x close

EU ลดระดับความสัมพันธ์กับไทย ผลกระทบมีอะไรบ้าง มาดูกัน

EU ธงอียู   

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          EU (Eurpean Union) ลดระดับความสัมพันธ์กับไทยลง จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง ว่าแต่ EU มีประเทศสมาชิกกี่ประเทศ ผลกระทบหลังจากนี้จะส่งผลต่อไทยอย่างไร มาดูกัน

          จากการที่สหภาพยุโรป หรือ EU (Eurpean Union) มีมติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2557 ที่กรุงลักเซมเบิร์ก เรื่องลดระดับความสัมพันธ์กับประเทศไทย ด้วยการระงับการมาเยือนอย่างเป็นทางการ พร้อมไม่ลงนามในกรอบตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือระหว่างกัน (Partnership & Cooperation Agreement; PCA) จนกว่าที่ไทยจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม มติ EU ได้สร้างความหวั่นวิตกว่าจะกระทบทั้งเรื่องความสัมพันธ์ รวมถึงด้านเศรษฐกิจของไทย เพราะล่าสุดมีประชาชนคนไทยบางส่วนแสดงความไม่พอใจกับมติดังกล่าว จึงออกมาเชิญชวนคนไทยด้วยกันร่วมแบนสินค้าที่มาจากประเทศสมาชิก EU จากเหตุการณ์ดังกล่าว มีหลายคนวิตกกังวล พร้อมกับตั้งข้อสงสัย และวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่ไทยจะได้รับจากการลดระดับความสัมพันธ์กับ EU ในด้านต่าง ๆ ดังนี้

วิเคราะห์ผลกระทบจากสถานการณ์ไทย-สหภาพยุโรป ในปัจจุบัน

          เนื่องจากทางสหภาพยุโรป หรือ EU ได้ประกาศลดระดับความสัมพันธ์กับไทยลง ด้วยมาตรการดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นนั้น ผลกระทบในเบื้องต้นคาดว่าน่าจะทำให้การทำข้อตกลงทางการค้า การลงทุนและเศรษฐกิจชะลอตัวออกไป โดยการตัดสินใจนี้ของ EU จะบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาด EU ได้ อย่างไรก็ดี สหภาพยุโรปยังไม่ได้ประกาศมาตรการแซงค์ชั่น (sanction) หรือ การห้ามกระทำธุรกิจและธุรกรรมระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้นในเบื้องต้นกิจการของภาคเอกชนจึงจะยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

          ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB) ได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจลดระดับความสัมพันธ์ของ EU โดยแบ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเอาไว้เป็น 3 ประการ ดังนี้

1. ผลกระทบต่อการส่งออก

          ก่อนอื่นต้องทราบว่าการส่งออกสินค้าของไทยไป EU ในปี 2558 จะได้รับผลกระทบอยู่แล้ว เนื่องจากการได้รับสิทธิ์ GSP (ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร โดยประเทศพัฒนาแล้วให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรแก่สินค้าที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศที่กำลังพัฒนา ด้วยการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีขาเข้าแก่สินค้าที่อยู่ในข่ายได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า) ของไทยกำลังจะสิ้นสุดลงในสิ้นปี 2557 ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาด EU ลดลงจากเดิม และหากมติของสหภาพยุโรปว่าด้วยการจะไม่ลงนามในกรอบตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือระหว่างกันนั้น ครอบคลุมถึงข้อตกลง FTA ด้วย ก็จะทำให้การเจรจารวมทั้งการบังคับใช้ข้อตกลงการค้าเสรีชะลอออกไป ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยต้องเสียภาษีในอัตราปกติ จึงสูญเสียความสามารถด้านการแข่งขันของสินค้าในตลาดยุโรปไปในช่วงระหว่างรอการเจรจา โดยธุรกิจที่น่าจะได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรก คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าและเครื่องประดับ ไก่แปรรูป กุ้งแช่แข็ง และชิ้นส่วนเครื่องจักรอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกยุโรปอันดับต้น ๆ ของไทย

