x close

ภาษีมรดก คืออะไร ได้เท่าไรถึงต้องเสียภาษี พร้อมวิธีวางแผน

           รู้จักกับภาษีมรดก ใครบ้างที่ต้องเสียภาษี ได้มรดกเท่าไหร่ถึงถูกเรียกเก็บ มาทำความเข้าใจกันให้ชัด ๆ
 
ภาษีมรดก

          ถ้าพูดถึงเรื่อง "ภาษีมรดก" หลายคนอาจจะดูว่าเป็นเรื่องไกลตัว ทำให้มักไม่ได้เตรียมวางแผนไว้และลืมให้ความสำคัญไป แต่จริง ๆ แล้ว การศึกษาทำความเข้าใจเรื่องภาษีมรดกไว้ อาจจะเป็นประโยชน์ต่อเราในอนาคตก็ได้ วันนี้ กระปุกดอทคอม จึงมีข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับภาษีมรดก มาฝากกัน  ใครบ้างต้องเสียภาษีมรดก เสียเท่าไหร่ คำนวณอย่างไร มาดูเลย


ภาษีมรดก คืออะไร

          ภาษีมรดก (Inheritance Tax) คือ ภาษีส่วนบุคคลที่เรียกเก็บเมื่อมีการโอนทรัพย์สินจากผู้ตายไปยังผู้รับมรดกหรือทายาท ซึ่งอาจโอนมาจากพ่อ-แม่ คนในครอบครัว หรือเจ้าของทรัพย์สินนั้น ๆ ที่ได้เสียชีวิตลงไปแล้ว โดยประเทศไทยมีการเรียกเก็บแบบ "ภาษีการรับมรดก" ซึ่งจะเสียภาษีตามมูลค่ามรดกที่แต่ละคนได้รับ มีอัตราไม่เท่ากันตามความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ตาย 

          สำหรับการจัดเก็บภาษีมรดก ก็เพื่อต้องการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำเรื่องความมั่งคั่งในสังคมสำหรับคนรุ่นต่อ ๆ ไป ผ่านการกระจายภาระภาษีไปยังกลุ่มคนที่มีฐานะร่ำรวย โดยไม่ให้กระทบต่อกลุ่มที่ยากจน และฐานะปานกลาง 

มรดกอะไรบ้าง ที่ต้องเสียภาษี

          ทรัพย์สินที่จะต้องเสียภาษี หากมีการรับมรดก จะมีด้วยกัน 5 ประเภท ดังนี้  

          1. อสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ทั้งที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย และต่างประเทศ

          2. หลักทรัพย์ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ หุ้น หุ้นกู้ หน่วยลงทุน ตราสารหนี้ และตราสารอนุพันธ์ต่าง ๆ  ไม่ว่าจะออกโดยนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย หรือในต่างประเทศ

          3. เงินฝาก หรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน ทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและต่างประเทศ

          4. ยานพาหนะ ที่มีหลักฐานทางทะเบียน ได้แก่ รถยนต์ เรือ รถจักรยานยนต์ ทั้งที่จดทะเบียนในประเทศไทยและต่างประเทศ

          5. ทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นตามกฎหมายในอนาคต  

ภาษีมรดก

          ทั้งนี้ เงินที่ได้จากกรมธรรม์ประกัน ฌาปนกิจศพ ไม่ถือว่าเป็นกองมรดกของผู้ตาย ดังนั้น จึงไม่ต้องเสียภาษีมรดก รวมไปถึงสังหาริมทรัพย์ ประเภทอื่น ๆ เช่น ทองคำ เพชร ภาพวาด ของสะสมโบราณ ก็ไม่ต้องเสียภาษีมรดกเช่นกัน แต่จะถูกนำไปคำนวณเสีย "ภาษีการรับ" แทน หากมีการโอนทรัพย์สินให้ก่อนเจ้าของมรดกเสียชีวิต 

