x close

ภาษี…ลดหย่อนให้ดีก็มีเงินเหลือ

ลดหย่อนภาษี

          เช็กสิทธิลดหย่อนภาษีที่มีก่อนซื้อกองทุน LTF RMF และประกัน เพื่อลดหย่อนภาษีได้อย่างคุ้มค่าและมีเงินเหลือ

          เข้าสู่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีแบบนี้ สิ่งที่หลายคนคิดถึงคงจะเป็นเรื่องไหนไปไม่ได้นอกจากเรื่องการลดหย่อนภาษี โดยเฉพาะการลงทุนในกองทุน LTF/RMF และการซื้อประกัน วันนี้ K-Expert มีคำแนะนำมาฝาก ว่าควรจะใช้สิทธิอย่างไรให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่และมีเงินเหลือ
ลดหย่อนภาษี

          เช็กสิทธิลดหย่อนให้ครบ

          ก่อนที่จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีผ่านกองทุน LTF/RMF และประกัน แนะนำให้เช็กสิทธิลดหย่อนภาษีที่มีอยู่ก่อน ซึ่งหลายคนอาจหลงลืมไม่ได้นำมาใช้สิทธิ เช่น

          • ดอกเบี้ยบ้าน สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

          • เงินค่าซื้อบ้านหลังแรกซึ่งมีราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท สามารถนำ 20% ของราคาบ้านมาเฉลี่ยหักลดหย่อนภาษีได้เป็นเวลา 5 ปี คือลดหย่อนภาษีได้ปีละ 4% ของราคาบ้านเป็นเวลา 5 ปี

          • ค่าโรงแรมและแพ็กเกจทัวร์ในไทย หากซื้อแพ็กเกจทัวร์ หรือพักโรงแรมในไทยซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–31 ธันวาคม 2559 ก็สามารถนำใบเสร็จมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15,000 บาท

          • ค่าอาหารและท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ โดยสามารถนำค่าอาหารและเครื่องดื่มที่จ่ายให้กับร้านอาหาร ค่าแพ็กเกจทัวร์ และค่าโรงแรมในไทยที่จ่ายให้กับผู้ประกอบการที่จดภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 9-17 เมษายน 2559 มาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15,000 บาท

          • เงินบริจาค สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 10% ของรายได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ หากบริจาคให้วัด สาธารณกุศลทั่วไป ลดหย่อนได้ 1 เท่า หรือหากบริจาคเพื่อการศึกษา สามารถลดหย่อนได้ 2 เท่า

ลดหย่อนภาษี

          ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีให้คุ้มค่าที่สุด

          พูดถึงการลดหย่อนภาษีด้วยกองทุน LTF/RMF ประกันชีวิต และประกันบำนาญ หากถามว่าควรใช้สิทธิอย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด หลายคนมักตอบว่า ใช้ให้เต็มสิทธิ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว บางคนอาจไม่จำเป็นต้องลดหย่อนภาษีให้เต็มสิทธิ เพราะอาจไม่คุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบระหว่างประโยชน์ทางภาษีกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการลงทุนและสภาพคล่องทางการเงินที่น้อยลง ดังนั้น การใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเพื่อให้ฐานภาษีของเราลดลง เช่น จากฐานภาษี 20% เป็น 15% ถือเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เราใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้คุ้มค่ามากขึ้น นอกจากนี้ ในการเลือกเครื่องมือเพื่อใช้ลดหย่อนภาษีให้เหมาะกับตัวเรานั้น ควรพิจารณาจากวัตถุประสงค์ ไม่ควรดูจากการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเพียงอย่างเดียว โดย 

          • กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เหมาะกับคนที่รับความเสี่ยงในการลงทุนได้สูง เพราะกองทุน LTF มีนโยบายลงทุนในหุ้นจึงทำให้ราคาของหน่วยลงทุนขึ้นลงผันผวนสูง และในระหว่างที่ลงทุน ราคาของหน่วยลงทุนมีโอกาสปรับตัวลงมาต่ำกว่าต้นทุนของเราได้ จากความเสี่ยงในการลงทุนที่สูง และระยะเวลาในการลงทุนที่นานถึง 7 ปฏิทิน หรือประมาณ 5 ปีกว่านั้น คนที่จะลงทุนในกองทุน LTF ควรมีฐานภาษีที่สูง 15% ขึ้นไป เพราะจะได้รับประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีเฉลี่ยปีละประมาณ 3% อย่างน้อยก็ไม่แพ้เงินเฟ้อ แต่หากฐานภาษีต่ำกว่านี้ จะไม่ได้รับประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีมากนัก

          • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เหมาะกับคนที่ต้องการวางแผนเกษียณอายุ เพราะกองทุน RMF มีเงื่อนไขที่ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี (เว้นได้อย่างมาก 1 ปี) โดยจะขายได้ก็ต่อเมื่อมีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป และลงทุนในกองทุน RMF ก้อนแรกอย่างน้อย 5 ปี จากการที่การลงทุนในกองทุน RMF เป็นการลงทุนระยะยาว จึงอาจจะยังไม่เหมาะกับคนที่อยู่ในวัยเริ่มทำงาน ซึ่งมีภาระค่าใช้จ่ายอย่างค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับรายได้ กองทุน RMF จึงเหมาะสำหรับคนที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ซึ่งมีรายได้มากพอที่จะลงทุนในกองทุน RMF ไปจนถึงอายุ 55 ปี  

          • ประกันชีวิต เหมาะกับคนที่ต้องการความคุ้มครองชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นเสาหลักของครอบครัว ซึ่งหากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เงินจากกรมธรรม์จะช่วยให้คนในครอบครัวสามารถปรับตัวรับกับเหตุการณ์ร้ายได้ แนะนำว่าควรทำประกันชีวิตโดยมองเรื่องความคุ้มครองชีวิตเป็นหลัก ส่วนเบี้ยประกันที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ อยากให้มองว่าเป็นผลพลอยได้จากการทำประกัน โดยควรมีวงเงินความคุ้มครองชีวิตอย่างน้อย 3 เท่าของรายได้ต่อปี ในเบื้องต้นแนะนำให้ทำประกันชีวิตแบบตลอดชีพซึ่งมีค่าเบี้ยไม่สูงมาก เพื่อเน้นความคุ้มครองชีวิต แต่หากต้องการเก็บออมเงินเพิ่มเติมไปด้วย ก็สามารถทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ได้

          • ประกันบำนาญ เหมาะกับคนที่อยากมีเงินไว้ใช้ในวัยเกษียณ พร้อมกับได้รับความคุ้มครองชีวิต โดยจุดเด่นของประกันบำนาญคือ การจ่ายเงินบำนาญให้กับผู้ทำประกันทุกปีหลังเกษียณตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ เช่น จ่ายเงินบำนาญให้ทุกปีเมื่อผู้ทำประกันมีอายุ 60 ปี โดยจ่ายให้ถึงอายุ 90 ปี ทำให้มั่นใจได้ว่า ในช่วงเกษียณอายุจะได้รับเงินมาใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง

          จะเห็นว่า กองทุน LTF/RMF ประกันชีวิต และประกันบำนาญ ไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่การลดหย่อนภาษีเท่านั้น แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้บริหารเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันความเสี่ยงด้วยประกันชีวิต การวางแผนเกษียณด้วยกองทุน RMF และประกันบำนาญ รวมถึงการเพิ่มมูลค่าให้กับเงินลงทุนด้วยกองทุน LTF ดังนั้น แม้ว่าจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจนเต็มสิทธิแล้ว ก็สามารถลงทุนในกองทุนรวมเพื่อเพิ่มความมั่งคั่ง และทำประกันชีวิตเพื่อเพิ่มความคุ้มครองชีวิตให้กับตัวเราเองได้

          K-Expert Action

          • เช็กสิทธิลดหย่อนภาษีที่มีทั้งหมด และเก็บรวบรวมเอกสารหลักฐานไว้เตรียมยื่นภาษีช่วงต้นปี
          • ศึกษารายละเอียดเงื่อนไขของกองทุน LTF/RMF ประกันชีวิต และประกันบำนาญ ให้เข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุนหรือทำประกัน 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภาษี…ลดหย่อนให้ดีก็มีเงินเหลือ อัปเดตล่าสุด 25 ตุลาคม 2559 เวลา 16:53:51 8,981 อ่าน
TOP