริษัทผู้ออกบัตรเพื่อตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขทันที

          - ไม่ควรให้เอกสารข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลทางการเงินแก่บุคคลอื่น

          - หากบัตรสูญหายหรือถูกขโมย ควรแจ้งธนาคารหรือบริษัทผู้ออกบัตรเพื่ออายัดบัตรทันที

สกิมมิ่ง

พลาดท่าตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพแล้ว ควรทำอย่างไร ?
   
          หากพบว่าตัวเองพลาดท่าตกเป็นเหยื่อให้กับกลุ่มมิจฉาชีพแล้วละก็ จะมีวิธีป้องกันเบื้องต้นอย่างไร เพื่อไม่ให้มิจฉาชีพสามารถเข้าถึงข้อมูลของเราได้ และให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด มาดูกันว่าสิ่งที่ควรทำมีอะไรบ้าง
   

          - รีบแจ้งอายัดบัตรทันที เมื่อพบรายการถอนเงินหรือโอนเงินผิดปกติ พร้อมตรวจสอบยอดเงินใช้จ่ายหรือยอดเงินคงเหลือกับเจ้าหน้าที่ธนาคารหรือบริษัทผู้ออกบัตรด้วย
   
          - ดำเนินการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ
   
          - ทำใจยอมรับ เพราะเงินที่ถูกมิจฉาชีพขโมยไป โอกาสจะได้คืนนั้นน้อยมาก โดยเฉพาะในกรณีที่มิจฉาชีพได้ข้อมูลบัตรเพราะความประมาทของผู้ถือบัตร แต่อย่างไรก็ตามหากถูกขโมยจากการสกิมมิ่งที่ตู้ ATM ของธนาคารจริง ธนาคารจะต้องชดใช้เงินให้แก่ลูกค้าที่ได้รับความเสียหาย

          สุดท้ายหวังว่าคำแนะนำทั้งหมดข้างต้น จะเป็นประโยชน์ช่วยป้องกันไม่ให้เงินในบัญชีของเราถูกมิจฉาชีพขโมยไป และบรรเทาความกังวลในการใช้บัตร ATM ลงได้ โดยสามารถขอรับคำปรึกษา หรือร้องเรียนปัญหา เพิ่มเติมได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 1213 ในช่วงเวลาทำการ วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-12.00 น. และ 13.00-16.30 น. นอกเวลาทำการ บริการตอบรับผ่านระบบอัตโนมัติ 24 ชั่วโมง

ภาพจาก ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.), เฟซบุ๊ก ศคง. 1213

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.)

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บัตร ATM ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย สังเกตตรงไหนว่าไร้สกิมเมอร์ ! อัปเดตล่าสุด 12 กรกฎาคม 2560 เวลา 18:15:53 51,276 อ่าน
TOP