x close

หนี้เสียพุ่ง แบงก์เต้นหวั่นลูกค้าชักดาบ เพิ่มทีมทวงหนี้ - ตรวจเครดิตถี่ยิบ

หนี้เสียพุ่ง แบงก์และไฟแนนซ์แห่งัดกลยุทธ์เพิ่มทีมทวงหนี้

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          หนี้เสียพุ่ง แบงก์และไฟแนนซ์แห่งัดกลยุทธ์เพิ่มทีมทวงหนี้ พร้อมจ้างบริษัททวงหนี้ สกัดลูกค้าชักดาบ เข้มงวดอนุมัติสินเชื่อ ตรวจเครดิตถี่ยิบดูย้อนหลัง 24-36 เดือน

          วันที่ 24 เมษายน 2557 เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ สำรวจการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) หรือหนี้เสีย ของ 11 ธนาคารพาณิชย์ พบว่า ยอดเอ็นพีแอลรวมไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่ 292,392 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเอ็นพีแอลสิ้นปี 2556 อยู่ที่ 277,875 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 14,518 ล้านบาท หรือ 5.2.2% โดยธนาคาร 3 อันดับแรกที่มียอดเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นสูงสุด ได้แก่ ธนาคารเกียรตินาคิน เพิ่มขึ้นที่ 13.72% ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เพิ่มที่ 12.24% และธนาคารกรุงไทย เพิ่มที่ 10%


          นายฐากร ปิยะพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด หรือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเผยว่า จากยอดเอ็นพีแอลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า  บริษัทจึงต้องเพิ่มเข้มงวดในการบริหารจัดการหนี้ ตั้งแต่การอนุมัติสินเชื่อ เนื่องด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว คุณภาพของลูกหนี้มีการปรับตัวลดลง ตั้งแต่กลุ่มเริ่มผิดนัดชำระหนี้ (ค้างชำระตั้งแต่ 30 วัน แต่ไม่เกิน 90 วัน) กลุ่มเป็นเอ็นพีแอลแล้ว (ค้างชำระตั้งแต่ 90 วัน แต่ไม่เกิน 180 วัน) กลุ่มหนี้ตกตะกอน (ค้างชำระเกิน 180 วันขึ้นไป) ถือเป็นการเพิ่ม ขึ้นในทุกหมวด โดยเริ่มเห็นการก่อตัวตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3-4 ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน และคาดอาจถึงสิ้นปี 2557

          นายฐากร กล่าวต่อว่า เดิมทีบริษัทจะตรวจสอบโดยการเช็กข้อมูลเครดิตจากเครดิตบูโร โดยตรวจย้อนหลังเพียง 6-12 เดือน ซึ่งบริษัทจะเพิ่มความเข้มงวดโดยตรวจสอบเป็น 24-36 เดือน และปรับลดภาระหนี้ต่อรายได้จากเกณฑ์ขั้นพื้นฐานลง ส่งผลให้ยอดการปฏิเสธสินเชื่อจากเดิม 50% ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 55-65% อีกทั้ง จะมีการเช็กเครดิต ประวัติการชำระหนี้ พฤติกรรมทางการเงินด้านอื่น ๆ อย่างละเอียดและมีความถี่มากขึ้นสำหรับที่เป็นลูกหนี้แล้ว และบริษัทได้เพิ่มทีมงานเกือบ 150 คน ในฝ่ายติดตามทวงหนี้ เพื่อเข้มงวดในการบริหารจัดการหนี้และดูแลลูกหนี้โดยเฉพาะอีก 20%

          นายฐากร ยังเสนอแนะสำหรับผู้ที่เป็นลูกหนี้ว่า ลูกหนี้ควรคำนึงถึงเครดิตของตัวเองให้มาก และควรชำระหนี้ตรงตามเวลา หรือมีปัญหาทางการเงินต้องปรึกษาสถาบันการเงินทันที ไม่ควรคิดว่าการขาดชำหนี้ 1-2 ครั้ง จะไม่ทำให้ประวัติเครดิตทางการเงินของตนเองเสียหาย เพราะอาจเสี่ยงต่อการกู้ยืมที่จะไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อในครั้งต่อไปได้