2. ผลกระทบต่อการลงทุน

          ผลกระทบด้านการลงทุนน่าจะยังไม่มากนักในเบื้องต้น เพราะทางสหภาพยุโรปเองก็อยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัวจากพิษเศรษฐกิจ จึงน่าจะจำกัดปริมาณจำนวนเงินลงทุนที่จะไหลเข้ามายังประเทศไทยอยู่แล้ว แต่ในระยะยาวผลกระทบสามารถเกิดขึ้นได้ จากการที่ EU ระงับการลงนามในข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนหรือความร่วมมือระหว่างกัน ส่งผลให้การวางรากฐานความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการลงทุนต้องชะลอออกไป ซึ่งมีผลต่อเม็ดเงินลงทุนในอนาคต

3. ผลกระทบต่อการท่องเที่ยว 

          สำหรับด้านการท่องเที่ยวนั้น ทางทีเอ็มบีประเมินว่าจะไม่ได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากมติลดระดับความสัมพันธ์ของทางสหภาพฯ มีผลบังคับใช้ในระดับราชการเท่านั้น ไม่รวมถึงระดับบุคคลที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย นอกจากนี้ยังพบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศสมาชิก EU ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ยังมีการขยายตัวที่ 6.4% ในขณะที่ภาพรวมการท่องเที่ยวไทยหดตัวลง -5.9% ด้วยซ้ำ แต่อย่างไรก็ดี เราจำเป็นที่จะต้องจับตามองว่าทาง EU จะมีการลดระดับความสัมพันธ์กับไทยลงอีกหรือไม่และด้วยมาตรการใด

          โดยรวมแล้ว ในเบื้องต้นไทยจะยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากมติลดความสัมพันธ์ของ EU ซึ่งทำให้การเจรจาการค้าหรือข้อตกลงต่าง ๆ ประเภทรัฐต่อรัฐ หรือ G2G ชะลอออกไป แต่ผลกระทบจะปรากฏเด่นชัดและมากขึ้นในระยะยาว หากมติที่ว่านี้ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ผู้ประกอบการไทยจึงควรเร่งหาทางปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยการลดต้นทุน เร่งหาตลาดใหม่ทดแทน EU หรือพิจารณาลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่ยังคงได้รับสิทธิ์ GSP เป็นต้น ส่วนทางภาครัฐเองก็ควรเร่งชี้แจงว่าเอกชนจะได้รับผลกระทบในด้านใดจากมติลดความสัมพันธ์นี้บ้าง เพื่อการปรับตัวที่เหมาะสมต่อไป

          ทั้งนี้ จากผลการวิเคราะห์ดังกล่าวก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่า สหภาพยุโรปถือว่ามีอิทธิพลต่อไทยอยู่มากโดยเฉพาะด้านการค้าการส่งออก ถ้าเช่นนั้นลองมาทำความรู้จักกับสหภาพยุโรปกันโดยละเอียด เพื่อเพิ่มความเข้าใจในตัวองค์การระดับชาติขนาดใหญ่นี้ และมองเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงที่ทางสหภาพยุโรปมีต่อไทยกันให้มากขึ้น

          เมื่อวิเคราะห์ถึงผลกระทบจาก EU แล้ว เรามาดูกันว่าประเทศสมาชิก EU มีประเทศอะไรบ้าง ที่ทำให้ไทยได้รับผลกระทบกรอบตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือระหว่างกัน (Partnership & Cooperation Agreement; PCA)

ความเป็นมาสหภาพยุโรป

          สหภาพยุโรป หรือ EU (European Union) ก่อตั้งขึ้นในปี 2536 จากการรวมตัวของ ประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป (European Coal and Steel Community; ECSC) และประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ( European Economic Community; EEC) โดยสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งมี 6 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ลักเซมเบิร์ก และเนเธอแลนด์ การรวมตัวเป็นสหภาพทำให้มีเอกภาพและความเป็นปึกแผ่น เป็นผลประโยชน์อย่างยิ่งทางด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนถึงด้านการเมืองระหว่างประเทศสมาชิกด้วย

