x close

9 เรื่องชวนรู้จัก BAM บริษัทบริหารสินทรัพย์ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

          BAM ดำเนินธุรกิจมา 20 ปี ก่อนจะจดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เมื่อไม่นานมานี้ บริษัทนี้ประกอบธุรกิจอะไร และทำไมต้องเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์
          คนที่กำลังหาข้อมูลเรื่องซื้อบ้าน หรือติดตามข่าวแวดวงอสังหาฯ อาจจะเคยได้ยินชื่อบริษัท BAM หรือ บสก. อยู่บ้าง เนื่องจากเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในกลุ่มบริหารสินทรัพย์ของไทยมานานกว่า 20 ปี กระทั่งเมื่อช่วงปลายปี 2562 บริษัทได้จดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในชื่อหุ้น BAM ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนไม่น้อย และทำให้หลายคนเริ่มจับตามองบริษัทนี้ เราจึงสรุปเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับบริษัท BAM มาให้รู้จัก ตั้งแต่ประวัติการก่อตั้ง ผลการดำเนินงาน เหตุผลที่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้คนที่สนใจ ได้รู้จักบริษัทนี้มากยิ่งขึ้น
BAM

1. BAM คือบริษัทอะไร ประกอบธุรกิจอะไร

          BAM หรือ บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ บสก. คือ บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ดำเนินธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขาย ที่ได้มาจากสถาบันการเงิน ธนาคารและบริษัทบริหารสินทรัพย์อื่น ๆ ปัจจุบันมี 26 สาขาทั่วประเทศ 
BAM

2. ไทม์ไลน์การก่อตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

          BAM ก่อตั้งขึ้น หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เพื่อบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายของธนาคารกรุงเทพพาณิชย์ ก่อนจะขยายขอบเขตการดำเนินงานด้านนี้ ให้กับสถาบันการเงินอื่น ๆ ดังไทม์ไลน์นี้

          - วันที่ 14 สิงหาคม 2541 คณะรัฐมนตรี มีมติให้จัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ ตามแผนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินของกระทรวงการคลัง เพื่อบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) (BBC) ซึ่งปิดตัวลง

          - วันที่ 7 มกราคม 2542 จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้ประกอบกิจการเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์

          - ปี 2545 เพิ่มขอบเขตการบริหารจัดการสินทรัพย์ ด้วยการเป็นตัวแทนเรียกเก็บ-ชำระหนี้ รับฝากดูแลเก็บรักษาทรัพย์สิน เอกสารการโอนทรัพย์สิน รวมถึงรับซื้อ/รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) จากสถาบันการเงินอื่น

          - วันที่ 20 ธันวาคม 2548 BAM รวมกิจการกับบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (AMC) และขยายสาขาเป็น 25 แห่งทั่วประเทศ เพิ่มเครือข่ายในการรองรับลูกค้าทั้งด้านการปรับโครงสร้างหนี้ และการจำหน่ายทรัพย์สิน รอการขายอย่างครบวงจร

          - วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2558 บริษัทได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน ใช้ชื่อว่า บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 

          - วันที่ 31 ธันวาคม 2561 เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยพิจารณาจากสินทรัพย์รวม ตามข้อมูลในรายงานภาวะอุตสาหกรรมซึ่งจัดทำโดยอิปซอสส์

          - วันที่ 16 สิงหาคม 2562 ยื่นเรื่องต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO)

          - วันที่ 16 ธันวาคม 2562 นำบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเริ่มต้นซื้อขายหุ้นเป็นวันแรก

3. ธุรกิจหลักในมือ BAM

BAM

          เป้าหมายทางธุรกิจของ BAM คือ ต้องการแก้ไขสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของประเทศ ให้กลับมาเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณภาพและหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อีกครั้ง จึงเน้น 2 ธุรกิจหลัก ๆ คือ

          1. ธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ  (NPL)

          โดยการเข้าซื้อ-ประมูลสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) จากสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่เกิดจากลูกหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน แล้วเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ เพื่อให้ได้ข้อตกลงเป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่าย โดยส่วนใหญ่จะเข้าซื้อหรือประมูลกับลูกหนี้ที่มีหลักประกัน เพื่อให้ได้กลุ่มที่มีศักยภาพในการชำระหนี้คืนมากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา BAM สามารถปิดบัญชีลูกหนี้ NPLs ที่รับซื้อจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ได้แล้วกว่า 90,000 ล้านบาท

          2. ธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย (NPA)

          อีกหนึ่งธุรกิจสำคัญ ก็คือการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทรัพย์สินรอการขาย ที่ถูกทิ้งร้างหรือสร้างค้างไว้ ให้มีสภาพดีแล้วขายทอดตลาดในราคาที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นที่ดินเปล่า โรงแรม อาคารเพื่อการพาณิชย์ บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ อาคารชุด ทำให้คนรายได้น้อย-ปานกลาง สามารถเป็นเจ้าของได้ในราคาที่ถูก โดยอสังหาฯ เหล่านี้ ได้มาจากการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี สถาบันการเงิน หรือลูกหนี้นำมาใช้เป็นหลักประกันเพื่อการชำระหนี้

BAM

4. ส่องโครงการน่าสนใจของ BAM

          เพราะไม่ได้ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหวังแต่ผลกำไรอย่างเดียว BAM จึงมีโครงการที่ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้มีบ้านของตนเอง คืนกำไรให้กับลูกหนี้ และสร้างประโยชน์ต่อสังคมมาโดยตลอด อย่างเช่น

          - โครงการ “สุขใจ ได้บ้านคืน” ช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของ BAM ให้ได้หลักประกันซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยคืนง่ายขึ้น

          - โครงการ BAM ช่วยฟื้นคืนธุรกิจ ให้ลูกหนี้ SME ที่มีภาระเงินต้นต่อรายไม่เกิน 20 ล้านบาท สามารถชำระหนี้ได้ในอัตรา 80% ของราคาประเมินหลักประกัน เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไป

          - โครงการ BAM ช่วยลดเพื่อปลดหนี้เกษตรกร เป็นโครงการที่ช่วยเหลือลูกหนี้ BAM ที่เป็นเกษตรกร ให้สามารถชำระหนี้ในอัตราที่น้อยลง โดยมีเงื่อนไขคือ ต้องมีภาระเงินต้นต่อรายไม่เกิน 5 ล้านบาท

5. ผลประกอบการเติบโตทุกปี

          ความได้เปรียบของ BAM เหนือบริษัทอื่น คือ ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะถดถอยหรือเติบโต ล้วนส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจ เพราะถ้าเศรษฐกิจดี ลูกหนี้ก็จะชำระหนี้คืนได้มากขึ้น ประชาชนมีกำลังซื้อทรัพย์สินจากบริษัท  ถ้าเศรษฐกิจแย่ บริษัทก็สามารถประมูลลูกหนี้ได้มากขึ้น สามารถซื้อสินทรัพย์มาเพิ่มมูลค่าได้ในราคาที่ถูกลง ส่งผลให้ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานจึงมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น

          - สินทรัพย์

          บริษัทสามารถรักษาระดับการขยายสินทรัพย์ได้อย่างเหมาะสมตามภาวะเศรษฐกิจ และมีประสิทธิภาพในการบริหารสินทรัพย์ให้เป็นเงินสด สินทรัพย์จึงเพิ่มขึ้นโดยตลอด โดยถึงสิ้นสุดปี 2562 มีสินทรัพย์รวม 1.15 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 8,136 ล้านบาท คิดเป็น 7.6%

BAM

          - รายได้รวม

          แม้มีลักษณะขึ้นลง ตั้งแต่ปี 2559 แต่ในปี 2562 บริษัทสามารถเรียกเก็บเงินสดจากธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) และธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ได้เพิ่มขึ้นจากปี 2561 อีก 2,485 ล้านบาท ทำให้มีรายได้รวมทั้งสิ้น เป็นจำนวนเงิน 12,236.1 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโต 25.4%
BAM

          - กำไรสุทธิ

          กำไรของ BAM ปี 2562 อยู่ที่ 6,549 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึง 1,347 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโต 25.9%
BAM

6. หุ้น BAM กับการเข้าตลาดหลักทรัพย์ครั้งแรก

          วันที่ 16 สิงหาคม 2562  BAM ได้ยื่นเรื่องต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ก่อนนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเริ่มต้นซื้อขายเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 ด้วยทุนจดทะเบียน 16.2 ล้านบาท โดยเสนอขายหุ้นต่อประชาชนในราคา 15.50 – 17.50 บาท/หุ้น รวมมูลค่ามากกว่า 26,862.5 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนการเสนอขายหุ้น เป็นบุคคลทั่วไป 27% และผู้ลงทุนสถาบัน 73%

BAM

          การเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ของ BAM จะทำให้บริษัทได้รับความเชื่อมั่นจากสถาบันการเงินต่าง ๆ และมีเงินทุนใช้ในการหมุนเวียนมากขึ้น ช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ โดยเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้น จะถูกนำไปใช้ 2 ส่วนคือ

          1. ซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายในอนาคต

          2. นำไปใช้ชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน / ชำระหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัท / ตั๋วเงินจ่ายเพื่อการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขาย

7. เหตุผลที่นำ BAM เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

          การเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ของ BAM จะทำให้บริษัทได้รับความเชื่อมั่นจากสถาบันการเงินต่าง ๆ และมีเงินทุนใช้ในการหมุนเวียนมากขึ้น ช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ โดยเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้น จะถูกนำไปใช้ 2 ส่วนคือ

          1. ซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายในอนาคต

          2. นำไปใช้ชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน / ชำระหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัท / ตั๋วเงินจ่ายเพื่อการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขาย

8. นโยบายจ่ายปันผลไม่น้อยกว่า 40%

          หุ้น BAM ถือเป็นหุ้นปันผลชั้นดี เพราะมีนโยบายจ่ายปันผลมากถึง 40% ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้ โดยอัตราการจ่ายเงินปันผล ขึ้นอยู่กับแผนการลงทุน ฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งก่อนหน้าที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ บริษัทฯ สามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้ถึง 80.79% ของกำไรสุทธิในปี 2560 และ 97.77% ในปี 2561

9. เกิดอะไรขึ้นหลังหุ้น BAM เข้าตลาดฯ

          ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ BAM มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจมาก่อน เนื่องจากมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในสัดส่วน 99.99% แต่เมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ ก็มีนักลงทุนสถาบันที่เป็นเอกชนเข้ามาแบ่งสัดส่วนถือครองหุ้นด้วย ทำให้ในตอนนี้ มีสถานะเป็นบริษัทมหาชน และมีผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 11 ธันวาคม 2562) คือ

          1. กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) 41.46%

          2. USB SECURITIES PTE LTD 10.69%

          3. กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นระยะยาว 1.53%

          โดยราคาของหุ้น BAM แรกเริ่มตอนเสนอขายอยู่ที่ 17.50 บาท แต่เนื่องจากได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และนักลงทุนรายย่อย ทำให้หุ้น BAM พุ่งขึ้นไปได้สูงสุดถึง 36.25 บาทเลยทีเดียว

          ได้รู้จัก BAM มากขึ้นบ้างแล้ว หากใครสนใจอยากหาข้อมูลเพิ่มเติม หรือติดต่อ BAM เพื่อซื้อบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ สามารถเข้าไปดูเพื่อซื้อทรัพย์ได้ที่ bam.co.th หรือโทร. 02-630-0700

ข้อมูลและภาพจาก
bam.co.th, เฟซบุ๊ก BAM Thailand, youtube BAM STATION

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
9 เรื่องชวนรู้จัก BAM บริษัทบริหารสินทรัพย์ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย อัปเดตล่าสุด 2 มีนาคม 2563 เวลา 14:28:23 42,667 อ่าน
TOP