12 เรื่องเล่าพระราชจริยวัตรของพ่อหลวง ต้นแบบของความประหยัดและพอเพียง

          บ่อยครั้งที่พสกนิกรชาวไทยได้รับฟังพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำรัสในโอกาสต่าง ๆ เพื่อสอนให้ประชาชนของพระองค์ใช้ชีวิตด้วยความพอเพียง ประหยัด และใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 เรื่องเล่าในหลวง

          "…การใช้จ่ายโดยประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเองและครอบครัว ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้ จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ประหยัดเท่านั้น ยังจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย..."

....พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2502

          "…เก็บผักเก็บปลากิน ปลูกพืชสวนครัวไว้กินเองบ้าง ปลูกไม้ผลไว้หลังบ้าน 2-3 ต้น พอที่จะมีไว้กินเองในครัวเรือน เหลือจึงนำไปขาย ไม่ฟุ่มเฟือยไปซื้อของแพง ๆ มาใช้…"
                                                                       
....พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540

          "...ให้พอเพียงก็หมายความว่า มีกิน มีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ…"
                                                                       
....พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2541

เรื่องเล่าในหลวง

          พระองค์ท่านทรงสอนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเรื่อยมา เพื่อให้คนไทยรู้จักที่จะดำเนินชีวิตในสังคมด้วยความสามารถที่จะอุ้มชูตัวเองได้ โดยที่ตัวเองและคนอื่นนั้นไม่เดือดร้อน อีกทั้งต้องดูแลตัวเองและครอบครัวให้มีความพอมี พอกิน พอใช้ ไม่หวังที่จะร่ำรวยแต่เพียงอย่างเดียว หากทำได้จะเกิดความสุขถ้วนทั่วกัน

          นั่นก็เพราะพระองค์เองก็ทรงเป็นต้นแบบของความเรียบง่าย ความประหยัด และความพอเพียงมาโดยตลอด ดังที่เราชาวไทยเคยได้ยิน ได้ฟัง เรื่องราวพระราชจริยวัตรแห่งความพอเพียงของพระองค์ท่านมาหลายต่อหลายครั้ง ดังที่ในวันนี้กระปุกดอทคอมขออัญเชิญเรื่องราวเหล่านี้มานำเสนอให้คนไทยทุกคนน้อมนำไปปฏิบัติตาม

เรื่องเล่าในหลวง
 
กระป๋องคนจน

          สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงฝึกให้พระราชโอรสและพระราชธิดา รู้จักวิธีการประหยัด อดออม ด้วยการตั้งกระป๋องออมสินไว้กลางที่ประทับ ทรงเรียกว่า "กระป๋องคนจน" หากพระราชโอรสและพระราชธิดาทรงนำเงินไปทำกิจกรรมแล้วมีกำไร จะต้องถูกเก็บภาษีหยอดใส่กระปุกนี้ 10% โดยเมื่อถึงสิ้นเดือน สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจะทรงประชุมทั้ง 3 พระองค์ว่า จะนำเงินก้อนนี้ไปทำประโยชน์ อย่างไร หรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจนอย่างไร

          นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมัยทรงพระเยาว์ ยังทรงได้รับค่าขนมสัปดาห์ละครั้ง แต่แม้จะได้ค่าขนมทุกสัปดาห์ ก็ยังทรงรับจ้างเก็บผักและผลไม้ไปขาย เมื่อได้เงินมาก็นำไปซื้อเมล็ดผักมาปลูกเพิ่ม

