เกษียณไม่ใช่เรื่องไกลตัว รู้ก่อน เตรียมก่อน สบายกว่า !

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

          ประหยัดภาษี มีเงินเกษียณ ด้วยการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญ
   
          ขอย้ำกันตรงนี้อีกครั้งว่าเกษียณไม่ใช่เรื่องไกลตัว แม้บางคนอาจจะเพิ่งเรียนจบ หรือเริ่มงานได้ไม่นาน แต่ไม่ช้าก็เร็ว เราก็ต้องเข้าสู่วัยเกษียณอยู่ดี ดังนั้น หากรู้จักเตรียมตัวไว้ล่วงหน้าก็จะดี เพราะของแบบนี้ เริ่มก่อน สบายกว่า โดย 2 เครื่องมือยอดฮิตที่คนมักใช้เป็นตัวช่วยสำหรับเตรียมเงินเพื่อวัยเกษียณคือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และประกันบำนาญ แต่ควรจะเลือกแบบไหนดีกว่ากัน วันนี้ K-Expert ได้รวบรวมข้อดี-ข้อต่างของ RMF และประกันบำนาญมาให้เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจกัน
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

ประกันบำนาญ…คุ้มครองชีวิตเพิ่มความมั่นคง
       
          ประกันบำนาญเป็นประกันชีวิตรูปแบบหนึ่งที่ส่งเสริมให้ผู้ทำประกันมีเงินไว้ใช้จ่ายยามเกษียณ ซึ่งประกันบำนาญที่มีความคุ้มครองชีวิตตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป สามารถนำเบี้ยประกันที่จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้ โดยนอกจากจะสามารถนำค่าเบี้ยประกันบำนาญไปลดหย่อนภาษีในวงเงินเดียวกันกับประกันชีวิตทั่วไปเป็นจำนวน 100,000 บาทต่อปีแล้ว ยังสามารถลดหย่อนเพิ่มได้อีก 200,000 บาท
          ทั้งนี้ วงเงินที่ใช้สิทธิเพิ่มได้อีก 200,000 บาทนั้น ต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี และเมื่อรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งประกันบำนาญมีความน่าสนใจดังนี้
 
- สร้างรายได้สม่ำเสมอหลังเกษียณ

          ประกันบำนาญมีเงื่อนไขการจ่ายเงินคืนเป็นเงินบำนาญรายงวดให้แก่ผู้ทำประกัน เมื่อผู้ทำประกันมีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป จนถึงอายุไม่ต่ำกว่า 85 ปี เช่น ประกันบำนาญ ชำระเบี้ยประกัน 5 ปี ได้รับเงินบำนาญทุกปี ตั้งแต่อายุ 55-85 ปี ทำให้ผู้ทำประกันมั่นใจได้ว่า จะมีเงินใช้จ่ายอย่างแน่นอนในช่วงวัยเกษียณ ทั้งนี้ ประกันบำนาญจะไม่มีการจ่ายเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ก่อนเริ่มจ่ายเงินบำนาญ ยกเว้นกรณีเสียชีวิตเท่านั้น

- คุ้มครองชีวิตตลอดสัญญา


          การทำประกันบำนาญนอกจากจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ทำประกันว่าจะมีเงินใช้จ่ายอย่างสม่ำเสมอในยามเกษียณแล้ว ยังสร้างความอุ่นใจว่าจะได้รับความคุ้มครองชีวิตตลอดสัญญาทั้งก่อนและหลังรับเงินบำนาญ โดยหากผู้ทำประกันเสียชีวิตระหว่างการจ่ายเบี้ยประกัน หรือก่อนรับเงินบำนาญจากบริษัทฯ เงินที่ทายาทได้รับจะเป็นไปตามที่กรมธรรม์กำหนด

          เช่น ทำประกันโดยมีจำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000,000 บาท โดยปีกรมธรรม์ที่ 1 คุ้มครอง 200% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย หากผู้ทำประกันเสียชีวิตในปีกรมธรรม์ที่ 1 ทายาทหรือผู้รับประโยชน์จะได้รับเงินจากบริษัทฯ 2,000,000 บาท ทั้งนี้ หากผู้ทำประกันเสียชีวิตช่วงรับเงินบำนาญ จะได้รับความคุ้มครองเท่ากับเบี้ยประกันภัยสะสมที่ชำระไว้แล้ว ลบด้วย เงินบำนาญสะสมที่รับไปแล้ว ดังนั้น ความคุ้มครองชีวิตจึงเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาทำประกันบำนาญ โดยเฉพาะคนที่เป็นเสาหลักของครอบครัว

