ลงทะเบียนคนจน 2560...เจาะ 15 คำถามยอดฮิตที่หลายคนสงสัย !


ลงทะเบียนคนจน

          ลงทะเบียนคนจน 2560 ใครมีสิทธิ์ ให้คนอื่นไปลงทะเบียนแทนได้ไหม กรอกแบบฟอร์มอย่างไร จะได้สวัสดิการอะไรบ้าง รวบรวมคำถามยอดฮิตมาอธิบายให้เข้าใจกันมากขึ้น

          ได้รับความสนใจอย่างมากสำหรับโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 ซึ่งรัฐบาลเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย หรือลงทะเบียนคนจน ได้ระหว่างวันที่ 3 เมษายน - 15 พฤษภาคม 2560 เพื่อรับสวัสดิการในการลดภาระค่าครองชีพจากรัฐบาล แต่ทว่า...หลายคนยังไม่เข้าใจเงื่อนไขการลงทะเบียนคนจนอยู่หลายเรื่อง กระปุกดอทคอม จึงรวบรวม 15 คำถามที่คนสงสัยเกี่ยวกับการลงทะเบียนครั้งนี้มาขยายความให้เข้าใจกันมากยิ่งขึ้น
1. ลงทะเบียนคนจน ใครมีสิทธิ์ ? 

          ผู้ที่มีสิทธิ์ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย จะต้องมีคุณสมบัติตามนี้

          1) มีสัญชาติไทย

          2) อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป (เกิดก่อนวันที่ 16 พฤษภาคม 2542)

          3) เป็นผู้ว่างงาน หรือมีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท ในปี 2559

          4) ไม่มีทรัพย์สินทางการเงิน ได้แก่ เงินฝากธนาคาร, สลากออมสิน, สลาก ธ.ก.ส., พันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ หรือถ้ามีทรัพย์สินทางการเงินดังกล่าว จะต้องมีจำนวนรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 100,000 บาท ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในปี 2559

          5) ไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมาย หรือถ้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ดังกล่าว จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

ลงทะเบียนคนจน

2. นักเรียน นักศึกษา พระ แม่ชี นักโทษ สามารถลงทะเบียนคนจนได้หรือไม่ ?

          หากเป็นผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 16 พฤษภาคม 2542 (คือปัจจุบันอายุ 18 ปีขึ้นไป) และเป็นผู้ว่างงาน มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท หรือมีสินทรัพย์รวมกันไม่เกิน 1 แสนบาทตามที่ระบุไว้ตามเงื่อนไขในข้อ 1 สามารถลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยได้

          ส่วนกรณีเป็นพระสงฆ์ แม่ชี จะไม่สามารถลงทะเบียนได้ เพราะไม่เข้าข่าย เนื่องจากโครงการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดภาระสาธารณูปโภคพื้นฐานให้ประชาชน แต่พระสงฆ์และแม่ชีเป็นบุคคลที่พร้อมด้วยปัจจัย 4 อันเป็นพื้นฐานในการดำรงชีพโดยไม่ต้องประกอบสัมมาอาชีพอยู่แล้ว จึงไม่เข้าเกณฑ์เหมือนบุคคลทั่วไปที่ต้องทำงานหาเงินมาจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ อีกทั้งยังไม่ได้อยู่ในสถานะถือครองทรัพย์สมบัติ เช่น เงินฝาก พันธบัตร และที่ดิน

          สำหรับนักโทษในเรือนจำนั้น จะได้สวัสดิการจากเรือนจำทัณฑสถานอยู่แล้ว จึงไม่มีสิทธิ์ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย

          อย่างไรก็ตาม หากนักโทษพ้นโทษ หรือพระสงฆ์ แม่ชี ลาสิกขาก่อนปิดโครงการวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 ก็สามารถมาลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยได้

3. ผู้สูงอายุที่รับเบี้ยยังชีพสามารถลงทะเบียนได้ไหม ?

