4 ใช่ 4 ไม่ สอนลูกให้ฉลาดเรื่องเงิน

สอนลูกเรื่องเงิน

          สอนลูกเรื่องการเงินให้เขาเรียนรู้ตั้งแต่ยังเล็กถือว่าได้เปรียบ เพราะถ้าอยากให้เขาใช้เงินเป็น จัดการเรื่องการเงินได้ด้วยตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพ พ่อแม่ก็ไม่ควรละเลยที่จะสอนเข้าตั้งแต่วันนี้

          เรื่องเกี่ยวกับการเงินควรสอนกันตั้งแต่ยังเล็ก เพราะถือเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตที่สอนอะไรใหม่ ๆ ง่ายที่สุด และหากปล่อยให้เขาติดนิสัยผิด ๆ ไปก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ยากในภายหลัง

          ดังนั้นการสอนลูกเรื่องการใช้เงินถือว่าไม่เร็วเกินไปหรอกนะคะ และคนที่จะสอนลูกเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ได้ดีที่สุดก็คือพ่อกับแม่นั่นเอง ซึ่งเว็บไซต์ มาสิ ก็มี 4 สิ่งที่ควรสอน และ 4 สิ่งไม่ควรสอนลูกเกี่ยวกับการเงินมาฝากค่ะ ลองไปดูกันเลย

4 สิ่งที่ไม่ควรทำ...

1. อย่าตามใจมากเกินไป

          การตามใจ อยากได้อะไรก็ให้ อยากมีอะไรก็ซื้อ จะเป็นการปลูกฝังความคิดที่ว่า อะไรก็ได้มาได้ง่าย ๆ และอาจจะทำให้เด็กไม่เห็นค่าของเงินด้วยค่ะ ดังนั้นหากลูกอยากได้อะไร ต้องให้ลูกพูดคุยกับเราด้วยเหตุผลว่าทำไมถึงต้องการของสิ่งนี้ และมันมีประโยชน์ยังไง

          สมัยเป็นเด็ก พอเราอยากได้อะไรคุณพ่อมักจะให้บอกข้อดีอย่างน้อย 3 อย่างของสิ่งที่อยากได้มาก่อน ถ้าไม่มีเหตุผลพอจะไม่ซื้อให้ ซึ่งวิธีนี้สามารถสอนให้เด็ก ๆ ใช้ความคิดพิจารณามากขึ้นก่อนจะขออะไรจากพ่อแม่ และเป็นพื้นฐานที่ดีในการใช้เงินนะคะ


2. อย่าช้อปเพื่อความบันเทิง

          การพาลูกไปช้อปปิ้งอาจเป็นการสอนลูกว่าสิ่งของนอกกายเป็นสิ่งสำคัญ และอาจส่งผลทำให้ลูกเป็นคนที่ลุ่มหลงวัตถุได้นะคะ

          ทว่าการซื้อสินค้าราคาแพงก็ไม่ได้เป็นเรื่องผิด หากเป็นการซื้อที่มีเหตุผล เช่น ต้องซื้อรองเท้ากีฬาที่ราคาสูงเพราะเป็นนักกีฬา เวลาเล่นกีฬารองเท้าจะได้ช่วยลดอาการบาดเจ็บได้ และใช้ได้ในระยะยาว หรือซื้อชุดสูทสวย ๆ สักชุด เพื่อที่เวลาไปสมัครงานหรือมีประชุมสำคัญจะได้มีภาพลักษณ์ที่ดี เหมาะสมกับโอกาส เป็นต้น

          ทั้งนี้เราควรจะบอกให้ลูกรู้ถึงเหตุผลที่เราตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าต่าง ๆ เสมอว่าไม่ใช่แค่อยากได้เลยซื้อไว้เท่ ๆ แต่ซื้อเพราะมีเหตุผลจริง ๆ และไม่ใช่ซื้อเพื่ออวดฐานะด้วย

