x close

5 ภาษีที่คนไทยต้องจ่าย ! รู้ไว้จะได้เตรียมตัว




5 ภาษีที่คนไทยต้องจ่าย

           ถ้าพูดเรื่องภาษีหลายคนคงโอดครวญไม่อยากจ่าย แต่ก็รู้กันดีกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วต่างก็เก็บภาษีกันในอัตราที่สูง ๆ ทั้งนั้น เพราะภาษีเป็นช่องทางให้รัฐมีเงินมาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ทั้งยังลดปัญหาหลายอย่าง ทั้งเรื่องมลพิษ สุขภาพอนามัย ชีวิตความเป็นอยู่ หรือความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ซึ่งในขณะนี้เมืองไทยของเราก็มีการปรับโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่แบบจริงจัง หลังจากที่ค้างคามาหลายปี ถ้าอย่างนั้นก็มาดูกันดีกว่าว่ามีภาษีตัวไหนที่กำลังมา แบบที่อาจถูกเรียกเก็บกันได้ถ้วนหน้าทุกคน ว่าแล้วมาดูกันเลยค่ะ

 
1. “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” หนทางกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ

           เริ่มต้นที่ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงอยู่ในขณะนี้ โดยกฎหมายตัวนี้ถูกนำมาทดแทน พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ ที่ใช้กันมานาน เพราะถูกมองว่าไม่เป็นธรรมและไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่่ควร โดยมีจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการกว้านซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไรของคนทุนหนาโดยไม่ทำประโยชน์ จนเกิดผลเสียต่อเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ทั้งยังเพื่อช่วยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งหมายถึงรายได้ที่จะพัฒนาประเทศให้ไม่น้อยหน้าเพื่อนบ้าน โดยกระทรวงการคลังวางแผนกำหนดเพดานจัดเก็บภาษีตัวนี้อยู่ที่

           1. ที่ดินเชิงพาณิชย์ จัดเก็บร้อยละ 2

           2. ที่ดินเพื่ออยู่อาศัย จัดเก็บร้อยละ 0.5

           3. ที่ดินเพื่อการเกษตร จัดเก็บร้อยละ 0.25

           4. ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ขั้นแรกจัดเก็บร้อยละ 0.5 หากไม่ทำประโยชน์จะเพิ่มอีก 1 เท่าทุก 3 ปี แต่สูงสุดไม่เกินร้อยละ 2

           ซึ่งอัตราดังกล่าวนี้จะยกเว้นให้กับที่อยู่อาศัยไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยยังไม่มีข้อสรุปออกมา ซึ่งงานนี้กระทรวงการคลังเชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบอะไรต่อประชาชนมากนัก เพราะจะทยอยเก็บแบบไม่เต็มจำนวนจนกว่าจะครบ 5 ปี และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้จริงภายในอีก 2 ปีข้างหน้า แต่ก็มีหลายเสียงโอดครวญว่าชนชั้นกลางนี่ล่ะที่เสียเปรียบ เพราะทั้งบ้าน คอนโด ที่ราคาเกิน 1 ล้านบาทต้องโดนภาษีกันถ้วนหน้าเลยทีเดียว

2. “ภาษีมรดก” ตัวลดช่องว่างทางสังคม

           นี่ก็เป็นอีกหนึ่งภาษีที่เป็นประเด็น Talk of the Town ในหมู่คนรวย โดยภาษีมรดกหรือที่มีชื่อเรียกเต็ม ๆ ว่า พ.ร.บ. ภาษีการรับมรดกและภาษีการรับให้ เป็นนโยบายที่มีขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนในสังคมไทย ทั้งยังเพิ่มรายได้ให้รัฐ และกระตุ้นการบริโภคอีกด้วย โดยการจัดเก็บจะคำนวณจากผู้ได้รับมรดกที่มีมูลค่ารวมกันเกินกว่า 50 ล้านบาท และเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกินมูลค่าดังกล่าว ซึ่งตัวเลขที่คาดการณ์กันในขณะนี้คือจัดเก็บอยู่ที่ 10% ของส่วนที่เกิน อย่างไรก็ตามตัวเลขก็ยังไม่นิ่งซะทีเดียว ถึงแม้คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเร็ววันนี้ ซึ่งก็ยังคงต้องติดตามข้อสรุปของภาษีตัวนี้กันต่อไป

3. “ภาษี VAT” รายจ่ายของคนอุปโภคเยอะ !