          ผู้สูงอายุที่รับเบี้ยยังชีพจากภาครัฐทุกเดือนก็สามารถมาลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยได้ หากมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ คือ มีรายได้ในปี 2559 ไม่เกิน 1 แสนบาท, ไม่มีทรัพย์สินทางการเงินรวมกันเกิน 1 แสนบาท รวมทั้งไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือหากเป็นเจ้าของก็ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์

ลงทะเบียนคนจน

4. คนที่ลงทะเบียนปี 2559 มาแล้วต้องลงทะเบียนใหม่หรือไม่ ?

          ทั้งผู้ที่ไม่เคยลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย และผู้ที่เคยลงทะเบียนเมื่อปี 2559 จำนวน 8 ล้านคน จะต้องมาลงทะเบียนใหม่ทั้งหมด เพื่ออัพเดทข้อมูลฐานรายได้ และเพื่อให้ผู้ลงทะเบียนรายได้น้อยได้รับบัตรผู้มีรายได้น้อยประจำตัวทุกคน

5. ต้องลงทะเบียนใหม่ทุกปีเลยไหม ?

          การลงทะเบียนคนจนในปีต่อ ๆ ไปจะแยกพิจารณาเป็น 2 กรณีคือ

          1) ผู้ที่มาลงทะเบียนในปี 2560 แล้ว ในปีต่อ ๆ ไป ต้องมาลงทะเบียนอีกครั้ง แต่ให้แจ้งเจ้าหน้าที่เฉพาะข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ สถานภาพทางครอบครัว รายได้ จำนวนบุตร เป็นต้น ซึ่งกระทรวงการคลังจะนำข้อมูลการลงทะเบียนของปี 2560 ไปตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีการปรับปรุงใหม่หรือไม่พร้อมกันด้วย

          2) สำหรับผู้ที่ไม่ได้มาลงทะเบียนในปี 2560 ในปีต่อไป หากต้องการลงทะเบียนจะต้องไปลงทะเบียนด้วยตัวเอง ณ หน่วยงานที่รับลงทะเบียนที่กำหนด

6. ลงทะเบียนคนจนได้ที่ไหนบ้าง ?

          ผู้มีสิทธิ์สามารถลงทะเบียนได้ที่...

          - ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 

ลงทะเบียนคนจน

ลงทะเบียนคนจน


          - ธนาคารออมสิน 

ลงทะเบียนคนจน


          - ธนาคารกรุงไทย 

ลงทะเบียนคนจน

          - สำนักงานคลังจังหวัด
          - สำนักงานคลังจังหวัดทุกจังหวัด (สังกัดกรมบัญชีกลาง)
          - สำนักงานเขตกรุงเทพมหานครทุกเขต

          โดยต้องลงทะเบียนเพียงที่ใดที่หนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถลงทะเบียนซ้ำได้หลายแห่ง

7. ต้องมีบัญชีธนาคารที่ไปลงทะเบียนไว้หรือไม่ ?

          การลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเบื้องต้นต้องมีสำเนาหน้าบัญชีเงินฝาก ซึ่งจะใช้บัญชีธนาคารใดก็ได้ แต่ต้องเป็นประเภทบัญชีเงินฝากเผื่อเรียก, บัญชีออมทรัพย์ , บัญชีกระแสรายวัน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับหน่วยลงทะเบียนแต่ละหน่วยด้วยว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยธนาคารบางแห่งอาจระบุให้ใช้บัญชีของธนาคารแห่งนั้นเลยเพื่อความสะดวก ซึ่งสามารถสอบถามได้ที่ธนาคารนั้น ๆ 

          อย่างไรก็ดี การเปิดบัญชีธนาคารนั้นไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ และเราไม่จำเป็นต้องปิดบัญชีเงินฝากของธนาคารอื่น ๆ ที่มีอยู่

8. ไม่สะดวกไปลงทะเบียนเองจะให้คนอื่นมาลงทะเบียนแทนได้ไหม ?