          จากจำนวนสมาชิกก่อตั้งเดิม 6 ประเทศ ในปัจจุบันสหภาพยุโรปมีสมาชิกทั้งหมด 28 ประเทศ ประกอบด้วย 21 สาธารณรัฐ 6 ราชอาณาจักร และ 1 ราชรัฐ โดยมีประเทศสมาชิกที่เข้าร่วม ดังนี้ ฝรั่งเศส เบลเยียม เยอรมนี อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร กรีซ โปรตุเกส สเปน ออสเตรีย ฟินแลนด์ สวีเดน ไซปรัส สาธารณรัฐเช็ก เอสโตเนีย ฮังการี ลัตเวีย ลิทัวเนีย มอลตา โปแลนด์ สโลวาเกีย สโลวีเนีย บัลแกเรีย โรมาเนีย และโครเอเชีย

กรอบความร่วมมือของสมาชิกสหภาพยุโรป

      ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปให้ความร่วมมือกันในด้านเศรษฐกิจ ด้วยการรวมตัวเป็นตลาดร่วมหรือซิงเกิลมาร์เก็ต ผ่านการบังคับใช้กฎหมายพื้นฐานตัวเดียวกัน อันทำให้มีอำนาจการต่อรองทางเศรษฐกิจสูงขึ้น โดยยุโรปถือว่ามีอิทธิพลสูงมากต่อตลาดโลก เนื่องจากมีจำนวนประชากรรวมกว่า 500 ล้านคน และยังมีผลิตภัณฑ์มวลรวมของสหภาพฯ คิดเป็นประมาณ 30% ของโลก จึงมีอิทธิพลทั้งเรื่องการส่งออกและนำเข้าสินค้า

      มีพื้นที่พิเศษที่เรียกว่า "เชงเก้น เอเรีย" (Schengen Area) ที่อนุญาตให้ประชาชนของประเทศสมาชิกสามารถเดินทางไปมาถึงกันได้โดยไม่ต้องอาศัยพาสปอร์ต อันเป็นไปตามนโยบายของสหภาพที่รับประกันการเดินทางเคลื่อนย้ายโดยสะดวกของประชาชน สินค้า บริการ ตลอดจนถึงเงินทุนในการดำเนินธุรกิจ

      ตรากฎหมายร่วมกันในกิจการยุติธรรมและมหาดไทย ตลอดจนวางนโยบายการค้า เกษตรกรรม การประมง และการพัฒนาภูมิภาคร่วมกัน

      ในด้านการเงิน สหภาพยุโรปพยายามผลักดันให้เงินสกุล "ยูโร" เป็นเงินสกุลหลักที่ใช้ในประเทศสมาชิก เพื่อสร้างเสถียรภาพและความแข็งแกร่งทางการให้แก่ตลาดซิงเกิลมาร์เก็ตของตน โดยในปัจจุบันมีประเทศสมาชิกที่เงินสกุลยูโรแล้ว 17 ประเทศ

      แม้จะเป็นองค์การระหว่างประเทศ แต่โครงสร้างของสหภาพยุโรปเป็นไปในรูปแบบเหนือประเทศ คือมากกว่าระหว่างรัฐกับรัฐ เพราะไม่เพียงแค่แต่ละชาติจะมารวมตัวกันเท่านั้น แต่ยังมีการร่วมตั้งสถาบันหรือหน่วยงานภายในขึ้นมา ประกอบด้วย สภายุโรป คณะมนตรี คณะกรรมาธิการ และศาลยุติธรรม

ความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรป-ไทย


          ในภาพรวม ไทยให้ความสำคัญกับสหภาพยุโรป เนื่องจากเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและเป็นตลาดขนาดใหญ่ ด้านสหภาพยุโรปเองก็ให้ความสำคัญต่อไทยในฐานะเป็นหุ้นส่วนสำคัญของสหภาพยุโรปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ด้านเศรษฐกิจ


การค้า


          ในช่วงปี 2552-2554 สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทย (รองจากอาเซียน ญี่ปุ่น และจีน) โดยเป็นแหล่งสินค้านำเข้าอันดับที่ 4 และเป็นแหล่งส่งออกสินค้าอันดับที่ 3 โดยประเทศสมาชิกที่เป็นคู่ค้าสำคัญของคือ เยอรมนี สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และอิตาลี