3. อย่าให้เงินลูกง่าย ๆ

          หากเราให้ค่าขนมรายสัปดาห์หรือรายเดือนไปแล้ว ลูกจะมาขอเบิกขอยืมทีหลังอย่างนี้ไม่ได้ เพราะในเมื่อลูกรู้อยู่แล้วว่า เงินที่ให้รายสัปดาห์มีจำนวนเท่าไรต้องใช้ให้พอถึงเมื่อไร ลูกก็ต้องจัดการกับเงินก้อนนั้นให้พอดีให้ได้

          แต่ถ้ามาปรึกษาให้เราช่วยวางแผนแบบนั้นเราสามารถช่วยลูกคำนวณได้ แต่หากลูกใช้เงินหมดก่อนกำหนด มาขอใหม่แบบนี้ไม่ควรให้เด็ดขาด และอยากขอให้พ่อและแม่ใจแข็งไว้ด้วยนะคะ เพราะจะเป็นการสอนลูกอีกทางว่าจะต้องวางแผนการใช้เงินให้ดีจะได้มีเงินเหลือใช้


4. อย่าให้บัตรเสริม

          หากเราเชื่อใจลูก ลูกของเราโตพอสมควรแล้ว มีความรับผิดชอบพอสมควร เราอยากจะให้บัตรเสริมกับลูกเพื่อความสะดวก เช่น เวลาเขาต้องใช้จ่ายค่าเรียน ค่าหนังสือ เป็นต้น ก็สามารถทำได้ แต่สำหรับบางคน ลูกอาจจะยังไม่มีความรับผิดชอบเรื่องเงินดีเท่าไร หรือหัวอ่อน เชื่อคนง่าย การให้บัตรเสริมกับลูกอาจจะทำให้เป็นปัญหาได้ เพราะทำให้การซื้อของ การใช้จ่ายง่ายเหมือนได้ไม้วิเศษ แล้วเราจะต้องตกเป็นผู้รับผิดชอบหนี้สินที่ตามมาได้ค่ะ

สอนลูกเรื่องเงิน

4 สิ่งที่ควรทำ…

1. สอนลูกให้รู้ที่มาที่ไปและค่าของเงิน

          วิธีการสอนลูก ๆ เรื่องค่าของเงิน และการได้มาของเงินมีหลายวิธีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการพาลูกมาดูที่ทำงาน ว่าคุณพ่อคุณแม่ทำอะไรบ้าง เหนื่อยยากแค่ไหน กว่าจะได้เงินมาแต่ละเดือน หรือเป็นการใช้ระบบจ้างลูกทำงานก็ได้ เช่น จ้างลูกล้างห้องน้ำ ตัดหญ้า เก็บขยะ เก็บกวาดห้อง หรือใช้ระบบปรับเงินเมื่อทำผิด อย่างถ้าโต๊ะทำงานของลูกรก คุณพ่อคุณแม่จะหักเงินค่าขนมก็ได้เช่นกันค่ะ

          จากนั้นก็สอนวิธีการเก็บออม หยอดกระปุก เป็นการสร้างนิสัยที่ดีด้านการเงินให้ลูก ๆ ได้อีกทางด้วยค่ะ


2. ให้เงินค่าขนมรายสัปดาห์

          การให้เงินค่าขนมรายสัปดาห์เป็นการฝึกให้ลูกจัดการเงินตั้งแต่เด็ก ๆ เริ่มตั้งแต่อายุสัก 6 ขวบก็ได้แล้วค่ะ โดยให้เงินค่าขนมรายสัปดาห์ แล้ววันแรกที่เราใช้ระบบนี้ก็มานั่งสอนวิธีการจัดสรรปันส่วนการใช้เงินให้ลูกก่อน ว่าควรใช้เงินอย่างไรให้พอดีในสัปดาห์นั้น ๆ

