x close

เมื่อจีนประกาศสงครามค่าเงิน ลดค่าเงินหยวน เศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป

จีนลดค่าเงินหยวน

          จีนลดค่าเงินหยวน ทำให้ทั่วโลกเริ่มกังวลกับสงครามค่าเงินครั้งใหม่ ไปติดตามกันว่าการเคลื่อนไหวของจีนในครั้งนี้ มีสาเหตุมาจากอะไร และประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง

          หลังจากที่จีนประกาศลดค่าเงินหยวนลงไปเมื่อวันอังคารที่ 11 สิงหาคม 2558 ก็ส่งผลให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงไปทันทีกว่า 4.6% เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับได้ว่าเป็นการประกาศลดค่าเงินครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของจีนในรอบกว่า 20 ปี หลายคนคงสงสัยว่า การประกาศลดค่าเงินหยวนครั้งประวัติศาสตร์มีนี้ที่มาที่ไปอย่างไร หลังจากที่ก่อนหน้านี้จีนเคยพยุงค่าเงินหยวนให้อยู่ที่ 8.27 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐนานนับสิบปี และภาคการส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน เพราะการที่จีนลดค่าเงินหยวน ส่งผลให้สินค้าจากไทยที่ส่งไปที่จีนมีราคาแพงขึ้นทันที ขณะที่ประเทศอื่น ๆ จะมองว่าสินค้าจีนมีราคาถูกลง นี่คือการเล่นสงครามค่าเงินโดยแท้

ทำไมจีนถึงลดค่าเงินหยวน

          นับตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2558 จนถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2558 หลังธนาคารจีนประกาศนโยบายลดอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงอย่างมีนัยสำคัญ ค่าเงินหยวนก็อ่อนค่าลงไปแล้วกว่าร้อยละ 4.6 มาอยู่ที่ 6.3306 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกใจสำหรับผู้ที่ติดตามสถานการณ์มาอย่างใกล้ชิด และจากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่เคยมองว่า "ไม่วันใดก็วันหนึ่งจีนจะประกาศลดค่าหยวนของตนเองลง" เนื่องจากเศรษฐกิจจีนในขณะนี้ถือได้ว่าซบเซาเป็นอย่างมาก บวกกับราคาตลาดหุ้นจีนเองก็ตกไปกว่า 30% และที่วิกฤตไปกว่านั้นคงหนีไม่พ้นเรื่องของการส่งออก

          ล่าสุดวันที่ 8 สิงหาคม 2558 ตัวเลขการส่งออกของจีนประจำเดือนกรกฎาคมถูกประกาศออกมา ปรากฏว่าติดลบ 8.3% ในขณะที่ยอดการนำเข้าตกลงไปกว่า 8.1% แรกเริ่มเดิมทีนักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักคาดการณ์เอาไว้ว่ายอดการส่งออกของจีนจะลดลงเพียง 1% เท่านั้น เพราะว่าก่อนหน้านี้ในเดือนมิถุนายน ยอดการส่งออกของจีนลดลงเพียง 2.8% เท่านั้น ทำให้นักวิเคราะห์หลายคนอาจไม่เฉลียวใจ ส่วนสาเหตุที่ทำให้การส่งออกของจีนเริ่มแผ่วเป็นเพราะแรงสั่งซื้อจากทางฝั่งยุโรปและอเมริกาซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของจีนลดลงนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม

          โดยตัวเลขการส่งออกสินค้าจากจีนไปยังสหภาพยุโรปในเดือนกรกฎาคมลดลงไป 12.3% ขณะที่ยอดการส่งออกสินค้าจากจีนไปยังสหรัฐอเมริกาลดลงไป 1.3%  ซ้ำร้ายยอดการส่งออกสินค้าไปยังคู่ค้ารายใหญ่ประเทศอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น ลดลงไปกว่า 13% นั่นจึงทำให้ในเดือนกรกฎาคม จีนมีกำไรจากการส่งออกเพียงแค่ 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่ำกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ที่ 53,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้ว่าจะยังคงได้กำไร แต่การพลาดเป้าที่ตั้งไว้ถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็ถือเป็นเรื่องใหญ่