ใครบ้างต้องเสียภาษีมรดก จ่ายกี่เปอร์เซ็นต์ 

          ผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษี นั่นก็คือผู้ที่ได้รับมรดกนั่นเอง ทั้งกรณีที่เป็นทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม หากเข้าหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งตามนี้ 

          1. บุคคลที่มีสัญชาติไทย 

          2. บุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย แต่มีถิ่นอาศัยอยู่ในไทยตามกฎหมาย

          3. บุคคลที่ได้รับมรดก อันเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในไทย

          4. นิติบุคคลจดทะเบียนในไทย หรือมีผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร เป็นคนไทยเกิน 50%    
 
ภาษีมรดก
         
          สำหรับอัตราภาษีมรดกที่ต้องเสียจะคิดเฉพาะมูลค่ามรดกส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท ตามอัตรา ดังนี้ 

          1. เสียภาษีมรดก 5% สำหรับบุพการีและผู้สืบสันดาน 
          - บุพการี ได้แก่ บิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย ทวด 
          - ผู้สืบสันดาน ได้แก่ ลูก หลาน เหลน ลื่อ บุตรบุญธรรม บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว 

          2. เสียภาษีมรดก 10% สำหรับคนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่บุพการีและผู้สืบสันดาน 

ใครที่ไม่ต้องเสียภาษีมรดก 

          อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าผู้ที่ได้รับมรดกจะต้องเสียภาษีทุกกรณี แต่ก็มีข้อยกเว้นกรณีที่ไม่ต้องเสียภาษีมรดกด้วย ได้แก่

          1. ได้รับมรดกมูลค่ารวมกันไม่เกิน 100 ล้านบาท

          2. เป็นคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายกับเจ้าของมรดก

          3. ได้รับมรดกจากเจ้าของมรดกที่เสียชีวิตก่อนวันที่กฎหมายบังคับใช้ (ภาษีมรดก บังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559)

          4. นำมรดกไปใช้เพื่อกิจการศาสนา กิจการศึกษา สาธารณประโยชน์

          5. ผู้รับมรดกเป็นหน่วยงานของรัฐ และนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อกิจการศาสนา กิจการศึกษาหรือกิจการสาธารณประโยชน์

          6. ผู้รับมรดกเป็นองค์กรระหว่างประเทศตามข้อผูกพันที่ไทยมีอยู่

วิธีคำนวณภาษีมรดก 

          การคิดภาษีมรดก อันดับแรกเราจะต้องคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ได้รับก่อนว่าเกิน 100 ล้านบาทหรือไม่ โดยหากเป็นอสังหาริมทรัพย์ ใช้ราคาประเมินของกรมที่ดิน, หลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ใช้ราคาปิดในวันที่ได้รับมรดก, รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ใช้ราคาประเมินของกรมขนส่งทางบก ส่วนทรัพย์สินอื่น ๆ ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงประกาศกำหนด โดยตรวจสอบวิธีประเมินทรัพย์สินเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กรมสรรพากร

ภาษีมรดก
ภาพจาก Money2Know

          จากนั้นจึงนำมูลค่ามรดกที่ประเมินได้ หักหนี้สินของเจ้าของมรดก หากมีมูลค่าไม่เกิน 100 ล้านบาท ก็จะไม่ต้องเสียภาษี แต่หากเกิน 100 ล้านบาท จะถูกเก็บภาษี ดังนี้ 

          1. บุพการีและผู้สืบสันดาน : เสียภาษีมรดก 5% ของส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท 
          ตัวอย่างเช่น 
          ได้รับมรดก 101 ล้านบาท ส่วนที่ต้องนำมาคำนวณภาษีคือ 1 ล้านบาท ดังนั้น ต้องจ่ายภาษี 50,000 บาท (5% x 1 ล้าน) 
          ได้รับมรดก 110 ล้านบาท ต้องจ่ายภาษี 500,000 บาท (5% x 10 ล้าน) 
          ได้รับมรดก 150 ล้านบาท ต้องจ่ายภาษี 2.5 ล้านบาท (5% x 50 ล้าน) 
          ได้รับมรดก 200 ล้านบาท ต้องจ่ายภาษี 5 ล้านบาท (5% x 100 ล้าน)

