x close

บริจาคเงินช่วยเหตุแผ่นดินไหวเนปาล หักลดหย่อนภาษีได้




ภาพจาก PRAKASH SINGH / AFP

                  กรมสรรพากร ระบุ ผู้บริจาคเงินและสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวเนปาล สามารถนำใบเสร็จไปหักลดหย่อนภาษีได้ เผย สิทธินี้ให้แก่ผู้ที่บริจาคให้แก่หน่วยงานของส่วนราชการไทยเท่านั้น

                  วันที่ 28 เมษายน 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมสรรพากร ได้ออกมาประกาศว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในประเทศเนปาล ทำให้ประชาชนชาวเนปาลเกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก ซึ่งในส่วนของประเทศไทยได้ระดมความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยในทุก ๆ ด้าน โดยมีการเปิดรับบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อส่งไปบรรเทาทุกข์ให้แก่ประชาชนชาวเนปาล ซึ่งการบริจาคช่วยเหลือในครั้งนี้ ผู้บริจาคสามารถนำเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินที่บริจาค ไปหักเป็นค่าลดหย่อน หรือหักเป็นรายจ่ายในการเสียภาษีได้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

                  1. ผู้บริจาคที่เป็นบุคคลธรรมดา ได้เฉพาะการบริจาคเป็นเงินด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยของหน่วยงานราชการที่เปิดรับบริจาคเป็นการเฉพาะ เช่น

                  - บัญชี "หัวใจไทย ส่งไปเนปาล" ธนาคารกรุงไทย สาขาทำเนียบรัฐบาล ของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หมายเลขบัญชี 067-0-10330-6 เป็นต้น

                  - บริจาคเป็นเงิน ผ่านบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น เช่น สถานีโทรทัศน์ หรือมูลนิธิของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น


                  ทั้งนี้ ผู้บริจาคที่เป็นบุคคลธรรมดา สามารถนำเงินบริจาคไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีได้ตามจริง (รวมกับเงินบริจาคอื่น ๆ ด้วย) แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้ หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว โดยใช้หนังสือสำคัญการรับเงินบริจาคที่ส่วนราชการ หรือนิติบุคคลที่เป็นตัวแทนรับบริจาคออกให้ รวมถึงใบโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร หรือสลิปของธนาคาร เพื่อเป็นหลักฐานในการนำไปหักลดหย่อนต่อไป

                  2. ผู้บริจาคที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถนำเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคไปหักรายจ่ายได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิในปีที่บริจาค เนื่องจากในส่วนของการบริจาคทรัพย์สินหรือสินค้าดังกล่าวนั้น ถือเป็นเหตุอันสมควรที่ไม่ต้องมีภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม
 
                  ทั้งนี้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ที่รับบริจาคเงินหรือทรัพย์สินตามข้อ 1 และ 2 ต้องนำเงินและทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคมาทั้งจำนวนนั้น ไปบริจาคให้แก่หน่วยงานของส่วนราชการไทยเท่านั้น เช่น สำนักนายกรัฐมนตรี  เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย อีกทั้งหน่วยงานราชการนั้น จะต้องออกหนังสือสำคัญหรือหลักฐานที่แสดงว่าได้รับการบริจาค โดยมียอดเงินหรือทรัพย์สินที่เป็นยอดรวมตรงกับยอดที่รับบริจาคมาทั้งจำนวนอีกด้วย

                  อย่างไรก็ตาม จากกรณีดังกล่าว ผู้บริจาคตามข้อ 1 และ 2 จึงจะได้รับสิทธินำยอดเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาค สามารถไปหักลดหย่อนหรือหักรายจ่ายได้ แต่หากตัวแทนรับบริจาคนำไปมอบให้แก่ผู้ประสบภัยโดยตรง ผู้บริจาคจะไม่ได้รับสิทธิในการหักลดหย่อนแต่อย่างใด


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บริจาคเงินช่วยเหตุแผ่นดินไหวเนปาล หักลดหย่อนภาษีได้ อัปเดตล่าสุด 28 เมษายน 2558 เวลา 18:09:28
TOP