          ก่อนหน้านี้จีนพยายามที่จะใช้เครื่องมือทางการเงินหลายชนิดในการช่วยเหลือเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังถดถอยอย่างหนัก ซึ่งหลัก  ๆ จะเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายการเงิน อาทิ การปรับลดอัตราดอกเบี้ย การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น ในขณะที่นโยบายการคลังที่ครั้งหนึ่งเคยมีบทบาทสำคัญ ก็จำเป็นต้องลดบทบาทลง เนื่องจากเป็นการสร้างภาระทางการคลังให้รัฐบาลมากเกินไป แต่เป็นที่สังเกตว่าในช่วงที่ผ่านมา นโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางจีนเริ่มไม่ได้ผล ในการเป็นเครื่องปั๊มหัวใจให้ภาคเศรษฐกิจของจีนกลับมาหายใจได้อีกครั้ง เห็นได้จากอัตราการขยายตัวของสินเชื่อที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรกของปี 58

          ประสิทธิภาพของเครื่องมือทางการเงินการคลังที่มีอยู่ในมือของรัฐบาลจีนในตอนนี้เริ่มอ่อนแรงลงเต็มที ประกอบกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่ถาโถมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้รัฐบาลจีนตัดสินใจใช้มาตรการลดค่าเงินหยวนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการส่งออก ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพใหญ่ของประเทศจีนก็คือ "การส่งออก" ดังนั้นยาแรงที่จีนนำมาใช้คือ "การปรับวิธีการคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงเงินหยวน" หลังจากเปลี่ยนวิธีการคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ก็มีผลทำให้ "อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงสอดคล้องกับอัตราแลกเปลี่ยนในตลาด" มากขึ้น

          การปรับเปลี่ยนวิธีการคำนวณดังกล่าวสะท้อนภาพการปรับเปลี่ยนท่าทีเชิงนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของจีนอย่างชัดเจน โดยก่อนหน้านี้จีนกำหนดให้อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดของเงินหยวนสามารถเคลื่อนไหวเป็น บวก หรือ ลบ ได้ไม่เกินร้อยละ 2 จากอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิง (พูดง่าย ๆ ว่าทางการจีนควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนแทนที่จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกการตลาด) ดังนั้นการคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงแบบใหม่นั้น จึงซ่อนนัยสำคัญคือการปล่อยให้เงินหยวนเคลื่อนไหวไปตามอุปสงค์และอุปทานของตลาดมากขึ้น

          ทั้งนี้นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่า การประกาศลดค่าเงินหยวนในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศจีนเท่านั้น แต่ยังมีวาระซ่อนเร้นบางอย่างที่ทางการจีนต้องการจะสื่อสารออกไปให้โลกรู้ นั่นก็คือ การนำสกุลเงินหยวนเข้าสู่ตะกร้าเงินของ IMF หรือที่เรียกว่า Special Drawing Rights หรือ SDR ที่มีเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ, ปอนด์ สหราชอาณาจักร, ยูโร และเยนของญี่ปุ่น

          การปล่อยให้ค่าเงินหยวนเคลื่อนไหวตามอุปสงค์และอุปทานของตลาดเป็นสัญลักษณ์ของการเปิดเสรีทางการเงินอย่างชัดเจน เพราะเป็นการบอกเป็นนัย ๆ ว่าเงินหยวนไม่ได้แข็งค่าเป็นอย่างเดียว สามารถอ่อนค่าก็ได้ ซึ่งถ้าจีนอยากที่จะให้เงินหยวนเข้าสู่ตะกร้าเงินของ IMF แล้วละก็ ย่อมต้องยอมปล่อยให้ค่าเงินลอยตัวโดยเสรีมากขึ้นและต้องปราศจากการแทรกแซงจากทางการให้มากที่สุด จีนเองมีความพยายามที่จะให้เงินหยวนมีการใช้ในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นอยู่แล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อพัฒนาภาคการเงินของตัวเอง และลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ (ที่จำเป็นต้องมีทุนสำรองปริมาณมหาศาล) พร้อมกับการก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำในระบบเศรษฐกิจของโลก

จีนลดค่าเงินหยวน กับผลกระทบที่ไทยต้องตั้งรับ

          ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธนาคารกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์การลดค่าเงินหยวนว่ามีผลกระทบต่อไทยอย่างไร