เรื่องเล่าในหลวง

จักรยานและกล้องส่วนพระองค์

          ครั้งหนึ่ง สมัยทรงพระเยาว์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กราบทูลสมเด็จย่าว่าทรงอยากได้รถจักรยาน สมเด็จย่าจึงมีพระราชดำรัสให้พระองค์ทรงเก็บเงินค่าขนมไว้วันละเหรียญ พอได้เงินจำนวนมากพอแล้วจึงให้นำไปซื้อจักรยานด้วยพระองค์เอง เมื่อพระองค์ท่านเก็บเงินได้มากพอแล้ว สมเด็จย่าจึงทรงช่วยออกเงินให้ครึ่งหนึ่ง เพื่อนำไปซื้อจักรยาน ซึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พระองค์ท่านก็ได้ทรงปั่นจักรยานแทนการประทับรถยนต์พระที่นั่งไปโรงเรียนด้วยพระองค์เองด้วย อันเป็นหนึ่งในต้นแบบแนวทางการประหยัดพลังงานในเวลาวิกฤต

          เช่นเดียวกับกล้องถ่ายรูปที่พระองค์ทรงเก็บเงินซื้อด้วยพระองค์เองตั้งแต่พระชนมพรรษา 8 พรรษา โดยกล้องตัวแรกที่ทรงใช้มีชื่อว่า CORONET MIDGET

เรื่องเล่าในหลวง

ข้าวผัดไข่ 1 จาน

          ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้เล่าเมื่อครั้งตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปที่เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2527 ว่า ในวันนั้นได้มีข้าราชการหลายคนกลับมาจากทำภารกิจและได้เข้าไปในโรงครัวเพื่อกินข้าวผัดแห้ง ๆ ติดก้นกระทะ แต่มีข้าวผัดอยู่ 1 จานถูกวางไว้และมีคนจะหยิบไปกิน

          ทันใดนั้นก็มีเสียงตะโกนบอกว่า จานนั้นเป็นของพระเจ้าอยู่หัว ท่านรับสั่งให้มาตัก ซึ่งประโยคดังกล่าวได้สะท้อนเข้ามาในหัวใจ พร้อมกับคิดว่า ท่านเป็นถึงพระเจ้าแผ่นดินจะรับสั่งให้ทำถวายใหม่เท่าใดก็ได้ แต่ทรงรับสั่งแค่ให้ตักเพียงข้าวผัดติดก้นถาด 1 จาน ทำให้พระองค์ทรงเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนรู้คุณค่าของทุกสิ่ง เพราะแค่ข้าวผัดไข่ดาว 1 จาน ก็ต้องใช้ต้องสิ้นเปลืองพลังงานไปเปล่า ๆ



พระกระยาหารโปรด

          บทความตอนหนึ่งจากหนังสือใกล้เบื้องพระยุคลบาท โดย...ลัดดา ซุบซิบ (ฉบับวันที่ 3 มิถุนายน 2545) ทำให้เราชาวไทยได้ทราบว่า เมนูพระกระยาหารโปรดของในหลวง รัชกาลที่ 9 แต่ละมื้อหาได้วิเศษเลอเลิศอย่างที่เข้าใจกันไม่ แต่เป็นอาหารธรรมดาที่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั้งหลายบริโภคกันทุกวันนั่นเอง เช่น ผัดคะน้า ผัดถั่วงอก ผัดถั่วลันเตา โดยใส่ผักให้มาก ๆ หมูเนื้อใส่น้อย ๆ อาหารว่างเคยโปรดหูฉลามและบะหมี่ จะใส่หน้าหมูแดง หน้าเป็ด หน้าปู ได้ทั้งนั้น แต่ต้องไม่ใส่ผักชี ใบหอม ต้นหอม และตังฉ่าย เครื่องดื่ม โปรดโอวัลตินเป็นพิเศษ เคยเสวยวันหนึ่ง ๆ หลายครั้ง น้ำ ชา กาแฟ ไม่มากนัก
 
          พระกระยาหารหรือเครื่องเสวยประจำวันที่นำมาให้ดูกันมีเครื่อง กลางวัน ซุปอาสาเรน (ซุปใสใส่ไข่) สปาเกตตีมิลานเนส แกงจืดเซ่งจี๊ ผัดไก่เล่าปี่ ปูเค็มต้มกะทิ หลนปลากุเรา ผัดเผ็ดปลาดุกทอดฟู กล้วยหักมุกเชื่อม ไอศกรีม ผลไม้ ยามดึกเมื่อเสด็จฯ กลับจากพระราชกิจ มหาดเล็กจะตั้งเครื่องว่างจำพวกหูฉลามหรือบะหมี่ถวายอีกครั้งหนึ่ง

