x close

รัฐบาล สั่ง ธ.ก.ส. ล้างหนี้จำนำข้าว เตรียมเงิน 4 หมื่นล้าน ลดต้นทุน


รัฐบาล สั่ง ธ.ก.ส. ล้างหนี้จำนำข้าว
รัฐบาล สั่ง ธ.ก.ส. ล้างหนี้จำนำข้าว

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

            รัฐบาล สั่ง ธ.ก.ส. ล้างหนี้จำนำข้าว พร้อมให้เตรียมเงิน 4 หมื่นล้านบาท ใช้ทำมาตรการลดต้นทุนการผลิต จ่ายชดเชย หลังเลิกโครงการจำนำข้าว

            วันนี้ (1 ตุลาคม 2557) แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญคือเรื่องปรับโครงสร้างหนี้ในโครงการรับจำนำข้าวที่มีอยู่กว่า 6.8 แสนล้านบาท โดยมอบหมายให้ ธ.ก.ส. เข้าหารือกับสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เป็นการด่วน และให้สรุปสต็อกข้าว เพื่อตีเป็นมูลค่าที่คาดว่าจะขายได้ จากนั้นให้นำเอามาหักกับยอดหนี้ที่กู้มาแบบเทอมโลนทั้งหมด และต้องสรุปเรื่องดังกล่าวโดยเร็ว คาดว่าน่าจะนำเข้าหารือที่ประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ปลายเดือนตุลาคมนี้

            ทั้งนี้เงินกู้ที่เหลือที่เป็นส่วนต่างให้ สบน. ทำการออกพันธบัตร เพื่อมาแปลงหนี้เทอมโลนดังกล่าวให้เป็นหนี้ระยะยาว ส่วนหนึ่งก็เพื่อใช้หนี้คืน ธ.ก.ส. ในส่วนที่ขาดทุน สำหรับอีกส่วนก็เพื่อเป็นการลดภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น เนื่องจากหนี้ที่กู้มาแบบเทอมโลน จะมีภาระดอกเบี้ย ทั้งส่วนที่ต้องจ่ายให้สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ เฉลี่ยที่ 3% และค่าบริหารจัดการที่ต้องจ่ายให้ ธ.ก.ส. เฉลี่ยที่ 4%

            นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้อนุมัติโครงการสินเชื่อสีเขียว (กรีนเครดิต) ในวงเงิน 1,000 ล้านบาท โดยจะปล่อยสินเชื่อกับเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมปลอดสารพิษและสินค้าเกษตรอินทรี โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

            ปล่อยสินเชื่อให้กับบุคคลรายย่อยเพื่อการผลิต รายละไม่เกิน 100 ล้านบาท ดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็มอาร์อาร์) เท่ากับ 7%
 
            ปล่อยสินเชื่อกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ชุมชน รายละไม่เกิน 50 ล้านบาท ดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (เอ็มแอลอาร์) เท่ากับ 5% เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557-31 มีนาคม 2560

            และเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์ ชำระหนี้ได้ตามกำหนดและได้ใบรับรองด้านเกษตรอินทรีย์ ทาง ธ.ก.ส. จะพิจารณาคืนเงินในส่วนของดอกเบี้ยทั้ง 2 ประเภท ที่ 1% โดยเวลาการชำระหนี้ขึ้นอยู่กับการผลิตของแต่ละราย  และหากโครงการกรีนเครดิตด้านอาหารปลอดภัยสำเร็จ ทาง ธ.ก.ส. ก็พร้อมขยายโครงการไปยังด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น ด้านพลังงานทดแทน เพื่อเป็นการลดต้นทุน และให้เกษตรกร ชุมชน มีรายได้เพิ่มขึ้นและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

            พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบขยายกลุ่มเป้าหมายของโครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้รวบรวมยาง 10,000 ล้านบาท ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการช่วยเหลือในภาวะที่ราคายางตกต่ำ จากที่ปล่อยกู้ให้สหกรณ์กองทุนชาวสวนยาง สหกรณ์การเกษตร และกลุ่มเกษตรกร  โดยจะเพิ่มไปยังวิสาหกิจชุมชนให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้

            อย่างไรก็ดีที่ผ่านมามีสหกรณ์ทยอยขอสินเชื่อไปแล้วจนถึงสิ้นเดือนกันยายนกว่า 4,000 ล้านบาท จากที่ได้ตั้งเป้าหมายเดือนกันยายน 2557 วงเงิน 6,880 ล้านบาท เดือนตุลาคมอีก 2,000 ล้านบาท และเดือนพฤษภาคมอีก 1,000 ล้านบาท มีระยะเวลาจ่ายเงินกู้ตามโครงการจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2557-30 มิถุนายน 2558 กำหนดคืนเงินกู้ไม่เกิน 12 เดือน อัตราดอกเบี้ย 4% โดยสหกรณ์จะรับภาระดอกเบี้ยเงินกู้เพียง 1% ต่อปี และรัฐบาลอุดหนุนดอกเบี้ยเงินกู้ให้ 3% ต่อปี




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รัฐบาล สั่ง ธ.ก.ส. ล้างหนี้จำนำข้าว เตรียมเงิน 4 หมื่นล้าน ลดต้นทุน โพสต์เมื่อ 1 ตุลาคม 2557 เวลา 11:01:07
TOP