          เด็กบางคนอาจจะสามารถรับการเปลี่ยนแปลง และปรับตัวได้เลย แบบนี้ก็ทำให้คุณพ่อคุณแม่วางใจได้เร็วขึ้น แต่บางคนอาจจะมีเผลอบ้างอะไรบ้าง ใช้ไม่ครบสัปดาห์ แต่ก็อย่าให้เพิ่มนะคะ แล้วมาสอนลูกให้รู้ว่าพอใช้ไม่ระวังก็จะเป็นแบบนี้ แล้วเราก็ต้องอดทนจนกว่าจะถึงสัปดาห์หน้าถึงจะได้เงินใช้อีกครั้ง วิธีนี้จะทำให้ลูกได้ฝึกการออมเงินระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงนิสัยการใช้เงินที่ดีด้วย

3. ชวนลูกไปซื้อของเข้าบ้าน

          พาลูก ๆ ไปช่วยเลือกซื้อของเข้าบ้านทั้งของสดและของใช้ อย่างถ้าไปซื้อแชมพู ก็ให้ลูกช่วยเลือกและเปรียบเทียบราคากับปริมาณว่ายี่ห้อไหนราคาสมเหตุสมผลที่สุด และเมื่อตัดสินใจเลือกแล้ว ก็ให้บอกลูกว่า ทำไมเราเลือกชิ้นนี้แทนที่จะเป็นอีกยี่ห้อหนึ่ง

          สำหรับของสด ควรสอนลูกให้รู้จักการตรวจสอบวันหมดอายุของสินค้า และอาจจะสอนลูกเลือกผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ และของสดอื่น ๆ ด้วย ส่วนของใช้ในบ้านที่ต้องใช้เยอะ ๆ ก็ควรอธิบายให้ลูกฟังว่าทำไมเราถึงเลือกซื้อเป็นแพ็คหรือลัง แทนที่จะซื้อเป็นชิ้น ๆ เป็นต้น

          ทั้งหมดนี้จะช่วยปลูกฝังนิสัยให้ลูกมีความรอบคอบ รู้จักเลือกสินค้าให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด และจะช่วยประหยัดได้มาก และสิ่งเหล่านี้นี่แหละที่จะติดตัวเขาไปตลอดชีวิต


4. เรียนรู้จากความผิดพลาด

          ความผิดพลาดที่เกิดจากการใช้เงินของลูก ๆ ถือเป็นบทเรียนอันทรงคุณค่าที่ลูก ๆ ควรเรียนรู้ไว้ หากวันหนึ่งลูกประสบปัญหาทางการเงิน แม้จะเป็นปัญหาเพียงเล็กน้อย เช่น เผลอนำเงินค่าขนมทั้งหมดที่มีไปซื้ออุปกรณ์วาดเขียนจนไม่มีเงินเหลือซื้ออาการกลางวันที่โรงเรียนสำหรับสัปดาห์นั้น เราก็ควรจะปลอบใจและให้คำแนะนำในการจัดการเงินแก่ลูกด้วยค่ะ

          ใช้โอกาสนี้สอนลูกให้ลองเปลี่ยนวิธีการใช้เงินบ้าง คือหันมาออมเงินให้มากขึ้น จะได้มีเงินเก็บไปเรื่อย ๆ ไว้ใช้ซื้อของที่ต้องการในอนาคต ไม่ควรไปดุด่าซ้ำเติมลูก ควรชี้ให้เห็นว่าการใช้เงินแบบนี้ดีไม่ดีอย่างไร และควรสอน และให้กำลังใจลูกในการจัดการเงินในอนาคตจะดีกว่า

          นอกจากสิ่งที่เราพูดถึงทั้งหมดนี้แล้ว สิ่งที่สำคัญมากที่สุดสำหรับการสอนเรื่องเงินให้ลูก คือการเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก ๆ ด้วยนะคะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Masii.co.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
4 ใช่ 4 ไม่ สอนลูกให้ฉลาดเรื่องเงิน อัปเดตล่าสุด 15 มีนาคม 2559 เวลา 10:12:09 3,381 อ่าน
TOP
x close