          ในงานวิจัยบอกว่า การอ่อนค่าลงอย่างมีนัยสำคัญของเงินหยวนเป็นประเด็นที่น่าจับตามองในฐานะที่จีนเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย โดยมีสัดส่วนการส่งออกกว่าร้อยละ 12 ของการส่งออกทั้งหมด และหากพิจารณาโครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยไปจีน พบว่า การส่งออกกระจุกตัวอยู่ในสินค้าโภคภัณฑ์กว่าร้อยละ 50 เป็นสินค้าชั้นกลางอีกร้อยละ 10 สินค้าส่งออกหลักที่ไทยส่งไปจีนไม่ว่าจะเป็นยางพาราและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางพารา เม็ดพลาสติก ตลอดจนเคมีภัณฑ์ ล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบจากการที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง ในขณะที่การส่งออกสินค้าประเภทชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ก็มีแนวโน้มไม่สดใส จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคในตลาดโลก ทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปจีนในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ติดลบร้อยละ 7 

          ทางด้านภาคการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจีนถือได้ว่าเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากเป็นอันดับที่ 1 ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหมด ทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนถือเป็นกลุ่มเป้าหมายรายได้การท่องเที่ยวอันดับ 1 ของไทย แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่น่าที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวเท่าใดนัก เพราะการตัดสินใจในการเดินทางมาท่องเที่ยวนั้นขึ้นอยู่กับสภาวะทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยดูจากในช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวไทยกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2558 นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเติบโตในอัตราที่เพิ่มขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยสูงถึง 4.78 ล้านคน เติบโตประมาณร้อยละ 113.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 (ที่หดตัวลงร้อยละ 20.6) และสูงกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยตลอดทั้งปี 2557 ที่มีจำนวน 4.62 ล้านคน

          ในขณะที่ EIC (Ecomomic Intelligence Center) ของธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์เรื่องนี้ว่า ผลกระทบจากการที่เงินหยวนอ่อนค่า ไม่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของไทยมากนัก เพราะประเทศไทยยังมีสถานะทางการเงินระหว่างประเทศที่ดีอยู่ โดยดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลได้ราว 6% ของ GDP ในปีนี้ อีกทั้งยังมีเงินสำรองระหว่างประเทศในระดับสูงที่ 40% ของ GDP

          ทางด้านการส่งออกของไทย EIC มองว่า การส่งออกสินค้าของไทยไปยังจีนอาจติดลบได้อีก เพราะว่าราคาสินค้านำเข้าในรูปเงินหยวนจะเพิ่มสูงขึ้นจากค่าเงินหยวนที่อ่อนค่า ส่งผลให้ความต้องการสินค้าจากประเทศไทยอาจลดลง ถึงอย่างไรก็ตาม ในแง่ของความสามารถในการแข่งขันของไทยอาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากค่าเงินในภูมิภาคอ่อนค่าลงในทิศทางเดียวกัน ทำให้ความสามารถในการแข่งขันค่อนข้างสูสีกันอยู่ในช่วงนี้

          ทางด้านภาคการท่องเที่ยวของไทยน่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากเช่นกัน ดูจากในอดีตที่ผ่านมาพบว่า ค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลงไม่ได้เป็นการกำหนดพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีน แต่ปัจจัยสำคัญคือ การเติบโตของเศรษฐกิจจีน

          ส่วนในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนนั้น EIC มองว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าได้อีก ตามทิศทางค่าเงินหยวน โดยเงินหยวนมีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้อีกเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวบวกกับการส่งออกที่ยังไม่กระเตื้อง อีกทั้งภาวะเงินทุนไหลออก ซึ่งเป็นปัจจัยใหม่ที่เพิ่มเข้ามานอกเหนือจากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่จะเริ่มปรับเพิ่มขึ้นภายในปีนี้ก็มีผลเช่นกัน