          2. บุคคลอื่น ๆ :  เสียภาษีมรดก 10% ของส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท 
          ตัวอย่างเช่น 
          ได้รับมรดก 101 ล้านบาท ส่วนที่ต้องนำมาคำนวณภาษีคือ 1 ล้านบาท ดังนั้น ต้องจ่ายภาษี 100,000 บาท (10% x 1 ล้าน) 
          ได้รับมรดก 110 ล้านบาท ต้องจ่ายภาษี 1 ล้านบาท (10% x 10 ล้าน) 
          ได้รับมรดก 150 ล้านบาท ต้องจ่ายภาษี 5 ล้านบาท (10% x 50 ล้าน) 
          ได้รับมรดก 200 ล้านบาท ต้องจ่ายภาษี 10 ล้านบาท (10% x 100 ล้าน)

 
วิธียื่นเสียภาษีมรดก

          ผู้ที่ได้รับมรดกเกิน 100 ล้านบาท ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดก (ภ.ม.60) และชำระภาษีภายใน 150 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับมรดก โดยให้พิมพ์จากระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากร และสามารถยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา 

บทลงโทษ ถ้าไม่เสียภาษีมรดก

          กรณีที่ไม่ยื่นเสียภาษีมรดก หรือยื่นล่าช้ากว่าวันที่กำหนด จะมีทั้งเบี้ยปรับและโทษทางอาญา ดังนี้

ภาษีมรดก

          1. ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีภายหลังเวลาที่กำหนด : เสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของเงินภาษีที่ต้องจ่าย พร้อมทั้งจ่ายเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน โดยเงินเพิ่มให้เริ่มนับตั้งแต่วันพ้นเวลายื่นภาษี 

          2. ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไม่ครบถ้วน หรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง ทำให้จำนวนภาษีที่ต้องชำระขาดไป : เสียเบี้ยปรับ 0.50 เท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระ

          3. ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี โดยไม่มีเหตุอันสมควร : โทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท

          4. ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน หรือไม่ยอมตอบคำถามของเจ้าพนักงานประเมิน หรือของประธานคณะกรรมการอุทธรณ์ : โทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          5. ทำลาย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนทรัพย์สินที่ถูกยึด หรืออายัด ให้แก่บุคคลอื่น : โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 400,000 บาท

          6. จงใจยื่นข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี : โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          7. หากผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล ให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคล ต้องรับโทษ โดยถือว่ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น
 
ภาษีการให้

ภาษีมรดก

          นอกจากภาษีมรดกแล้ว ยังมีภาษีอีกตัวหนึ่งที่จะเก็บกับผู้รับมรดก นั่นคือ "ภาษีการให้" แต่จะต่างกันตรงที่ภาษีการให้จะเก็บในกรณีที่ผู้ตายโอนทรัพย์สินให้ผู้รับก่อนเสียชีวิต โดยเก็บภาษีในอัตรา 5% สำหรับส่วนเกินของทรัพย์สิน ดังนี้ 

          1. สังหาริมทรัพย์ 
          มอบให้บุคคลธรรมดา เสียภาษี 5% สำหรับทรัพย์สินส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท 
          มอบให้เป็นบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส   เสียภาษี 5% สำหรับทรัพย์สินส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท 
         
          2. อสังหาริมทรัพย์ 
          เฉพาะการมอบให้บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย (ไม่รวมบุตรบุญธรรม) เสียภาษี 5% สำหรับทรัพย์สินส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท


          สำหรับการยื่นภาษีการให้ สามารถใช้แบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90 ยื่นได้เลย เพราะถือว่าเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 โดยเลือกได้ว่าจะเสียภาษีในอัตรา 5% หรือจะนำไปคำนวณรวมกับเงินได้ทั้งหมดก็ได้