 ช่างฉลองพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ฉลองพระองค์ชุดเดิม

          คุณสมภพ หลุยลาภประเสริฐ ช่างตัดฉลองพระองค์ เคยกล่าวไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงใช้ฉลองพระองค์ชุดเดิมมาเป็นเวลาหลายปี โปรดผ้าเนื้อนิ่ม ไม่โปรดผ้ายับง่าย ใช้ผ้าที่ทอในประเทศไทย กรณีที่ฉลองพระองค์ชำรุดเล็ก ๆ น้อย ๆ พระองค์ท่านจะโปรดให้ชุนบ้าง เปลี่ยนยางยืดบ้าง ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ พระองค์ท่านจะไม่ตัดใหม่ บางชุดตัดมา 8-9 ปีแล้ว บางชุดที่พระองค์โปรดมากก็ใช้นานถึง 12 ปี ส่วนใหญ่โปรดให้นำฉลองพระองค์เดิมมาปรับปรุงแก้ไขใหม่ อย่างฉลองพระองค์ชุดบรรทมที่ทรงใช้แล้ว พอนานปีเข้ายางที่บั้นพระองค์ยืด ก็พระราชทานมาให้เปลี่ยนยางใหม่

           โดยชุดที่พระองค์ท่านทรงโปรดที่สุด คือ ชุดลำลองที่ทรงสวมเพื่อเล่นกับคุณทองแดง ใช้มาหลายปีเป็นรอยขีดข่วนและฉีกขาด พระองค์ท่านก็ไม่ทิ้ง ส่งให้นำกลับมาปะ ชุนบ่อยครั้ง 


เรื่องเล่าในหลวง

ฉลองพระบาทที่ซ่อมไม่ได้อีกต่อไป

          จากคำบอกเล่าของนายศรไกร แน่นศรีนิล หรือ "ช่างไก่" ช่างทำรองเท้า ร้าน ก.เปรมศิลป์ ที่ได้มีโอกาสถวายงานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นเวลาหลายสิบปี ทำให้เราชาวไทยได้ทราบว่า แม้แต่ฉลองพระบาทที่เก่าจนแทบซ่อมไม่ได้แล้ว พระองค์ท่านก็ยังไม่ทิ้ง

เรื่องเล่าในหลวง

          โดยช่างไก่เล่าว่า วันหนึ่งเจ้าหน้าที่ของสำนักพระราชวังถือพานใส่รองเท้าเดินเข้ามาในร้าน ก่อนยื่นให้ตน เขาก้มลงกราบพาน ตนก็ตกใจถามว่าเอาอะไรมาให้ผม เขาก็บอกว่าเป็นรองเท้าของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทรงโปรด แต่เก่ามากแล้วไม่รู้จะเอาไปซ่อมที่ไหน ความรู้สึกตอนนั้น คือ ตกใจมากไม่คิดว่าร้านเราจะได้รับโอกาสทำงานสำคัญในครั้งนี้

เรื่องเล่าในหลวง

          ภาพรองเท้าที่ตนเห็นเป็นรองเท้าหนังสีดำ มีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก ภายในรองเท้าผุกร่อนหลุดลอกหลายแห่ง ถ้าเป็นคนมีเงินเขาทิ้งไปแล้ว ตนไม่รู้จะพูดอย่างไร แต่ในความคิดของตน พระองค์อาจทรงเห็นว่า หนังยังดีอยู่ก็เป็นได้ และเท่าที่สอบถามจากเจ้าหน้าที่ ก็บอกว่าเป็นฉลองพระบาทคู่โปรด