          ขณะที่นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ตัวแทนจากฝากฝั่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  มีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้ว่า น่าจะเป็นผลดีกับจีนที่สามารถทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น (อิงตลาด) ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจจีน และอาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคในอนาคต ส่วนในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาไทยมีสัดส่วนการค้ากับจีนอยู่ 14.8% และมีสัดส่วนการใช้เงินหยวนในการชำระสินค้าและบริการเกือบ 1% ของมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับจีน แต่อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวในครั้งนี้อาจมีผลกระทบต่อตลาดการเงินของโลก ดังนั้นเพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ผู้ประกอบการควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
 
          ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ที่ปรึกษาสภาหอการค้าไทย มองว่าเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อไทยเต็ม ๆ เนื่องจากว่าจีนจะต้องนำเข้าสินค้าจากไทยในราคาที่แพงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อยอดการส่งออกสินค้าจากไทยไปจีนที่อาจลดลง ในอีกแง่หนึ่งก็คือ นี่จะเป็นการเปิดสงครามทางการค้า เพราะหลายประเทศต้องช่วงชิงความได้เปรียบในการส่งออกสินค้าไปจีนให้มากขึ้น โดยอาจต้องออกนโยบายทำให้ค่าเงินของประเทศตนเองอ่อนลงตามไปด้วย มิเช่นนั้นก็ขายของไม่ได้ และการที่จีนลดค่าเงินหยวนลงครั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจจีนย่ำแย่เข้าขั้นวิกฤต แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงการใช้จิตวิทยาว่าจีนสามารถควบคุมค่าเงินของตนเองได้โดยไม่ต้องให้เป็นไปตามกลไกการตลาด

          ในส่วนของนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทย ระบุว่า การที่ประเทศจีนประกาศลดค่าเงินหยวนอาจมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยบ้าง เนื่องจากจีนจะสั่งสินค้าจากไทยน้อยลง โดยคาดว่าเป็นการช่วยเหลือภาคการส่งออกของประเทศตัวเอง

          ในขณะเดียวกันเพื่อเป็นการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ไทยอาจต้องเร่งดำเนินนโยบายทางการคลังเพื่อไม่ให้สถานการณ์การส่งออกย่ำแย่ไปกว่านี้ โดยต้องเร่งลงทุนเพื่อให้ขาดดุลมากขึ้น อันเป็นการทำให้เงินบาทอ่อนค่าซึ่งจะทำให้ไทยสามารถแข่งขันในการส่งออกได้ดีขึ้น ในขณะที่นโยบายการลดดอกเบี้ยลงนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ เพราะอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันของไทยก็อยู่ในระดับต่ำมากแล้ว (ร้อยละ 1.5)

          นอกจากนี้ การอ่อนค่าเงินหยวนอาจมีผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ด้วย เนื่องจาก จีน ในฐานะผู้ซื้อรายใหญ่ อาจไม่อยากใช้จ่ายในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้น เพราะราคาสินค้าจะแพงขึ้นในรูปเงินหยวน (นำเข้า) ดังนั้นการอ่อนค่าของเงินหยวนเท่ากับว่าจีนได้เปรียบในด้านราคากับไทยและประเทศอื่น ๆ

          กล่าวโดยสรุป...จะเห็นได้ว่าตัวแทนของนักวิเคราะห์รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในประเทศไทยให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การที่จีนทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนลงนั้นมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากค่าเงินบาทของไทยอ่อนกว่าจีน

          ส่วนในภาคการท่องเที่ยวที่รัฐบาลหวังให้เป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทนการส่งออกนั้นยัง "วางใจได้" เพราะการที่นักท่องเที่ยวจีนจะหดหายไปหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศจีนรวมไปถึงสถานการณ์การทางเมืองของประเทศไทย ดังนั้นคงไม่สามารถบอกอะไรได้มากในช่วงไม่กี่วันนี้ แต่สิ่งที่จะต้องทำต่อไปคือต้องติดตามสถานการณ์ค่าเงินหยวนอย่างใกล้ชิด เพราะถ้าหากค่าเงินหยวนยังคงลดต่ำต่อไปอีก ก็ไม่แน่ว่าเมื่อนั้นสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกคงถึงคราวได้วุ่นวายกันอีกครั้ง




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เมื่อจีนประกาศสงครามค่าเงิน ลดค่าเงินหยวน เศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป อัปเดตล่าสุด 17 สิงหาคม 2558 เวลา 17:51:08 50,503 อ่าน
TOP