ภาษีมรดก
 
วางแผนภาษีมรดก อย่างไรดี

          สำหรับใครที่รู้ตัวว่ามีมรดกทรัพย์สินถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีแน่ ๆ อยู่แล้ว การรู้จักวางแผนการจ่ายภาษีไว้แต่เนิ่น ๆ ก็จะช่วยให้ผู้รับมรดกได้รับผลประโยชน์ที่คุ้มค่ากว่า ซึ่งการวางแผนภาษีมรดกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำได้หลายวิธี ดังนี้ 

ภาษีมรดก

          1. ทยอยโอนทรัพย์สินในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่

          หากมีแผนในใจอยู่แล้วว่าจะมอบมรดกให้กับใคร การทยอยโอนทรัพย์สินให้ลูกหลานก่อนเสียชีวิตปีละไม่เกิน 20 ล้านบาท ก็เป็นหนึ่งทางเลือกที่ดี เพราะจะได้ไม่เสียทั้งภาษีการให้และภาษีมรดกด้วย หากทยอยโอนทรัพย์สินเรื่อย ๆ จนเหลือไม่ถึง 100 ล้านบาท 

          2. กระจายทรัพย์สินให้ลูกหลานคนละไม่เกิน 100 ล้านบาท 

          ตัวอย่างเช่น มีทรัพย์สินมรดก 150 ล้านบาท ถ้าต้องการแบ่งให้ลูก 2 คน ก็ควรแบ่งให้คนละไม่เกิน 100 ล้านบาท โดยอาจแบ่งเป็น 100 ล้าน และ 50 ล้าน แบบนี้ก็จะไม่ต้องเสียภาษีมรดกเลย 

          3. แปลงเป็นทรัพย์สินที่ไม่ต้องเสียภาษีมรดก

          อีกวิธีที่สามารถทำได้คือถ้ารู้ว่าทรัพย์สินที่เราถืออยู่ เป็นประเภทที่ต้องเสียภาษีมรดก ก็นำไปเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินที่ได้รับการยกเว้นภาษี เช่น มีเงินฝาก 200 ล้านบาท ก็อาจจะนำไปซื้อทองคำ ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษี เท่านี้ก็จะไม่ต้องเสียภาษีมรดกแล้ว

          4. ซื้อประกันชีวิต 

          ผลประโยชน์จากประกันชีวิตไม่ถือว่าเป็นมรดก จึงไม่ต้องเสียภาษีมรดก เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการให้มรดกลูก 200 ล้านบาท เจ้าของมรดกก็ซื้อประกันชีวิตทุนประกัน 200 ล้านบาท กำหนดผู้รับประโยชน์เป็นชื่อลูก เมื่อเจ้าของมรดกเสียชีวิต บริษัทประกันจะจ่ายสินไหมให้กับลูกตามกรมธรรม์ 200 ล้านบาท โดยไม่ต้องจ่ายภาษี
 
          5. จัดตั้งเป็นมูลนิธิ สมาคม หรือวิสาหกิจเพื่อชุมชน

          เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการให้มรดกเป็นประโยชน์ต่อสังคม ด้วยการนำทรัพย์สินส่วนเกินที่จะต้องเสียภาษี ไปจัดตั้งเป็นมูลนิธิ ทำสาธารณประโยชน์ พร้อมจดทะเบียนต่อกรมสรรพากร เพื่อขอยกเว้นภาษีได้  
 

          เชื่อว่าคงทำให้หลายคนเข้าใจเรื่องภาษีมรดกกันมากขึ้นกันแล้ว เพื่อจะได้นำไปวางแผนจัดการทรัพย์สินและภาษีกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้รับประโยชน์สูงสุด 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภาษีมรดก คืออะไร ได้เท่าไรถึงต้องเสียภาษี พร้อมวิธีวางแผน อัปเดตล่าสุด 24 พฤศจิกายน 2564 เวลา 17:17:52 59,203 อ่าน
TOP