x close

3 เรื่องท็อปฮิต ที่คนเข้าใจผิดกับกองทุนรวม

กองทุนรวม

          ศึกษาทำความเข้าใจข้อมูลกองทุนรวม เพื่อเลือกลงทุนได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

          เมื่อนึกถึงการลงทุนเชื่อว่า “กองทุนรวม” เป็นตัวเลือกแรก ๆ ที่หลายคนนึกถึง เพราะมีหลากหลายประเภทให้เลือกลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และมีผู้จัดการกองทุนบริหารเงินลงทุนแทนเรา อย่างไรก็ตาม หลาย ๆ คนมักมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกองทุนรวม ทำให้พลาดโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งมีอะไรบ้างนั้น K-Expert ได้รวบรวมมาฝาก มาดูกัน

1. ซื้อกองทุนรวมที่ NAV ต่ำจะได้ผลตอบแทนดี


          NAV หรือมูลค่าหน่วยลงทุน คือ มูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวม หารด้วย จำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมด ซึ่งความเข้าใจที่ว่า กองทุนรวมที่มี NAV สูง ๆ ไม่น่าลงทุน เพราะราคาแพงไปแล้ว ควรซื้อกองทุนรวมที่มี NAV ต่ำจะดีกว่า นับว่าเป็นความเข้าใจที่ผิด เนื่องจากปัจจัยที่มีผลทำให้ราคา NAV แต่ละกองทุนแตกต่างกันนั้น มีหลายปัจจัย เช่น ช่วงเวลาที่จัดตั้งกองทุน นโยบายการจ่ายเงินปันผล การเลือกและซื้อ-ขายหลักทรัพย์ของกองทุนฯลฯ

          เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า กองทุนรวมที่มีมูลค่า NAV สูงกว่าอีกกองทุนหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่า ไม่น่าลงทุน ลองดูตัวอย่างกัน สมมติเป็นกองทุนรวมหุ้น กองทุนรวม A มี NAV อยู่ที่ 15 บาทต่อหน่วย ส่วนกองทุนรวม B มี NAV อยู่ที่ 10 บาทต่อหน่วย ซึ่งคงบอกไม่ได้ว่า กองทุนรวม B ดีกว่าหรือน่าซื้อกว่ากองทุนรวม A เพราะสมมติว่า 1 ปีต่อมา กองทุนรวม A ผู้จัดการกองทุนเลือกหุ้นได้ดี บริหารเงินกองทุนได้มีประสิทธิภาพ หุ้นที่ลงทุนไว้ราคาปรับตัวขึ้น ทำให้ NAV ของกองทุนรวมเพิ่มเป็น 20 บาท ขณะที่กองทุนรวม B หุ้นที่ลงทุนไว้ราคาปรับตัวลงทำให้ NAV ลดลงเหลือ 5 บาท เห็นแบบนี้ ถ้าเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา ผู้ลงทุนเลือกกองทุนรวม A ก็จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ากองทุนรวม B

กองทุนรวม

          จากตัวอย่างน่าจะพอเห็นภาพได้ว่า กองทุนรวมที่มี NAV ต่ำ ๆ ไม่ใช่ว่า ราคาถูก แล้วน่าสนใจ และกองทุนรวมที่มี NAV สูง ๆ ก็ไม่ใช่ว่าราคาแพงไปแล้ว ซึ่งการเลือกกองทุนรวมสักกองหนึ่ง ควรดูที่นโยบายการลงทุน และแนวโน้มการเติบโตของ NAV มากกว่า
2. ซื้อกองทุนรวมก่อนปิดสมุดทะเบียนเพื่อรับเงินปันผล

          เงินปันผลที่ผู้ลงทุนได้รับนั้น จะจ่ายจากเงินของกองทุนรวม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการคำนวณ NAV จึงสังเกตได้ว่า วันที่จ่ายเงินปันผล NAV ของกองทุนรวมจะลดลง และอย่าลืมว่าเงินปันผลของกองทุนรวมจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% ขณะที่กำไรหรือ Capital gain จากการขายคืนหน่วยลงทุนไม่ต้องเสียภาษี

          ลองดูตัวอย่างคำนวณแบบง่าย ๆ กัน กองทุนรวม C และกองทุนรวม D มี NAV อยู่ที่ 10 บาทต่อหน่วยเท่ากัน แต่กองทุนรวม C ไม่มีนโยบายจ่ายปันผล ส่วนกองทุนรวม D มีนโยบายจ่ายปันผล หากเราซื้อกองทุนรวม D ก่อนวันปิดสมุดทะเบียน โดยมีการจ่ายเงินปันผล 1 บาทต่อหน่วย ทำให้วันที่จ่ายเงินปันผล NAV ของกองทุนรวม D ลดลงเหลือ 9 บาทต่อหน่วย และเงินปันผลเมื่อหักภาษี ณ ที่จ่าย จะเหลือสุทธิ 0.9 บาทต่อหน่วย