          และนับจากนั้นเป็นต้นมา ตนยังมีโอกาสได้ถวายงานซ่อมฉลองพระบาทอีกหลายคู่ แต่ละคู่ก็มีอาการแตกต่างกันไป ทั้งพื้นสึก ก็ซ่อมแซมตรงส้น กันพระองค์ลื่น แล้วฉลองพระบาทลำลองขาด ปะตรงรอยที่ขาด บางคู่ก็เป็นรอยสุนัขทรงเลี้ยงกัด แหว่ง ซ่อมแซมตามอาการ

เรื่องเล่าในหลวง

          แต่ที่ประทับใจสุดคือได้ซ่อมฉลองพระบาทคู่หนึ่งเก่ามาก หนังข้างนอกหลุดลุ่ย พอตนรับมาก็เอามาทำทรงใหม่ ต้องเลาะหนังเก่าออก แต่ตอนที่เลาะออกมาเห็นรอยพระบาท ตื่นเต้นมาก เคยเห็นในทีวีคนเขาไปรับเสด็จฯ เขามีผ้าเช็ดหน้ารองให้ทรงเหยียบ แต่นี่เราเห็นรอยปรากฏอยู่อย่างนี้ เราจะทิ้งได้ยังไง ตนก็เลยเอาไปใส่กรอบแล้วตั้งเอาไว้บนหิ้งสูงสุดตกแต่งอย่างดี มีพานและผ้าคลุมพานสีเหลือง พอลูกค้าเข้ามาเห็นก็ถามว่าทำไมเอารองเท้าไปตั้งบนพาน เราก็ไม่ค่อยกล้าพูดอะไร แต่ก็จะแย้มว่าเป็นรองเท้าของพระองค์ท่าน เขาก็จะดีใจกันและขออนุญาตเอามาเทินหัว

          ช่างไก่ ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ตนได้เรียนรู้จากพระองค์ท่าน ก็คือ "ความพอเพียง" เพราะขนาดรองเท้าเก่า ยังส่งมาซ่อมแล้วซ่อมอีก เพื่อนำกลับมาใช้ต่อ ซึ่งตนเชื่อว่า หากคนไทยเดินตามรอยของพระองค์ท่าน เราน่าจะเป็นสุขกันมากกว่านี้

เรื่องเล่าในหลวง

หลอดยาสีพระทนต์

          ศาสตราจารย์พิเศษ ทันตแพทย์หญิง ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ทันตแพทย์ประจำพระองค์ อดีตคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนเล่าให้ฟังว่า...

          "ครั้งหนึ่งทันตแพทย์ประจำพระองค์ กราบถวายบังคมทูลเรื่องศิษย์ทันตแพทย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บางคนมีค่านิยมในการใช้ของต่างประเทศ และมีราคาแพง รายที่ไม่มีทรัพย์พอซื้อหาก็ยังขวนขวาย เช่ามาใช้เป็นการชั่วครั้งชั่วคราว ซึ่งเท่าที่ทราบมา มีความแตกต่างจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่ทรงนิยมใช้กระเป๋าที่ผลิตภายในประเทศเช่นสามัญชนทั่วไป ทรงใช้ดินสอสั้นจนต้องต่อด้าม แม้ยาสีพระทนต์ของพระองค์ท่าน ก็ทรงใช้ด้ามแปรงพระทนต์รีดหลอดยาจนแบนจนแน่ใจว่าไม่มียาสีพระทนต์หลงเหลืออยู่ในหลอดจริง ๆ"

          "เมื่อกราบบังคมทูลเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งว่า ของพระองค์ท่านก็เหมือนกัน และยังทรงรับสั่งต่อไปอีกด้วยว่า เมื่อไม่นานมานี้เองมหาดเล็กห้องสรง เห็นว่ายาสีพระทนต์ของพระองค์คงใช้หมดแล้วจึงได้นำหลอดใหม่มาเปลี่ยนให้แทน เมื่อพระองค์ได้ทรงทราบ ก็ได้ขอให้เขานำยาสีพระทนต์หลอดเก่ามาคืนและพระองค์ท่านยังทรงสามารถใช้ต่อไปได้อีกถึง 5 วัน จะเห็นได้ว่าในส่วนของพระองค์ท่านเองนั้น ทรงประหยัดอย่างยิ่ง ซึ่งตรงกันข้ามกับพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ทรงพระราชทานเพื่อราษฎรผู้ยากไร้อยู่เป็นนิจ"

