
กันเงินออมก่อนนำไปใช้จ่าย และนำเงินออมที่เหลือจากเงินฉุกเฉินไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนมากกว่า 3% ต่อปี เป็นวิธีที่จะช่วยให้เรามีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้


รายได้ – เงินออม = ค่าใช้จ่าย
สมการแรกนี้ดูเป็นสมการง่าย ๆ ที่หลายคนเคยได้ยิน แต่เชื่อว่ามีไม่กี่คนที่สามารถทำตามได้อย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอ
สมการนี้มีหัวใจสำคัญคือ ถ้าอยากมีเงินเก็บ ก็ต้องกันเงินส่วนนี้ออกมาจากรายได้ก่อน หลังจากนั้นเหลือเท่าไรค่อยนำไปใช้จ่าย และต้องบริหารให้เพียงพอ เราก็สามารถมีเงินเก็บเพื่อทำตามเป้าหมายของเราได้
แต่ในความเป็นจริง หลายคนกลับทำตรงข้ามกัน คือออมเงินเท่าที่เหลือจากการใช้จ่าย ประกอบกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่มีสิ่งหลอกล่อเงินในกระเป๋าเราอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น อาหารอร่อย ๆ เสื้อผ้าแฟชั่น หรือโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ ทำให้เรามีเงินไม่พอใช้จ่าย และไม่เหลือเก็บในที่สุด ส่วนคนที่ออมเงินได้อย่าเพิ่งคิดว่าพอแล้ว เพราะสิ่งสำคัญกว่านั้นคือ เราจะนำเงินส่วนนั้นไปสร้างผลตอบแทนได้มากเท่าไหร่

เงินออม – เงินฉุกเฉิน = เงินลงทุน
สมการนี้สำคัญมากที่จะทำให้คนรวยหรือไม่ เพราะหลายคนเมื่อมีเงินออมก็นำเงินไปฝากธนาคารเพียงอย่างเดียว และคิดว่าถ้าฝากต่อไปเรื่อย ๆ จะรวยขึ้น ในความเป็นจริงแล้ว การฝากเงินอาจทำให้เรามีเงินเก็บแบบพออยู่พอกิน แต่ไม่สามารถทำให้เรารวยขึ้นได้ เพราะอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 3% ต่อปี แปลว่าทุก ๆ ปี ข้าวของจะแพงขึ้น 3% ถ้าเทียบกับอัตราผลตอบแทนของเงินฝากที่ให้ดอกเบี้ยไม่ถึง 3% ต่อปี แสดงว่าเงินที่เราเก็บไว้จะมีมูลค่าลดลง เพราะเงินของเราโตไม่ทันราคาข้าวของที่แพงขึ้น หลักการง่าย ๆ คือ เราควรนำเงินออมที่หักเงินฉุกเฉินไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนมากกว่า 3% ต่อปี ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในกองทุนรวม หุ้น อสังหาริมทรัพย์ หรือการทำธุรกิจ
โดยสรุป หากเราอยากมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นหรือรวยขึ้น มีขั้นตอนดังนี้
1. กันเงินออมก่อนนำไปใช้จ่าย เพื่อให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่าย และมีเงินออมตามที่ตั้งใจไว้
2. เก็บเงินออมบางส่วนไว้เป็นค่าใช้จ่ายและเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน โดยควรเก็บไว้ในรูปแบบที่มีสภาพคล่องสูงและมีความเสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝากออมทรัพย์ หรือกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น เพราะต้องนำมาใช้จ่าย และหากมีเหตุฉุกเฉิน เช่น อุบัติเหตุ ตกงาน ก็สามารถนำเงินก้อนนี้มาใช้ได้ โดยค่าใช้จ่ายประจำวันควรเก็บไว้ใช้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ ส่วนเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินควรเก็บไว้อย่างน้อย 6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน

3. นำเงินออมที่เหลือจากเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนมากกว่า 3% ต่อปี โดยเลือกให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ซึ่งรูปแบบที่ให้ผลตอบแทนสูงก็ย่อมตามมาด้วยความเสี่ยงที่สูงขึ้น
- หากทำงานประจำ ไม่ค่อยมีเวลาติดตามข้อมูลมากนัก และรับความเสี่ยงได้ปานกลาง ควรนำเงินไปลงทุนในกองทุนผสมซึ่งมีการลงทุนบางส่วนในหุ้น และบางส่วนในตราสารหนี้ จึงมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากและกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น
- หากทำงานประจำและรับความเสี่ยงได้สูง แนะนำให้ลงทุนในกองทุนรวมหุ้น เพราะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูง
- หากมีเวลาติดตามข้อมูลและรับความเสี่ยงได้สูง อาจจะพิจารณาลงทุนในหุ้น เพราะสามารถปรับเปลี่ยนการลงทุนตามความชอบและจังหวะของเราได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ต้องใช้เวลาในการติดตามข้อมูลข่าวสารและความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และแน่นอนตามมาด้วยความเสี่ยงที่เราต้องรับได้ด้วย
- หากใครมีทักษะหรือมีเวลาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม อาจเลือกลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือทำธุรกิจส่วนตัว ซึ่งมีโอกาสสร้างผลตอบแทนให้เราได้เป็นอย่างดี แถมยังมีความสุขเพราะได้ทำในสิ่งที่เรารักด้วย
เมื่อรู้จักสมการคนรวยและขั้นตอนแนวทางที่จะทำให้ชีวิตเรามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นหรือรวยขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญคือ การเริ่มต้นลงมือทำอย่างจริงจังด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายอย่างที่เราต้องการนั่นเอง
K-Expert Action
• ออมก่อนใช้อย่างน้อย 20% ของรายได้ในแต่ละเดือน และออมสม่ำเสมอทุกเดือน แล้วเก็บเป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินให้ได้ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน ส่วนที่เหลือจึงนำไปลงทุน
• นำเงินไปลงทุนโดยคำนึงถึงระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ผลลตอบแทนที่ต้องการ และระยะเวลาในการใช้เงิน
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
