x close

ธีระชัย แนะ ประยุทธ์ ผ่าทางตันปิโตรเลียมรอบที่ 21




            ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีคลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โพสต์เฟซบุ๊กแนะ บิ๊กตู่ ประเด็นสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ชี้ ควรเปลี่ยนเป็นระบบแบ่งผลผลิต เร่งแก้กฎที่ทำให้รัฐเสียเปรียบ
          
            เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว "Thirachai Phuvanatnaranubala" ระบุถึงกรณีที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวตอนหนึ่งในที่ประชุมแม่น้ำ 5 สาย เกี่ยวกับกระแสการคัดค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ของรัฐบาลว่า มีแต่คนบอกไม่ให้เปิดประมูล แต่ไม่มีการเสนอทางออกมาให้ด้วย แล้วจะเอาที่ไหนใช้ เนื่องจากประเทศไทยไม่มีบริษัทสำรวจเกี่ยวกับพลังงานทั้งเอกชนและรัฐบาล ทั้งนี้อยากให้รัฐบาลมีแนวทางเรื่องนี้อย่างไรก็ให้ไปคิดกันมา

            ทั้งนี้ นายธีระชัย ได้เสนอแนะตอบคำพูดของพล.อ. ประยุทธ์ ว่า ภาคประชาชนไม่คัดค้านการเปิดสำรวจรอบ 21 แต่ควรเปลี่ยนให้เป็นระบบแบ่งผลผลิต และควรเร่งแก้ไขกฎหมายที่ทำให้รัฐเสียเปรียบ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนระบบอาจทำให้ล่าช้าออกไปบ้าง แต่คาดว่าน่าจะใช้เวลาไม่นาน ซึ่งระหว่างนั้นควรสงวนก๊าซในประเทศเพื่อการผลิตไฟฟ้าเท่านั้น กำหนดให้ปิโตรเคมีนำเข้าช่วยตัวเอง ขณะเดียวกันควรเจรจาซื้อก๊าซทางท่อจากเพื่อนบ้านให้มากที่สุด เพื่อสงวนก๊าซไทยไว้ให้นานที่สุด นอกจากนี้ยังเห็นว่าการนำเข้าพลังงานจากหลายแหล่งไม่เป็นการทำให้เสียความมั่นคงแต่อย่างใด เนื่องจากสามารถนำเข้ามากเท่าไรก็ได้ การให้สัมปทานนั้นจะไม่มีการประมูล แต่ในกรณีมีผู้ยื่นมากกว่า 1 ราย จะดำเนินการด้วยการให้คะแนนเทียบกัน โดยใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งหากรัฐไม่สำรวจเบื้องต้น และไม่แก้ไขระเบียบต่าง ๆ ให้ดีเสียก่อน จะทำให้มีผู้สนใจรายใหม่ ๆ น้อย นอกจากนี้หากกติกาไม่ดีรัฐจะเสียเปรียบ และเสียหายอย่างมาก ดังนั้นตนจึงมองว่าการเปิดสัมปทานนั้นไม่คุ้ม

ดังรายละเอียดต่อไปนี้

            มีรายงานว่า 3 ชั่วโมงที่วงประชุมแม่น้ำ 5 สายนั้น พล.อ. ประยุทธ์ ได้กล่าวในที่ประชุมตอนหนึ่งถึงกรณีกระแสคัดค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ของรัฐบาลว่า

            "มีแต่คนบอกว่าไม่ให้เปิดประมูลแล้วจะเอาที่ไหนมาใช้ บอกแต่ห้ามทำ แต่ไม่มีการเสนอทางออกมาให้ด้วย

            ยิ่งเฉพาะประเทศไทยไม่มีบริษัทที่จะสำรวจเกี่ยวกับพลังงานทั้งเอกชนและรัฐบาลก็ไม่มี แล้วจะให้ทำยังไง ก็ให้ไปคิดกัน" (ผู้จัดการออนไลน์ 7 ก.พ. 58)

            ผมขอตอบท่านนายกฯ ด้วยความเคารพนะครับ

            1. ภาคประชาชนไม่คัดค้านการเปิดสำรวจรอบ 21 นะครับ แต่เห็นว่า

                1.1 ควรเปลี่ยนเป็นระบบแบ่งผลผลิตมากกว่า และ

                1.2 ควรแก้ไขกติกากฎหมายที่รัฐเสียเปรียบก่อน

            2. การเปลี่ยนระบบจะทำให้ล่าช้าออกไปบ้างแต่ไม่นานนัก ระหว่างที่ล่าช้าออกไปนั้น

                2.1 ควรสงวนก๊าซในประเทศให้ประชาชนใช้ผลิตไฟฟ้าเท่านั้น กำหนดให้ปิโตรเคมีนำเข้าช่วยตัวเอง และ

                2.2 ควรเจรจาซื้อก๊าซทางท่อจากเพื่อนบ้านให้มากที่สุด สงวนก๊าซไทยไว้ให้นานที่สุด

            3. การนำเข้าพลังงานกระจายหลายแหล่งไม่ได้ทำให้เสียความมั่นคง และสามารถนำเข้ามากเท่าไรก็ได้

            4. การให้สัมปทานไม่มีการประมูลนะครับ เพียงแต่กรณีมีผู้ยื่นมากกว่า 1 ราย จะมีการให้คะแนนเปรียบเทียบกัน แต่เป็นการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่

            5. หากรัฐไม่สำรวจเบื้องต้นและไม่แก้ไขกติกาต่าง ๆ ก่อน ผู้สนใจรายใหม่จะมีน้อยกว่าที่ควร ประกอบกับกติกาที่เสียเปรียบ จะทำให้รัฐเสียหายมาก ประโยชน์การเปิดสัมปทานไม่คุ้ม  


ภาพจาก เฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala     





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ธีระชัย แนะ ประยุทธ์ ผ่าทางตันปิโตรเลียมรอบที่ 21 อัปเดตล่าสุด 10 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 15:16:28
TOP