          กรณีเป็นผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ ผู้ป่วย หรือผู้พิการ สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นมาลงทะเบียนแทนได้ โดยผู้ลงทะเบียนต้องกรอกข้อมูลในแบบฟอร์มและลงนามด้วยตนเอง แล้วจึงมอบอำนาจให้ผู้อื่นมายื่นแบบฟอร์มที่หน่วยรับลงทะเบียน และต้องใช้หลักฐานดังนี้

ลงทะเบียนคนจน
ภาพจาก epayment.go.th

9. ดาวน์โหลดแบบฟอร์มลงทะเบียนคนจนได้ที่เว็บไซต์อะไร ?

          สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มลงทะเบียนคนจน และหนังสือมอบอำนาจได้ตามลิงก์ต่อไปนี้

          - แบบฟอร์มลงทะเบียนคนจน 
          - แบบฟอร์มหนังสือมอบอำนาจ 
          - ตัวอย่างการกรอกแบบฟอร์มลงทะเบียนคนจน 

10. ทำไมต้องให้เลือกอาชีพเพียงอย่างเดียว ?

          การกำหนดให้เลือกอาชีพที่เป็นอาชีพหลักเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะต้องการจัดกลุ่มผู้ลงทะเบียนให้เป็นระบบเพื่อประโยชน์ในการจัดสรรสวัสดิการในอนาคต นอกจากนี้ ถ้าให้มีการระบุได้ตั้งแต่ 2 อาชีพขึ้นไป เช่น ลงว่าเป็น ลูกจ้างและเกษตรกร เป็นต้น ในอนาคตอาจเกิดปัญหาการตีความได้

ลงทะเบียนคนจน

11. ข้อมูลทรัพย์สินทางการเงินใช้วันใด ?

          เงินฝากทุกบัญชี สลากออมสิน สลาก ธ.ก.ส. พันธบัตร ตราสารหนี้ จะดูยอดรวม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 โดยจะประสานไปยังธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงินจากประชาชน

12. เมื่อกรอกข้อมูลเสร็จแล้วต้องทำอย่างไร ?

          สามารถนำแบบฟอร์มพร้อมหลักฐานไปยื่นที่หน่วยรับลงทะเบียนได้ทุกแห่ง โดยมีขั้นตอนคือ

          1) แสดงบัตรประชาชนตัวจริงแบบ Smart Card เนื่องจากบัตรสวัสดิการที่จะออกให้จำเป็นต้องมีรูปบนบัตรและต้องเป็นรูปเดียวกันกับหน้าบัตรประชาชน แต่หากผู้ลงทะเบียนยังไม่มีบัตรแบบ Smart Card สามารถทำบัตรประชาชนใหม่ได้ที่สำนักงานเขตและที่ว่าการอำเภอ หรือโทร. ติดต่อ Call Center 1548 ของกรมการปกครอง จะมีชุดเคลื่อนที่ไปทำบัตรใหม่ให้ถึงบ้านทุกจังหวัด

          2) ยื่นแบบฟอร์มที่กรอกข้อมูลครบถ้วนและผ่านการตรวจทานแล้วต่อเจ้าหน้าที่ โดยพนักงานจะกรอกแบบฟอร์มออนไลน์เข้าระบบให้

          3) ตรวจสอบข้อมูลที่พนักงานกรอกให้ถูกต้อง ชัดเจน ครบถ้วน และลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน เจ้าหน้าที่จะออกเอกสารเพื่อยืนยันการลงทะเบียนให้ผู้ลงทะเบียนเก็บไว้เป็นหลักฐาน และใช้อ้างอิงในกรณีที่มีปัญหาภายหลัง

ลงทะเบียนคนจน

13. ตรวจสอบได้อย่างไรว่าดำเนินการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว

          ในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2560 สามารถเข้าไปตรวจสอบการลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ epayment.go.th โดยกรอกหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน

          - หากลงทะเบียนเรียบร้อย ระบบจะแจ้งผลว่า "ท่านได้ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว"

          - หากระบบแจ้งผลว่า "ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียน" ให้ผู้ลงทะเบียนนำหลักฐานที่หน่วยรับลงทะเบียนออกให้ ซึ่งจะมีลายเซ็นของเจ้าหน้าที่ในเอกสารว่าได้มีการลงทะเบียนแล้ว ไปติดต่อหน่วยงานที่รับลงทะเบียนเดิมเพื่อขอตรวจสอบและลงทะเบียนใหม่ได้ภายในช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งกระทรวงการคลังจะประกาศอีกครั้งหนึ่ง

14. ขอแก้ไขข้อมูลที่ลงทะเบียนแล้วได้หรือไม่ ?

          สามารถแก้ไขได้ในช่วงการรับลงทะเบียน (ระหว่างวันที่ 3 เมษายน - 15 พฤษภาคม 2560) โดยไปติดต่อหน่วยรับลงทะเบียนเดิมที่ได้ลงทะเบียนไว้ เพื่อขอแก้ไขข้อมูลได้ โดยไม่ต้องกรอกแบบฟอร์มใหม่ทั้งหมด แต่ต้องมีการลงลายมือชื่อกำกับทุกที่ที่มีการแก้ไขข้อมูล ทั้งนี้ ระบบการประมวลผลจะเลือกใช้ข้อมูลที่ลงทะเบียนล่าสุดเท่านั้น

15. ลงทะเบียนคนจน 2560 จะได้รับสวัสดิการอะไรบ้าง ?

          กระทรวงการคลังยืนยันชัดเจนว่า การลงทะเบียนคนจนในปี 2560 จะไม่มีการแจกเงิน 1,500-3,000 บาทเหมือนปี 2559 แต่จะมีการจัดทำบัตรสวัสดิการคนจน เป็นบัตรชิปการ์ดใช้รูดผ่านเครื่องรับบัตรอัตโนมัติ หรือ อีดีซี ได้ และบัตรนี้ยังนำไปใช้เป็นส่วนลดหรือใช้รับสวัสดิการรัฐ เช่น ส่วนลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารถเมล์ รถไฟ นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มหรือลดสวัสดิการได้ด้วย

          สามารถตรวจสอบสวัสดิการที่จะได้รับได้ที่ เปิดรายละเอียดบัตรคนจน ให้วงเงินเท่าไร ซื้ออะไรได้บ้าง
 
          สำหรับแนวทางการแจกบัตรนั้น จะจ่ายบัตรไปยังจุดรับลงทะเบียน เช่น สาขาธนาคารที่ลงทะเบียน แล้วให้ผู้ลงทะเบียนมารับบัตรเอง แต่ไม่สามารถจ่ายตรงไปที่บ้านผู้รับลงทะเบียนได้ เนื่องจากเกรงว่าบัตรอาจตกหล่นไม่ถึงมือผู้ลงทะเบียน สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ที่ผ่านเกณฑ์ลงทะเบียนคนจนได้ที่ ตรวจสอบรายชื่อผู้มีรายได้น้อย 2560 ได้ที่ไหน เช็กแล้วไม่มีชื่อลงทะเบียนคนจน ทำไงดี ?

          ส่วนสวัสดิการอื่น ๆ เพิ่มเติมนั้น สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐซึ่งจะแจ้งให้ทราบต่อไป

          ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการลงทะเบียนคนจนสามารถสอบถามได้ที่สายด่วน สศค. 1359 ในเวลาราชการ

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
epayment.go.th, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารออมสิน, ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐฯ สายด่วน 1111
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลงทะเบียนคนจน 2560...เจาะ 15 คำถามยอดฮิตที่หลายคนสงสัย ! อัปเดตล่าสุด 27 กันยายน 2560 เวลา 17:42:00 164,432 อ่าน
TOP
x close