x close

เร่งดันเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา หลังพบต้นทุนต่ำ-กำไรงาม


ป.ป.ช. เร่งให้มีการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

            ป.ป.ช. เร่งให้มีการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา พบกว่า 70% เป็นโรงเรียนเถื่อน แนะต้องมีการแก้ พ.ร.บ. ก่อน

            เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2557 มีรายงานว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้มีการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เสนอแนะ เพื่อให้เกิดการจัดการระบบการศึกษาทั้งระบบอย่างยั่งยืน เนื่องจากโรงเรียนกวดวิชานั้น ลงทุนไม่มาก แต่ผลกำไรสูง และไม่มีกฎหมายบังคับให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ทำให้มีผลต่อการจัดเก็บภาษี

            ทั้งนี้ นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เผยว่า การจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาไม่ใช่เรื่องใหม่ ทุกรัฐบาลแทบจะยกเรื่องนี้มาพูดหมดแล้ว แต่สุดท้ายเรื่องก็ถูกตีตกไป ล่าสุด ทาง ป.ป.ช. ได้เสนอเรื่องเข้า ครม. และได้ทำหนังสือมายัง สช. ซึ่ง สช. ก็ได้ให้ข้อเท็จจริงไปแล้ว โดยในปัจจุบัน โรงเรียนกวดวิชามีเพียง 3,000 แห่งที่จดทะเบียนถูกต้อง จากกว่าหมื่นแห่ง ซึ่งหากรัฐบาลจะจัดเก็บภาษี ก็ต้องมีการประชุมกับทุกภาคส่วน เพราะพระราชบัญญัติการศึกษาเอกชน กำหนดว่า หากเป็นโรงเรียนต้องไม่มีการจัดเก็บภาษี ดังนั้นหากจะต้องจัดเก็บภาษี ต้องมีการแก้ไขพระราชบัญญัติการศึกษาเอกชน คาดว่าผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ จะหารือเรื่องต่าง ๆ เร็ว ๆ นี้


            ด้านนายอนุสรณ์ ศิวะกุล นายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนกวดวิชา กล่าวว่า หากรัฐบาลต้องการจัดเก็บภาษีเพื่อนำเงินจากคนรวยมาช่วยคนจน เพราะการจัดเก็บภาษีไม่ทะลุเป้านั้น ก็เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนพึงปฏิบัติ แต่หากจัดเก็บเฉพาะโรงเรียนกวดวิชา ก็มีคำถามว่า ควรมีการจัดเก็บภาษีมหาวิทยาลัยเอกชนหรือไม่ และจัดเก็บในรูปแบบใด เท่าไหร่ ก่อนหน้านี้ สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทาง ป.ป.ช เคยนำเสนอเรื่องนี้ แต่มีการชะลอเอาไว้ก่อน เพราะจะต้องมีการดำเนินการแก้ไข 2 ข้อ คือ

            1. การเร่งให้โรงเรียนกวดวิชา จดทะเบียนอย่างถูกต้อง และดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยของโรงเรียน

            2. ให้กระทรวงศึกษาธิการ ปรับปรุงการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ แต่ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป คงไม่ทันใจ ป.ป.ช

            ปัจจุบัน มีโรงเรียนกวดวิชาทั่วประเทศประมาณ 8,000-10,000 แห่ง เฉพาะกรุงเทพมหานคร มีจำนวน 500 แห่ง แต่มีโรงเรียนกวดวิชาที่จดทะเบียนเพียง 3,000 แห่ง เท่ากับว่า กว่า 70% ของโรงเรียนกวดวิชานั้น ไม่ได้จดทะเบียนตามที่ สช. กำหนด



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก









เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เร่งดันเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา หลังพบต้นทุนต่ำ-กำไรงาม อัปเดตล่าสุด 12 ธันวาคม 2557 เวลา 09:29:52
TOP