          ทั้งนี้ การเป็นคู่ค้ากับสภาพยุโรปได้ ต้องยอมรับและปฏิบัติตามมาตรการทางการค้าและด้านสิ่งแวดล้อมที่ถือว่าเข้มงวด ตลอดจนมาตรฐานสุขอนามัยที่ทาง EU กำหนดไว้ในระดับสูง โดยประเด็นด้านเศรษฐกิจด้านการค้าที่สำคัญระหว่างไทย-สหภาพยุโรป ได้แก่ มาตรการตรวจเข้มสินค้าผักสดส่งออกจากไทยไป EU, มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดของสหภาพยุโรปที่ใช้กับสินค้าไทยบางชนิด, การต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม,  กฎระเบียบสร้างระบบการค้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับการขนส่งทางอากาศ และการจัดทำความตกลงเพื่อป้องกันปัญหาการค้าไม้ที่ผิดกฎหมาย

การลงทุน

          ในปี 2554 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทยมากเป็นอันดับที่ 4 (รองจากอาเซียน ญี่ปุ่น และจีน) โดยประเทศสมาชิกที่ลงทุนในไทยมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน และฝรั่งเศส ในกิจการประเภทการผลิตพลาสติกและผลิตภัณฑ์เคลือบพลาสติก ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนยานยนต์

การท่องเที่ยว

          ในปี 2554 ไทยมีนักท่องเที่ยวจากยุโรปทั้งหมด (รวมประเทศนอกกลุ่ม EU ด้วย) จำนวน 4.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 25.29 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด โดยนักท่องเที่ยวจากประเทศสมาชิกที่มาท่องเที่ยวมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อังกฤษ เยอรมนี และฝรั่งเศส

การเมือง

          ในภาพรวม ไทยและสหภาพยุโรปมีความสัมพันธ์ที่ดีและราบรื่น จากมุมมองของสหภาพฯ ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว วัฒนธรรม และมีระบอบปกครองแบบประชาธิปไตยซึ่งทางสหภาพฯ ให้ความสำคัญมากในเรื่องนี้

ด้านวิชาการ

          ไทยและสหภาพยุโรป มีความร่วมมือในระดับทวิภาคีผ่านโครงการ Thailand-EC Cooperation Facility (TEC) ซึ่งได้รับงบประมาณจากงบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหภาพยุโรปสำหรับปี 2007-2013 ในหมวด Development Cooperation Instrument ที่เน้นการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแก่ประเทศกำลังพัฒนา ในด้านต่าง ๆ เช่น การขจัดความยากจน การส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

          จะเห็นได้ว่า สหภาพยุโรปเป็นการรวมกลุ่มระดับภูมิภาคที่ใหญ่และก้าวหน้าที่สุดในโลก และมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากต่อทิศทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมระดับโลก ซึ่งไทยเองก็เป็นหน่วยหนึ่งที่ต้องยอมรับว่า EU ได้เข้ามามีบทบาทต่อเศรษฐกิจในประเทศอยู่ไม่น้อย ในขณะที่ EU เองก็ให้ความสำคัญกับไทย ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกที่สำคัญของกลุ่มอาเซียน การเจรจาตกลงใด ๆ กับกลุ่มอาเซียน ไทยจึงมีส่วนสำคัญด้วยเช่นกัน การเป็นไปของมาตรการลดระดับความสัมพันธ์ที่ EU มีต่อไทย ที่จะดำเนินไปจนกว่าไทยจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นจริงเมื่อไร ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องจับตาดูท่าทีต่อไปของสหภาพยุโรปเอาไว้ด้วยว่า จะมีมาตรการใด ๆ ออกมากดดันไทยอีกหรือไม่และจะส่งผลกระทบในด้านไหนกับไทยบ้าง




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
news.thaieurope.net ,   , , eeas.europa.eu,
mfa.go.th ,



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
EU ลดระดับความสัมพันธ์กับไทย ผลกระทบมีอะไรบ้าง มาดูกัน อัปเดตล่าสุด 27 มิถุนายน 2557 เวลา 17:44:06 23,928 อ่าน
TOP