          "พระจริยวัตรของพระองค์ได้แสดงให้เห็นอย่างแจ่มชัดถึงพระวิริยะ อุตสาหะ ตลอดจนความประหยัดในการใช้ของอย่างคุ้มค่า หลังจากนั้นทันตแพทย์ประจำพระองค์ได้กราบพระบาททูลขอพระราชทานหลอดยาสีพระทนต์หลอดนั้น เพื่อนำไปให้ศิษย์ได้เห็นและรับใส่เกล้าเป็นตัวอย่างเพื่อประพฤติปฏิบัติในโอกาสต่อ ๆ ไป"
 
          "ประมาณหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานส่งหลอดยาสีพระทนต์เปล่าหลอดนั้นมาให้ถึงบ้าน ทันตแพทย์ประจำพระองค์รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้ายิ่ง เมื่อได้พิจารณาถึงลักษณะของหลอดยาสีพระทนต์เปล่าหลอดนั้นแล้วทำให้เกิดความสงสัยว่า เหตุใดหลอดยาสีพระทนต์หลอดนี้จึงแบนราบเรียบโดยตลอด คล้ายแผ่นกระดาษ โดยเฉพาะบริเวณคอหลอดยังปรากฏรอยบุ๋มลึกลงไปเกือบถึงเกลียวคอหลอด เมื่อได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ อีกครั้งในเวลาต่อมา จึงได้รับคำอธิบายจากพระองค์ว่า หลอดยาสีพระทนต์ที่เห็นแบนเรียบนั้นเป็นผลจากการใช้ด้ามแปรงสีพระทนต์ช่วยรีดและกดจนเป็นรอยบุ๋มที่เห็นนั่นเอง และเพื่อที่จะขอนำไปแสดงให้ศิษย์ทันตแพทย์ได้เห็นเป็นอุทาหรณ์ จึงได้ขอพระราชานุญาต ซึ่งพระองค์ท่านก็ได้ทรงพระเมตตาด้วยความเต็มพระราชหฤทัย"

เรื่องเล่าในหลวง

เรื่องเล่าในหลวง

ดินสอไม้

          ทุกครั้งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงงานในพื้นที่ต่าง ๆ แทบทุกภูมิภาคของประเทศ ของสิ่งหนึ่งที่จะทรงใช้จดเขียนบันทึกข้อมูลอยู่ตลอด คือ ดินสอไม้ธรรมดา ๆ โดยมีบันทึกว่าในปีหนึ่ง ๆ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเบิกดินสอใช้เพียง 12 แท่ง โดยทรงใช้ดินสอเดือนละ 1 แท่งเท่านั้น และทรงใช้จนกระทั่งดินสอนั้นกุดจนใช้เขียนไม่ได้แล้วเสมอ

          ดินสอไม้ของพระองค์เป็นดินสอที่มียางลบติดอยู่ตรงปลาย เพื่อจะได้ลบคำที่เขียนผิดออกได้ง่าย ไม่เปลืองกระดาษเหมือนใช้ปากกา และจะทรงเหลาดินสอด้วยพระองค์เอง



โต๊ะทรงงาน

          ชาวไทยทราบหรือไม่ว่า ห้องทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เป็นห้องเล็ก ๆ ขนาด 3x4 เมตรเท่านั้นเอง ภายในห้องมีวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องบันทึกเสียง เครื่องพยากรณ์ แผนที่ สำหรับการทรงงานเพื่อประชาชนของพระองค์ตลอดเวลา