กองทุนรวม

          ถ้าอีก 1 ปีต่อมา NAV ของกองทุนรวม C และกองทุนรวม D ปรับตัวขึ้น 20% เท่ากัน ทำให้ NAV ต่อหน่วยของกองทุนรวม C เพิ่มขึ้นจาก 10 บาท เป็น 12 บาท เมื่อขายคืนจะได้กำไร 12-10 = 2 บาทต่อหน่วย ขณะที่ NAV ต่อหน่วยของกองทุนรวม D เพิ่มขึ้นจาก 9 บาท เป็น 10.8 บาท เมื่อขายคืน จะได้กำไร 10.8-10 = 0.8 บาทต่อหน่วย รวมกับเงินปันผลที่เคยได้รับ 0.9 บาท เท่ากับได้กำไร 0.8 + 0.9 = 1.7 บาทต่อหน่วย

          จากตัวอย่างน่าจะพอเห็นภาพแล้วว่า ถ้าซื้อกองทุนรวมก่อนวันที่ปิดสมุดทะเบียน แม้จะได้รับเงินปันผล แต่เงินปันผลต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และเมื่อจ่ายเงินปันผลไปแล้ว ก็ทำให้ NAV ของกองทุนรวมลดลงด้วย

          แต่เห็นแบบนี้แล้ว ก็ไม่ใช่ว่า กองทุนรวมที่จ่ายเงินปันผลไม่น่าสนใจ เพราะอยู่ที่วัตถุประสงค์ในการลงทุนของตัวเราด้วย โดยต้องย้อนกลับมาดูว่า ต้องการผลตอบแทนระหว่างทางหรือไม่ ซึ่งโดยทั่ว ๆ ไป กองทุนรวมที่จ่ายเงินปันผลจะเหมาะกับผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำ หรืออยู่ในวัยเกษียณ ส่วนผู้ที่เป็นมนุษย์เงินเดือน หรือมีรายได้ประจำ อาจเลือกกองทุนรวมที่ไม่จ่ายเงินปันผลก็ได้

กองทุนรวม

3. ผลตอบแทนในอดีตก็คือผลตอบแทนในอนาคต

          แน่นอนว่าสิ่งที่ผู้ลงทุนคาดหวังจากการลงทุน ก็คือ ผลตอบแทน และเรามักใช้ผลตอบแทนหรือผลการดำเนินงานย้อนหลังในการพิจารณาเลือกกองทุนรวมสักกองหนึ่ง แต่อยากให้จำขึ้นใจเลยว่า ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวมไม่ได้เป็นหลักประกันว่ากองทุนรวมนั้น ๆ จะให้ผลตอบแทนในอนาคตลักษณะเดียวกันกับที่ผ่านมา

          ยกตัวอย่างเช่น กองทุนรวม E มีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 10% ก็ไม่ได้หมายความว่า เมื่อซื้อกองทุนรวม E ณ วันนี้ แล้วอีก 1 ปีจะได้รับผลตอบแทน 10% เท่ากับเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา  


          เมื่ออธิบายมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจเกิดคำถามว่า แล้วแบบนี้ยังสามารถดูผลการดำเนินงานย้อนหลังได้หรือไม่ ก็ต้องบอกว่า สามารถดูได้ เพราะผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นตัวสะท้อนความสามารถของผู้จัดการกองทุนในการบริหารจัดการสินทรัพย์เพื่อสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน ทั้งนี้ เราควรดูผลตอบแทนในระยะยาวหน่อย เช่น 1 ปี 3 ปี 5 ปี มากกว่าผลตอบแทนในระยะสั้น ๆ และไม่คาดหวังว่าผลตอบแทนในอนาคตจะเป็นเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

          หวังว่าข้อเข้าใจผิดเมื่อลงทุนในกองทุนรวมที่นำมาฝากนั้น จะเป็นข้อมูลให้กับหลาย ๆ คนที่สนใจลงทุนในกองทุนรวมสามารถเลือกกองทุนรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น


          K-Expert Action

          • เลือกกองทุนรวมตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยศึกษานโยบายการลงทุน และแนวโน้มเติบโตของกองทุนรวมให้ดีก่อนลงทุน

          • กันเงินสำรองไว้ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เก็บในเงินฝากหรือกองทุนรวมตลาดเงิน ก่อนนำเงินไปลงทุน



ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
3 เรื่องท็อปฮิต ที่คนเข้าใจผิดกับกองทุนรวม อัปเดตล่าสุด 28 กันยายน 2560 เวลา 09:20:46 4,021 อ่าน
TOP