x close

LTF-RMF ซื้อเท่าไรให้คุ้มที่สุด พร้อมโปรแกรมคำนวณภาษี

กองทุน LTF RMF

          การลองคำนวณภาษีด้วยตัวเอง เป็นวิธีที่ช่วยให้เราสามารถซื้อกองทุน LTF/RMF ได้คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น
 
          ทุกคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่ากองทุน LTF และ RMF เป็นวิธีที่หลายคนนิยมใช้เพื่อลดหย่อนภาษี และเป็นการออมระยะยาวที่มีโอกาสรับผลตอบแทนสูง แต่สิ่งที่หลายคนยังไม่ทราบก็คือควรจะซื้อ LTF และ RMF เท่าไรดี ถึงจะเรียกว่าคุ้มค่า วันนี้ K-Expert  มีคำตอบมาฝากกัน

          ก่อนอื่นเรามาทบทวนเงื่อนไขการลงทุนในกองทุนแต่ละประเภทกันก่อน

          - กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เป็นกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นเป็นหลัก สามารถลงทุนได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของรายได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 500,000 บาท

          - กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เป็นกองทุนที่เหมาะกับการเก็บออมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ มีนโยบายลงทุนหลากหลายตั้งแต่ ตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ หรือทองคำ โดยสามารถลงทุนได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี และเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และประกันบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
(กองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืออะไร อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)
กองทุน LTF RMF

          สำหรับคำถามยอดฮิตที่ว่า ซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีเท่าไรถึงจะคุ้มนั้น ขึ้นอยู่กับรายได้ของแต่ละบุคคล ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กรณีด้วยกัน ดังนี้

          - กรณีแรก สำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่สูงมากนัก แต่ต้องการลงทุนเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีและได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนอย่าง เต็มที่ ในกรณีนี้ การลงทุนซื้อ LTF และ RMF เต็มสิทธิคงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก เพราะอาจไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ทั้งหมด

          เช่น หากเรามีเงินเดือน 25,000 บาท รายได้ทั้งปีจะเท่ากับ 300,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนส่วนตัว 90,000 บาท รวมถึงหักประกันสังคม 9,000 บาท ออกไปแล้ว จำนวนรายได้ที่ต้องนำมาคำนวณภาษีอยู่ที่ 201,000 บาท โดยรายได้ในส่วน 150,000 บาทแรกนั้น จะได้รับการยกเว้นภาษี ดังนั้น จะเหลือยอดเงินจริงที่นำมาคำนวณภาษีเพียง 51,000 บาทเท่านั้น

          ดังนั้น หากลงทุนซื้อ LTF และ RMF แบบเต็มสิทธิ ที่กองทุนละ 15% ของรายได้ทั้งปี จะต้องใช้เงินถึง 90,000 บาท แต่ส่วนที่สามารถใช้สิทธิได้อยู่ที่ 51,000 บาทเท่านั้น (ศึกษาเพิ่มเติมในตารางที่ 1) ฉะนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนควรตรวจสอบให้ดีก่อนว่า รายได้ที่จะถูกนำมาคำนวณภาษีนั้นเป็นเงินเท่าไร จะได้ซื้อกองทุน LTF และ RMF เพื่อลดหย่อนภาษีได้อย่างเหมาะสมนั่นเอง

          ตาราง 1 : จำนวนเงินที่เสียภาษีสำหรับผู้มีรายได้เดือนละ 25,000 บาท หรือรายได้ทั้งปี 300,000 บาท

กองทุน LTF RMF
 
          - กรณีที่ 2 สำหรับผู้ที่มีรายได้สูง และต้องเสียภาษีในฐานที่สูง แต่ไม่ต้องการลงทุนซื้อ LTF และ RMF แบบเต็มสิทธิ การลงทุนซื้อ LTF และ RMF เพียงแค่บางส่วนเพื่อให้รายได้ที่ต้องเสียภาษีในฐานที่สูงของเรานั้นลดลงไป ถือเป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจเช่นกัน

          ยกตัวอย่างเช่น หากเรามีเงินเดือน 100,000 บาท หรือมีรายได้ทั้งปีเท่ากับ 1,200,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนส่วนตัว 90,000 บาท รวมถึงหักประกันสังคม 9,000 บาท ออกไปแล้ว จะเหลือรายได้ที่นำมาคำนวณภาษีอยู่ที่ 1,101,000 บาท ซึ่งจะอยู่ในฐานภาษีสูงสุดถึง 25% โดยที่จำนวนเงินที่ต้องเสียภาษี 25% นั้นอยู่ที่ 101,000 บาท (ศึกษาเพิ่มเติมในตารางที่ 2) ซึ่งถ้าเราต้องการประหยัดภาษีในส่วนนี้ ก็ทำได้ไม่ยาก เพียงลงทุนในกองทุน LTF และ RMF รวมกัน 101,000 บาท ก็จะช่วยประหยัดภาษีได้ถึง 25,250 บาทเลยทีเดียว

          ตาราง 2 : จำนวนเงินที่เสียภาษีสำหรับผู้มีรายได้เดือนละ 100,000 บาท หรือรายได้ทั้งปี 1,200,000 บาท
 
กองทุน LTF RMF

          ถึงตอนนี้เชื่อว่าหลายคนน่าจะพอเห็นภาพแล้วว่าควรจะลงทุนซื้อ LTF และ RMF เท่าไร ถึงจะคุ้มค่าที่สุด โดยสามารถคำนวณภาษีด้วยตัวเองได้ง่าย ๆ ไม่ยุ่งยากจากโปรแกรม K-Expert Tax Buddy ซึ่งสามารถ Download ได้ที่ k-expert.askkbank.com


K-Expert Action

          • ลองคำนวณดูว่า เราจะเสียภาษีเป็นเงินเท่าไร และฐานภาษีอยู่ที่ฐานใด เพื่อช่วยให้ซื้อกองทุน LTF/RMF ได้คุ้มค่ามากขึ้น
          • ลงทุนกองทุน LTF/RMF เป็นประจำทุกเดือนแบบ Dollar Cost Averaging (DCA) จะช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
LTF-RMF ซื้อเท่าไรให้คุ้มที่สุด พร้อมโปรแกรมคำนวณภาษี อัปเดตล่าสุด 26 ตุลาคม 2564 เวลา 17:42:27 28,009 อ่าน
TOP