          และยังได้ทราบจากพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตอนหนึ่งที่ว่า "…สำนักงานของท่าน คือ ห้องกว้าง ๆ ไม่มีเก้าอี้ มีพื้น แล้วท่านก้มอยู่กับพื้น…"

เรื่องเล่าในหลวง

เครื่องประดับ

          หากได้ติดตามภาพข่าวพระราชสำนัก คงจะเคยเห็นภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ฉลองพระองค์ธรรมดา ห้อยกล้องถ่ายภาพไว้ที่พระศอ เพราะมิทรงโปรดการสวมใส่เครื่องประดับ เช่น แหวน สร้อยคอ ของมีค่าต่าง ๆ ยกเว้นแต่นาฬิกาข้อมือเท่านั้น

นั่งรถหารสอง

          ครั้งใดที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงออกตรวจงานภายนอก จะทรงรับสั่งกับข้าราชบริพารเสมอ ๆ ว่า ให้นั่งรถร่วมกันแล้วเรียกว่า "นั่งรถหารสอง" เพราะการนั่งรถคนละคันนั้นเป็นการสิ้นเปลือง อีกทั้งไม่โปรดให้มีขบวนรถยาวเหยียดด้วย

เรื่องเล่าในหลวง

รถยนต์พระที่นั่ง

          คุณอนันต์ ร่มรื่นวาณิชกิจ ช่างดูแลรถยนต์พระที่นั่ง เล่าว่า "ภายในรถยนต์พระที่นั่งเรียบง่ายมาก มีเพียงถังขยะเล็ก ๆ กับที่ทรงงานเท่านั้น ครั้งหนึ่งมีรถยนต์พระที่นั่งเพิ่งทรงใช้ในพระราชกรณียกิจมาทำ เห็นว่า พรมใต้รถมีน้ำแฉะขังอยู่และมีกลิ่นเหม็นด้วย แสดงว่า พระองค์ท่านทรงนำรถไปประกอบพระราชกรณียกิจในที่น้ำท่วม แถมน้ำยังซึมเข้าไปในรถพระที่นั่งด้วย จึงถามสารถีว่า ทำไมไม่รีบเอารถมาซ่อม ก็ได้คำตอบว่า ต้องรอให้เสร็จพระราชกรณียกิจก่อน ปกติถ้าทรงงานส่วนพระองค์ ท่านก็ใช้รถคันเล็กเพื่อประหยัดน้ำมัน และเมื่อเราสังเกตสีรถพระที่นั่ง จะเห็นว่ามีรอยสีถลอกรอบคันรถ กว่าที่ท่านจะนำมาทำสีใหม่ก็รอบคันแล้ว"
 
          นอกจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จะมีพระราชจริยวัตรแห่งความพอเพียงและเรียบง่ายแล้ว พระองค์ยังนำหลักการนี้มาใช้เพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาให้ราษฎรของพระองค์ เช่น ให้ราษฎรสามารถประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ ภูมิภาคนั้น ๆ มาแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้ไม่ต้องลงทุนสูงหรือใช้เทคโนโลยีที่ยุ่งยากนัก

          สิ่งเหล่านี้คือพระราชจริยวัตรแห่งความพอเพียงและเรียบง่ายที่ทรงแสดงออกให้เราทุกคนได้เห็นเป็นแบบอย่าง และให้เราสามารถน้อมนำไปปฏิบัติตามรอยพระยุคลบาทได้




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก

สำนักประชาสัมพันธ์เขต 1
มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี
Funny Rabbit
brainbank.sl.ac.th
เฟซบุ๊ก รวมใจภักดิ์ รักสามัคคี ทำความดีถวายในหลวง
กรมประชาสัมพันธ์
เฟซบุ๊ก เรารักพระเจ้าอยู่หัว
สปริงนิวส์
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
12 เรื่องเล่าพระราชจริยวัตรของพ่อหลวง ต้นแบบของความประหยัดและพอเพียง อัปเดตล่าสุด 11 ตุลาคม 2562 เวลา 13:36:29 136,041 อ่าน
TOP