          ด้านนายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า บริษัทยังได้ร่วมกับบริษัท บัตรกรุงไทย หรือเคทีซี (บริษัทลูก) ทำการติดตามทวงหนี้สินเชื่อรายย่อยที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ด้วยการตั้งทีมติดตามทวงหนี้ เพื่อเพิ่มคุณภาพและกระจายงานการติดตามทวงหนี้อย่างครอบคลุม ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เอ็นพีแอลของธนาคารในอีก 2 ปีข้างหน้ามีการปรับตัวลดลง อีกทั้งผลกระทบจากการเมืองที่ยืดเยื้อ และภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ที่เป็นตัวเร่งคุณภาพหนี้แย่ลงมากขึ้น ดังนั้นธนาคารจึงต้องเพิ่มคุณภาพในการติดตามหนี้เป็นพิเศษ

          ขณะที่นายปิยะ พงษ์อัชฌา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจเอ็มที เน็ทเวอร์คเซอร์วิสเซ็ส ผู้ประกอบการธุรกิจติดตามหนี้รายใหญ่ของไทย กล่าวว่า ผลจากการติดตามทวงหนี้ค่อนข้างเติบโตดีในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา บริษัทจึงได้ตั้งเป้าปรับการรับซื้อหนี้เสียจากเดิมที่วางไว้ที่ 10,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 13,000 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าการเติบโตของกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 80% จากปีก่อน เนื่องจากมีหนี้ที่ตัดต้นทุนหมดแล้วและสามารถรับรู้รายได้ได้ทั้ง 100% เป็นจำนวนมาก

          สำหรับสัดส่วนลูกหนี้ในพอร์ตสินเชื่อที่บริษัทรับซื้อมาบริหารตามหนี้ ส่วนใหญ่ 80% เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล มีวงเงินสินเชื่อต่อรายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15,000-20,000 บาท ขณะที่ สินเชื่อรถยนต์ 20% มีวงเงินต่อรายเฉลี่ยประมาณ 300,000 บาท โดยลูกหนี้ส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานบริษัท

          ทั้งนี้ บริษัทจะวางแผนการเงินสำหรับกลุ่มลูกหนี้ที่ยังพอมีกำลังผ่อนชำระหนี้ โดยจะพิจารณาจากรายได้และรายจ่าย เพื่อทำโปรแกรมในการผ่อนชำระหนี้ หรือโปรแกรมพักหนี้ หรือการลดยอดวงเงินค้างชำระสูงสุด 60% ของมูลหนี้ทั้งหมด ซึ่งทุกโปรแกรมไม่คิดอัตราดอกเบี้ย

          แหล่งข่าวจากธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ด้วยภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้การติดตามหนี้มีความเข้มข้นมากขึ้น ดังนั้น ธนาคารได้เพิ่มทีมเพื่อติดตามทวงหนี้ประมาณ 40 คน หรือ 10% จากทีมงานในปัจจุบันที่มี 400 คน พร้อมร่วมมือกับบริษัทภายนอกอีกด้วย อีกทั้งหนี้ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้สินเชื่อรายย่อย ทั้งที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันและไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

          สำหรับขั้นตอนการติดตามทวงหนี้ ธนาคารจะส่งข้อความ (SMS) บอกลูกหนี้ก่อนระยะครบดีล 3 วัน หากครบกำหนดแล้วลูกหนี้ยังไม่ชำระค่างวดเพียง 1 วัน ทีมงานจะโทรศัพท์หาลูกค้าโดยทันที แต่หากเกิดเอ็นพีแอลแล้วจะเป็นหน้าที่ของบริษัทภายนอกในการติดตามทวงหนี้




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หนี้เสียพุ่ง แบงก์เต้นหวั่นลูกค้าชักดาบ เพิ่มทีมทวงหนี้ - ตรวจเครดิตถี่ยิบ อัปเดตล่าสุด 24 เมษายน 2557 เวลา 15:11:29
TOP