x close

ครม. เห็นชอบเพิ่มโทษ ผู้จงใจหลีกเลี่ยงภาษี

เพิ่มโทษ ผู้จงใจหลีกเลี่ยงภาษี

          รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เพิ่มโทษผู้จงใจหลีกเลี่ยงการยื่นภาษี

          เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับความผิดทางอาญา) เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่มีเนื้อหาไม่สอดรับกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และสร้างความไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับสภาพบังคับทางกฎหมาย รวมทั้งแก้ไขบทบัญญัติบางมาตราที่ขาดความชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมและการใช้บังคับ ดังนี้


          1. แก้ไขเพิ่มเติมกรณีไม่ปฏิบัติตามมาตรา 69 โดยการฝ่าฝืนหน้าที่ในการแนบเอกสารพร้อมการยื่นแบบแสดงรายการภาษี ต้องระวางโทษปรับ ทั้งนี้เนื่องจากมาตรา 69 บัญญัติให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลยื่นแบบแสดงรายการภาษีพร้อมด้วยบัญชีงบดุล บัญชีทำการ บัญชีกำไรขาดทุน บัญชีรายรับ รายจ่าย หรือบัญชีรายรับก่อนหักรายจ่าย ที่มีผู้สอบบัญชีภาษีอากรตามมาตรา 3 ทำการตรวจสอบและรับรอง แต่ไม่มีบทบัญญัติใดในประมวลรัษฎากรกำหนดมาตรการบังคับสำหรับการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว จึงทำให้มาตรา 69 ขาดสภาพบังคับในทางกฎหมาย

          2. แก้ไขเพิ่มเติมให้การกระทำความผิดเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามมาตรา 37 ให้ครอบคลุมถึงการขอคืนภาษีอากรอันเป็นเท็จ เนื่องจากมาตรา 37 ทวิ บัญญัติให้ผู้ใดเจตนาละเลยไมยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ ซึ่งมีบทลงโทษที่น้อยกว่าบทกำหนดโทษกรณีการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามบทบัญญัติในมาตรา 37 ทำให้สภาพบังคับทางกฎหมายของบทบัญญัติทั้งสองนี้มีความแตกต่างกันมาก ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับบทลงโทษทางอาญา

          3. แก้ไขเพิ่มเติมให้การกระทำอันเป็นการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามมาตรา 37 ทวิ มีอัตราโทษเดียวกับมาตรา 37 คือ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท โดยยกเลิกมาตรา 37 ทวิ  ​

​​          4. แก้ไขเพิ่มเติมให้บทกำหนดโทษเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่มให้ครอบคลุมถึงการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นเท็จเนื่องจากในมาตรา 90/4 (6) บัญญัติให้บทลงโทษสำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม กระทำการใด ๆ โดยความเท็จ โดยฉ้อโกง หรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นในทำนองเดียวกัน ซึ่งคำว่า เจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นถ้อยคำที่อาจให้ความหมายได้อย่างกว้างขวางและไม่ครอบคลุมถึงความผิดสำหรับการทุจริตในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เป็นเท็จ

          อย่างไรก็ตาม การแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าว เป็นการเพิ่มโทษของผู้ที่มีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอากรทุกประเภท


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ครม. เห็นชอบเพิ่มโทษ ผู้จงใจหลีกเลี่ยงภาษี อัปเดตล่าสุด 23 มีนาคม 2558 เวลา 10:03:43 1,353 อ่าน
TOP