           ภาษีที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยอีกตัวคือภาษี VAT หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ปัจจุบันจัดเก็บกันอยู่ที่ 7% โดยผู้ที่มีหน้าที่จ่ายภาษีตัวนี้ก็ได้แก่ ผู้ประกอบการ ผู้นำเข้า ผู้ผลิต ผู้ให้บริการทั้งหลาย ซึ่งแน่นอนว่าถูกบวกอยู่ในสินค้าและบริการที่เราอุปโภคบริโภคกันอยู่นั่นเอง ซึ่งก็มีข่าวคราวออกมาให้ตื่นเต้นกันอยู่ตลอดว่ารอบปีงบประมาณที่จะมาถึงในเดือนตุลาคมปี 2558 อาจจะมีการปรับ VAT ขึ้นเป็น 8% หรือแม้แต่ 10% ในขณะที่ก็มีเสียงคัดค้านมากมายว่าจะเป็นตัวฉุดให้ประชาชนไม่กล้าใช้จ่าย ซึ่งก็ต้องคอยลุ้นกันอีกทีว่าเมื่อถึงเวลานั้นภาษี VAT จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร

4. “ภาษีรถใหม่” ความใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อม


           ส่วนตัวนี้ต้องบอกว่า เตรียมนับถอยหลังกับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต “รถใหม่” ที่จะมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2559 ได้เลย เพราะจากเดิมที่คำนวณภาษีจาก “ขนาดกระบอกสูบเครื่องยนต์ (CC)” ตอนนี้จะเปลี่ยนเป็น “อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2)” ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นนโยบายที่สนับสนุนให้ผู้ผลิตรถยนต์ออกแบบและพัฒนารถให้ปล่อยก๊าซเสียในระดับที่ต่ำ โดยมีการเปิดเผยว่าการปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ดังกล่าวอาจส่งผลให้ราคารถยนต์ทุกประเภทปรับเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 5% อันเนื่องมาจากผู้ผลิตรถยนต์มีต้นทุนสูงขึ้นในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพื่อให้รถยนต์ผ่านเกณฑ์นั่นเอง เอาเป็นว่าใครมีแพลนจะซื้อรถใหม่ก็เตรียมตัวกันไว้ให้ดี
 
5. “ภาษีบาป” ทางออกของปัญหาสุราและยาสูบ

           มาถึงตัวสุดท้าย กฎหมายภาษีสุราและยาสูบที่ได้ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปแล้ว ตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 และคาดว่ามีผลบังคับใช้ภายในไตรมาสแรกปีนี้ โดยจะเรียกเก็บภาษีจากผู้ผลิตและผู้นำเข้าสุราและยาสูบเพิ่มขึ้นในอัตรา 2% ของภาษีสรรพสามิต ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวจะถูกนำส่งให้กับกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ โดยมีแนวโน้มว่าผู้ผลิตและผู้นำเข้าจะผลักภาระส่วนนี้ไปยังผู้บริโภค ด้วยการปรับขึ้นราคาขายประมาณ 2% ของราคาขายปลีก งานนี้หนุ่มขี้เมาหรือสาวนักสูบก็ต้องมีหวั่น ๆ กันบ้างแน่ ๆ

           นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างภาษีใกล้ตัว เพราะจริง ๆ ยังมีภาษีอีกหลายตัวที่กำลังทยอยปรับและหาข้อสรุปที่ดีที่สุดอยู่ เอาเป็นว่าเตรียมติดตามข่าวสารกันให้ดี ๆ จะได้รับมือเตรียมจ่ายภาษีได้ทัน งานนี้บอกเลยว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบภาษีไทยครั้งใหญ่ ส่วนจะเปลี่ยนแปลงสังคมไทยอย่างได้ผลหรือไม่ก็ต้องมาดูกันอีกทีค่ะ


ติดตามข่าวเศรษฐกิจ การเงิน ภาษี สินเชื่อ บทความการเงินน่ารู้มากมาย



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
5 ภาษีที่คนไทยต้องจ่าย ! รู้ไว้จะได้เตรียมตัว อัปเดตล่าสุด 10 มีนาคม 2558 เวลา 18:42:32 4,205 อ่าน
TOP