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)…ลงทุนเพิ่มความมั่งคั่ง

          กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เป็นกองทุนรวมที่ผู้เสียภาษีสามารถนำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15% ของเงินได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันบำนาญ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท นอกจากนี้ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ยังมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลายให้เราเลือกลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เช่น นโยบายเน้นลงทุนในหุ้น นโยบายลงทุนผสมทั้งหุ้นและตราสารหนี้ นโยบายเน้นลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งการลดหย่อนภาษีด้วยกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มีความน่าสนใจดังนี้

- เพิ่มความมั่งคั่ง

          ขึ้นชื่อว่าการลงทุนย่อมมีความเสี่ยงตามมา ยิ่งเสี่ยงสูง ก็ยิ่งมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูง แต่ต้องยอมรับโอกาสขาดทุนด้วยเช่นกัน ดังนั้น หากลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ย่อมมีโอกาสสร้างความมั่งคั่ง หรือได้รับผลตอบแทนที่สูงมากกว่าการทำประกันชีวิต เมื่อเปรียบเทียบระหว่างเงินที่จ่ายสำหรับค่าเบี้ยประกัน กับเงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ด้วยจำนวนเงินที่เท่ากัน หากรับความเสี่ยงได้ แล้วเลือกลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่มีความเสี่ยงปานกลาง

          เช่น ลงทุนผสมในหุ้นและตราสารหนี้ ซึ่งมีโอกาสได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 5-7% ต่อปี หรือเลือกลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เน้นลงทุนในหุ้น ซึ่งมีโอกาสได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 8-12% ต่อปี เมื่อถึงวันเกษียณ ก็มีโอกาสมีเงินไว้ใช้จ่ายเพื่อเกษียณได้มากกว่าการทำประกันบำนาญ ทั้งนี้ การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่มีความเสี่ยงสูง ต้องยอมรับโอกาสที่เงินลงทุนจะลดลงเมื่อเทียบกับประกันบำนาญที่เรารู้จำนวนเงินที่จะได้รับแน่นอน

- ยืดหยุ่นในการลดหย่อนภาษี

          โดยปกติ ประกันชีวิตมีเงื่อนไขที่ต้องชำระเบี้ยประกันในจำนวนที่เท่ากันตลอดอายุสัญญา ประกันบำนาญก็เช่นกัน ด้วยเงื่อนไขการชำระเบี้ยดังกล่าวทำให้ประกันบำนาญอาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีรายได้ไม่แน่นอน หรือมีภาระค่าใช้จ่ายเยอะ เช่น กำลังผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือเก็บเงินเพื่อเป้าหมายอื่น ในขณะที่การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มีความยืดหยุ่นมากกว่า โดยเราสามารถเว้นไม่ซื้อหน่วยลงทุนได้ (แต่เว้นไม่เกิน 1 ปี) หรือปรับลดเงินลงทุนในแต่ละปีได้ ขอเพียงลงทุนขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ หรือ 5,000 บาท แล้วแต่ว่าจำนวนใดจะน้อยกว่า

          จะเห็นได้ว่า ทั้งประกันบำนาญ และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ต่างก็มีวัตถุประสงค์ที่เหมือนกันคือ ส่งเสริมให้มีการเก็บออมเพื่อเป็นเงินใช้จ่ายในยามเกษียณ โดยแนะนำว่า คนที่ต้องการลดหย่อนภาษี พร้อมเก็บเงินเกษียณไปด้วยกัน ควรมีทั้งประกันบำนาญ และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพื่อรับความคุ้มครองชีวิตจากประกันบำนาญ และเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) นั่นเอง

(อ่านเพิ่มเติม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืออะไร)

K-Expert Action

          - เริ่มลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อให้มีเงินไว้ใช้ยามเกษียณอย่างเพียงพอ
          - ศึกษารายละเอียดเงื่อนไขของประกันบำนาญที่สนใจก่อนตัดสินใจทำประกัน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เกษียณไม่ใช่เรื่องไกลตัว รู้ก่อน เตรียมก่อน สบายกว่า ! อัปเดตล่าสุด 26 ตุลาคม 2564 เวลา 17:38:02 8,881 อ่าน
TOP
x close