รัฐบาลเดินหน้ากองทุนการออมแห่งชาติ ดีเดย์ 18 ส.ค.นี้ เผย หวังดูแลคนไทยในวัยเกษียณที่ไม่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญ 30 ล้านคน
วันนี้ (19 กรกฎาคม 2558) พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้า การจัดตั้ง กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ว่า ขณะนี้การจัดเตรียมระบบรองรับใกล้สมบูรณ์พร้อมให้บริการแล้ว โดยในวันที่ 18 สิงหาคมที่จะถึงนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นผู้รับสมัครสมาชิกรายแรกของกองทุนด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ กองทุนการออมแห่งชาติ เป็นนโยบายของรัฐบาลเพื่อส่งเสริมให้ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระหรืออยู่นอกระบบบำเหน็จบำนาญของรัฐ หรือกองทุนเอกชนที่มีนายจ้างจ่ายสมทบแล้ว คาดว่าน่าจะมีอยู่ 30 กว่าล้านคน ได้ออมเงินเพื่อใช้ในยามเกษียณ โดยภาครัฐจะช่วยจ่ายสมทบให้ส่วนหนึ่ง และเมื่อผู้ออมมีอายุครบ 60 ปี ก็จะได้รับเงินบำนาญเป็นรายเดือนตลอดชีพ ถือว่าเป็นการสร้างหลักประกันให้กับชีวิตในยามที่ไม่มีรายได้ประจำ และเป็นส่วนหนึ่งของการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถสมัครเป็นสมาชิกกองทุนได้ที่ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยใช้หลักฐานเพียงบัตรประชาชนอย่างเดียวเท่านั้น
พล.ต. สรรเสริญ กล่าวต่อว่า หากออมและออมในอัตราสูง ก็จะได้รับเงินบำนาญมากขึ้นตามสัดส่วน อาทิ ออมเดือนละ 1,000 บาท หากเริ่มออมตั้งแต่อายุ 20 ปี เมื่อเกษียณ ก็จะได้เงินบำนาญพร้อมเบี้ยเลี้ยงชีพรวม 7,000 บาทเศษต่อเดือน และหากเริ่มออมตอนอายุ 30 ก็จะได้เงินบำนาญ 4,441 บาทต่อเดือน เป็นต้น
สำหรับผู้ที่จะเข้าสมัครเป็นสมาชิก กอช. สามารถสมัครได้ตั้งแต่อายุ 15-60 ปี ครอบคลุมผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น เกษตรกร ค้าขาย รับจ้างทั่วไป คนขับรถแท็กซี่ แม่บ้าน สถาปนิก แพทย์ ทนายความ ลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างชั่วคราว นักการเมือง (ส.ส.) นักการเมืองท้องถิ่น นักเรียน นิสิต นักศึกษา ฯลฯ โดยสมาชิกต้องไม่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญภาครัฐหรือภาคเอกชนหรือกองทุนตามกฎหมายอื่น ซึ่งได้รับเงินสมทบจากรัฐหรือนายจ้างอยู่แล้ว ซึ่งส่งเงินสะสมขั้นต่ำได้ตั้งแต่ 50 บาท แต่เมื่อรวมกันแล้วไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี โดยเงินที่สะสมนี้จะได้รับดอกเบี้ยด้วย
การสมทบจากภาครัฐจะเพิ่มตามสัดส่วนอายุ ได้แก่
1. สมาชิกอายุตั้งแต่ 15 ปี แต่ไม่เกิน 30 ปี รัฐสมทบร้อยละ 50 ของเงินสะสม แต่สูงสุดไม่เกิน 600 บาทต่อปี
2. อายุ 30 ปี แต่ไม่เกิน 50 ปี รัฐสมทบให้ร้อยละ 80 แต่สูงสุดไม่เกิน 960 บาทต่อปี
3. อายุ 50 ปีขึ้นไป รัฐสมทบร้อยละ 100 แต่สูงสุดไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี
ภาพจาก สปริงนิวส์
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก