x close

จับตา FinTech พลิกโฉมอนาคตใหม่ แห่งโลกการเงิน

Fintech

          FinTech เทคโนโลยีทางการเงินยุคใหม่ ที่กำลังพลิกโฉมโลกการเงิน มีประเด็นอะไรที่น่าจับตามอง แล้วไทยจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร 

          ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) กลายเป็นเรื่องที่หลายคนจับตามองกันอย่างมาก ด้วยความสามารถที่หลากหลาย และกำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวงการเงินทั่วโลกแบบก้าวกระโดด ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ที่ FinTech เริ่มเข้ามามีบทบาทอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจากงาน "Bangkok Fintech Fair 2018" ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองของอนาคตที่กำลังจะเปลี่ยนไป ก็มีหลายประเด็นที่น่าสนใจว่า แล้วประเทศไทยจะรับมือกับกระแสเทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างไร 


Fintech

          เริ่มต้นด้วย นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้มุมมองที่มีต่อ FinTech ว่า ขณะนี้ FinTech มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ต่อการผลักดันระบบเศรษฐกิจการเงิน และนโยบายต่าง ๆ ของประเทศ รวมถึงธุรกิจ SMEs ที่ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี จนเกิดโอกาสและความท้าทายใหม่ ๆ 

          สำหรับเป้าหมายของ ธปท. คือ ต้องการที่จะส่งเสริมการใช้ FinTech และสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน ไปพร้อม ๆ กับการดูแลความเสี่ยงของเทคโนโลยีที่อาจจะเกิดขึ้น โดยให้ความสำคัญใน 3 มิติ ได้แก่

          1. Productivity : การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ให้ภาคธุรกิจมีต้นทุนที่ถูกลง สร้างรายได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจไทยเข้าถึงตลาดโลกได้ง่ายขึ้น

          2. Immunity : การสร้างภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ ด้วยการสร้างเครื่องมือป้องกันใหม่ ๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่คาดไม่ถึง และป้องกันมิจฉาชีพทางการเงิน

          3. Inclusivity : การลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งการมีเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ ๆ จะช่วยแก้ปัญหาส่วนนี้ได้ เพื่อกระจายผลประโยชน์ให้ประชาชนอย่างทั่วถึง   


          ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ยังมองด้วยว่า ปัจจุบันมีเทคโนโลยีหลายตัวที่พลิกโฉมวงการเงินไทยไป โดยเฉพาะระบบชำระเงินพร้อมเพย์ ที่ปัจจุบันมีคนใช้บริการมากกว่า 39 ล้านบัญชี ซึ่งช่วยลดต้นทุนการชำระเงิน-โอนเงิน และต่อยอดไป E-commerce ด้านอื่น ๆ ได้อีกด้วย ส่วนอีกเรื่อง คือ Blockchain ที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์กันมากมาย โดย ธปท. ก็ได้จับมือกับ 14 ธนาคารในไทย รัฐวิสาหกิจและองค์กรธุรกิจใหญ่ 7 แห่ง เดินหน้าพัฒนา Blockchain มายกระดับความสามารถการแข่งขันทางธุรกิจของประเทศแล้ว  (อ่านข่าว ธปท. จับมือ 14 แบงก์ไทย พัฒนาระบบ "Blockchain")

Fintech


ธนาคารจะอยู่รอดอย่างไร ในยุค FinTech ?

          ด้านสถาบันการเงินเอง ซึ่งเป็นเหมือนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงของ FinTech ก็ตั้งข้อสังเกตต่อเรื่องนี้ได้น่าสนใจไม่น้อย โดยนายธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ชี้ให้เราเห็นว่า ธุรกรรมทางการเงินเปลี่ยนแปลงไวมาก เมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน แต่อีกอย่างที่เปลี่ยนแปลงเร็วไม่แพ้กัน ก็คือความคาดหวังของผู้บริโภค

          ผู้บริโภคในยุคนี้ต้องการอะไรที่ได้ทันที เพราะฉะนั้น สิ่งที่ธนาคารต้องทำคือห้ามให้ลูกค้ารอ และพร้อมที่จะปรับตัวตลอดเวลา SCB จึงต้องทำตัวให้เหมือน StartUp ลองผิด ลองถูก อยู่เสมอ อะไรคิดว่าดีทำหมด อะไรที่ไม่เวิร์คก็ทิ้งไป เพื่อค้นหาสิ่งที่เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับเรา

          "ธนาคารเปรียบเหมือนไดโนเสาร์ตัวใหญ่ ยิ่ง SCB ก็คือไดโนเสาร์ที่อายุกว่า 100 ปีแล้ว ไดโนเสาร์ตัวนี้ จึงต้องเปลี่ยน เพราะถ้าไม่เปลี่ยน สุดท้ายก็จะโดนคนอื่นมาแทนที่" นายธนา กล่าว

          ทั้งนี้ สิ่งที่บอสใหญ่ของ SCB พูดนั้น ก็สอดคล้องกับการดำเนินงานของสถาบันการเงินในปัจจุบัน เพราะเมื่อเราลองสำรวจบูธนิทรรศการของสถาบันเงินหลาย ๆ แห่งในงาน Bangkok FinTech Fair 2018 พบว่า มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำธุรกิจเป็นจำนวนมาก เช่น ธนาคารกสิกรไทย ที่ออกระบบ K PLUS Beacon ปรับปรุงอินเตอร์เฟสของแอปฯ ให้เหมาะกับผู้พิการทางสายตา, ธนาคารทหารไทย ที่ออก Wearable Payment การชำระเงินผ่านเทคโนโลยี ที่มีความปลอดภัย สะดวก รวดเร็วกว่าเงินสด

          ธนาคารกรุงไทย ได้นำเทคโนโลยีมาใช้กับบัตรคนจน เพื่อช่วยในการติดตั้งเครื่อง EDC ให้กับร้านค้าในพื้นที่ห่างไกล, ธนาคารกรุงเทพ ที่โชว์ฟีเจอร์ Be Wallet ในโมบายแบงก์กิ้ง ให้ใช้จ่ายผ่านบัตรโดยไม่ต้องพกเงินสด หรือ ธนาคารไทยพาณิชย์เอง ที่หันมาเน้นกับ "แม่มณี" นางกวักยุคดิจิทัล พัฒนาเป็นระบบการเข้าถึงสินเชื่อบุคคลผ่าน "Credit Scoring"

Fintech

Fintech

Fintech

          อย่างไรก็ดี แม้สถาบันการเงินต่าง ๆ จะนำเทคโนโลยีทางการเงินมาใช้กันอยู่หลายระบบ แต่ Thomas Greco จาก OmiseGO บริษัท StartUp ผู้ให้บริการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ และเป็นบริษัทแรกในไทยที่มีการระดมทุน ICO ด้วยการออกเหรียญดิจิทัล ก็วิเคราะห์ว่า สุดท้ายแล้วลูกค้าจะเป็นคนเลือกเองว่าเขาต้องการระบบธุรกรรมแบบไหน แต่ก่อนอื่นระบบทางการเงินควรเข้าถึงคนทั่วไปเป็นจำนวนมากให้ได้ เพราะเมื่อทำเช่นนั้นได้ ทุกฝ่ายก็จะได้ประโยชน์ร่วมกัน

          ทั้งนี้ OmiseGO ไม่ได้ต้องการที่จะมาแทนที่ธนาคาร เพียงแค่อยากเชื่อมโยงระหว่างประสบการณ์ทางการเงินแบบเก่า ให้อยู่ร่วมกันได้กับแบบใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเท่านั้น

Fintech

สังคมไทย กับการก้าวเข้าสู่ Cashless Society ?

          ในเมื่อขณะนี้เทคโนโลยีทางการเงินกำลังคืบคลานเข้ามาสู่สังคมไทยแล้ว ประเด็นถัดมาที่ทุกสายตาต่างจับจ้อง คงหนีไม่พ้น "Cashless Society" หรือสังคมไร้เงินสด ว่า ประเทศไทยจะเดินหน้าเข้าสู่ประเทศไร้เงินสดได้จริงหรือ โดยมี Non-Bank ที่ทำธุรกิจ E-wallet ชื่อดังทั้ง True money, M Pay, Air Pay และ Blue Pay สรุปมุมมองต่อเรื่องนี้ว่า มี 3 ปัจจัยหลักที่จะทำให้ไทยก้าวไปสู่จุดนั้นได้ คือ

          1. พร้อมเพย์ ต้องยอมรับว่าการมาของพร้อมเพย์ทำให้ธุรกิจ E-wallet เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งแน่นอนว่าถ้าผลักดันให้มีผู้ใช้งานพร้อมเพย์มากกว่านี้ ก็ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อการเข้าใกล้ Cashless Society ในเมืองไทย

          2. Thai QR Code คือ การชำระเงินผ่าน QR Code ซึ่งอนาคตเราจะมีโอกาสได้เห็น Non-Bank ต่าง ๆ พัฒนา E-wallet ให้สามารถสแกน QR Code ของธนาคารได้มากขึ้น 

          3. KYC หรือ Know Your Customer ที่เป็นระบบยืนยันตัวตนผู้ใช้งานผ่านลายนิ้วมือ ม่านตา หรือการจดจำใบหน้า เพื่อให้สามารถทำธุรกรรมได้อย่างปลอดภัย แน่นอนว่าถ้ามีการพัฒนา KYC ให้อยู่ในตู้อัตโนมัติมากขึ้น ก็จะช่วยให้การทำธุรกรรมต่าง ๆ ง่ายมากกว่าเดิมหลายเท่า โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปธนาคาร

          แน่นอนว่าถ้าทุกภาคส่วนผลักดันให้ 3 เรื่องนี้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง Cashless Society ในเมืองไทย คงอยู่ไม่ไกลเกินฝัน

Fintech

Fintech


FinTech กับโอกาสใหม่ ๆ ของ SMEs

          ไม่เพียงแค่สถาบันการเงิน หรือองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น ที่ต้องให้ความสำคัญกับ FinTech แต่กับธุรกิจ SMEs เอง ก็เป็นความท้าทายเช่นกัน ว่าจะนำประโยชน์จากเทคโนโลยีมาปรับใช้ได้อย่างไร เพราะตลาด SMEs ในไทยมีขนาดใหญ่มาก แต่มีข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ดังนั้น หากสามารถแก้ปัญหานี้ได้ จะเป็นโอกาสสำคัญทีเดียว

          มีความเห็นที่น่าสนใจในเรื่องนี้ว่า "Credit Score" จะเป็นโอกาสใหม่ ๆ ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs รวมไปถึงเรื่องของการเข้าถึงข้อมูลอื่น ๆ ซึ่ง FinTech อาจช่วยได้ เช่น การทำบัญชี หรือเรื่องภาษีที่ไทยยังมีปัญหาอยู่ อีกทั้งยังช่วยอุดช่องโหว่เรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของ SMEs เพราะถ้ารายไหนมีคะแนนที่ดี แปลว่ามีความน่าเชื่อถือ ก็จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง


อนาคต FinTech ที่น่าจับตามองในปี 2018

          มาถึงตรงนี้ หลายคนคงมีคำถามว่า แล้วในปี 2018 ทิศทางของ Fintech ในประเทศไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่ง นายเจษฎา สุขทิศ ประธานสมาคมฟินเทคประเทศไทย ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า ในปีนี้เรื่องที่น่าจับตามองและเป็นอนาคตของเทคโนโลยีทางการเงินมีอยู่ 2 ประเด็นสำคัญ คือ

Fintech

          1. Stable coin หรือเหรียญที่มีมูลค่าคงที่

          เนื่องจากแม้ตอนนี้  Cryptocurrency จะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แต่ยังมีจุดอ่อนตรงมูลค่าที่เหวี่ยงมากเกินกว่าจะมาเป็นสกุลเงินที่คนใช้กันได้จริง แต่ปัญหานั้นจะหมดไปได้ถ้าเรามี Stable coin ที่ผูกมูลค่าเงินดิจิทัลกับสินทรัพย์อื่น ๆ ที่มีความมั่นคง เช่น ทองคำ หรือ เงินสกุลหลัก แล้วเอา Blockchain ทำงานอยู่เบื้องหลัง โดยไม่ต้องกลัวว่าราคาเหรียญจะแกว่ง

          2. Security token

          ถ้าเรามี Cryptocurrency ที่มั่นคงแล้ว Security token ก็คือสิ่งที่จะตามมา ด้วยแนวคิดที่นำทรัพย์สินทางการเงินต่าง ๆ เช่น หุ้น ทองคำ ตราสารหนี้ เข้ามาเทรดในตลาด Cryptocurrency โดยมี ก.ล.ต. เป็นคนกำกับดูแล ซึ่งจะช่วยให้การลงทุนในตลาดการเงินเป็นเรื่องที่ง่ายมากขึ้นกว่าเดิมนั่นเอง


ความเสี่ยงที่ต้องคำนึงในโลกยุค FinTech

          ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ เป็นได้ทั้งโอกาสและความเสี่ยงในเวลาเดียวกัน ซึ่ง อาจารย์ปริญญา หอมเอนก ประธานและผู้ก่อตั้ง, ACIS Professional Center Co., Ltd. (ACIS) แสดงความเป็นห่วงว่า ไลฟ์สไตล์ของคนปัจจุบัน ที่ชอบความง่ายเข้าว่า เป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างมากต่อภัยในโลกออนไลน์

          "ตอนนี้เรามีแอปฯ ที่เข้ารหัสกันเยอะมาก และหลาย ๆ แอปฯ เรามักจะตั้งรหัสผ่านที่เหมือน ๆ กันไปหมด ทำให้เวลามีแอปฯ หนึ่งโดนแฮก แอปฯ อื่น ๆ ก็จะโดนด้วยเป็นทอด ๆ" อาจารย์ปริญญา กล่าว

Fintech

          ส่วนนายกิตตินันท์ อนุพันธ์ CEO ของ Claim Di บริษัทผู้ให้บริการประกันภัยดิจิทัลรายแรกของไทย ก็ให้ความเห็นว่า จุดอ่อนอีกประเด็นของการป้องกันความเสี่ยงในปัจจุบัน คือ เรื่องของคน เพราะถึงแม้ว่าเราจะสร้างระบบที่ปลอดภัย รัดกุมแค่ไหน แต่ถ้าคนหรือพนักงานของเราไม่เอาด้วย มีความละเลยต่อความปลอดภัย ระบบที่แข็งแกร่งขนาดไหน ก็ไม่มีประโยชน์

          นอกจากนี้ หลายคนก็เห็นตรงกันว่า การจะเป็นบริษัท Start Up ได้ นอกจากจะมีเทคโนโลยีและแนวคิดที่แปลกใหม่ไม่ซ้ำใครแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย

Fintech

          สุดท้ายแล้ว เราจะพบว่าจากสถานการณ์ Fintech ที่โตก้าวกระโดดอย่างมากในช่วง 2-3 ปีมานี้ ได้ส่งผลเป็นวงกว้างต่อทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ สถาบันการเงิน และบริษัทที่ทำธุรกิจ FinTech แต่สิ่งที่น่าสนใจคือแต่ละภาคส่วนจะมีวิธีการปรับตัวอย่างไร ให้ทันกับสถานการณ์ เพื่อไม่ให้โอกาสสำคัญนี้หลุดมือไป
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จับตา FinTech พลิกโฉมอนาคตใหม่ แห่งโลกการเงิน อัปเดตล่าสุด 21 มีนาคม 2561 เวลา 18:02:00 17,677 อ่าน
TOP